สื่อจะเลือกแบบไหน คุณค่าข่าวเชิงอุดมการณ์หรือธุรกิจ

นักวิชาการชี้หลักคุณค่าข่าวยุคดิจิทัลเลื่อนไหลไปตามบริบทสังคม เทคโนโลยีการสื่อสาร โดยผู้บริโภคข่าวเป็นตัวกำหนด แนะสื่อมืออาชีพยกระดับ หาคุณค่าใหม่ให้เนื้อหาที่นำเสนอ รวมถึงคุณภาพผู้ทำข่าว และกระบวนการที่ถูกต้อง ด้านนักวิชาชีพชี้่สื่อยุคใหม่จะอยู่รอดได้ ก็ด้วยตัวคอนเทนต์ที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ และเทคนิคเล่าเรื่อง “วรัชญ์” ตั้งคำถามคุณค่าข่าวเชิงอุดมการณ์ กับคุณค่าธุรกิจ สื่อจะเลือกแบบไหน หนุนวารสารศาสตร์กู้คืนบทบาทนำในสังคมแทนกระแสโซเชียลมีเดีย

     รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “คุณค่าข่าว”ในยุคดิจิทัล ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ และ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พิเชษฐ์ ชูรักษ์ บรรณาธิการบริหาร คมชัดลึก ออนไลน์ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ NIDA

     ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การนำเสนอข่าวทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย ได้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงคุณค่าข่าว จึงนำมาสู่การพูดคุยถึงนิยามเรื่องคุณค่าข่าวในยุคดิจิทัล และมุมมองว่าสื่อควรทำงานกันอย่างไร

    รศ.ดร.เสริมศิริ ผู้เขียนหนังสือ “คุณค่าข่าวในภาวะวิกฤติทางสังคม” เมื่อปี 2552 ซึ่งมีที่มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มองความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนี้ โดยย้อนกลับไปที่แนวคิดหลัก ของคุณค่าข่าวที่ได้ศึกษา ในห้วงที่มีสถานการณ์สังคม ทั้งความสงบ ความขัดแย้ง สถานการณ์วิฤติสุขภาพของสังคมในเวลานั้น พบว่า ข่าวบางเรื่องถูกดึงขึ้นมาในแง่มุมที่ยังไม่ตอบโจทย์สังคม เรื่องซีเรียส เรื่องสำคัญ มีการนำเสนอเนื้อหาเดียว สั้นๆ ง่ายๆ แล้วจบ ไม่ได้เสนอในแง่มุมที่สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา จึงคิดว่า แล้วคนในวงการข่าว ใช้หลักคิดอะไรในการเลือกเรื่องราวมาเป็นข่าว 

     หากย้อนไปเป็น 100 ปี เพื่อทบทวนในวงการข่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลักคุณค่าข่าวที่ใช้มีอะไรบ้าง ก็พบว่าจริงๆ หลักคุณค่าข่าวมันไม่นิ่ง แต่มันเลื่อนไหลตามสังคม ตามเทคโนโลยีการสื่อสาร ตามสถานการณ์ และบริบทของแต่ละสังคมของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ปัจจุบันก็เลื่อนไหลเป็นคุณค่าข่าวในยุคดิจิทัล

     หลักเบื้องต้นในเรื่องคุณค่าข่าว ถูกมองหลายแง่ ถ้าดั้งเดิมที่สั่งสอนกันมาในแวดวงนิเทศศาสตร์ และวิชาชีพใช้กัน สิ่งที่เป็นข่าวได้ คือเรื่องราวที่มีผลกระทบ มีแง่มุมความขัดแย้ง ความมีเงื่อนงำน่าสงสัย อาจเป็นการนำเสนอที่ต้องรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะที่ใช้กันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณค่าข่าวในยุคอดีตบางแง่มุมก็ลื่นไหลเข้ามาสู่ในยุคดิจิทัล 

