5 คนสื่อชวนจับตาเลือกตั้ง’66 พรรคการเมืองจัดเต็มสงครามข่าว-หาเสียง

5 คนสื่อชวนจับตาเลือกตั้ง’66 พรรคการเมืองจัดเต็มสงครามข่าว หาเสียง กับบทบาททับซ้อนตำแหน่งบริหารราชการ

16 ก.พ. 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค  โคแฟค (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา Media Forum ครั้งที่ 18 หัวข้อ “จับไต๋การเมืองช่วงฝุ่นตลบก่อนเลือกตั้ง : บทบาทสื่อและผู้บริโภคที่ควรร่วมมือกัน” ที่ห้องคึกฤทธิ์ ปราโมท  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและการเมืองมายาวนาน ในทางการเมืองก็มีผู้เข้าไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศในหลายๆ ครั้ง

“ในช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งก็เหมือนทางข่าวของฝั่งการเมืองจะร้อนแรงพอสมควร ซึ่งการเลือกตั้งแน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นหัวใจที่สำคัญมากของประชาธิปไตย ฉะนั้นบทบาทของสื่อเองผมเชื่อว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะต้องนำเสนอข่าวสารต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาแล้ว เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง บทบาทของสื่ออีกอย่างในยุคสมัยนี้คือ กระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมากขึ้นและง่ายขึ้น” รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าว

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า  ช่วงนี้เป็นเวลาฝุ่นตลบจริงๆ อย่างนักการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะอยู่พรรคไหน วันนี้อยู่พรรคหนึ่งตอนใกล้ๆ เลือกตั้งก็อาจไปอยู่อีกพรรคหนึ่งก็ได้ หรือการเมืองยังเป็นเรื่องที่มีคณิตศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น ตัวเลขของการจัดตั้งรัฐบาล ตัวเลขของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เป็นตัวแปรซึ่งจะบอกว่าไม่มีบทบาทคงไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนในฐานะเป็นผู้บริโภคสื่อต้องมีความรู้และความเข้าใจ

“หลายครั้งเวลารายงานข่าวการเลือกตั้ง เราก็จะรายงานแบบถ้าตำราของต่างประเทศจะเรียกรายงานแบบม้าแข่ง ก็คือรายงานว่าพรรคไหนจะชนะ พรรคไหนจะได้เสียงมากกว่ากัน แต่ไม่ค่อยรายงานเรื่องของนโยบาย หรือแนวคิดของแต่ละพรรคที่เมื่อเข้ามาแล้วจะบริหารประเทศอย่างไร จะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับพี่น้องประชาชนอย่างไร  แต่ช่วงหลังมีเรื่องของนโยบายมาขายกัน เป็นลักษณะนโยบายประชานิยม หรือนโยบายขายฝัน มันเป็นไปได้หรือไม่ได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ” ชวรงค์กล่าว

ดาวี ไชยคีรี ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การทำงานข่าวยุคนี้ด้านหนึ่งง่ายเพราะพรรคการเมืองหรือนักการเมืองมีการทำข่าวสำเร็จรูป (Press Release) ส่งให้ผู้สื่อข่าวทุกวัน แต่ความยากคือ การที่ผู้สื่อข่าวต้องฉุกคิดว่าในการส่งข่าวมาให้นั้นเป็นการปล่อยข่าวหรือไม่ หรือผู้สื่อข่าวก็มีข้อจำกัดในการสอบถามเพิ่มเติมเมื่อเทียบกับการไปสัมภาษณ์แบบเจอหน้ากัน เรื่องนี้เป็นความท้าทายของผู้สื่อข่าวที่หากหยิบเพียงชิ้นข่าวนั้นมานำเสนอก็อาจเป็นการรายงานเพียงด้านเดียว สื่อก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการปล่อยข่าวได้

ขณะที่สิ่งที่พบในสนามข่าวปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่ต้องจับตาคือ บุคคลที่สวมหมวก 2 ใบ คือมีฐานะทั้งผู้มีอำนาจในรัฐบาล พร้อมกับมีตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมือง  เวลาที่ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนไปในฐานะใด  และจากที่ลงไปร่วมทำข่าวพบว่าใช้การหาเสียงในเวลาราชการ

สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวทะลักมาเป็นจำนวนมากซึ่งก็มาจากพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่นี่คือความท้าทายของคนทำงานสื่อที่บางครั้งดูเหมือนนักข่าวจะกลายเป็นพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ เพราะฝ่ายการเมืองจะไม่ส่งข่าวมุมลบมาให้อย่างแน่นอน ดังนั้นนักข่าวก็ต้องคอยตรวจสอบด้วย ซึ่งแม้บางครั้งแหล่งข่าวอาจจะโกรธหรืองอนนักข่าว แต่ก็ต้องมีวิธีพูดคุยกับแหล่งข่าว

ทั้งนี้ มีความพยายามของพรรคการเมืองในการเข้าถึงตัวบรรณาธิการเพื่อขอฝากข่าว ดังนั้นการรักษาระยะห่างระหว่างคนทำงานสื่อกับฝ่ายการเมืองจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ แม้จะรู้จักกันหรือสนิทกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะฝากข่าวได้ ส่วนประเด็นการลาราชการไปหาเสียงให้พรรคการเมือง ก็มีประเด็นให้คิดต่อว่าเป็นการลาแบบใด

เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี กล่าวว่า  การเมืองหน้าฉากกับหลังฉากเป็นคนละเรื่องกัน และส่วนใหญ่เรื่องจริงมักอยู่ด้านหลัง ในขณะที่ด้านหน้าคือการเรียบเรียงเพื่อตั้งใจส่งสัญญาณให้ไปกระทบอีกฝ่าย หรือประเมินเสียงตอบรับ (Feedback) ทั้งนี้ ภาพรวมการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้านหนึ่งบอกได้ว่าค่อนข้างดุเดือดในรอบหลายปีเพราะมีการเดิมพันสูงมาก แต่อีกด้านก็เป็นเรื่องแปลกเพราะเหมือนรู้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะชนะ กระทั่งมองข้ามขั้นไปคุยกันเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว  ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ประสบการณ์อธิบายให้ผู้คนเข้าใจ ซึ่งหากสังเกตดูดีๆ จะมีการส่งสัญญาณสลับขั้วกันอยู่เรื่อยๆ  สิ่งเหล่านี้พอจะดูออกว่ามันคือ เกม และเป็นศิลปะที่ไม่ง่ายในการสื่อสารให้คนทราบ

“กอง บก. เองก็เหนื่อย รอบนี้เหนื่อยกับสงครามข่าวที่มันมีจำนวนมาก  แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันเดิมพันแปลกๆ คือเหมือนกับเลือกตั้งไปก็ไม่ได้คิดว่าจะจบแค่การบริหาร คือมันมีเดิมพันไกลมาก บางคนก็จะกลับมาติดคุก-ไม่ติดคุก บางคนจะต้องรักษาอำนาจต่อ บางคนต้องผนึกเครือข่าย คือผมคิดว่าตอนนี้มันเดิมพันเยอะ เพราะฉะนั้นทุกคนลงกันเต็มที่  ดังนั้นการสื่อสารเต็มรูปแบบ Media (สื่อ) ก็ด้านหนึ่ง ไม่นับ IO (Information Operation-ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) มีทุกอย่าง” เสถียร กล่าว

สมฤดี ยี่ทอง บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ทุกช่องปัจจุบันน่าจะมีปัญหาเหมือนกันคือจำนวนนักข่าวลดลงในขณะที่พรรคการเมืองมีจำนวนเท่าเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นกอง บก. จึงจำเป็นต้องเลือก โดยทั่วไปก็จะเป็นพรรคหลักๆ ตามความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งพรรคอื่นๆ ไม่เช่นนั้นพรรคใหม่ๆ คงไม่สามารถเกิดขึ้น  แต่อีกด้านหนึ่งพรรคการเมืองเองก็ปรับตัว มีการทำข่าวหรือคลิปวีดีโอส่งมาให้สื่อมากขึ้น ซึ่งคนทำงานสื่อก็ต้องตระหนักว่าหากเป็นการส่งข่าวทางเดียวก็จะได้แต่ภาพในด้านดีด้านเดียว ดังนั้นแม้จะไม่ได้ส่งนักข่าวไปลงพื้นที่ก็อาจต้องหาข้อมูลจากทางอื่น เช่น จากเพื่อนๆ ในวงการที่ไปลงพื้นที่ ซึ่งทางองค์กรต้นสังกัดจะย้ำเสมอในเรื่องการรักษาสมดุล (Balance) ความเป็นกลาง

วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการ คมชัดลึก และข่าวข้นคนข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี กล่าวว่า อย่าปฏิเสธว่าการเมืองไม่ใช่เกม และนักการเมืองที่บอกว่าไม่ได้เล่นเกมจริงๆ ก็กำลังเล่นอยู่  ได้คุยกับแขกรับเชิญที่เป็นนักการเมืองมามาก บางทีหน้าฉากอย่างหนึ่งหลังฉากก็อีกอย่างหนึ่ง แต่การนำเรื่องหลังฉากมาถามกันตรงๆ หน้าฉากอาจไม่เหมาะสมจึงต้องหาวิธีการอื่นๆ   บางทีไม่ได้สัมภาษณ์นักการเมืองคนนั้น แต่มีการนำเสนอข้อมูลที่ได้รับการบอกเล่ามาเล่าผ่านหน้าจอเพื่อให้ทุกคนเท่าทัน เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบใคร  สิ่งที่หวังที่สุดแล้วคือ อยากให้ประชาชนมีความเท่าทันเกมการเมือง  

“อย่างล่าสุดให้จับตามอง บอกว่าโคราชจะมีปราศรัยใหญ่ จะมีคนมาฟัง 4-5 หมื่นคน รู้ได้อย่างไรว่าจะมีคนมาฟังจำนวนนั้น ซึ่งแปลว่ามีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้ภาพแบบนี้มันเกิดขึ้น คือถึงแม้ว่าภาพนั้นมันจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ว่าสารนั้นมันก็ได้เข้าไปแล้ว ทีนี้เวลาเรารายงานว่าใครไปทำอะไร เราก็จะสอดแทรกแง่มุมข้อสังเกตตรงนี้เข้าไปตลอดเพื่อให้ประชาชนคนรับสื่อรู้ทัน” วราวิทย์ กล่าว

ในตอนท้าย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย)  กล่าวปิดการเสวนา ระบุว่า งานนี้เป็นเวทีที่มีคุณค่าและน่าสนใจ ซึ่งในช่วงเลือกตั้งนี้โคแฟคร่วมกับภาคีทั้งในและต่างประเทศ เตรียมทำระบบตรวจสอบข้อมูลเท็จ หลอกลวง สร้างความเกลียดชัง ใส่ร้ายกันและยินดีให้ทุกสื่อใช้ประโยชน์และเข้ามาร่วมมือกัน

“อย่างที่ทุกท่านพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันเดิมพันสูง ทุกท่านพูดว่านักการเมืองเขาก็เต็มที่ ตัวเงินก็ไม่น้อย แต่ในนามประชาชนก็เสี่ยงสูงเหมือนกัน เชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทเต็มรูป 100% มันจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เป็นระดับประเทศ ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การทำหน้าที่ของสื่อออนไลน์ รวมทั้งการทำหน้าที่ของประชาชนจะมีความสำคัญมาก เวทีวันนี้เป็นเวทีเริ่มต้น คิดว่าจะต้องจับไต๋การเมืองกันต่อไป” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว