คำไหนควรใช้ คำไหนไม่ควรใช้ ประเด็นความหลากหลายทางเพศ

คำไหนควรใช้ คำไหนไม่ควรใช้

คู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 สืบเนื่องจากข่าวบุกจับฟิตเนสซาวน่าแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่  8 กรกฎาคม 2566 และมีการใช้คำในข่าวที่ไม่เหมาะสม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ขอแนะนำ คู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ จัดทำโดย โครงการกลไกเฝ้าระวังสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ 4 ภาค มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

คู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยคำที่ถูกต้อง คำว่า “เพศ” ทุกวันนี้ ไม่ได้ยึดโยงเพียงแค่เพศที่เป็นอวัยวะร่างกาย หรือเพศตามคำนำหน้าชื่อ แต่ยังมีคำที่ใช้เรียกบุคคลที่ไม่ได้แสดงออก เป็นหญิงหรือชายตรงตามเพศกำเนิดเกิดขึ้นมากมาย เช่น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ เป็นต้น

เราจึงต้องทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องเพศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ซับซ้อนกว่าคำว่า “เพศ” ที่เรารู้จักในสังคมไทย ซึ่งต่างจากคำในภาษาอังกฤษที่มีอยู่หลายคำ เช่น Sex ที่หมายถึงเพศทางร่างกาย Gender ที่แปลเป็นไทยว่าเพศสภาพ เพศภาวะ หรือเพศสภาวะ และ Sexuality หรือ Sexual Orientation ที่หมายถึงเพศที่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์ ความรู้สึกดึงดูด อารมณ์ปรารถนาทางเพศ หรือความรักใคร่ชอบพอ มักแปลเป็นไทย ว่า “เพศวิถี” เราจึงต้องพิจารณาเพศทางร่างกายสรีระ (Sex) เพศที่เป็นบทบาททางสังคม (Gender) และเพศในทางกามารมณ์ เพศสัมพันธ และอารมณ์ความรู้สึก (Sexuality หรือ Sexual Orientation)

แล้วจะเรียกบุคคลที่มี ความหลากหลายทางเพศ ว่าอย่างไรดี? หากเนื้อหาที่จะนำเสนอจำเป็นต้องใส่อัตลักษณ์ของบุคคลที่มี ความหลากหลายทางเพศ และผู้นำเสนอมีความไม่แน่ใจ ก็ควรสอบถามผู้ให้ข้อมูลที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น ว่าเขาต้องการที่จะให้นำเสนอตัวเขาอย่างไร หรือเขานิยามตัวเขาอย่างไร แต่ถ้าเนื้อหาที่จะนำเสนอไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพียงแค่เรียกเขาด้วยชื่อของเขาก็พอ

คำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับ ความหลากหลายทางเพศ

  1. รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) พื้นฐานความสนใจ ความดึงดูดทางเพศ ของบุคคลที่มีต่อบุคคลที่เป็นเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม
  1. อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ความรู้สึกภายในของบุคคลเกี่ยวกับ เรื่องเพศของตนเอง ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับเพศกำเนิด ของตนเอง โดยอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ได้มีเพียงแค่ชายและหญิง
  1. การแสดงออกทางเพศ (Gender expression) การแสดงออกให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ ทางเพศของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ จะแสดงออกผ่านการแต่งกาย หรือลักษณะทางกายภาพ
  1. บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำที่ใช้ในการเรียกรวมบุคคล ที่นิยามตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ คนข้ามเพศ คนรักสองเพศ คนเพศกำกวม และกลุ่มอื่น ๆ เป็นต้น
  1. เลสเบี้ยน (Lesbian) บุคคลที่เป็นผู้หญิง และมีรสนิยมทางเพศ ที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้หญิง
  1. เกย์ (Gay) บุคคลที่ชื่นชอบในบุคคลที่มีอัตลักษณ์ ทางเพศ และรสนิยมทางเพศตรงกับตนเอง โดยในบริบทของสังคมไทยจะเข้าใจว่าเกย์ คือบุคคลที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศ ของตนเองว่าเป็นชาย และมีความชื่นชอบ และรสนิยมทางเพศกับชาย
  1. คนรักสองเพศ (Bisexual) บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศทั้งที่ชอบ เพศเดียวกัน และเพศตรงกันข้าม กับตนเอง
  1. คนที่มีเพศกำกวม (Intersex) บุคคลที่มีสรีระทางเพศ หรือแบบโครโมโซม ที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชาย หรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชาย และหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์
  1. คนข้ามเพศ (Transgender) บุคคลที่มีการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ ตรงข้าม และแตกต่างไปจากเพศกำเนิด ของตนเอง
  1. ผู้หญิงข้ามเพศ (Transwoman) บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่ใช้ชีวิต และแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ตรงข้ามกับเพศกำเนิด ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง/ไม่เปลี่ยนแปลง ร่างกาย ฮอร์โมน หรือผ่าตัดแ10ปลงเพศ
  1. ผู้ชายข้ามเพศ (Transman) บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่ใช้ชีวิต และแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ตรงข้ามกับเพศกำเนิด ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง/ ไม่เปลี่ยนแปลง ร่างกาย ฮอร์โมน หรือผ่าตัดแปลงเพศ
  1. เควียร์ (Queer) เป็นการใช้คำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นำมาใช้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศของตนเอง ที่แสดงให้เห็นถึง ความไม่มีกรอบในการเข้ามากำหนด เกี่ยวกับเรื่องเพศ
  1. นอนไบนารี่ (Non-Binary) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศ และ/หรือการแสดงออกทางเพศ ว่า อยู่นอกเหนือการจัดหมวดเรื่องเพศที่มีเพียงแค่ เพศชายและเพศหญิง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ทลายการจัดระเบียบบุคคลที่มีความหลากหลาย ทางเพศว่าจะต้องดำรงชีวิต มีแนวปฏิบัติที่ให้สอดคล้องกับเพศหญิงหรือเพศชายเท่านั้น

คำไหนควรใช้ คำไหนไม่ควรใช้

คำตีตรา สร้างอคติด้านลบ สร้างความรุนแรงผ่านภาษา และละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ล่วงละเมิดทางเพศ

คำที่ไม่ควรใช้ ตุ๋ย  เช่น รวบชายหื่น ลวง ด.ช. 11 ขวบ ตระเวนตุ๋ยข้ามจังหวัด

คำที่ควรใช้ ข่มขืน  รวบชายหื่น ลวง ด.ช. 11 ขวบ ตระเวนข่มขืนข้ามจังหวัด

คำที่ไม่คววรใช้ ถั่วดำ อัดถั่วดำ เช่น ตำรวจจับกะเทยท่าแพแสบ หลอกหนุ่มจีนชมเมือง แถมชิมถั่วดำแล้วชิงทรัพย์หนี 

คำที่ควรใช้ ข่มขืน เช่น ตำรวจจับกะเทยท่าแพแสบ หลอกหนุ่มจีนชมเมืองข่มขืนแล้วชิงทรัพย์หนี

การตีตราเพศอื่น ๆ ว่าเป็นของเทียมของปลอม

มีนัยยะว่าเพศอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แปลกประหลาด

คำที่ไม่ควรใช้ ชายจริงหญิงแท้ ชายปกติ/หญิงปกติ เช่น นางเอกชื่อดังให้สัมภาษณ์หลังหลายคนชมว่าเล่นเหมือนมากจนไม่แน่ใจว่าเป็นผู้หญิงแท้หรือเปล่า

คำที่ควรใช้ ชาย,หญิง คนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น นางเอกชื่อดังให้สัมภาษณ์หลังหลายคนชมว่าเล่นเหมือนมากจนไม่แน่ใจว่าเป็นผู้หญิงหรือเปล่า

การตีตราว่าเพศอื่นที่ไม่ใช่ชาย หญิง เป็นความผิดปกติ

คำที่ไม่ควรใช้ เบี่ยงเบนทางเพศ วิปริตทางเพศ เช่น ผู้นำไคโรฟันธง พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ คือ อาชญากรรมของซาตานต่อมวลมนุษยชาติ

คำที่ควรใช้ ความหลากหลายทางเพศ เช่น ผู้นำไคโรฟันธง ความหลากหลายทางเพศ คือ อาชญากรรมของซาตานต่อมวลมนุษยชาติ

การจัดลำดับความสำคัญทางเพศ

แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ

คำที่ไม่ควรใช้ เพศที่สาม สาวประเภทสอง เช่น ชาวเพศที่สามของปากีสถานเรียกร้องการยอมรับในสังคมหลังทนทุกข์ทรมานเพราะสังคมต่อต้าน

คำที่ควรใช้ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของปากีสถานเรียกร้องการยอมรับในสังคมหลังทนทุกข์ทรมานเพราะสังคมต่อต้าน

สื่อถึงความหมกมุ่นในกามารมณ์

คำที่ไม่ควรใช้ รักร่วมเพศ เช่น บรูไนยกเว้นโทษประหารชายรักร่วมเพศ หลังถูกต้านจากกระแสสังคมโลก

คำที่ควรใช้ คนรักเพศเดียวกัน คนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น บรูไนยกเว้นโทษประหารชายรักชาย/ คนรักเพศเดียวกัน หลังถูกต้านจากกระแสสังคมโลก

คำที่ไม่ควรใช้ ผู้ชายนะยะ ไม้ป่าเดียวกัน ผู้หญิงมีงู ประเทือง ชาวดอกไม้ ตุ๊ดซี่ แต๋ว ตุ๊ดตู่ น้องเตย สีสันวันเกณฑ์ทหาร ผู้ชายนะยะ-พระ-พ่อลูกอ่อน คำที่ควรใช้ กะเทย คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ สีสันวันเกณฑ์ทหาร กะเทย-พระ-พ่อลูกอ่อน

ไม่มีคำแทน ไม่ควรใช้ และต้องเลิกใช้

เสียดายของ ฉิ่งฉับ ฟันดาบ ตีฉิ่ง เล่นดนตรีไทย ฟ้าเหลืองที่เหมืองทอง ฟ้าเหลืองที่เมืองทอง มนต์รักฟักทองบด

คำที่ไม่ควรใช้ หัวโปก คนโสดตายเรียบ เผยคลิปวินาที “กะเทยหัวโปก” โดนแฟนทำเซอร์ไพรส์ เล่นเอาอิจฉากันทั้งปรพะเทศ คำที่ควรใช้ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนโสดตายเรียบ เผยคลิปวินาที “น้องที่มีความหลากหลายทางเพศ” โดนแฟนทำเซอร์ไพรส์ เล่นเอาอิจฉากันทั้งปรพะเทศ

ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียด ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : Click Here