บทเรียนคดีกราดยิงกลางห้าง สะท้อนแนวโน้มเด็กก่อความรุนแรงอายุน้อยลง ห่วงดิจิทัลฟุตพรินต์ ส่งต่อข้อมูลทางโซเชียล

บทเรียนคดีกราดยิงกลางห้าง แพทย์กรมสุขภาพจิตสะท้อนแนวโน้มเด็กก่อความรุนแรงอายุน้อยลง ชี้มีหลายปัจจัย ทั้งในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคมของเด็ก เผยดัชนีความเครียดในสังคมไทยพุ่งขึ้นหลังโควิด แนะ 4 แนวทางรับมือความรุนแรงในเด็ก ด้านนักวิชาการสะท้อนสังคมเลี้ยงลูกแบบแข่งขันสูง ครอบครัวเดี่ยวขาดต้นแบบ แนะพ่อแม่ต้องเท่าทันเด็กเท่าทันสื่อ ห่วงดิจิทัลฟุตพรินต์ ส่งต่อข้อมูลทางโซเชียล ด้านสภาการสื่อฯ เน้นย้ำแนวปฏิบัติ ข้อกฎหมายเกี่ยวข้อง 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “เหตุยิงกลางห้าง vs การประจานทางสังคม” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข วีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธาน และประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และรองเลขาธิการสภาทนายความฯ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

เหตุกราดยิงในสยามพารากอน โดยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี สะท้อนปัญหาสังคมอย่างไร นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม มองว่า ประเด็นเรื่องของเด็กอายุน้อยที่ก่อความรุนแรง สะท้อนปัญหาความเครียดในสังคม ตอนนี้ที่เราเห็นคือแนวโน้มของเด็กที่ก่อความรุนแรงอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจัยเรื่องความเครียดของการเรียน การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีเวลาให้ลูกน้อยลง

แม้แต่ในต่างประเทศก็พบว่า 1.มีเรื่องโรคประจำตัวหลายโรคที่เป็นสาเหตุให้ก่อความรุนแรงได้ 2.ความผิดปกติทางจิตใจที่อาจจะก่อเกิด หลังจากการเกิดมาแล้ว 3.การเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีผลค่อนข้างมาก 4.เรื่องสังคมที่เด็กต้องอยู่อีกครึ่งหนึ่งของชีวิต ซึ่งครึ่งหนึ่งเด็กอยู่ที่บ้าน อีกครึ่งหนึ่งต้องไปอยู่ที่โรงเรียน สังคมในโรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อเด็ก ว่าจะพัฒนาชีวิตไปในทิศทางใด

ดัชนีความเครียดสังคมไทยพุ่งหลังโควิด

ขณะที่การให้ความสำคัญกับดัชนีความเครียดในสังคมไทย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเราพยายามติดตามดูแลมาโดยตลอด และพบว่าเนื่องจากสังคมมีความบีบคั้นมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตโควิดมา มีความเครียดค่อนข้างสูง เราเคยศึกษาในเขตสุขภาพที่ 5 บริเวณ ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี มีความเครียดสูงขึ้นมากทั้งสุขภาพ และเศรษฐกิจที่แย่ลง

ขณะที่ในโรงเรียนมีหลายอย่าง ที่ปรับพฤติกรรมในส่วนนี้ ทั้งเพื่อน และในสังคม ที่มีความแข่งขันกันอยู่ในตัวเองมาก เรื่องการกลั่นแกล้งกัน มีบางส่วนที่เกิดขึ้นเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่ที่โรงเรียน สังคมและเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าแต่ขณะเดียวกันการพัฒนาทางด้านจิตใจนั้น ตามการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ทัน

กรณีเด็กถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ผู้ปกครองต้องสอนลูกอย่างไร และโรงเรียนต้องทำอย่างไร นายแพทย์ธิติ ชี้ว่า มีหลายแนวทาง ปัจจุบันทางสุขภาพจิตใช้ คำว่า “วัคซีนใจ”(Resilience : มีความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญปัญหา ฟื้นตัวได้เร็ว ล้มแล้วลุกได้) คือความเข้มแข็งชนิดหนึ่ง คนเราจะตอบสนองสิ่งต่าง ๆ ที่กระทบได้ ถ้าเป็นความแข็งแกร่ง ถ้าเป็นเหล็กกระแทกกันมันมีแต่หัก แต่ถ้าเป็นลูกบอลรับแรงแล้วก็เด้งกลับ ยุบลงแล้วกลับมาเป็นลูกบอลได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นถ้าเด็กเข้มแข็งตรงนี้ในเรื่องจิตใจที่ดี จะทำให้เด็กสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง เขาอาจจะไม่ต้องชกกลับ แต่มีวิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง อาจจะรายงานฝ่ายปกครองโรงเรียน รองรับทางอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง เป็นสิ่งที่เราสนับสนุนให้เกิดขึ้นมากกว่า เราพบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้เด็กมี Resilience ในความเข้มแข็ง ตรงนี้ก็คือการเลี้ยงดูของครอบครัว

พ่อแม่-ให้เวลา ปัจจัยป้องกันเด็ก

เมื่อถามถึงข้อสันนิษฐานเรื่องเกมคอมพิวเตอร์ที่ถูกมองว่าอาจเป็นสาเหตุที่เด็กมีความรุนแรง ต้องให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน นายแพทย์ธิติ กล่าวว่า ปัจจัยการก่อเหตุความรุนแรงไม่ใช่ปัจจัยเดียวแน่นอน เกมเป็นเพียงตัวกระตุ้นแบบหนึ่ง เกมเหล่านี้ถูกกระจายอยู่ทั่วโลกมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ เป็นปัจจัยกระตุ้นบางส่วนของคนที่มีปัญหาในลักษณะนั้น เท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ทุกคน

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้มีการใช้เกม ของกลุ่มที่ก่อความรุนแรงมาก ๆ ในเยาวชนก็ดูเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง และได้รับคำแนะนำอย่างดีจากพ่อแม่ผู้ปกครองสำคัญที่สุดในการป้องกันความรุนแรงในเด็กและเยาวชน คือการดูแล ถ้ามีเวลาให้ได้คุยกัน ได้ระบายความคิดเห็นต่อกัน ในสิ่งที่ถูกต้อง ทิศทางในสิ่งที่ถูกต้องส่วนนี้จะเป็นสิ่งสำคัญ แม้เด็กจะเล่นต้องให้เรียนรู้ว่านั่นคือเกมไม่สามารถจะเป็นชีวิตจริงได้คิดว่าเป็นปัจจัยที่มีผลมาก ๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่รวมกันแล้วทำให้เกิดผลไม่ใช่ปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่ง

4 แนวทางรับมือความรุนแรงในเด็ก

ขณะที่การนำเสนอข่าวภาพข่าวของสื่อหลักสื่อโซเชียลมีเดีย ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนแบบไหน อย่างไร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เห็นว่าปัจจุบันสื่อมีหลากหลายชนิดมากขึ้นเราติดตามกันอยู่ตลอดเวลา ทุกคนสามารถโพสต์เรื่องราวต่าง ๆ ในสื่อได้ในส่วนนี้มีผลค่อนข้างมากในการนำเสนอข่าวต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องระมัดระวัง และมีหลักเกณฑ์อยู่พอสมควร คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และเด็ก ๆ

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้นำเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขบ่อย ๆ เช่นกันว่า ควรดำเนินการกับการเสนอความรุนแรงอย่างไร

1. พยายามไม่ส่งต่อความรุนแรงนั้นไปหาคนอื่น

2. ถ้าเราให้พื้นที่ในการนำเสนอเรื่องส่วนตัวผู้ก่อความรุนแรง อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการเลียนแบบเกิดขึ้นได้ ทำให้รู้สึกว่าเป็นฮีโร่ถ้าตรงใจเขา อยากเลียนแบบ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ การเสนอข่าวอยากให้เน้นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น เรื่องการป้องกันแก้ไข เรื่องของจุดดีที่จะเกิดขึ้น เช่น ตัวอย่างสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในอนาคต และอาจจะให้ความรู้เพิ่มเติม ทั้งในแง่เรื่องประเด็น ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ควรจะดำเนินการอย่างไร ควรแจ้งเหตุที่ไหน ดูแลอย่างไร มากกว่าการเน้นรายละเอียดเหตุที่เกิดขึ้น หรือตัวผู้ก่อเหตุ

ทิศทางสื่อควรเตือนให้ระมัดระวัง

เมื่อถามว่า เส้นกึ่งกลางความพอดี ในการนำเสนอของสื่อ กับการประจานผู้กระทำความผิด ควรอยู่ตรงไหน นายแพทย์ธิติ ระบุว่า การเตือนในลักษณะที่ให้ระมัดระวัง เป็นสิ่งที่ดี แต่การเตือนจะต้องมีหลายรูปแบบ อาจไม่จำเป็นต้องเห็นหน้า เพราะระหว่างเกิดเหตุเมื่อเห็นหน้าจากข่าวที่เข้ามา ก็ไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้อย่างรวดเร็ว หรือบอกได้ทันที 

สิ่งที่ควรเตือนคือ 1.พฤติกรรมที่เขาแสดงออก 2.เรื่องการแต่งกาย เสื้อ กางเกง หมวก สี จะเป็นการเตือนให้ระมัดระวังได้ดีขึ้น ในส่วนนี้การนำเสนอข่าวในช่วงเกิดเหตุ ก็ควรรายงานว่าต้องระวัง และสถานที่ใดควรหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวัง เนื่องจากมีเหตุร้ายอยู่ อย่างนี้ คิดว่าเป็นการนำเสนอที่น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ในส่วนของการนำรูป นำข้อมูลส่วนบุคคลไปนำเสนอ ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการระมัดระวังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีสื่อ นำรูปผู้ก่อเหตุมานำเสนออย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวจะส่งผลอะไร นายแพทย์ธิติ กล่าวว่า การนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านการรับโทษไปแล้ว จะเป็นแผลติดตัวเขา จะมีปัญหาในเรื่องการดำเนินชีวิตต่อไปในสังคม และเป็นรอยแผลลึก ๆ อยู่ในใจเขาเสมอไป ถ้าเป็นไปได้ เป้าหมายในการนำเสนอข่าว เพื่อต้องการระมัดระวังคนรอบข้างในระยะที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นเราต้องการให้เขารู้ถึงวิธีดำเนินการหากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ หรือระแวดระวังเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิด อาจจะช่วยเตือน และสุดท้าย ญาติพี่น้องคนใกล้ตัวก็จะได้นำส่งรักษาอย่างถูกต้อง และถูกวิธี

พ่อแม่ควรมีคำแนะนำให้กับลูก ๆ ในการรู้ทันสื่อได้อย่างไร ตอบว่า สื่อเป็นปัจจัยหลัก การสื่อในทางที่ดี มีความเห็นในทางที่ชอบ เช่นทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่หลงผิดไปติดอยู่กับเรื่องที่ทำให้ตัวเองก่อความรุนแรงเรื่องความรู้ที่รู้ว่าการจะดูแลตัวเองอย่างไรถึงจะเป็นคนดีในสังคมได้ถึงจะไม่ไปก่อเหตุ เล่นเกมแล้วไม่เสียกับสิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ เหล่านี้เรียกว่าเป็นความรู้ คือความรอบรู้ทางด้านสุขภาพจิตซึ่งใช้คำว่ารู้ก็อยู่รอดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

สะท้อนสังคมเลี้ยงลูกแบบแข่งขันสูง

ด้านนักวิชาการ ธาม เชื้อสถาปนศิริ มองปรากฎการณ์นี้ว่าน่ากังวลใจ เพราะผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากเหตุเกิดใจกลางเมืองการรายงานข่าวยังส่งผลไปยังนอกประเทศ ทั้งความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ที่สำคัญเราควรกลับมาทบทวนว่า เกิดอะไรขึ้นกับเยาวชนคนรุ่นปัจจุบัน จะแก้ไขปัญหาที่น่ากังวลนี้อย่างไร

