อิทธิพลสื่อภาพยนตร์ “ข่าวลบ-เนื้อหาร้าย” ส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ

อิทธิพลสื่อภาพยนตร์ “ข่าวลบ-เนื้อหาร้าย” ส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ แม้ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนพลาดเป้า “ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-นักวิชาการสื่อ-นักวิชาชีพ” ชี้ภาครัฐทั้งสองฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหาได้ โดยใช้กลไกสื่อแคมเปญสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัย หนุนรัฐเร่งดันซอฟพาวเวอร์ “ภาพยนตร์” เผยแพร่มุมบวกท่องเที่ยวไทย 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “อิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ ในศตวรรษที่ 21” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย สุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชุติมณฑน์ ศรีขำ กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และหัวหน้าข่าวการเงิน และตลาดหุ้น บ้านเมืองออนไลน์ รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นไปตามเป้าอาจมีหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้น “สื่อภาพยนตร์” กำลังถูกมองว่า อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะความปลอดภัย “อิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ ในศตวรรษที่ 21” ยังมีอยู่หรือไม่ 

สุรวัช อัครวรมาศ ฉายภาพใหญ่ให้เห็นถึงสาเหตุที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นอย่างที่ไทยคาดหวัง แม้ตลาดจีนมีตัวตนพอสมควร โดยเป้าที่ตั้งไว้เมื่อต้นปี 2566 เมื่อจีนประกาศเปิดประเทศ พอมาถึง ก.พ.ไฟเขียวให้ทัวร์กรุ๊ปเข้ามา ตอนนั้นจะเห็นได้ว่าคนจีนอยากออกมาเที่ยวประเทศไทยเยอะมาก เราจึงวิเคราะห์ว่าหากจำนวนเที่ยวบินเข้าไทยได้มากพอ จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาทั้งปีไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านคน ซึ่งตอนนั้น ททท.ก็ตั้งเป้าไว้ 5 ล้านคน สำหรับประเด็นปัญหา ก่อนหน้าในช่วง มค.-กพ.- มีค. เป็นการจัดการเรื่องสายการบิน การรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก คือความไม่พร้อม ขณะที่จีนเองก็ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ตอนที่เปิดประเทศใหม่ ๆ 

สำหรับบ้านเราที่ถูกพูดถึงปัญหา เมื่อเข้ามาแล้วต้องเผชิญอะไรบ้าง ซึ่งช่วง กพ.มีข่าวลบค่อนข้างมาก ทั้งความไม่ปลอดภัย เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีข่าวนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยถูกจับไปที่เมียนมา เป็นต้น 

ในช่วงที่เดินทางไปจีน และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพรรคพวก เข้าใจว่าทุกวันนี้เรื่องข่าว เรื่องสื่อมีผล เพราะตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ที่ไทยมีการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีกระแสว่าไม่อยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก เพราะรัฐบาลจะได้คะแนนเสียงเยอะ ขณะที่คนจีนเองก็เล่นโซเชียลมีเดียมาก และทำสื่อส่วนตัวมาก โดยไม่มีการควบคุม กระทั่งรัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายมาเมื่อ 15 มี.ค.2566 เพื่อควบคุมกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แสดงว่าจีนเห็นถึงปัญหา จึงต้องออกกฏหมายมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด  

ข่าวลบ-หนังร้าย มีผลภาพลักษณ์

สุรวัช มองว่า ประเด็นสำคัญที่นักท่องเที่ยวจีนไม่เข้ามาตามเป้า มาจากเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง คนที่มีหน้าที่ดูแลไม่ให้คนจีนเข้ามามากเกินไป ด้วยวิธีเช่น ไม่ออกพาสปอร์ตให้ ไม่พูดเรื่องบวกของประเทศไทยให้มากนัก ก็กระจายไปทั่ว แม้แต่ราชการของเขาเอง มันเป็นนโยบาย ฉะนั้นจึงทำให้คนจีนรู้สึกกลัว และคิดว่าเป็นเรื่องจริงจากสื่อที่เกิดขึ้น

สำหรับเรื่องภาพยนตร์ ถือเป็นซอฟพาวเวอร์อย่างหนึ่งที่รัฐบาลส่งเสริม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพยนตร์มีผล ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่พูดถึงลักษณะนี้ ออกฉายเมื่อเดือนพ.ค.ชื่อว่า Lost in the Stars พล็อตเรื่องสามีพาภรรยามาเที่ยวแล้วลวงไปฆ่า คนจีนอาจไม่รู้ว่าถ่ายทำที่ไหน แต่มีฉากเริ่มต้นที่โรงพัก แม้ไม่ได้ติดชื่อว่าเป็นโรงพักของประเทศไทย แต่เครื่องแบบคล้ายกับตำรวจไทย และพูดคุยกันเป็นภาษาไทย ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ขายดีมาก ถึงแม้จะดูว่าเนื้อหาไม่แรงมาก ถึงขนาดต้องกลัวการมาประเทศไทย

สุรวัช ยอมรับว่า บทในภาพยนตร์ Lost in the Stars ส่งผลต่อภาพลักษณ์ตำรวจไทย โดยเฉพาะการให้บริการ เพราะในเนื้อเรื่องที่มีนักท่องเที่ยวไปร้องทุกข์ แต่ตำรวจไม่สนใจ ใช้ถ้อยคำลักษณะด่าด้วยคำพูดไม่ดี แม้นักแสดงจะใช้ภาษาอังกฤษ แต่ก็หันไปพูดภาษาไทยด้วย ถ้าคนไม่เคยมาเมืองไทย ไม่รู้เรื่องตำรวจไทยอาจจะรู้สึกไม่ดี 

ถัดจากเรื่องนี้ ยังมีหนังอีกเรื่อง ชื่อ No More Bets (เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกค้ามนุษย์ไปยังต่างประเทศและถูกบังคับให้ฉ้อโกงทางออนไลน์) ฉายเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 (สิงหาคม) สำหรับคนจีนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีความหมายที่ดี แต่วิธีโฆษณาหนังคือ ถ้ามาดูหนังเรื่องนี้จะทำให้ถูกหลอกน้อยลง เมื่อออกฉายคนไปดูเยอะ เนื้อหาในหนังดูน่ากลัว เป็นสิ่งที่เหมือนความจริง ซึ่งก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ตำรวจไทยก็เพิ่งไปช่วยออกมาจากเมียนมาที่เล้าก์ก่าย ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ฉะนั้นข่าวจริงกับสื่อที่ไม่จริง พอมารวมกัน ก็เลยเหมือนเป็นจริงไปหมด 

สำหรับประเทศไทย เคยมีภาพยนตร์จีนมาฉายแล้วได้ประโยชน์มากคือ Lost in Thailand ซึ่งเป็นมุมบวกมาก แม้เนื้อหาจะไม่ค่อยมีอะไร แต่ลงทุนไป 150 ล้าน มีรายได้ 6,000 กว่าล้าน นี่คืออิทธิพลภาพยนตร์ ที่คนจีนฝังความรู้สึกเกี่ยวกับเชียงใหม่

ภาครัฐทั้งสองฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหาได้

สุรวัช สะท้อนถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ ต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขณะที่เขาเห็นว่าภาครัฐทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเขายกกรณีที่มีเหตุ (กราดยิงที่พารากอน) “เรื่องข่าวต่าง ๆ หลังจากนายกรัฐมนตรีไทยไปจีน ทุกอย่างมีการคุยกัน ทางจีนพยายามช่วย เรื่องสื่อในจีนแม้จะมีสื่อมากมาย แต่สื่อหลักที่เขาฟังคือ CCTV ซึ่งเป็นสื่อทางการ หนังสือพิมพ์ก็จะดูซินหัว เขารู้ว่า ต้องดูจากแหล่งไหนที่ถูกต้องที่สุด เพราะทั้งสื่อภาพยนตร์ สื่อทีวีที่มีอิทธิพลต่อคนจีน ฉะนั้นเนื่องจากเขาดูสื่อหลักจากภาครัฐ การแก้ปัญหาก็ต้องเป็นภาครัฐของเขามาช่วยเรา” สุรวัช กล่าว

เขากล่าวต่อว่า คำว่าสื่อ เราจะมีสื่อภาพยนตร์ กับทีวี เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ของจีนที่ดังที่สุดอยู่ที่เมืองหูหนาน สถานีทีวีของหูหนานชอบดูมากเรื่องการท่องเที่ยว ส่วนเมืองฉางซาเป็นสื่อทีวีจะช่วยไทยได้เยอะ หนังไทยที่เข้าไปจีนใหม่ ๆ จะเข้ามาช่องทางนี้หมด

สุรวัช ระบุด้วยว่า เมื่อเดือน ต.ค.ที่นายกฯ ของไทยไปจีน ได้ประโยชน์มากในมุมที่ให้เขาช่วยในการสื่อสาร ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (พวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ก็ไปด้วย ได้พูดคุย 13 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 9 เรื่องท่องเที่ยวและการสื่อสารจะจับมือกันอย่างไร แล้วจีนเขียนอย่างนั้น เท่ากับภาครัฐทั้งหมดของเขารับรู้ เป็นหลักต้องปฏิบัติ 

ปัจจัยหลักเศรษฐกิจภายใน-ภายนอกจีน

ชุติมณฑน์ ศรีขำ สะท้อนมุมมองของนักข่าวเศรษฐกิจ ถึงการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ นักท่องเที่ยวจีนเป็นเป้าหมายเพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่เข้ามา แต่ช่วงโควิดทำให้เข้ามาไม่ได้ รัฐบาลห้ามออกนอกประเทศ เศรษฐกิจจีนก็ซบเซา พอเราเริ่มเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวจีนก็เข้ามา แต่เนื่องด้วยจีนเป็นประเทศใหญ่ เศรษฐกิจใหญ่เวลาตก ก็ตกเยอะ มูลค่าทางเศรษฐกิจก็ลดลงเยอะ ไม่ว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างไร ก็คงต้องใช้การฟื้นตัวซักระยะ 

ขณะที่การท่องเที่ยวของเราเอง ในเวลานี้ก็พยายามกระตุ้นในหลากหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน อย่างเดียว เราพยายามชวนประเทศเพื่อนบ้าน ยุโรป อินเดีย และชาติอื่น ๆ ก็มาเที่ยว เพื่อเข้ามาทดแทนจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งความโดดเด่นของเรา มีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม วัฒนธรรม อาหารไทย ค่าที่พัก ค่ารถ ค่าใช้จ่ายของเราก็ไม่แพง ที่สำคัญคือคนไทยมีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีจิตใจที่เอื้ออารีย์  

แม้แต่เรื่องหนัง ละครของไทย ก็จะได้เห็นว่า ละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ที่กำลังสร้างกระแส แต่งชุดไทยมาเที่ยวตามรอยละคร ก็เป็นอีกประเด็นที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเข้ามา และอยากสวมใส่ชุดไทยของเราถ่ายรูป นอกจากที่ชอบใส่ชุดนักเรียนมัธยมปลายของเราถ่ายรูป ที่เป็นกระแสก่อนหน้านี้

เหตุการณ์กราดยิงแค่สภาวะช็อค

สำหรับเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอน มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และความพยายามทำความเข้าใจของไทยได้ผลมากน้อยแค่ไหน ชุติมณฑน์ ระบุว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ในมุมมองของนักข่าวเศรษฐกิจ เป็นสภาวะช็อค หรือตกใจชั่วครู่ หลังจากนั้น ก็มีมาตรการป้องกัน รับมือเหตุฉุกเฉิน ดูแลความปลอดภัย เยียวยา ช่วยเหลือ ถือว่าดีขึ้น ศูนย์การค้าก็กลับมาคึกคัก และในช่วงปลายปีที่เป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง ได้รณรงค์จัดกิจกรรมหลากหลาย ทั้งที่สยามพารากอน สยามสแควร์วัน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็คาดว่านักท่องเที่ยวคลายกังวลแล้ว

แนะรัฐใช้โซเชียลมีเดียสื่อสาร

มาถึงประเด็นภาพยนตร์ 2 เรื่อง Lost in the Stars และ No More Bets ที่ถูกมองว่าอาจมีผลกระทบกับภาพลักษณ์ประเทศไทย มองว่ารัฐบาลควรทำประชาสัมพันธ์เพื่อดึงความเชื่อมั่นหรือไม่ อย่างไร ชุติมณฑน์ ระบุว่า ในความเห็นส่วนตัว รัฐบาลเองก็กำลังหาวิธีทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้น แต่ความเกรงใจ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไรรุนแรง รอมชอม ถ้าเป็นประเทศเพื่อนบ้านเรา คงออกมาตรการแบนไปแล้ว เพราะทำให้ประเทศเขาเสียหาย แต่ของเรายังไม่เคยออกมาตรการชัดเจน 

“ควรทำความร่วมมือกันระหว่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวของตัวเองว่า มาเมืองไทยไม่ต้องกลัว ไม่ได้เป็นอย่างในภาพยนตร์ ไทยมีการรักษาความปลอดภัยได้ดี ดูแลนักท่องเที่ยวดี หรือจะเชิญส่วนที่เกี่ยวข้องมาดูงานที่เมืองไทย ว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว เวลาเกิดเหตุอะไร ในสถานที่ใดที่หนึ่ง การสื่อออกไปกลายเป็นพื้นที่ทั้งหมดน่ากลัว ฉะนั้น รัฐบาลอาจจะต้องหาคนที่มีอำนาจในโซเชียล ขอความร่วมมือในการเผยแพร่ถึงความปลอดภัย น่าท่องเที่ยวของไทย” 

หนังซอฟพาวเวอร์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว 

ในทางกลับกับเรื่องภาพยนตร์ ก็เป็นช่องทางที่เห็นว่า หากรัฐบาลผนึกกับเอกชนอย่างจริงจังเรื่องซอฟพาวเวอร์ ทำให้เห็นว่าเมืองไทยมีอะไรที่น่าสนใจ แล้วทำหนังเพื่อเผยแพร่ออกไปทั่วโลกน่าจะเป็นผลดี เพราะเรามีทั้งกลไกของการท่องเที่ยวอยู่ทั่วโลก ที่สามารถนำไป โปรโมทได้ เพื่อให้กระตุ้นถึงนักท่องเที่ยวหมู่มาก เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวก็ดูจากหนัง จึงทำให้เข้ามาท่องเที่ยวตามรอยหนัง 

เมื่อถามว่าไทยโฟกัสกับนักท่องเที่ยวจีนมากเกินไปหรือไม่ ชุติมณฑน์ มองว่า สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากนี้ไปทิศทางของการท่องเที่ยวน่าจะเปลี่ยนมุมมอง จากที่จะต้องโฟกัสประเทศที่มีคนกลุ่มใหญ่ ๆ มาเท่านั้น เริ่มเห็นทิศทางรัฐบาลพยายามคิดกิจกรรมให้หลากหลาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายประเทศเข้ามา ถ้าเราได้นักท่องเที่ยวมีศักยภาพ มีแรงซื้อเข้ามา มีรายได้ต่อหัวต่อคนสูง ก็น่าจะชดเชยได้ กับการมุ่งแต่ประเทศที่เข้ามาเยอะแต่ใช้จ่ายไม่มาก เป็นการเพิ่มช่องทาง ที่ไม่ทำให้เราเสี่ยงมาก ไม่มุ่งหวังกลุ่มเฉพาะ หากรัฐบาลทำอย่างต่อเนื่อง และออกมาตรการเสริมเรื่อย ๆ คิดว่าไม่นาน คนก็จะคลายกังวล ซึ่งก็ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่ยังมองเห็นอยู่คือ แม้ภาครัฐจะมีแผนเชิงรุกแต่ยังไม่เห็นการรวมศูนย์เรื่องท่องเที่ยว จึงทำให้แต่ละส่วน แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ ควรมีแผนประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน รวดเร็ว หากมีเรื่องที่เป็นความเข้าใจผิด จะทำเป็นหนังสือชี้แจงหรือประสานความร่วมมือกับประเทศนั้น ๆ เพราะการประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสารเป็นหัวใจสำคัญของการแก้วิกฤต ความไม่เชื่อมั่น และเราต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำแล้วหาย แล้วกลับมาทำใหม่

หลายปัจจัยส่งผลท่องเที่ยวพลาดเป้า

รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม มองว่า อิทธิพลของหนัง ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ยังมีทั้งปัจจัยภายในของจีนเอง และปัจจัยภายนอก ที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แม้หลังจากโควิดจีนจะเปิดประเทศแล้ว แต่ก็มีมาตรการเข้มงวดในการเข้าออกประเทศอยู่มาก ส่วนนี้คือปัจจัยภายในของเขา 

ส่วนปัจจัยของเรา ก็ต้องถามกลับด้วยว่า รัฐบาลที่บอกว่ากำลังจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้น ซึ่งทุกคนตั้งความหวังอยากให้ประเทศก้าวหน้าไปกว่านี้ แต่ตอนนี้พอตั้งเป้ากับเรื่องท่องเที่ยว และคิดว่าน่าจะง่าย แต่กลับไม่เป็นไปตามเป้า

จริง ๆ ไทยต้องกลับมาดูตัวเองด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นอย่าไปโทษแค่หนังอย่างเดียว เรามีคู่แข่งไหม ถ้ากลุ่มเป้าหมายของเรา คือนักท่องเที่ยวจีน แล้วคู่แข่งของเราที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันในเอเชียมีไหม แล้วเราพุ่งแต่เรื่องฟรีวีซ่าอย่างเดียว ถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินทาง ปัจจัยในการเดินทางของเรา คงไม่ใช่ดูแค่เรื่องวีซ่าอย่างเดียว เราต้องดูว่าจะไปเที่ยวเพื่ออะไร แล้วถ้ามีคู่แข่งอื่น ก็ต้องพิจารณาดูคอนเทนท์ที่เราอยากจะไป ดังนั้นรัฐบาลมองแค่เรื่องเดียว มิติเดียว ยังเข้าไม่ถึงนักท่องเที่ยวจริง ว่านักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาไทยเขาหวังที่จะดูอะไร ขณะที่เรื่องความปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย แต่ไม่ใช่จะสรุปเอาทั้งหมดว่า การที่นักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นไปตามเป้าเป็นเพราะหนัง   

“ในฐานะนักสื่อสาร อยากให้มองอีกมิติหนึ่ง ถ้าเราคิดว่าหนังมีพาวเวอร์ขนาดนั้น ทำให้คนเกิดภาพลักษณ์ไม่ดี เกิดไวรัล ทำให้คนไม่มาขนาดนั้น แล้วทำไมที่รัฐบาลกำลังประกาศเรื่องซอฟพาวเวอร์ ทำไมไม่สร้างหนังขึ้นมา ที่จะเป็นซอฟพาวเวอร์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยแล้วพุ่งเป้าโดยตรง ที่จะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวจีน” รศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว

ชี้เนื้อหาหนังส่งผลคนเข้าใจผิด

สำหรับหนัง 2 เรื่องนี้  ( Lost in the Stars และ No More Bets) ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลมีท่าทีใด ๆ ในขณะที่ตนเองติดตามและทำเรื่องเกี่ยวกับ Misinformation และ Disinformation เกี่ยวกับข้อมูลเท็จ เราไม่เห็นรีแอคชั่นใดๆ ของรัฐบาลที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเรามีการพูดคุยในวง “โคแฟค” กันว่า มีหนังเรื่องนี้ออกมา แล้วมีคนเข้าใจผิด เพราะคนกลัวว่า ถ้ามาเมืองไทยแล้วจะถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์จับไป ทุกอย่างมันมีแต่ข่าวออกมา แต่ไม่มีการจัดการ

ต้องอย่าลืมว่าหนังมันคือจินตนาการ มันคือเรื่องสร้าง แต่ก็จะมีเรื่องสร้างที่ Based on True Stories แต่หนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้บอกว่า Based on True Stories ดังนั้น มันคือเรื่องสร้าง ไม่ใช่ความจริง แต่สิ่งที่คือความจริงอีกอันหนึ่ง ที่ไปเสริมความหวาดกลัว จินตนาการของคนที่จะมาเที่ยว ความกลัว ความไม่เชื่อมั่นคนที่จะมาเที่ยว ก็คือเหตุการณ์ (กราดยิง) ที่พารากอน อันนั้นคือข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เห็นเด่นชัด 

หากส่งผลเสีย รัฐควรแก้ไขฉับพลัน

ขณะเดียวกันก็ต้องถามกลับไปว่า รัฐทำอะไรหรือไม่ ยังไม่เห็นว่าทำอะไรที่ชัดเจนออกมา ถ้ากำลังคิดว่า เรื่องนี้เป็นประเด็น เป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ทำให้ยอดของนักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดหวัง ดังนั้นจะต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ต้องวางนโยบาย เป็นมิชชั่น ภารกิจฉับพลัน แต่เราก็ไม่เห็น

เมื่อถามว่าในเมื่อเรากำลังมุ่งซอฟพาวเวอร์ ดังนั้นการสร้างหนังเพื่อทำความเข้าใจเป็นทางเลือกที่ควรทำหรือไม่ รศ.ดร.วิไลวรรณ สนับสนุนว่า ควรทำ การที่รัฐบาลประกาศนโยบายเรื่องซอฟพาวเวอร์ ถ้าศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องซอฟพาวเวอร์ จะรู้ว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือของซอฟพาวเวอร์ได้อย่างดี และเนียนมาก ในการที่คน ๆ หนึ่งจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการหนึ่ง แล้วจะซึมซับ มันมีผลอย่างมาก 

“เมื่อเรามีกลุ่มเป้าหมายชัด เราได้ศึกษาพฤติกรรมความสนใจของคนจีนไหมว่า เขาอยากมาเมืองไทยเพื่ออะไร สนใจเรื่องอะไร เรารู้ว่าตอนนี้เข้าชอบกินมะม่วง ทุเรียน แล้วเราจะเอาสิ่งเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในหนังอย่างไรที่จะเป็นซอฟพาวเวอร์ ทำให้เขาอยากจะมาเมืองไทยเหมือนกับเราที่หลายคนอาจจะกินอาหารเกาหลี ที่เกือบจะเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของเราแล้ว นั่นคือซอฟพาวเวอร์หรือไม่ ที่มากับหนังเกาหลี” 

อยากตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า หากผู้ที่รับผิดชอบยอมรับในอิทธิพลหนังว่ามีพาวเวอร์สูงมาก มีผลให้ยอดนักท่องเที่ยวตก แล้วทำไมไม่ใช้เครื่องมือนี้ ในการสร้างภาพลักษณ์ หรือสร้างซอฟพาวเวอร์ที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา วิธีการแก้ปัญหาด้วยการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนจีน มีทัศนคติที่เป็นบวกกับประเทศไทย 

แต่กว่าจะไปถึงเรื่องสร้างหนัง การทำแคมเปญออกมาในการสื่อสารในภาวะวิกฤตคือเรื่องที่จำเป็นกว่า ถ้าคิดว่าปัญหาเกิดจากหนังที่ไปสร้างความหวาดกลัว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิต จึงไม่มา ดังนั้นเมื่อรู้ถึงปัญหาในวิกฤตนี้ ก็ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการสื่อสารกลับไป ในรูปแบบของแคมเปญ ซึ่งไม่ยาก แต่ปัญหาคือ ไม่ได้ทำ 

แคมเปญระยะสั้นควบคู่ซอฟพาวเวอร์ระยะยาว

จริง ๆ แล้วเวลาที่ทำแคมเปญออกไป สามารถทำคู่ขนานกับเรื่องซอฟพาวเวอร์ในระยะยาวได้ ถึงแม้คณะกรรมการซอฟพาวเวอร์จะอ้างว่าต้องประชุม ต้องใช้เวลา แต่หากจะทำจริง ไม่จำเป็นต้องประชุมกันยาวนานตามสเต็ปราชการ ถ้าทำอย่างนั้นก็คงจะยาก ถ้าหากเรามองว่า ตอนนี้หนังเรื่องนี้กำลังเป็นวิกฤต ก็ต้องตอบกลับ

ในฐานะที่ตัวเองทำเรื่องเฟคนิวส์ เราก็โต้ตอบกลับ ชี้แจงกลับ อันนี้คือหลักของการแก้ปัญหาเฟคนิวส์ มันมีข่าวปลอมขึ้นมา แล้วโต้ตอบกลับเฟคนิวส์ แน่นอนว่าเฟคนิวส์ทำงานกับเรื่องจิตวิทยาของคน แต่ก็สามารถโต้ตอบกลับ ให้คนรู้ว่า ฉากไหนปลอม ไม่จริงอย่างไร แค่นั้นเอง แล้วก็ปล่อยออกไป หากหนังเหล่านั้นอยู่ในแพลตฟอร์มใด เราก็ใช้แพลตฟอร์มนั้น ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายสื่อสารออกไป ไม่ได้มีความยุ่งยาก หากรัฐบาลจะทำ และมองถึงปัญหาจริง มากกว่าที่จะบอกว่ายอดมันตกเพราะ 1-2-3-4

รศ.ดร.วิไลวรรณ ระบุด้วยว่า วัตถุประสงค์ของหนัง เริ่มต้นคือให้ความบันเทิง แต่ภายใต้ความบันเทิง มันมีอเจนด้าทั้งนั้น ว่าเราจะใส่ แนวความคิดเรื่องอะไรออกไป ต้นแบบของซอฟพาวเวอร์จะเห็นว่า ในหนังอย่าง “กัปตันอเมริกา”  ในยุคที่มีสหรัฐฯ มีภาพลักษณ์ตกต่ำไปทั่วโลก ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย ไปยุ่งเกี่ยวกับคนทั่วโลก แต่หนังเรื่องนี้ ก็ทำออกมาให้คนรู้สึกว่า เป็นกัปตันอเมริกา ที่ดูแลพิทักษ์โลก ฉะนั้นทุกอย่างต้องดูว่ามีอเจนด้าอะไร แต่เราก็ไม่รู้ว่า ถ้ารัฐ (บาล) ไทย คนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีสมมุติฐาน หรือทึกทักไปว่า หนังเรื่องใดทำให้ยอดนักท่องเที่ยวตก ก็ต้องโต้ตอบกลับ ชี้แจงกลับ ทำแคมเปญกลับเท่านั้นเอง เพราะหนังก็เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว

รศ.ดร.วิไลวรรณ ทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย เป็นซอฟพาวเวอร์ให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี ถ้าหากละครไทยไปถึงประเทศจีน รายการวาไรตี้ต่าง ๆ เกมโชว์ต่าง ๆ ก็ไปถึง ดังนั้นถ้ารัฐบาลตั้งเป้า และเป็นเป้าที่ถูกต้องเพราะจีนมีประชากรมหึมา ก็ต้องทำอย่างจริงจัง และสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่จะเป็นซอฟพาวเวอร์อย่างแท้จริง ของโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย.