สภาการสื่อฯ แสดงความกังวล เหตุการณ์ลอกข่าว-สรุปข่าว ละเมิดกฎหมาย-จริยธรรมวิชาชีพ

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติหารือและแสดงความกังวลต่อ เหตุการณ์การลอกข่าวและสรุปข่าวในเพจดัง ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ อนาคต AI จะยิ่งทำได้เนียนกว่านี้ เตรียมขยายผลหาแนวทางปฏิบัติให้เกิดความถูกต้อง ไม่ละเมิดจริยธรรม

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2566 ว่า ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงประกาศสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว มีดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานคณะกรรมการ และความคืบหน้าโครงการอบรมเพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ ซึ่งจะเริ่มเปิดหลักสูตรและปฐมนิเทศในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ส่วนความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ซึ่งคณะทำงานตั้งเป้าหมายการทำงานจะเริ่มจากทำเรื่อง Self-regulation ให้เข้มแข็งก่อน เน้นที่แนวทางการพัฒนา “จริยธรรมกลาง”ที่มาจากการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งหาข้อมูลประกอบเกี่ยวกับการพัฒนา code of conduct และกลไกอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวของออสเตรเลียและอินโดนีเซีย รวมถึงศึกษาแนวทางการส่งเสริมสื่อดีให้อยู่รอดและแข่งขันได้

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการจริยธรรมและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ยังได้รายงานความคืบหน้าการทำงาน กรณีที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ขอให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สยามพารากอน การจัดทำนิยามศัพท์และความหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชน ความพร้อมในการจัดเวทีหารือ Media Sustainability Discussion กับผู้แทนสื่ออินโดนีเซีย ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้  และผลการจัดสัมมนาโครงการพัฒนาแนวทางการสอนจริยธรรมและกฎหมายสื่อยุคใหม่ เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา   

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ชี้แจง กรณีที่สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จดทะเบียนบริษัท ใช้ชื่อว่า บริษัท อิศราไทยเพรส เดเวลอปเมนท์ จำกัด เนื่องจากการจัดหาทุนสนับสนุนรูปแบบต่างๆ เช่น ขอทุนจากองค์กรต่างๆ การรับบริจาค หาโฆษณา หรือแม้แต่การรับบริการจัดฝึกอบรมทักษะการสื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่องค์กรต่างๆ รายได้จากการรับบริการหรือค่าโฆษณา ต้องเสียภาษีนิติบุคคลตามปกติ ซึ่งบางครั้งมากกว่าบริษัทจำกัดทั่วไป เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และสิทธิประโยชน์ด้านภาษี คณะกรรมการมูลนิธิและคณะกรรมการบริหารสถาบันจึงมีมติให้จัดตั้งบริษัท อิศราไทยเพรส เดเวลอปเมนท์ จำกัด ขึ้น ซึ่งการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวิสาหกิจหรือนิติบุคคลแบบไม่แสวงหากำไร เมื่อมีกำไรไม่ต้องแบ่งปันให้กับผู้ถือหุ้น โดยให้นำผลกำไรไปใช้เพื่อสังคมเป็นการแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น (มาตรา 6 วรรคสาม)         

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หยิบยกกรณีมีเพจดังของพิธีกรข่าวนำข่าวของสำนักข่าวต่างๆ มาลง  โดยไม่ได้ส่งนักข่าวลงพื้นที่ อ้างว่าไม่ได้ลอก แต่มาสรุปเรียบเรียงใหม่แปะลิงก์ข่าวไว้ ได้ประโยชน์และรายได้จากการกระทำดังกล่าว ทำให้การทำงานของนักข่าว และเว็บไซต์ต่าง ๆ ทำงานยากลำบากขึ้น ซึ่งที่ประชุมอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง โดยเห็นว่าเรื่องนี้มีมานานแล้ว จนเป็นที่มาของการก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และดำเนินการตามกฎหมาย จนต้องแก้ไขเปลี่ยนเป็นการซื้อขายข่าวกันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบนักข่าว หยิบฉวยเอาข่าวไปใช้ได้อย่างง่ายๆ ขาดมารยาท นำข่าวหรือข้อมูลไปใช้และได้รับประโยชน์ ขณะที่ต้นทางไม่ได้ประโยชน์นั้นด้วย แม้บางครั้งจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ละเมิดจริยธรรมในการทำงาน ในอนาคตระบบ AI จะยิ่งทำให้การลอกข่าวทำได้เนียนมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมเห็นตรงกันและแสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 หมวด 3 หลักกระบวนการทำงาน ข้อ 28 สื่อมวลชนต้องบอกที่มาของข้อมูลในเนื้อหาข่าวที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากการขออนุญาตจากแหล่งข้อมูลนั้นแล้ว ที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรขยายผลหาวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ไม่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ให้เป็นที่รับทราบของผู้ประกอบวิชาชีพและสาธารณะต่อไป.