คุณค่าข่าวเลื่อนไหลจากผู้บริโภค-สังคมกำหนด

     จากผลวิจัยของตนและเพื่อนในแวดวงวิชาการ เข้าใจว่าคุณค่าข่าวในยุคดิจิทัลทับซ้อนกันอยู่ จากของดั้งเดิมที่มีอยู่ 10 กว่าประการ พอมายุคดิจิทัลที่หลอมรวม คอนเวอร์เจนต์กัน เราพบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณค่าข่าวมันขยับเลื่อนไหล คือคีย์เวิร์ดในเรื่องของผู้บริโภคข่าว หรือสังคม เป็นตัวกำหนด 

     สื่อดั้งเดิมจะถูกแยกประเภท แต่พอยุคสื่อดิจิทัลได้หลอมรวม คุณค่าข่าวของสื่อตอนนี้ จึงเป็นสื่อที่ต้องตอบโจทย์สังคม ในวงกว้างมากขึ้น แล้วโจทย์ก็หลากหลาย แตกต่างมากขึ้น อันนี้แปลว่าผู้รับสาร ก็มีความหลากหลาย มีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น 

     ขณะเดียวกัน ในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล การทำงานของสื่อ จะใช้คุณค่าข่าวแบบดั้งเดิมมาเป็นตัวผลิตผลงานอย่างเดียวก็ไม่ได้แล้วเพราะยุคดิจิทัล เราต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตข่าวอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ดังนั้นสื่อมืออาชีพที่ใช้คุณค่าข่าวดั้งเดิมก็อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องยกระดับคุณค่าข่าวที่เคยผลิตให้สูงขึ้น หรือต้องหาคุณค่าใหม่ๆ ให้กับเนื้อหาตัวเอง

     ผู้รับสารทุกวันนี้ เราจะสังเกตได้ว่า เวลาเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เสนอไปในโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็จะพบว่า การมีส่วนร่วมมีสูงมาก คอมเมนต์ แชร์ บอกเบาะแส ตรวจสอบเนื้อหาของสื่อว่าข้อมูลอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้น คุณค่าข่าวของสื่อก็จะต้องทำงานหนักมากขึ้น จะให้ข้อมูลแค่พื้นๆ ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ความเป็นมืออาชีพ ความรอบคอบ ความรวดเร็ว จะเป็นสิ่งที่สังคมดิจิทัลเรียกร้องจากสื่อมากขึ้น 

คุณค่าคุณภาพผู้ทำข่าว-กระบวนการถูกต้อง

     ดังนั้น ก็จึงกลับมาตอบว่า มีผลการวิจัยว่า คุณค่าข่าวในยุคดิจิทัล บางทีในยุคนี้เรามองแค่ตัวเหตุการณ์ว่ามีคุณค่า ไม่เพียงพอแล้ว มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า คุณค่าข่าวจะต้องรวมถึงคุณภาพของผู้ทำข่าว และกระบวนการทำข่าวที่ถูกต้องด้วย อันนี้เป็นข้อมูลที่ค้นพบว่า คุณค่าข่าวในยุคดิจิทัล ควรจะมีแง่มุมในฝั่งผู้ผลิต ฝั่งกระบวนการทำข่าว โดยต้องมีคุณภาพ คือ สามารถยกระดับข้อมูลประเด็นของตัวเอง ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น เช่นข้อมูลต้องถูกต้อง รอบด้าน ต่อเนื่อง เจาะลึก 

     แล้วสิ่งที่สังคมในยุคนี้คาดหวัง คือการเสนอข่าว จำเป็นต้องต่อเนื่อง และเจาะลึก เพราะจะสร้าง Impact หรือการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม อันนี้เหมือนกับสังคมเรียกร้องจากผู้ผลิตข่าวมากขึ้น และข่าวควรจะนำไปสู่ทางออกของปัญหามากขึ้น อันนี้เป็นคุณค่าข่าว เรื่องทางออกของปัญหา

     เมื่อถามถึงความเห็นของสองมุมมองในสังคมต่อคุณค่าข่าว ที่บางข่าวสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ได้เรตติ้งพุ่ง ซึ่งการสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นนี้ ก็ถือว่ามีคุณค่าข่าวแล้ว จะประเมินอย่างไรว่า ทุกข่าวมีคุณค่าในตัวมันเอง สื่อควรนำเสนอหรือไม่ รศ.ดร.เสริมศิริ อธิบายว่า คุณค่าข่าวที่เราพูดถึง จะเป็นเรื่องของ Value เนื้อหาที่มีคุณค่าต่อสังคม และเป็นไปตามอุดมการณ์ทางวิชาชีพ จึงค่อนข้างจะคาดหวังว่า สิ่งที่นำเสนอไปต้องมีประโยชน์ ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างผลกระทบ มีทางออกของปัญหา 

คุณค่าข่าวถูกมองเป็นมูลค่าทางธุรกิจ

     แต่มันมีอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้คือ Value ของข่าว ถูกมองว่ากลายเป็นมูลค่าทางธุรกิจหรือไม่ เช่นเรื่องของความอื้อฉาว ประเด็นที่มีแง่มุมเรื่องคนดัง คนมีชื่อเสียง มีความขัดแย้งกันส่วนตัว อาจจะได้ในแง่มุม ความเร้าอารมณ์ ความสนใจ ความอื้อฉาว แต่ประเด็นคือ แง่มุมคุณค่าข่าวในแง่ประโยชน์ของคนหมู่มาก มันไม่เกิด อาจจะมีน้อยเกินไป 

     อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่ปฎิเสธไม่ได้ว่า เป็นคอนเทนต์ที่มีอยู่ในสังคม บางทีผู้ผลิตก็จะบอกว่า มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งสนใจ เพราะเป็นสีสันเรื่องของคนดัง ที่คนก็อยากจับตามอง บุคคลสาธารณะ เรื่องส่วนตัว แต่สื่อเอามาเปิดเผย อันนี้เป็นเชิงธุรกิจมากกว่า หรือถ้าจะบอกว่าตอบสนองผู้ชม ก็ในส่วนที่เล็กมาก เป็นข่าวเบาๆ ข่าวสีสัน แต่เนื้อหาส่วนนี้ ถ้าสื่อมืออาชีพปล่อยให้เผยแพร่ ถูกผลิตมากไปในสังคม สิ่งนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่า แล้วสังคมได้ประโยชน์อะไรจากคอนเทนต์ของสื่อ

ย่อยเนื้อหาหนักให้เข้าใจง่ายได้ประโยชน์

     เมื่อถามว่า บางสื่อที่อ้างถึงการนำเสนอข่าวดังกล่าว เป็นไปตามความสนใจของคนในสังคม รศ.ดร.เสริมศิริ ระบุว่า จากผลวิจัย ก็ไม่จริงเสมอไป ยิ่งอยู่ในยุคดิจิทัลเราจะเห็นได้ชัดว่า ผู้รับสารมีลักษณะหลากหลาย มีความสนใจเฉพาะกลุ่มค่อนข้างมาก บางสื่อเสนอเนื้อหาที่เร้าอารมณ์ ดราม่าเยอะ แล้วอ้างว่าเป็นความต้องการของสังคม ความสนใจของผู้รับสารจริงๆ ก็ไม่เสมอไป 

     ยุคสถานการณ์โควิด มีผู้รับสารไม่น้อย ต้องการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวหนักหรือเบา แต่ข้อมูลนั้นก็ต้องผ่านการตรวจสอบ แต่พอเป็นข่าวเชิงเนื้อหาเบาๆ มันเสพง่าย ถูกแชร์ได้ง่าย จึงเข้าใจว่าน่าจะได้รับความนิยม แต่จริงๆ น่าจะค้นหาเร็ว จบเร็ว แม้จะถูกผลิตขึ้นมาเยอะๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนในสังคมจะต้องเลือกเสพข่าวเบาๆ เท่านั้น

     รศ.ดร.เสริมศิริ ทิ้งท้ายโดยฝากถึงสื่อและองค์กรวิชาชีพว่า อีกคุณค่าคือ การทำหน้าที่ย่อยข้อมูลข่าวหนักๆ เนื้อหาซับซ้อนให้ประชาชนเข้าใจง่ายโดยเฉพาะยุคดิจิทัล ที่สื่อมีอุปกรณ์ เครื่องมือ เทคนิค กลยุทธ์หลายอย่าง ที่ย่อยเรื่องราวได้ ทั้งเป็นข่าวประกอบ กราฟิกและวิธีการนำเสนอได้หลายรูปแบบ เพื่อให้เรื่องที่มีประโยชน์ เข้าถึงคนหมู่มาก ได้เห็นชัด และเอาไปใช้ประโยชน์ได้ 

เพิ่มคุณค่าขยายประเด็น-วิธีเล่าเรื่อง 

     ในมุมนักวิชาชีพ บก.บห.สื่อออนไลน์ พิเชษฐ์ ให้มุมมองถึงการเพิ่มคุณค่าในข่าวแมสที่ไม่ใช่เสนอข่าวชิ้นเดียวแล้วจบ แต่ต้องขยายผลต่อว่า เรื่องนั้นๆ จะไปต่ออย่างไร

     ที่สำคัญคือวิธีการนำเสนอ วิธีเล่าเรื่อง “สิ่งแรกที่ควรทำเกี่ยวกับสถานการณ์ คือจะต้อง Recap สถานการณ์นั้นให้คนเข้าใจก่อนอันดับต้น เพื่อให้มีแบ็คกราวนด์ของข่าว เพื่อให้เห็นก่อนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร หลังจากนั้นเรื่องจะไปต่ออย่างไร อย่างเช่น เรื่องข่าวในเชิงคดี มีการสั่งฟ้องหรือยัง เรื่องไปถึงไหน อย่างไร แนวโน้มจะเป็นอย่างไรบ้าง”

     วิธีการเล่าเรื่องใหม่ เป็นสิ่งสำคัญ วันนี้การเขียนก็ต้องเปลี่ยนไป มีการใช้คำว่า Stories telling เพราะฉะนั้นการเขียนในแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งมีหลากหลาย จะเล่าเรื่องอย่างไร เขียนเรื่องอย่างไร คอนเทนต์เดียวกัน จะถูกนำเสนอไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ อีก ในเมื่อเป็นเช่นนั้น การเล่าเรื่องแต่ละแพลตฟอร์ม จึงต้องแตกต่างกัน

     สำหรับการเลือกประเด็น พิเชษฐ์ มองว่า เรื่องราวที่ดราม่าจนเกินเหตุ หากไม่มีประโยชน์ ก็ไม่จำเป็น บางเรื่อง เช่นการติดตามข่าวการเมือง ที่นักการเมืองพูดทุกวัน แต่ไม่มีประเด็น หวังใช้โซเชียลมีเดียของตัวเอง พูดแบบหิวแสง หรือทนายความคนที่หิวแสงออกมาใช้พื้นที่สื่อ คนที่บอกว่าตัวเองเป็นสื่อ แต่ไม่เข้าใจบทบาท ก็ไปเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นข่าว เป็นต้น อย่างนี้ควรจะลดความสำคัญลง หรือนักร้อง(เรียน)บางคน ร้องแล้วร้องอีก จนคนรู้จักทั้งประเทศ แต่นักข่าวก็มองไม่เห็นว่า ประเด็นจริงๆ คืออะไร ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่คนร้อง แต่ต้องไปดูว่าเรื่องนี้ควรจะนำเสนออย่างไรมากกว่า ซึ่งจะเป็นหลักของการเล่าเรื่อง ที่เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับข่าว

     เรื่องนี่้ เป็นความท้าทายว่า เซกเมนต์ที่เป็นข่าวแมส จะพรีเมียมได้อย่างไร เพราะยังมีคู่แข่งเบอร์ใหญ่ สื่ออื่นๆ ฉะนั้นการมีคุณภาพเท่านั้น ที่จะทำให้มีพื้นที่ และถูกพูดถึงว่าเป็นสื่อออนไลน์ที่มีคุณภาพ

สื่อยุคใหม่อยู่รอดได้ด้วยคอนเทนต์   

     เมื่อถามถึงมุมมองในแง่บุคลากร ที่ปัจจุบันองค์กรสื่อต่างๆ มักจะเน้นรับคนทำสื่อรุ่นใหม่ อายุไม่มาก ไม่รับคนทำสื่ออาวุโสที่มีประสบการณ์ ประเด็นนี้เป็นข้อจำกัดขององค์กรสื่อเองหรือไม่ พิเชษฐ์ มองว่า ไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องอายุ แม้จะเป็นสื่อในยุคดิจิทัล แต่คนทำข่าวต้องเป็นคนหนุ่มตลอดกาล นั่นคือความคิดต้องเท่าทันสถานการณ์ ต้องไม่ตกเทรนด์ ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยี 

     การทำงานที่จะไปสู่คุณภาพ ต้องมีคนหลากหลายมากมาย ทั้งเรื่องอายุ ทั้งประสบการณ์ ความถนัดด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าสื่อยังยึดติดอยู่กับเรื่องวิธีคิดแบบเก่า หรือการออกแบบองค์กรเป็นแบบเดิมๆ เช่นเป็นโต๊ะข่าวต่างๆ อยู่ ส่งคนไปประจำในที่ใดที่หนึ่ง เราก็จะได้คนที่มีความคิดแบบเดิมๆ คนทำคอนเทนต์ ต้องรู้หลากหลายด้าน อย่างเช่นการไปทำข่าวดารา ที่ได้สาระ มีประโยชน์ มีแง่มุมอย่างไร หรืออาชญากรรมอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ มีที่มาที่ไปมีความซับซ้อน มีข้อควรระวังเรื่องที่เป็นภัย เรื่องที่เป็นเทรนด์ เป็นต้น

     พิเชษฐ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงสภาพปัญหาในคุณค่าข่าว โดยเฉพาะการสอยประเด็นจากโซเชียลมีเดีย ที่มีคนดัง นักการเมือง ดารา นักร้อง โพสต์เรื่องราวตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย กลายเป็นว่าแหล่งข่าวเป็นคนกำหนดประเด็น โดยสื่อไม่เช็คเพิ่ม ไม่ต่อยอดขยายประเด็น ฉะนั้นทิศทางการแข่งขันของข่าวออนไลน์ สำหรับสื่อยุคใหม่จะอยู่รอดได้ ก็ด้วยตัวคอนเทนต์ที่มีคุณค่าข่าว

ปรากฏการณ์สื่อเลือกเสิร์ฟเรื่องง่าย

    ผศ.ดร.วรัชญ์ มองว่าสมัยก่อน เราจะมีข่าวที่มีคุณค่าข่าว เป็นเรื่องของความลึกของข่าว คุณภาพข่าว การเปิดโปง สมัยนี้รายงานข่าวเชิงสืบสวนชิ้นล่าสุดที่มีนัย มีความหมายต่อสังคมไทยคืออะไร คือข่าวไหน

     กลายเป็นว่า พอคนไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้คิดว่ามันสำคัญ ก็เลยกลายเป็นว่าสื่อก็เลือกแต่อะไรที่ง่ายเสิร์ฟ แต่อะไรที่ง่าย คือได้ผลเหมือนกัน คือได้ยอดไลค์ ยอดเรตติ้ง และนำไปโฆษณา

      ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักก็พยายามเสนอเรื่องหนักๆ อย่างเช่น ทุนจีนสีเทา การเรียกรับสินบน มีส่วนที่กระตุกให้คนมาสนใจข่าวลักษณะอย่างนี้ แต่ความสนใจกลับอยู่ที่ีการนำเสนอ เท่าที่เราสังเกตกลายเป็นว่า มีการเสนอข่าวหนักให้กลายเป็นข่าวเบาๆ เล่าเหมือนเป็นแค่ข่าวปรากฎการณ์ ข่าวกระแส ไปถามคนโน้นคนนี้ที เสียดายความลึกของข่าว แม้จะมีบางสื่อพยายามติดตามให้ลึก เพราะทำดีๆ อย่างในต่างประเทศ ปานามาเปเปอร์ มันลึกจนไปถึงผู้บริหารระดับสูง

     ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เสียดายคือความล่มสลายของหนังสือพิมพ์ เพราะนักข่าวจะเป็นผู้ที่ร่ำเรียนมา และอยู่ในขนบของการเขียนเป็นเชิงบรรยาย ในเชิงตรวจสอบเชิงลึก ขณะที่การแถลงข่าวทุกวันนี้ แหล่งข่าวที่พยายามมีพร็อบ สีสัน ดังนั้นในแง่คุณค่าข่าว ในความหมายเชิงลึก ก็เลยหายไป มันได้คุณค่าในเชิงบันเทิง ในเชิงข้อมูล แต่ไม่ได้เป็นเชิง Impact กับสังคม ที่มันหายไป

     ประสบการณ์ของคนทำข่าวก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ มองว่า ผู้มีประสบการณ์ จะไม่ได้มองปรากฏการณ์แค่ด้านเดียว แต่เรื่องมันมีด้านข้างด้านหลัง บางทีเด็กยุคใหม่เค้าเชื่อว่า ได้รายงานข้อมูลที่ลึก แต่มันเป็นลึกเชิงด้านเดียว ในการตีความต่างๆ

คุณค่าข่าวเชิงอุดมการณ์VSคุณค่าธุรกิจ

     สำหรับคุณค่าข่าว ที่มีอีกมุมมองในสังคมว่า ข่าวทุกข่าวมีคุณค่าในตัวเอง แม้อีกมุมจะเห็นต่างว่าเพราะบางข่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ฉะนั้นยุคนี้ จะต้องมาให้ความหมายเรื่องคุณค่าข่าวใหม่หรือไม่ ผศ.ดร.วรัชญ์ มองว่า สมัยก่อน ผู้ส่งสารคือตัวสื่อ ที่ส่งผ่านช่องทางสื่อไปยังผู้รับสาร แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ทฤษฎีนี้มันแตกกระเจิงไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเราว่า จะตีความคุณค่าข่าว เป็นคุณค่าอะไร เป็นคุณค่าของใคร และคุณค่าอย่างไร และคุณค่าหมายความว่าอย่างไร 

     เดิมคุณค่าของสื่อ กับคุณค่าของผู้รับสาร ค่อนข้างแมตช์กัน คือประโยชน์ของสังคมในการรับรู้ข้อมูล แต่เดี๋ยวนี้พอมีเรื่องของยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดเอ็นเกจเมนต์ต่างๆ ก็เลยกลายเป็นว่า ความแตกต่างห่างขึ้นไปเรื่อยๆ ระหว่างคุณค่าทางธุรกิจขององค์กร นั่นก็คือยอดไลค์ ยอดแชร์     เรตติ้งโฆษณา กับคุณค่าในเชิงวารสารศาสตร์ของคนทำสื่อ เรื่องของความจริง ความรับผิดชอบ ความมีคุณค่า คุณภาพของเนื้อหา 

     ยังมีอีกมุม คือคุณค่าทางสังคม ต่อประเทศชาติ ข่าวนี้ช่วยทำให้สังคมเราดีขึ้นไหมคราวนี้มันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นว่า 3-4 มิติพวกนี้ มันไม่แมตช์กัน มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกคุณค่าข่าวแบบไหน เป็น Priority ถ้าถามทางองค์กรสื่อ ต้องยอมรับว่าสื่อเป็นธุรกิจเอกชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มาก่อนอันดับแรก ก็ต้องเป็นคุณค่าต่อทางธุรกิจ มันก็ต้องเป็นพาดหัวที่ยอดไลค์ได้มากที่สุด ยอดแชร์ หรือกระแสคนสนใจมากที่สุด 

     อย่าง 10 ข่าว อาจจะมีข่าวเชิงเร้าอารมณ์ 8-9 ข่าว ถูกแชร์ไปเยอะ กลายเป็นว่าข่าวอื่นถูกกลบไปหมด สังคมก็เลยถูกเซ็ตค่านิยม ในยุคโซเชียลว่า จะต้องเป็นอะไรที่ดึงดูด เร้าอารมณ์ และสั้น เลยกลายเป็นว่า ทุกอย่างต้องเร้าอารมณ์ ต้องฟังดูแล้วตื่นเต้น ใช้พาดหัวที่ดูเวอร์

วารสารศาสตร์ควรกู้คืนบทบาทนำในสังคม

    ฉะนั้นสังคมจึงถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยคุณค่าข่าวแบบนี้ การตั้งคำถามแบบนี้ขึ้นมา เราจะยอมให้สังคมถูกโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่สื่อที่เป็นสื่อวารสารศาสตร์โดยแท้จริง มาชี้นำสังคมแบบนี้ต่อไปได้หรือไม่ หรือวารสารศาสตร์ที่แท้จริง เนื้อแท้ควรจะตั้งหลัก และกู้คืนบทบาทนำในสังคมกลับขึ้นมาเพื่อให้สังคมไปในทางที่เหมาะสมมากขึ้น

     อาจเป็นเรื่องยากหรือไม่ ที่ความสนใจของสังคมก็ให้น้ำหนักไปทางสื่อโซเชียล ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ที่เคยเป็นทิศทางหลัก ก็อยู่ยากจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความพอดี ผศ.ดร. วรัชญ์ ระบุว่า อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนพยายามจะตอบว่า ทำอย่างไร ก็ต้องมีหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ก็จะต้องมีส่วนร่วม ที่จะเป็นความรับผิดชอบของสังคม ฉะนั้นตรงนี้ต้องมานั่งคุยกันดีๆ ว่าเราจะต่อสู้กับระบบนี้อย่างไร ต่างประเทศเองก็มีคำถามดังๆ แบบนี้ว่า เราไปแบบนี้ไม่ได้ เด็กๆ ของเราในสังคมเติบโตขึ้นมากับอะไรที่มันหลอกลวงเป็นเฟคนิวส์ ดึงดูดด้วยความสวยจอมปลอม

     สมมุติว่ามีนโยบายขึ้นมา มีกฎหมาย หรือรูปแบบใหม่ ก็ต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะทำอย่างไร โดยเฉพาะสิ่งเหล่านี้ บริษัทข้ามชาติมากำหนดวิถีชีวิตการสื่อสารในประเทศ กำหนดว่าคุณค่าที่ควรจะรู้ เราต้องการจริงหรือไม่ เหมือนกับเสิร์ฟขนมหวานให้เราทุกวัน เราไม่รู้เราก็กินไปเรื่อยๆ แล้วก็อ้วนเป็นโรคต่างๆ เพราะฉะนั้น อันนี้เรื่องใหญ่ผมไม่มีคำตอบให้เหมือนกัน เพราะเป็นโมเดลเรื่องธุรกิจแต่ว่าต้องทำอย่างไรให้มันบาลานซ์กันระหว่างความสมดุลของธุรกิจในการสร้างสังคมและมีประโยชน์ต่อธุรกิจด้วย

     ต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะไปแบบนี้กันไหม หรือเราจะมีขีดจำกัดขอบเขตว่า เรื่องนี้ควรจะมีอะไรที่มาดูแล ไม่ใช่ควบคุมหรือกำกับ แต่มาดูแลไม่ให้เลื่อนไหลไปจนก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม หรือความยั่งยืนโดยรวมของสังคม การใช้โซเชียลมีเดียควรจะหลากหลาย

     ประเทศที่เริ่มพิจารณาออกกฎหมาย เช่น เกาหลี ออกฎหมายดูแลโซเชียลมีเดีย อินเดียประเทศที่เขามีคนเยอะ ได้รับผลกระทบเยอะเค้าไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเข้ามาบงการ เอาข้อมูลเราไปใช้ โดยที่เราไม่รู้ตัว ละเมิดสิทธิ มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องแค่คุณค่าข่าว แต่เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เรื่องการใช้ประโยชน์จากข้อมูล แม้กระทั่งเรื่องของความมั่นคงด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรจะไปพูดกันในวงระดับประเทศ.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++