อ.ธาม ระบุว่า ปัจจุบันนี้เด็กถูกเลี้ยงแบบสังคมเมืองที่ค่อนข้างแข่งขัน โดยเฉพาะตัวเด็ก ถ้าดูตามข่าวเด็กจะต้องเรียน โรงเรียนทำให้ท้อ เกิดภาวะกดดัน บางทีพ่อแม่ไม่รู้ตัวว่า พ่อแม่เป็นพิษทำให้ลูกถูกกระตุ้นเรื่องพัฒนาการเร็วไปเร่งเรียนเกินไป ก็จะสร้างความเครียดสะสม ชีวิตความเป็นเมือง ไม่เฉพาะการสอบทางวิชาการ สภาพครอบครัว ก็อาจมีส่วน พ่อแม่มีเวลาน้อย การอยู่คนเดียวในวัยเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก็ต้องการเจอผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก ประกอบกันกับเด็กเมืองใช้สื่อดิจิทัล ซึ่งก็เป็นตัวกระตุ้น แต่ตัวตั้งต้นมาจากสภาพการเลี้ยงดูวัฒนธรรมการเลี้ยงดู สภาพครอบครัว ส่วนเรื่องสื่อก็เป็นตัวที่ไปกระตุ้นสุดท้ายจริง ๆ คือภูมิคุ้มกันจากพ่อแม่ และสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ

หลายปัจจัยต้นเหตุเด็กเลียนแบบ

กรณีถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการเลียนแบบเล่นวิดีโอเกมของเด็ก อ.ธาม ระบุว่าคนที่เล่นก็ไม่ได้เลียนแบบ การเล่นเกมอาจเป็นการระบายความเครียด แม้แต่ผู้ใหญ่ก็เล่นเกมเหล่านี้

อ.ธาม ระบุว่า ความสามารถของเด็กในการแยกเรื่องแฟนตาซีกับความเป็นจริง จะกระทำได้ตอนอายุประมาณ 13-14 ปี ถ้าทำไม่ได้ก็จะหลุดไป เอาแฟนตาซีมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือมีพฤติกรรมที่อยากเลียนแบบซึ่งมี 2 มิติ คือ การเลียนแบบภายใน ที่เป็นตัวตน เขาอาจจะมีไอดอลเป็นตัวละครในแฟนตาซีเกม เด็กจะสะสมจินตนาการจากเกม การเลียนแบบพฤติกรรม และอีกส่วนคือ การเลียนแบบบุคลิกภายนอก เช่น เสื้อผ้า ท่าทาง การจับปืน อุปกรณ์ต่าง ๆ ฉะนั้นเด็กก็จะเลียนแบบจากสื่อค่อนข้างมากประเด็นที่คิดว่า นอกจากเรื่องครอบครัวแล้ว เรื่องสื่อก็จะมีส่วนค่อนข้างมาก ที่จะกระตุ้นให้เด็กสามารถเลียนแบบได้

เมื่อถามว่าเด็กที่ชอบเลียนแบบ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาและหาตัวตนไม่เจอ อ.ธาม กล่าวว่าเป็นสมมุติฐานที่ถูกที่สุดในทางวิจัยด้านการพัฒนาเด็กประถมวัยเด็กที่พัฒนาตัวเอง (เซลฟ์เอสตีม) หรือความภาคภูมิใจในตัวเองไม่มี ก็มักจะโอนอ่อนคล้อยตามกับตัวละครที่อยู่ในแฟนตาซี เพราะเด็กหาตัวตนไม่เจอ ตัวตนก็คือการตระหนักรู้ว่าเป็นใคร ความรู้ความสามารถที่มีคืออะไร แล้วรู้ว่าความสามารถของเขา มีคุณค่าอย่างไร

โดยทั่วไปเด็กประถมวัยที่จะเริ่มก่อตั้งตัว คือ 1.เด็กมีอยู่จริง มีพ่อแม่ที่รักให้ความสำคัญ ให้เวลาลูกอย่างมีคุณภาพ 2.ตอนเด็กโต ความภาคภูมิใจในตัวเอง เช่นช่วยเหลือพ่อแม่ หรือมีทักษะด้านการเรียน เรื่องกีฬา 8-9 ขวบเขาก็จะรู้ ถ้าไม่ถูกสนับสนุนให้ก่อร่างสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ก็จะมีโอกาสไปเอาโรลโมเดลอื่น ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี หรือถ้ามีปู่ย่าตายายเก่ง เด็กจะเริ่มมองเห็นว่าโรลโมเดลในครอบครัวมีใครบ้าง

ครอบครัวเดี่ยวขาดต้นแบบ

แต่ถ้าเป็นครอบครัวเดี่ยวในปัจจุบันเด็ก ๆ ก็จะเริ่มหาตัวแบบที่มาจากสื่อ ถ้าสื่อที่ได้รับเป็นแบบอย่างที่ดี ก็จะมีแบบอย่างที่ดีให้เลียนแบบ แต่ถ้าใช้สื่อที่ไม่ดี เช่น วิดีโอเกมที่มีความรุนแรงเด็กจึงไปใช้โรลโมเดลจากเกม แล้วเด็กที่ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือหาตัวเองไม่เจอ ก็มีโอกาสที่จะถูกดึงความสนใจด้วยโรลโมเดลอื่น ๆ

เมื่อถามว่าพ่อแม่สอนด้วยการกระทำให้ดูได้หรือไม่ อ.ธาม ระบุว่าเด็กเรียนรู้อยู่ 2 แบบ คือเลียนแบบ และแตกต่าง ถ้าพ่อแม่ทำพฤติกรรมดี เด็กก็จะเลียนแบบเพราะมีโรลโมเดลที่ดี ตัวแบบที่ดีไม่ใช่หมายถึงพ่อแม่สั่งสอนด้วยวาจา แต่พฤติกรรมมีน้ำหนักสูงมากเพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงเป็นตัวแบบที่ดีที่สุด ก่อนถึงจุดหนึ่ง พ่อแม่จะไม่ใช่ตัวแบบในช่วง 12-15 ปี เด็กจะมองหาตัวแบบอื่นที่ไม่อยู่ในบ้านหรือเป็นลักษณะพัฒนาการช่วงวัยปกติ เช่น มองหาบุคคลที่อยู่ในสื่อ ปรากฏการณ์ที่เด็กเริ่มเชื่อบุคคลที่อยู่ในสื่อวัย 14-15 เช่น เชื่อตัวละคร ในเกม ดารา ศิลปิน นักร้อง เข้าสู่โลกแฟนตาซี มีตัวละครอวตารมากมาย เด็กก็จะไปตรงนั้นจะเชื่อมากกว่าพ่อแม่

เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องใส่ใจเฝ้ามอง สังเกต เป็นหูเป็นตาว่า ลูกกำลังเอาตัวแบบมาจากไหนในแฟนตาซี มาจากตัวแบบที่ประพฤติดีหรือไม่ ถึงเวลาเขาจะเลียนแบบพฤติกรรมในทางที่ดี อันนี้เป็นหน้าที่พ่อแม่

“ปกติเรามองด้วยความเป็นครู การที่เด็กจะโตมาได้กับกิจกรรมที่โรงเรียน กับการอยู่ในกลุ่ม ในสังคมมีกีฬา ดนตรี ศิลปะกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เหล่านี้ คือโซเชียลลิสต์ทำให้เด็กถูกขัดเกลา ถ้าพ่อแม่ปัจจุบันเลี้ยงลูกแบบให้ใช้เวลาอยู่กับบ้าน กับจอ กับสื่อ กับโลกเสมือนจริงในจินตนาการมาก เขาจะไม่ถูกกระบวนการขัดเกลาด้วยสมาชิกทางสังคมอื่น ๆ เพราะฉะนั้นตัวตนของเขาจึงรู้สึกว่าอีโก้จัด ในดิจิทัลทำได้ทุกอย่างฉะนั้น กิจกรรมที่พ่อแม่ควรมองหาให้ลูกทำ หนีไม่พ้น เรื่องดนตรี กีฬา ศิลปะ

พ่อแม่ต้องเท่าทันเด็ก เท่าทันสื่อ

อ.ธาม ยังเน้นย้ำถึงพ่อแม่ด้วยว่า นอกจากจะเท่าทันเด็ก ต้องเท่าทันสื่อด้วย ลูกเข้าไปอยู่ในสังคมโซเชียลออนไลน์แบบไหน คุยอะไรกันเพราะเป็นหน้าที่พ่อแม่ แม้จะไม่ต้องรับโทษอาญา แต่ต้องรับโทษความเสียหายทางแพ่งที่เกิดขึ้น

ขณะที่การนำเสนอข่าวแล้วคนก่ออาชญากรรมกลายเป็นฮีโร่ หรือหลงใหลในการก่ออาชญากรรม ซึ่งพฤติกรรมที่มีอิทธิพลจากสื่อมากก็คือ ก๊อปปี้แคทหากสื่อนำเสนอมาก ๆ จะทำให้เกิดมีข้อมูลที่สืบค้นหาได้ ทำให้เกิดกรณีคนที่อยากจะเลียนแบบ ค้นหาเมื่อไหร่ก็เจอ เพราะฉะนั้นอาชญากรรมปัจจุบัน ไม่ใช่ปุบปับเกิดขึ้นเพราะบันดาลโทสะ เราสังเกตเห็นว่าอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมแบบนี้ จะมีวิธีการดู รีเสิร์ช วางแผนตระเตรียมการ ฝึกซ้อมยิง สื่อมวลชนไปรายงาน Spotlight ส่องไปที่ตัวผู้ก่ออาชญากรรมมาก ๆ ก็จะทำให้คนที่อยากเลียนแบบ อยากจะมีชื่อเสียงโด่งดัง มี Spotlight ส่องก็อยากจะทำตาม มันไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่า ฉันไม่มีตัวตน แต่ถ้าฉันทำสิ่งนี้ สื่อมวลชนทั้งประเทศจะให้ความสำคัญ ในทางสังคมศาสตร์ เรียกว่า 15 minutes of fame หรือ15 นาทีแห่งความโด่งดังในชีวิตสักครั้งหนึ่ง ถ้าเราทำอะไรก็ได้ สื่อมวลชนทั้งประเทศจะนำเสนอ ชื่อ ภาพ เสียง ประวัติของเรา เรื่องราวชีวิตของเราจะถูกรายงานผ่านสื่อมวลชนทั้งประเทศ

ห่วงภาพหลุดจาก จนท.โซเชียลส่งต่อ

เมื่อถามความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวของสื่อ กรณีนี้เพียงพอหรือไม่ อ.ธาม มองว่า สื่อมวลชนมีความระวังค่อนข้างมาก ถ้าเป็นสื่อวิทยุซึ่งไม่มีภาพ สื่อโทรทัศน์ถ้าไปดูข่าวทีวีมีการเซ็นเซอร์ แต่ที่เป็นปัญหาคือโซเชียลมีเดีย ภาพที่หลุด ถ้าหลุดออกจากตำรวจคือผิดมาตรการโปรโตคอลในการทำคดี เพราะหลุดแล้วในโซเชียลมีเดียก็หลุดเลย ไม่มีทางรู้ว่า จะแชร์ส่งต่อไปที่ไหน

ที่สำคัญมีการขุดสื่อไปดูคลิป TikTok วิดีโอการซ้อม สังคมเริ่มระดมข้อมูลตามหาตามล่าอดีต ตนอยากให้คิดปัจจุบันการปกป้องพีดีพีเอทำได้ยาก แม้จะมีกฎหมาย เมื่อมีการโพสต์คลิป ข้อความ การฝึกซ้อม ลงไปต้องมีร่องรอยดิจิทัลฟุตพริ้นต์แน่เพราะข้อมูลถูกเห็น ถูกมองได้ ต้องคิดถึงเรื่องนี้ก่อน ฉะนั้นการนำเสนอข่าวทุกวันนี้ยากที่จะปกปิดทั้งหมด แต่เรามีกฎหมาย มีจริยธรรม ถึงจะถูกค้นพบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสิทธินำเสนอ ประเด็นนี้ต้องคิดเอาไว้

ต้องตระหนัก กม. เด็ก-ครอบครัว-พีดีพีเอ

ด้าน วีรศักดิ์ โชติวานิช ​อธิบายประเด็นกฎหมายที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีไม่ต้องรับโทษว่า บัญญัติไว้ในมาตรา 73 ถ้าเด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปีกระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่มาตรา 74 ระบุว่าเด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่ถึง 15 ปีกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ต้องรับโทษ แต่ไม่ใช่ปล่อยตัวเด็กเลย เพราะในกฎหมายในวรรคต่อไประบุไว้ ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าไม่ต้องรับโทษ ศาลก็อาจเรียกพ่อแม่ผู้ปกครองมาตักเตือนให้ดูแล ให้รับตัวเด็กไปดูแล และออกข้อกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั่นคือการคุมประพฤติ โดยศาลก็ยังมีอำนาจตั้งพนักงานคุมประพฤติเข้าไปกำกับ ให้มารายงานตัวให้ทำประโยชน์สาธารณะ ห้ามเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ 

หรือถ้าศาลเห็นว่าไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็อาจมอบหมายให้ใครเป็นผู้ปกครอง กำกับดูแล ประการสุดท้าย ถ้าศาลเห็นว่าถึงแม้มีพ่อแม่มีผู้ปกครองแต่พฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็กเป็นกรณีที่ร้ายแรง แล้วเห็นว่าพ่อแม่อาจดูแลเด็กได้ไม่ดีเท่าที่ควร เห็นว่าอาจจะเป็นภัยได้กฎหมายก็ให้อำนาจศาลอีก คือส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกอบรม ซึ่งกรณีนี้ มีเงื่อนไขว่า ไม่ให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี 

ประการสุดท้าย แม้จะมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง แต่ถ้าศาลเห็นว่าอาจจะดูแลได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไม่มีเวลา ศาลก็อาจส่งไปยังสถานฝึกอบรม ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของสถานพินิจ และคุ้มครองเด็ก เป็นสถานที่ศาลสั่งให้เด็กเข้าไปอยู่ แต่แยก คือเป็นสถานฝึกอบรม เพราะถ้าอายุกว่า 15 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถ้าศาลเห็นว่าควรจะควบคุม ก็จะส่งเข้าสถานพินิจ แต่กรณีที่อายุไม่เกิน 15 ปี ก็จะเป็นสถานฝึกอบรม หรือโรงเรียน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก

เมื่อถามถึงกรณี กฎหมายของไทยที่ขยับอายุของเด็กที่จะได้ละเว้นโทษลง ต่างกับในต่างประเทศที่ลดอายุลงมา วีรศักดิ์ อธิบายว่า กฎหมายของบ้านเรา ดูจากกฎหมายต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกัน เราก็มีหลัก แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก การกระทำของเด็กว่าการกระทำความผิดนั้น อาจจะอยู่ที่วุฒิภาวะ การตัดสินใจ 

ถอดบทเรียน-ทบทวนกฎหมาย เรื่องจำเป็น

ขณะเดียวกันก็เป็นที่ปรากฏว่า เด็กปัจจุบันเรียนรู้ในสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง และมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เลียนแบบผู้ใหญ่ค่อนข้างเร็ว เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต้องเอามาถอดบทเรียน ทั้งฝ่ายคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ก็ต้องกลับมาดูว่า การที่เราไปขยายอายุของเด็ก จาก 7 ปีเป็น 10 ปี เป็น 12 ปี ถึงเวลา ในการทบทวนใหม่หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สยามพารากอน จะสังเกตได้ว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาหลังจากเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนเข้าไปตรวจสอบห้องพัก พบพยานหลักฐาน หลายสิ่ง ซึ่งเด็กในวัยนี้ไม่ควรมีพฤติกรรมเช่นนั้นอันนี้สำคัญ

เมื่อถามว่า หากนำกรณีนี้มาเป็นบทเรียน กฎหมายต้องไปปรับปรุงแก้ไขอะไรหรือไม่ วีรศักดิ์ มองว่า มีอยู่กรณีเดียว ต้องไปดู คือเรื่องอายุ แต่ก็เป็นเรื่องปลายเหตุ บทเรียนที่สอง ต้องมาดูเกี่ยวกับเรื่องอาวุธที่ใช้ในการกระทำความผิด เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืน ซึ่งเด็กสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ ปัญหาก็คือเรามีเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลเรื่องการซื้อทางออนไลน์ ตำรวจไซเบอร์ทำไมจึงปล่อยให้มีเว็บไซต์เหล่านี้อย่างเสรี หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด และหลังเกิดเหตุไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็สามารถรู้แหล่งและจับตัว ผู้จำหน่ายได้แล้ว ก่อนหน้านี้ไปอยู่ที่ไหน ในการเฝ้าระวัง เรามีทั้งตำรวจไซเบอร์ กระทรวง แต่ปล่อยให้ซื้อขาย ตนเห็นว่าหากเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด จริงจัง ปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมก็จะลดน้อยลง

เมื่อถามถึงกรณีพีดีพีเอ หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการส่งข้อมูลผู้ก่อเหตุ ทั้งบัตรประจำตัวต่าง ๆ ภาพถ่ายของผู้ก่อเหตุ วีรศักดิ์ อธิบายว่า ในแง่เตือนภัย ต้องแยกให้ออกก่อนว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นที่สยามพารากอน ผู้กระทำความผิดคือเด็ก พีดีพีเอคิดว่าเป็นตัวรอง แต่ตัวที่ใช้บังคับสำหรับกรณีของเด็ก จะมีกฎหมายสองฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

“กรณีที่ส่งภาพ ส่งข้อมูลกันไปก่อนหน้านั้น เรื่องการส่งหรือแชร์ข้อมูล ว่าเกิดเหตุที่นั่นที่นี่ ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการเฝ้าระวัง การเตือนให้ทุกคนรู้ถึงภัยที่กำลังเกิดขึ้น แต่พอควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ ควบคุมสถานการณ์ได้ ตรงนี้ระหว่างพีดีพีเอกับกฎหมายเฉพาะก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และวิธีพิจารณาเกี่ยวกับศาลเด็กและเยาวชน 

ต้นทางภาพจากจนท.สุ่มเสี่ยงส่งต่อ

ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ ก่อนที่จะควบคุมตัวได้ ไม่มีใครรู้ว่าคนก่อเหตุอายุเท่าไหร่ ฉะนั้นการแชร์ข้อมูลในที่เกิดเหตุ โดยไม่มีภาพหวาดเสียวต่างๆ มองว่า ไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย แต่เมื่อตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ภาพที่ออกมานั้นมีการยื่นบัตรประชาชน ปรากฏว่าซูมภาพถ่ายบัตร ตรงนี้สำคัญ ในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเด็กเยาวชน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาเยาวชนและครอบครัว ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า ในคดีอาญาที่เด็กกระทำความผิด ห้ามพนักงานสอบสวน หรือพนักงานผู้จับกุมเปิดเผยรายละเอียดของตัวเด็ก ถ้าดูแล้ว ก็ต้องรู้ว่าเป็นเด็ก เพราะฉะนั้น จะต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ขณะที่ผู้สื่อข่าวเองก็ต้องพึงตระหนักเช่นกัน เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองเด็ก ในการนำเสนอข่าว” 

วีรศักดิ์ ระบุด้วยว่า ในเบื้องต้นภาพหลุดจากเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็เป็นส่วนที่ไปละเมิดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลเด็ก คดีเด็ก ต่อมาเมื่อแชร์ต่อ ๆ กันไป ก็จะไปเข้า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเช่นกัน ซึ่งห้ามโฆษณาเผยแพร่รูป ที่อยู่ บุคคลที่ใกล้ชิด สามารถเข้าถึงได้ แม้กระทั่งสถานศึกษาของเด็ก ในส่วนของพีดีพีเอมองว่าเป็นตอนปลายแล้ว ในส่วนของสื่อหลัก เห็นว่าค่อนข้างระมัดระวัง แต่สื่อโซเชียลอันตราย เพราะละเมิดกฎหมายกันหมด แล้วมีโทษทางอาญาด้วย

เน้นย้ำสื่อยึดแนวปฏิบัติทำข่าวเด็ก

ทั้งนี้ เรื่องของสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนฯ ได้ออกแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพื่อให้ตระหนักว่าลำพังเพียงจริยธรรมอย่างเดียว เวลาละเมิด บทลงโทษก็คือทางสังคม มาตรการที่เราทำงานร่วมกัน แต่เราให้ความรู้กับองค์กรวิชาชีพด้วยว่า ในการละเมิดเกี่ยวกับเด็กนั้น มีผลคุ้มครองเด็ก มีโทษทางอาญาด้วย เพียงแต่ระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ในกรณีที่นำเสนอภาพข่าวเกี่ยวกับเด็กอย่างจริงจัง

“เราเตือนเป็นระยะ เรื่องเด็กกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของเด็ก ต้องระมัดระวัง เรามีแนวปฏิบัติแล้ว และถ้ามีการละเมิด ไม่เพียงผิดจริยธรรมยังผิดกฎหมายอาญาด้วยอันนี้สำคัญ” ประธานคณะกรรมการจริยธรรม กล่าวและย้ำถึงเรื่องแนวปฏิบัติในการทำข่าวเด็กและเยาวชน ซึ่งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ขอบคุณสื่อที่เคารพปฏิบัติตามกติกา พร้อมกับฝากเตือนสื่อที่ละเมิด เพราะนอกจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่มีโทษทางอาญาแล้ว พีดีพีเอก็จะมีผลบังคับตามมาด้วย และมีโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน.