โพลเลือกตั้งปี 66 ส่งสัญญาณหมดยุคโพลออฟไลน์ ห่วงสุ่มง่ายแต่คุมอคติไม่ได้

ปรากฎการณ์ยุคดิจิทัล โพลออนไลน์สะพัดเลือกตั้ง 2566 “อัศวิน” ชี้สัญญาณหมดยุคโพลออฟไลน์ สู่ยุคออนไลน์ ข้อดีคนสนใจเข้ามาตอบความจริงเอง ขณะที่ “นพดล” ซูเปอร์โพล หนุนโพลทำทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ห่วงจุดอ่อนสุ่มแบบง่าย คุมอคติไม่ได้ ชี้สื่อนำเสนอซ้ำ ๆ มีผลทางจิตวิทยา ขณะที่นักวิชาชีพ “สมฤดี”ไทยรัฐทีวี เปิดขั้นตอนสื่อขยับทำโพลเอง คาดแนวโน้ม  โพลออนไลน์ขยายตัว ยืนยันความน่าเชื่อถือ บาลานซ์ ด้วยการนำเสนอทุกโพล

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ย้อนดูผลโพลการเมืองหลังเลือกตั้ง” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สมฤดี ยี่ทอง บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พ.ค.2566  ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือทำโพลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งโพลจากสำนักต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา รวมทั้งสื่อมวลชน และที่เป็นปรากฎการณ์ใหม่คือการทำโพลออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้น 

ในมุมมองของ รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ต่อปรากฎการณ์โพลในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากเทียบกับการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา คิดว่า กำลังดี ไม่มากเกินไป แต่ในส่วนที่จำนวนโพลมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากออนไลน์เป็นสิ่งที่แพร่หลาย ทั้งหน่วยงาน บุคคล สามารถใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือได้ จึงเป็นธรรมดาที่จะถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำโพล 

ปรากฎการณ์โพลสะพัดยุคออนไลน์ 

ฉะนั้นการที่เราเห็นการทำโพลมากมาย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการใช้งานที่สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา

โดยรูปแบบดิจิทัลเกี่ยวกับการทำโพล ก็เปลี่ยนไปจากฮาร์ดก๊อปปี้ มาเป็นออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งลักษณะการทำแบบออฟไลน์ฮาร์ดก๊อปปี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำกันมาอย่างยาวนาน คือส่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ให้ตอบแบบสอบถาม หรือแม้แต่ของนิด้าเอง ซึ่งใช้วิธีโทรศัพท์ก็ยังถือว่าเป็นลักษณะแบบเดิม แต่ทันทีที่เรามีอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มออนไลน์ มีระบบดิจิทัลเข้ามา มีเครื่องมือ มีโปรแกรมซอฟต์แวร์หลังบ้าน ที่สามารถจะดูข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

ที่สังเกตเห็นชัดเจนอย่างหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการทำโพลจากหลายสำนัก แม้แต่สื่อก็เป็นตัวอย่างที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเก็บข้อมูล รวมถึงเรื่องการจัดเวทีประชันกัน การจัดดีเบต ก็ทำโพลแบบเรียลไทม์ในตอนนั้น ใครชอบเบอร์ไหน ก็กดเข้ามาทันที ก็เป็นตัวอย่างของแพลตฟอร์มออนไลน์ระบบดิจิทัล ที่ทำให้การเก็บข้อมูล การสำรวจความคิดเห็น ทำได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน

ชี้ความต่างด้วยหลักประชากรศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แม้การสำรวจความเห็นจะทำได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นจากการจัดรายการสด แล้วให้คนตอบคำถามเข้ามาทันที หรือจะตั้งคำถามเอาไว้แล้วให้เวลาคนดูคนฟังตอบเข้ามาได้ในอีก 2-3 วัน สามารถทำได้ แต่หากจะนำไปเป็นผลสรุป ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะมีความต่างกับโพลคือ ผู้ที่ตอบคำถามเข้ามา เป็นเพียงผู้ที่ฟังอยู่ ณ ขณะนั้น ในเชิงสถิติและวิชาการไม่สามารถจะบอกได้ว่า ผู้ตอบเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ฟังทั้งหมดของรายการนี้ หรือผู้ฟังของคลื่น หรือของชาวไทยในประเทศทั้งหมด หรือตัวแทนกลุ่มประชากรเหล่านั้นได้ 

จึงต้องระมัดระวัง เพราะเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ในการแปลผลว่า ถ้าเราเก็บข้อมูล ณ จุดใดจุดหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่การจะนำไปสรุปเลย ทันทีทันใด อาจจะไม่ตรง เพราะหลักของการทำโพล ต้องดูว่ากลุ่มตัวอย่างที่มาตอบเป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มใดด้วย ต้องมีตรงนั้นด้วย

รศ.ดร.อัศวิน อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักการทำโพลว่า ต้องมีลักษณะทางประชากร ซึ่งประชากรศาสตร์ก็จะดูลักษณะพื้นฐานของตัวบุคคลนั้น ว่าเป็นใครพื้นฐาน เช่น อายุ เพศ ภูมิิลำเนา ข้อมูลเหล่านั้น เป็นตัวแทนที่จะนำมาจัดกลุ่มได้ว่า ตัวบุคคลนั้นถือว่าอยู่ในส่วนไหนของสังคม เวลาเราต้องการข้อมูลที่ต้องการตัวแทน ก็ต้องไปสุ่มหาคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเหล่านั้นมา

ข้อดีโพลออนไลน์คนสนใจตอบความจริง

เมื่อถามว่าค่าความเบี่ยงเบน ของโพลยุคอนาล็อกกับดิจิทัล แตกต่างกันมากหรือไม่ รศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า หากดูจากผลที่ออกมาครั้งนี้ที่น่าแปลกใจพอสมควรก็คือ โพลที่เก็บแบบดั้งเดิม ในแง่ของพรรคที่ชนะเลือกตั้ง จะพบว่าผลการพยากรณ์คลาดเคลื่อน เพราะไม่มีสำนักใด ที่ฟันธงว่าพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าย้อนกลับไปดูโพลทั้งหมด อันดับหนึ่ง คือ พรรคเพื่อไทยชนะ ซึ่งความคลาดเคลื่อนในการเก็บข้อมูลแบบเดิมมีอยู่จริง 

ถ้าเป็นแบบเดิมเราจะต้องมีฐานข้อมูลของประชากรอยู่ เช่นคนไทย 70 ล้านคนถ้าเอาเฉพาะมีเฉพาะสิทธิ์เลือกตั้ง 18 ปีขึ้นไปก็จะตัด 70 ลงมาเหลือ 52 ฉะนั้น 52 ล้านคน ก็ต้องสำรวจกระจายกันไปตามภูมิภาค จังหวัดต่างๆ ฉะนั้นเวลาไปสุุ่มตัวอย่าง จะสุ่มด้วยหลักร้อย หลักพันก็แล้วแต่ ก็ต้องสอดรับกับส่วนที่เป็นตามจริงของประชากร ฉะนั้นความคลาดเคลื่อนอาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจากการลงพื้นที่ หรือใช้วิธีโทรศัพท์ อาจจะเจาะได้ไม่ตรงตามที่สัดส่วนที่แท้จริงที่เป็นอยู่ จึงทำให้ผลที่ได้รับกลับมามันเบี้ยวไป

ในขณะที่ ถ้าเราสุ่มแบบทำโพลออนไลน์ แบบดิจิทัล กลับพบว่าก้าวไกลเป็นที่หนึ่ง ซึ่งถูก ถ้าเราย้อนกลับไปดูโพลของเดลินิวส์+มติชน เค้าบอกเลยว่า ก้าวไกลคืออันดับหนึ่ง แต่ความต่างก็คือว่าการทำโพลออนไลน์ยูสเซอร์ หรือผู้ใช้งานเข้ามาโหวตเอง ผู้จัดทำเพียงแต่ทำเครื่องมือระบบรองรับเท่านั้น จะต่างกับการทำโพลแบบเดิม คือไปหาคนตอบ ซึ่งไปหาถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจจะไปผิดที่ก็ได้ แต่ถ้าเปิดออนไลน์กลุ่มที่เขากระตือรือร้นจริง ๆ จะวิ่งเข้ามา แล้วเค้าจะบอกในสิ่งที่เขาจะโหวตจริง ๆ ซึ่งมันตอบรับกลับปรากฎการณ์ครั้งนี้ ที่สังคมตื่นตัวมากเป็นพิเศษ และพยายามจะแสดงเจตจำนงของตัวเองอย่างชัดเจนให้สังคมรับทราบ ตรงนี้เลยทำให้เกิดความแม่นยำได้พอสมควรทีเดียว

สัญญาณหมดยุคโพลออฟไลน์สู่ยุคออนไลน์

เมื่อถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เรากำลังจะหมดยุคโพลอนาล็อกแบบออฟไลน์หรือไม่ รศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า สัญญาณมันบอกแบบนั้น มันเห็นจากการทำโพลระดับประเทศ ตอนนี้โอกาสของความไม่แม่นยำจะสูงขึ้น ถ้าสังเกตดูการทำโพลแบบเดิมที่แม่น จากการเลือกตั้งที่เห็นชัดเจนครั้งนี้คือใน กทม. ตัวอย่างจากนิด้าโพล การทำนายผลผู้ว่าฯ ในพื้นที่ กทม.ทายถูกเป๊ะเลย แต่พอไปรวมกับต่างจังหวัด ทั้งหมดมันไม่ถูก มันมีข้อผิดพลาด แสดงว่าฐานข้อมูลในกรุงเทพฯ แน่น พอสุ่มก็ได้ของจริง ได้คะแนนจริง คำตอบที่จริง 

เมื่อถามถึงปรากฎการณ์เอ็กซิทโพลที่หายไป รศ.ดร.อัศวิน มองว่า ก็น่าจะเป็นวิวัฒนาการใหม่ของการเลือกตั้งในเมืองไทยด้วย จากเดิมที่เราเคยมีเอ็กซิทโพล ครั้งนี้ไม่มี แสดงว่าก็เริ่มจะเอาท์ไปแล้วเหมือนกัน เหตุผลก็เพราะว่า เราเห็นการรายงานผลแบบเรียลไทม์ของสื่อทันทีเลย จากหน้าจอ ตัวเลขขึ้นทันที จากพื้นที่และเขตเลือกตั้งต่าง ๆ เพราะฉะนั้น การจะหยิบเอาเอ็กซิทโพลมาคุยอาจไม่ทันสถานการณ์จริง โดยเฉพาะใน กทม. ที่ตัวเลขคะแนนขึ้นเร็วมาก

เมื่อถามว่า ในยุคดิจิทัลจำนวนกลุ่มตัวอย่างระหว่างออฟไลน์ กับออนไลน์ต่างกันหรือไม่ หรือมาตรฐานกลุ่มตัวอย่างออนไลน์จะต้องเป็นแบบไหนอย่างไร รศ.ดร.อัศวิน ระบุว่า จุดสำคัญของความน่าจะเป็นทางสถิติก็คือ ตัวแทนที่เราใช้เป็นตัวอย่าง ต้องมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับประชากรกลุ่มใหญ่ แต่หัวข้อที่เราจะไปวิจัยเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มไหน ซึ่งจะแม่นยำมาก ถ้าหากจำกัดเฉพาะคนกลุ่มที่เค้ามีคอมมูนิตี้ออนไลน์ของเค้าอยู่แล้ว แต่มันจะยากมาก ถ้าจะบอกว่าเป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขนาดนั้น เราอาจจะยังหาพื้นที่ออนไลน์ที่รองรับได้ยากขึ้น

ผลโพล-ผลเลือกตั้ง สะท้อนจุดยืนสื่อ

เมื่อถามถึงการนำเสนอผลโพลการเมืองของสื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้  รศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ มีความแบ่งค่าย แบ่งขั้ว แบ่งฝ่ายสูงพอสมควร แต่ละด้านก็จะนำเฉพาะด้านของตนเองออกมา ซึ่งเทคโนโลยี และสื่อออนไลน์เองก็เปิดโอกาสให้เป็นลักษณะแบบนั้น

สิ่งที่เราได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ เราได้เห็นฉันทามติจริงๆ ว่าประชากรไทยที่มีสิทธิ์ 50 กว่าล้านคน แล้วออกมาใช้สิทธิ์ 75.2% เขาแสดงเจตจำนงไปในทิศทางไหน ฉะนั้นก็สะท้อนกลับมาว่า ถ้าเราเป็นสื่อก็ต้องตัดสินใจแล้วว่า จะเป็นมวลชนขนาดไหน แม้แต่ฝ่ายที่ไม่ได้รับชัยชนะ เค้าก็อาจจะถือว่าเป็นกลุ่มมวลชนได้กลุ่มหนึ่งเหมือนกัน ถ้าจะเป็นสื่อเพื่อรองรับกลุ่มมวลชนเหล่านั้น ก็ไม่ได้เสียหาย แต่ถ้ามองว่าส่วนใหญ่ของประเทศแสดงออกอย่างไร คิดว่าคำตอบมวลชนชัดเจนมาก ว่า การนำเสนอข่าวสารเพื่อส่วนรวมจริงๆ ก็คือต้องมองมวลชนกลุ่มใด

สื่อขยับทำโพลเอง มุ่งออนไลน์

สมฤดี ยี่ทอง ​อธิบายในมุมการทำงานของนักวิชาชีพว่า กับการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อได้เตรียมตัว วางแผนล่วงหน้าทุกอย่างไว้เป็นปี สำหรับในส่วนของโพล ในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ไม่เคยทำ ไทยรัฐเองเพิ่งมาทำสำรวจแบบออนไลน์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีทีมและมีคนเข้ามาร่วมทำ ในเบื้องต้นได้วางแผนไว้จะทำ 3 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนมกราคม เรายังไม่ได้ทำลงลึก ถามแค่ว่าจะมาเลือกตั้งไหม พรรคไหนที่อยากจะเลือก ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยก็มาเกือบจะครึ่งคือ 48% ก้าวไกลก็ยังอันดับสอง ครั้งที่สองทำเดือนมีนาคม ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยก็ยังกระแสนำอยู่มาก 

          กระทั่งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในครั้งที่สาม เมษายน ที่คุณพิธา แซงคุณอุ๊งอิ๊งขึ้นมาเป็น 35% จากที่คุณอุ๊งอิ๊งเคยได้ 34% ก็หล่นลงไป พอช่วงหลังใกล้เลือกตั้ง เห็นทิศทางของพรรคก้าวไกลที่โดดเด่นขึ้นมามาก เราก็จึงมาทำซ้ำอีกครั้งในเดือนต้นพฤษภาคม เป็นครั้งที่ 4 ก่อนการเลือกตั้ง

จากที่่ยังไม่เชื่อ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า หรือเป็นเพราะว่า ช่องทางคนที่จะสื่อสารกับทางไทยรัฐ มีแต่ออนไลน์ ซึ่งเราเองก็ยังเข้าไปไม่ถึงชนบทต่างจังหวัด ไม่ได้ลงไปสัมภาษณ์ในภูมิภาค แต่ผลครั้งที่ 4 ที่ออกมา ก็เป็นไปตามนั้นจริง

     ที่บอกว่า ตอนแรกไม่เชื่อ แต่ในกระบวนการทำงาน การสำรวจ เราดูละเอียดถึง UIP แอดเดรสอันไหน ที่มีกระหน่ำเข้ามา พยายามจะบิด หรือใช้วิธีไอโอกระหน่ำเข้ามา ผิดปกติ เราก็แยกทิ้ง จัดระเบียบ กระจายไปตามอายุ เพศ การศึกษา รายได้ เรามีวิธีการกลั่นกรองตรงนี้ เพื่อไม่ให้มีการโหวตซ้ำ 

เมื่อถามว่า ได้เจาะลงไปไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น ครั้งที่สี่เอฟซีก้าวไกลมาเต็มๆ สมฤดี มองว่า อาจเป็นเพราะ กระแสในโซเชียลทั้งหัวคะแนนธรรมชาติที่ตั้งใจก็มีผล  สองคือความชัดเจนของพรรคการเมืองเอง อย่างเช่น เพื่อไทยเอาตัวระดับรองไปดีเบต ขณะที่ทางก้าวไกลได้จัดแบ่ง แกนนำคนไหน ส่วนไหนลงพื้นที่ ขณะที่หัวหน้าพรรคเป็นตัวยืนบนเวทีดีเบต อีกทั้งการประกาศจุดยืนที่มีความชัดเจน คิดว่าคนไทยต้องการความชัดเจน และตรงไปตรงมา จึงทำให้ก้าวไกลได้มาถึงขนาดนี้  ซึ่งก้าวไกลทำงานเป็นระบบมากทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง

อีกส่วน อาจเป็นเพราะพรรคการเมืองต่างๆ เคยผ่านการเป็นรัฐบาลมาหมดแล้ว ยกเว้นก้าวไกล จึงอยากให้โอกาสพรรคใหม่ ซึ่งสื่อเองก็แทบไม่ต้องทำหน้าที่หนัก เพราะใครพูดอะไร ครู่เดียวในโซเชียลมีเดียว ก็จะขุดคุ้ยมาให้แล้วว่า ใครเคยพูดอะไรไว้

ความน่าเชื่อถือ บาลานซ์ นำเสนอทุกโพล

เมื่อถามว่า หลังจากโพลครั้งที่ 3-4 ของไทยรัฐออกมาแล้ว คนก็อาจจะแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น การตัดสินใจในการนำเสนออาจจะถูกตีความว่าไปสนับสนุนหรือไม่ ประเด็นนี้มองอย่างไร สมฤดี กล่าวว่า เรานำเสนอทุกโพล ไม่เฉพาะโพลที่ไทยรัฐทำ รวมถึงเปรียบเทียบด้วยว่า แต่ละโพล ในช่วงเวลานั้น โพลที่หนึ่งเป็นอย่างไร เราเปรียบเทียบของแต่ละสำนัก เพราะฉะนั้น คนที่จะตัดสินใจพิจารณาคือคนดู ความน่าเชื่อถือของโพลจะสะท้อนออกมาเองจากผลเลือกตั้งที่ออกมา เราไม่ได้นำเสนอเฉพาะโพลของเรา จึงตัดปัญหาเรื่องนั้นไปเลย

ทั้งนี้ ภาพรวมของโพลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่มีออกมาจำนวนมาก สมฤดี เห็นว่า หากแต่ละแห่งมีศักยภาพ ก็ควรทำ เพื่อสังคมจะได้เห็นในหลายมิติ ว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไร เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งโพลก็เป็นการคาดการณ์ ที่ใช้หลักวิชาการ และอาจเป็นส่วนหนึี่งที่อาจกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 

“แรกๆ ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คนไม่ค่อยสนใจ ซึ่งเราดูจากตัววัดเรตติ้ง แต่พอช่วงหลังๆ ถึงแม้คนจะไม่อยากดู เราก็จำเป็นต้องรายงาน โพลเป็นแค่ปัจจัยส่วนหนึ่ง อาจมีอีกหลายปัจจัย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ คนที่อาจได้รับผลกระทบจากการเมือง ไม่ว่าการใช้ชีวิต ในรูปแบบใดก็ตาม ก็อาจจะออกมามาก ขณะเดียวกันการมีโซเชียลเข้ามา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างผลออกมาอย่างนี้ เมื่อก่อนบางโพลอาจมีอิทธิพลมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว” 

คาดแนวโน้มโพลออนไลน์ขยายเพิ่ม

เมื่อถามว่า ในอนาคตโพลออนไลน์อาจจะมากกว่าออฟไลน์ สมฤดี มองสอดคล้องกับนักวิชาการ โดยระบุว่า แนวโน้มออนไลน์ ก็ไปต่ออยู่แล้ว และการลงพื้นที่ทำโพลอาจจะน้อยลง ถึงแม้โพลออฟไลน์จะบอกว่า เข้าถึงกลุ่มทุกกลุ่มได้หมด แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับคำตอบที่แท้จริง แต่โพลออฟไลน์เองก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีสมาร์ทโฟน

ส่วนกรณีเอ็กซิทโพลที่หายไป สมฤดี มองว่า เป็นเพราะการทำเอ็กซิทโพลใช้งบประมาณมาก ใช้คนมาก แล้วผลก็ไม่ตรงกับความจริง โดยเฉพาะการเข้าไปสัมภาษณ์ ก็มีปัญหาอุปสรรคเยอะ ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้สัมภาษณ์ ก็บิดไป ไม่ได้ตอบตามความจริง จึงไม่มีผลอะไร นอกจากเสียค่าใช้จ่ายมาก แล้วยังอาจถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน การตอบคำถามก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ฉะนั้นทุกโพลจึงเลือกที่จะไม่ทำเอ็กซิทโพล ซึ่งในการเลือกตั้งปี 62 ก็ไม่มี

กระแสมีทั้งผลกระทบและไม่กระทบ

     ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ตอบข้อถามถึงการทำโพลเลือกตั้งของสำนักต่างๆ ในครั้งนี้ ที่แม้จะมีโพลจำนวนออกมา แต่ก็ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ 2-3 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งกระแสก็เริ่มมา โดยมองปรากฏการณ์ครั้งนี้กับโพลว่า ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน หนึ่ง คือกระแสไม่มีส่วนกระทบมาก ทำให้ทุกโพลก็แม่น อีกส่วนหนึ่งคือ กระแสที่มีส่วนกระทบ ทำให้เกิดการเฉ ของการตัดสินใจ ก็ทำให้โพลคลาดเคลื่อนไป

ตัวอย่างที่ซูเปอร์โพลได้บอกออกมา มีผลกระทบค่อนข้างน้อยจากกระแสก็คือ ซูเปอร์โพลได้เปิดเผยออกมา เป็นโพลก่อนวันเลือกตั้งว่า คนจะออกมาใช้สิทธิประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ หรือ 39 ล้านคน และก็มีผลต่อมาว่า ก้าวไกลจะได้ที่หนึ่งและเกินกว่า 10 ล้านคะแนน ก็จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ซูเปอร์โพลก็บอกว่า อาจารย์ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. จะได้ 1.3 ล้านคะแนน

สิ่งที่จะมีความคลาดเคลื่อน ก็คือในช่วงที่ 2-3 สัปดาห์สุดท้าย เราต้องการเกาะติด ว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร สุดท้ายก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้ก้าวไกลได้ชนะมาเป็นที่หนึ่ง แซงเพื่อไทย แต่ถ้าเราไปดูย้อนในปี 2563 ซูเปอร์โพลค้นพบครั้งนั้นครั้งแรกว่า ถ้าก้าวไกลเลือกตั้งตอนนั้น จะได้ที่หนึ่งในปี 2563 

หลังจากนั้น เรามาดูล่าสุด การที่บอกแบบนี้ เพื่อจะให้เห็นว่า การทำโพลมีหลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งที่นำมาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมันเป็นอยู่จริง เกิดขึ้นได้จริง สิ่งนั้นก็คือ การที่เราต้องใช้ระเบียบวิธี หลักวิชาการ และหาทางลดอคติ มี 2 ส่วนที่สกัดความแม่นยำก็คือ อคติ กับความคลาดเคลื่อน

สื่อนำเสนอซ้ำๆ มีผลทางจิตวิทยา

          เมื่อถามถึงการนำเสนอข่าวเรื่องผลโพลของสื่อในครั้งนี้เป็นอย่างไร ผศ.ดร.นพดล ระบุว่า หากย้อนไปดูโพลก่อนหน้านี้ ผู้นำบางพรรคไม่ติดในโผเลย ได้ 1% บางทีไม่ถึงเปอร์เซ็นต์บ้าง แม้กระทั่งโค้งสุดท้ายก็ยังไม่ขึ้น ในลักษณะแบบนี้ จะไม่เจอ อย่างซูเปอร์โพลก็จะบอกชัดเจนว่า พรรคไหนเป็นอย่างไร จะกระจายกันไป แล้วแต่มิติของการสำรวจ บางที่ก็จะบอกว่า อยากเช่นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้ 1% แล้วเป็นหัวหน้าพรรคที่มีเครือข่ายกว้างไกลมาก ถ้า 1% จากคนมาใช้สิทธิ์ 39 ล้านคนแสดงว่าก็ได้แค่ 3 แสนคะแนนทั่วประเทศแล้วก็จะทำออกมาซ้ำๆ ทุกสัปดาห์ก็ออกมาแบบนั้น การออกมาซ้ำๆ แบบนั้นมีผลทางจิตวิทยา เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เปรียบเสมือนกับ บ่อปลา 3 บ่อ 

บ่อหนึ่ง ก็มีพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลอยู่ด้วยกันและพรรคอื่นเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่คนละขั้วกับรัฐบาลรักษาการ 

บ่อที่สอง เป็นบ่อที่มีหลายพรรค พรรครัฐบาลรักษาการตอนนี้ประมาณ 4-5 พรรค ซึ่ง 2 บ่อนี้ สััดส่วนพอๆ กัน ในช่วงที่เราการศึกษามาตลอด ประมาณร้อยละ 40 – 50 เหวี่ยงไปบ้าง แต่ยังไม่ทิ้งห่างกันมาก 

ส่วนบ่อที่สาม ประมาณร้อยละ 20 เค้ากระโดดไปได้ง่ายมาก ไปได้ทุกข้าง บ่อปลานี้ หลายคนก็จะเรียกว่าพลังเงียบบ้าง สำหรับตนถือว่าเป็นบ่อที่วิเคราะห์ยาก จะมีกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวตัดสิน

     พอเราเข้าใจแบบนี้ เราจะพบว่า เวลาได้ยินผลโพล ข้อจำกัดอันหนึ่งก็คือประชาชนทั่วไป จะไม่รู้ หรือรู้ได้ไม่เพียงพอว่า สัดส่วนของคนมีสิทธิ์เลือกตั้งเท่าไหร่ จึงจะไปให้ความเชื่อถือกับโพลนั้นๆ หรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าเรารู้อย่างนี้ ประชาชนรู้ว่าคนจะมาใช้สิทธิ์ 30 กว่าล้านหัวหน้าพรรคคนนี้ เป็นหัวหน้าพรรคขนาดใหญ่เลย แล้วก็จะได้ 1% หรือไม่ถึง แสดงว่ามันมีอะไรผิดปกติ หรือไม่มีอะไรบกพร่องหรือไม่ในการเก็บข้อมูล

จุดอ่อนสุ่มแบบง่ายคุมอคติไม่ได้ 

บางแห่ง เก็บข้อมูลทางโทรศัพท์อย่างเดียว แล้วถ้ามี 1 แสนกว่าเบอร์ กับคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50 กว่าล้าน มันก็ไม่ครอบคลุม แล้วการโทรศัพท์ไป อย่าลืมว่า มีหลายค่าย คนๆ หนึ่ง อาจจะถือหลายเบอร์ก็ได้ ยิ่งลึกลงไปถ้าศึกษาเรื่องการสุ่มตัวอย่าง จะรู้ว่า การสุ่มแบบง่าย มันคุมอคติไม่ได้ คุมความคลาดเคลื่อนไม่ได้ 

แต่สิ่งหนึ่งที่สาธารณชนจะรับรู้ได้ หลักเบื้องต้นคือ เราต้องรู้ว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งมี 50 กว่าล้าน แล้วถ้าผลโพลออกมาคนคนนี้หรือพรรคนี้ไม่ได้รับความนิยมเลย ก็ต้องไปดูว่า เขามีศักยภาพ ทำไมโพลชิ้นนี้จึงกดเค้าลงไปขนาดนั้น ก็จะเป็นคำถามเบื้องต้นของประชาชน

หากไปที่่เว็บไซต์ซูเปอร์โพล แม้จะทำโพลมาตลอด 20-30 ปี ผมบอกเลยว่าจะแม่นยำขนาดไหนก็อย่าไปเชื่อ อย่าไปยึดมั่น ถือมั่นและอย่าประมาท เป็นหลักการสำหรับทุกคน

หนุนโพลทำทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ 

เมื่อถามว่ารูปแบบการทำโพลยุคดิจิตอล ระหว่างออฟไลน์ กับออนไลน์ มองอย่างไร หมดยุคออฟไลน์แล้วหรือยัง ผศ.ดร.นพดล ระบุว่า คนทั้งประเทศ ไม่ใช่ทุกคนอยู่บนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ออกมา บางที่ บางหน่วยงาน บอกว่าคนอยู่ในโลกออนไลน์ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่  แม้แต่โทรศัพท์มือถือแต่ละจังหวัด ฝ่ายปกครองเค้ารู้ดีว่า คนที่ไม่มีมือถือแม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีจำนวนมาก 10-30% ด้วยซ้ำ ถ้าทั่วประเทศประมาณ 40% ที่เขาไม่มีมือถือ

เวลาทำโพล ต้องทำทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ต้องใช้แบบผสมผสาน เพราะอิทธิพลของโลกดิจิทัลมีส่วนหนึ่ง และการตัดสินใจของคนก็ไปตามกระแสส่วนหนึ่ง ความเบื่อหน่าย ต้องการเปลี่ยนแปลงก็อีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นหลายๆ องค์ประกอบ ทำให้ดูเหมือนกับคนในโลกออนไลน์ชี้นำ คล้ายจะเป็นอย่างนั้น แต่พอไปดูแล้วว่า ถ้าเราต้องเคลื่อนคนทั้งประเทศ เวลาทำโพลเราต้องให้ความสำคัญกับคนอยู่นอกโลกออนไลน์ด้วย เขาอาจมีความคิดแตกต่างกับคนในโลกออนไลน์ก็เป็นได้ แม้แต่คนในโลกออนไลน์ก็ยังคิดต่างกัน ชัยชนะของพรรคก้าวไกลเองก็ยังฟันว่า มาจากปัจจัยหนึ่ง ปัจจัยเดียวไม่ได้

+++++++++++++++++++