AI เครื่องมือช่วยในยุคดิจิทัล คนสื่อต้องปรับตัว ห่วงเป็นดาบสองคม

ที่มา: Generate ภาพจาก AI

ผู้เชี่ยวชาญนิยาม AI คือเครื่องมือช่วยในยุคดิจิทัล ที่คนต้องพัฒนาทักษะให้ทัน เพื่อเรียนรู้แนวทางใช้ประโยชน์ ลดความเสี่ยง ชี้หากควบคุมทั้งหมดอาจส่งผลประเทศพัฒนาล่าช้า ด้าน “นักวิชาชีพ” ชี้ประโยชน์ในวงการสื่อ ใช้ในงานภาพสารคดีได้ หวังคนสื่อปรับตัว แม้ AI แทนที่สื่อมืออาชีพไม่ได้ แต่อาจทดแทนบางตำแหน่งได้ และอาจเป็นดาบสองคม เมื่อ AI ไม่ตอบโจทย์จริยธรรมสื่อ ขณะที่ “นักวิชาการสื่อ” มอง ไม่ควรปิดกั้น แต่ต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน แนะคนสื่อใช้เป็นตัวช่วยทำงาน ห่วงจุดอ่อน AI แยกแยะข้อมูลแฝงอคติไม่ได้ สุ่มเสี่ยงดีฟเฟก จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “…และแล้ว ก็ถึงยุค AI ท่วมโลก” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์  และสืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ระวี ตะวันธรงค์ เจ้าของเพจส่องสื่อ และอดีตผู้บริหารองค์กรสื่อ รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พัฒนาการด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial intelligence) ที่เป็นปรากฎการณ์ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงวงการสื่อสารมวลชน ที่มีการใช้ AI ในงานข่าว งานภาพ กราฟิกต่าง ๆ แม้จะเป็นประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่ง หากมีผู้นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นโทษได้ โดยเฉพาะหากสังคมรู้ไม่เท่าทัน และแยกแยะข้อเท็จจริงไม่ได้

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ​ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ได้อธิบายความหมายของ AI ที่ถูกนำไปใช้ในวงการต่าง ๆ ดังนี้ AI เป็นสาขาหนึ่งของการพัฒนาทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้มาหลาย 10 ปี ในยุคแรก ๆ ของการใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณคณิตศาสตร์ เพื่อนำสูตรคณิตศาสตร์มาใช้จำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ นำมาใช้งานในเชิงประยุกต์ จากช่วงแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณง่าย ๆ พิมพ์งาน ตัดต่อวิดีโอ และเริ่มแอดวานซ์จากกระดาษไปเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ช่วงแรก ๆ การพัฒนายังไปได้ช้า กระทั่งช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ขีดความสามารถในการคำนวณสูงขึ้น ทำให้โมเดลของ AI ทำงานได้ดีขึ้น ทุกวันนี้มีการใช้ AI ในงานต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งในชีวิตประจำวัน 

เมื่อถามว่า AI ที่ไหลบ่าเข้ามาไทย นอกจากกลุ่มคนที่มีความรู้ หน่วยงานราชการบางแห่งที่นำไปพัฒนาต่อ มีคนไทยมากน้อยแค่ไหนที่เข้าใจ และรู้จัก AI จริง ๆ ดร.ชัยชนะ ระบุว่า มีคนไทยจำนวนน้อยมาก ที่เข้าใจการทำงานของ AI จริง ๆ เพราะ AI เป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ปัจจุบันคนไทยจะรู้จัก AI ในฐานะผู้ใช้งานมากกว่า เช่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มี AI ทั้งคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต ทีวี เครื่องซักผ้า ก็มี AI อยู่ข้างในทั้งนั้น เชื่อว่าทุกคนพอจะตระหนักได้ว่า ปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่กับ AI แล้ว แต่เบื้องหลังการทำงานของ AI เป็นอย่างไร คงไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่

ขณะที่ AI ไหลบ่าเข้ามา จนเราไม่สามารถตั้งกำแพงป้องกันได้ ในประเทศไทย หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องมีบุคลากรในการกำกับดูแล และติดตามสถานการณ์เพียงพอหรือไม่ ดร.ชัยชนะ ระบุว่า บุคลากรของรัฐโดยทั่วไป รวมทั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีค่อนข้างจำกัดมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่จะรู้เรื่องเทคโนโลยีลึก ๆ ส่วนใหญ่จะรู้จักในระดับการใช้งาน ถ้ามากขึ้นอีกหน่อยก็คือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ถัดขึ้นไปก็จะเป็นกลไกในการดูแลความเสี่ยง แต่ถ้าเราไม่รู้เทคโนโลยีในเชิงลึก บางทีเราก็อาจจะเข้าใจความเสี่ยง หรือออกมาตรการมาได้ไม่ครอบคลุม ก็เป็นข้อจำกัดอยู่ 

“อย่างไรก็ตาม ถ้าเราตั้งเป้าว่าเราจะไปควบคุม AI ทั้งหมด ก็อาจจะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ช้า ดังนั้น คิดว่าการกำกับดูแล จะต้องบาลานซ์ให้ดีว่า อะไรที่เราจะเข้าไปดู จะปล่อยให้พัฒนาไปให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในมุมบวก มุมลบ เราจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาคนของประเทศ ปัจจุบันนี้ไทยก็พัฒนา AI ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเมื่อก่อนเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้ง 2 กระทรวงนี้ ทำแผน AI ขึ้นมา และหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ก็คือการพัฒนาคน” ดร.ชัยชนะ กล่าว

AI ในความบันเทิงเสี่ยงส่งต่อเรื่องเท็จ

เมื่อถามว่าในช่วงที่ผ่านมามีการใช้ AI ในรูปแบบใดมากน้อยแค่ไหน ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบดู จะเป็นในเชิงบันเทิง หากเทียบกับการใช้ AI ทั้งหมด ก็ถือเป็นส่วนน้อย แต่เป็นเพราะบางที (บันเทิง) เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส จึงทำให้คนรับรู้มาก แต่ AI ก็เริ่มนำมาใช้ในการทำงานให้เป็นประโยชน์ อย่างเช่นที่ใช้กันมาก คือใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการตลาด

สำหรับในแวดวงสื่อ ดร.ชัยชนะ ระบุว่า มีการใช้ AI กันมากขึ้น เช่นการสร้างภาพกราฟิก ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ Base on AI ค่อนข้างมาก เพียงแค่ใส่คอนเซ็ปต์ ใส่ไอเดียเข้าไป และแม้แต่บทความ ก็ได้ยินว่ามีนักเขียนนิยายในต่างประเทศใช้ AI ในการช่วยเขียน ทำให้ประหยัดเวลาไปได้เยอะ ผลิตผลงานได้มากขึ้น สำหรับในประเทศไทยก็ใช้กันมากขึ้น เช่นการทำสื่อดิจิทัล ผู้ผลิตสื่อในประเทศไทยก็ใช้กันค่อนข้างมาก

เมื่อถามถึงการใช้ AI ทำภาพต่าง ๆ ในวงการสื่อ ประชาชนทั่วไปสามารถแยกแยะได้หรือไม่ อย่างไร ยากง่ายแค่ไหน ดร.ชัยชนะ ระบุว่า ยากมาก เพราะเวลาเรารับข้อมูลมาทางโซเชียลมีเดียแล้ว ก็จะดูเร็ว ๆ ส่วนใหญ่จะดูเรื่องที่่สร้างความบันเทิง หรืออาจเป็นข่าวที่สร้างความตกใจ ซึ่งคนมักจะไม่ค่อยตั้งคำถามมาก ว่าเป็นข้อมูลจริง หรือเท็จ ก็จะใช้อารมณ์ แล้วรีบส่งต่อ เพราะอยากให้เพื่อนได้สนุก หรือให้เพื่อนได้รู้ข่าวด้วย ดังนั้นช่วงเวลาที่เราไม่ค่อยได้คิด เราอาจจะใช้การตรวจจับได้น้อย

ดร.ชัยชนะ ยกตัวอย่าง “เป็นไปได้อย่างไรที่ประธานาธิบดีบางประเทศ จะพูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว เพราะถ้าฉุกคิด ก็คงต้องถามหาแล้วว่า จะตรวจสอบได้อย่างไร แต่อย่างแรกคือ ต้องฉุกคิดก่อนว่ามันปลอมหรือไม่ ถ้าเราเริ่มสงสัยแล้ว ก็จะพยายามหาวิธีในการตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงดีอีเอสก็มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมอยู่ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยประชาชนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้” ดร.ชัยชนะ กล่าว

ใช้งาน AI ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมกำกับ

เมื่อถามถึงปัญหาที่ใช้ AI ไปสร้างภาพบูลลี่กันทางการเมือง ซึ่งเป็นการใช้ในทางลบ ดร.ชัยชนะ มองว่า เรื่องการใช้งานเครื่องมือ เท่าที่เรามีประสบการณ์มา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ดิจิทัล ก็ถูกใช้ทั้งทางบวก ทางลบ อย่างเช่น ปืน การแฮ็คเจาะระบบ ที่ทำให้เสียหาย ดังนั้น AI ก็มีทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งด้านที่เป็นบวก และเป็นลบ ดังนั้นต้องดูแล ต้องสอนกันว่า การใช้ AI ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมในการใช้งาน ขณะเดียวกัน หากสอนแล้ว ป้องกันแล้ว ไม่มีประสิทธิผลเท่าไหร่ ก็คงต้องใช้กลไกในการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา

ปัจจุบันทางด้านเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ก็มีความพยายามจะสร้างเครื่องมือในการตรวจจับ อย่างแชตจีพีที (Chat GPT) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างข้อความ บทความ ก็มีนักวิทยาศาสตร์พัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบว่า บทความไหนสร้างได้ด้วยแชทจีพีที พวกนี้ก็แข่งกันทั้งฝ่ายที่ทำให้เป็นประโยชน์ และใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์

ต้องเติบโตเรียนรู้ไปกับเทคโนโลยีใหม่

อย่างไรก็ตามในแง่มุมที่ว่า ถ้ายิ่งใช้ AI มากขึ้น ในอนาคตการอาศัยบุคลากรเข้ามาทำงานจะลดน้อยลงหรือไม่ ดร.ชัยชนะ อธิบายว่า ประเด็นนี้ ก็เป็นกับดักทางความคิดเหมือนกัน ถ้าเราอยากจะมองไปใน Growth Mindset เราควรจะต้องเติบโตไปกับโลก ไปกับชีวิต กับเทคโนโลยี นั่นหมายความว่า เราควรต้องการ การเรียนรู้ใหม่ๆ การที่ AI มา มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น อยากให้มองว่า AI จะเป็นประโยชน์ และเราก็ต้องตั้งคำถามว่า จะเป็นประโยชน์กับชีวิตเราอย่างไร เมื่อเราหาเจอว่าเป็นประโยชน์อย่างไรแล้ว เราต้องไปสร้างทักษะของเรา ให้ใช้ประโยชน์มันให้ได้ 

เมื่อถามว่า คนที่ไม่เคยเรียนรู้ AI วันนี้จำเป็นต้องเรียนรู้แล้วใช่หรือไม่ ดร.ชัยชนะ ยืนยันว่า จำเป็นต้องตระหนักรู้เป็นอย่างมาก อันดับแรก สิ่งที่อยากให้รู้คือ ประโยชน์ ว่าเอามาทำอะไรได้ และพยายามนำมาใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์กับเรา สอง ให้รู้ถึงความเสี่ยง มันอาจจะสร้างปัญหาอะไรให้กับเราได้บ้าง เวลาที่เราใช้เครื่องมือเหล่านี้ เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยงตลอดเวลา สาม แนวทางในการป้องกันแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฉะนั้นจึงย้ำว่า ต้องรู้จักการใช้ประโยชน์ ความเสี่ยง และรู้จักแนวทางป้องกันแก้ไข

AI แทนที่สื่อมืออาชีพไม่ได้

ในมุมนักวิชาชีพ ระวี ตะวันธรงค์ สะท้อนถึงพัฒนาการการใช้ AI ในแวดวงสื่อว่า หลายปีมาแล้วเราก็ใช้ AI มาโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ การใช้กับสื่อมวลชน ในต่างประเทศก็ใช้เป็นเครื่องมือช่วยทำงาน  

เมื่อถามว่าช่วงนี้อาจเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้นในการพัฒนา AI สำหรับวงการสื่อหรือไม่ ในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ว่า AI อาจจะเข้ามาแทนเราได้ หากมีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ ระวี ระบุว่า คิดว่าแทนได้ แต่ไม่ได้แทนได้ ในทุกตำแหน่ง

ตนเพิ่งถามไปใน Bard เครื่องมือหนึ่งของ Google (เครื่องมือ AI ในรูปแบบการแชทจาก Google) โดยถามไปว่า AI จะมาแทนที่สื่อมวลชนได้หรือไม่ สิ่งที่ตอบมาคือ แทนที่ไม่ได้ ซึ่ง AI ก็รู้ตัว เพียงแต่เราตกใจกันไปเอง แล้วเขียนวิเคราะห์ให้เลยว่า ทำไมถึงแทนที่ไม่ได้ โดยระบุว่าการวิพากษ์ วิเคราะห์ การเข้าถึงแหล่งข่าว ไม่ใช่หน้าที่ของ AI มันทำไม่เป็น แต่มันมีหน้าที่ในการเป็นผู้ช่วยในการเรียบเรียงเนื้อหาให้เหมาะสม ในโลกดิจิทัล ชัดเจนมาก สมมุติเราเข้าถึงแหล่งข่าวในฐานะนักข่าว ไปทำข่าวเสร็จ เขียนข่าวลงในรูปแบบของหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือทีวี ซึ่งมีหลักของมัน ยังไงก็ต้องใช้มันเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่มาแทนที่คน

“วิธีการทำงานที่นักข่าวภาคสนาม หาข่าวส่งให้รีไรเตอร์ เขียนข่าวขึ้นเว็บ เขียนข่าวทีวี มันไม่ใช่การหาข้อมูล มันคือการเรียบเรียงใหม่ซึ่ง AI มันทำได้เก่งกว่าเรา ทำได้ดี ถ้าเราไม่ปรับตัว แต่ถ้าเราปรับตัว เราจะเก่งกว่ามัน ยังไงมนุษย์ก็เก่งกว่า AI ต่อให้ป้อนข้อมูลเข้าไปมากแค่ไหน มันก็ทำได้เท่าที่มันรู้จากที่มนุษย์บอก แต่หากเราไม่ปรับตัว มันก็จะแซงเรา เรามีหน้าที่ทำให้เหนือกว่า มันไม่มีทางที่จะชนะเรา ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังไม่ชนะ” ระวี ระบุ

จริยธรรมจรรยาบรรณในการป้อนข้อมูล

เมื่อถามถึงสถานการณ์ หลังจากมีเดียแลนด์สเคปเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อก็เปลี่ยนไป ต้องการอะไรที่สั้น รวดเร็ว กระชับ จึงเกิดเฟกนิวส์มากมาย โดยอาศัยดิจิทัล AI ออนไลน์ คนสื่อจะสามารถสกรีนคอนเทนต์เหล่านี้ หรือเป็นเกตคีปเปอร์ ก่อนส่งไปถึงผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ระวี มองว่า ตรงนี้คือข้อสำคัญ สมัยก่อนจำนวนคนทำงานสื่อไม่ได้มาก และมาจากสาขานิเทศศาสตร์โดยตรง ซึ่งจะถูกสอนเรื่อง Ethics จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งจากสถาบัน และทั้งสมาคม และสภาวิชาชีพสื่อ ก็จะเทรนนิ่ง เพราะสื่อเป็นวิชาชีพที่ไม่ต้องเรียนก็เข้ามาทำงานได้ ไม่จบนิเทศศาสตร์ใคร ๆ ก็เข้ามาทำงานได้ พอเขาขาด Ethics ก็จะเป็นปัญหาว่า แล้วเราจะเชื่อถือเนื้อหานั้นได้ไหม ถ้าเชื่อถือไม่ได้ ก็อาจจะเป็น Misinformation หรือเฟกนิวส์ได้ เพราะใช้ความเชื่อส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้ AI ก็ไม่รู้ ก็เป็นปัญหาเดิม มันอาจไม่ได้อยู่ที่ AI แต่อยู่ที่ Ethics ของผู้คนที่ป้อนข้อมูลให้มันไป

เมื่อถามว่า เท่าที่เคยใช้ AI มา เคยทำให้สื่อสารผิดพลาดบ้างหรือไม่ ระวี ยอมรับว่า มีข้อผิดพลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก AI ในภาษาไทยยังมีข้อผิดพลาดสูงมาก ซึ่ง AI ก็เปรียบเหมือนนักเรียนคนหนึ่ง ที่เรามีหน้าที่ป้อนข้อมูลให้ ต้องสอน มันถึงจะค่อย ๆ ฉลาดขึ้น สำหรับภาษาไทยคนไทยยังใช้น้อย คนใช้ได้แค่บางกลุ่ม ดังนั้นการป้อนเข้าไป ความรู้ของมันก็ยังเท่ากับเด็กอนุบาล เด็กประถมอยู่ ซึ่งมันมีข้อผิดพลาดตลอดเวลา ภาษาอังกฤษที่ป้อนข้อมูลจากทั่วโลก ดังนั้นมันจึงมีความฉลาดมากกว่าภาษาไทยค่อนข้างสูง

เมื่อถามถึงการใช้ AI ในงานภาพ ที่บางส่วนทำให้เกิดความเข้าใจผิด อาทิ ภาพนักการเมือง ภาพพระภิกษุ หรือปรากฎการณ์ คลิปภาพประกอบข่าวในภาวะสงคราม ข่าวความรู้รอบตัวทั่วไป โดยคนที่ทำ ไม่มีความรู้ และเกิดการส่งต่อ ระวี ยอมรับว่า น่าเป็นห่วง แม้ AI จะเป็นเครื่องมือ แต่ก็เหมือนดาบสองคม จึงอยู่ที่ผู้ใช้กับผู้รับ 

ปัญหาคือ เมื่อแพลตฟอร์มมาก ช่องทางการสื่อสารหลากหลาย ใครจะสื่อสารช่องทางใดก็ได้ สุดท้ายก็วนกลับมาเรื่องเดิม ซึ่งตนพูดกับมหาวิทยาลัยเสมอว่า ทำไม Ethics จึงไม่ถูกสอนในทุกคณะ ไม่เฉพาะนิเทศศาสตร์ แต่ควรสอนทุกคณะ เพราะ Ethics จะทำให้ภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อ หรือการสร้างสรรค์ข้อมูลข่าวสาร มีความระมัดระวังมากขึ้น อันนี้เป็นข้อสำคัญมาก ๆ อันนี้เรายังไม่มีจริง ๆ 

“ขณะที่คนเชื่อยูทูบเบอร์ ติ๊กต่อกเกอร์ มากกว่า พอเป็นสื่อ เขากลับไม่เชื่อ ผมจะย้ำเสมอว่า ถ้าเจออะไรที่ไม่ได้มาจากสื่อ ก่อนที่จะส่งต่อ แม้อาจจะเชื่อไปแล้ว ถ้ายังไม่ชัวร์ อยากให้ค้นหาจาก Google ไปเช็คดูว่า มีสื่อพูดถึงไหม อย่างน้อยถ้ามีสื่อพูดถึงว่ามันจริงหรือไม่ ก็ใช้สื่อดับเบิ้ลเช็คได้ เพราะนี่เป็นหน้าที่ของสื่อ” ระวี กล่าว

ประกวดภาพ AI ใช้ในงานสารคดี 

อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ทำภาพเพื่อใช้ในสื่อ คนทั่วไปสามารถแยกแยะออกหรือไม่ ระวี บอกว่า แยกไม่ได้แน่นอน ตนเคยทดสอบสมัยทำงานที่สปริงนิวส์ เคยทดลองใช้ทำภาพ AI เป็นภาพบรรยากาศ เพื่อใช้งานในการประกอบเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง ไม่ใช่ข่าว เพราะไม่สามารถนำภาพ AI มาใช้สำหรับข่าว หรือรายงานข่าวได้ ซึ่งภาพมาอย่างไรต้องไปอย่างนั้น ห้ามตกแต่ง แต่ถ้าทำเพื่อเป็น Documentary  การเล่าเรื่อง ลองดู ก็ปรากฏว่าคนดูไม่รู้เลยว่า นี่คือภาพ AI 

จากการศึกษาล่าสุด ปรากฏว่า World Press Photo ของยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ประกวดภาพ AI อย่างเป็นทางการ และแจกรางวัล เพื่อสนับสนุนให้ทำให้เห็นว่า ภาพจริงกับภาพ AI ต่างกันอย่างไร ซึ่งปกติ World Press Photo มีประกวดภาพข่าวเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เขาเพิ่มภาพโหมด AI ขึ้นมาอีก เพื่อเป็นการให้ความรู้ประชาชนว่า ภาพ AI ที่ออกมากับภาพจริงนั้นต่างกัน และมีคนนำไปทำเป็นเป็นสารคดี เป็นซีรีส์ และได้รางวัลในยุโรปด้วย เป็นซีรีส์ที่ใช้ภาพ AI ในการเล่าเรื่อง 20 ภาพและจัดแสดงเป็นแกลลอรี่ด้วย มันไปไกลขนาดนั้นแล้ว

ระวี ทิ้งท้าย ด้วยการย้ำว่า AI เป็นเครื่องมือ ไม่มีอันตรายพอจะทำร้ายเรา แต่ถ้าเราไม่อัพเดท ไม่อัพ สกิลในฐานะสื่อมวลชน เราก็เป็นเครื่องมือให้ AI เหมือนกัน

เหตุที่แชตจีพีทีได้รับความนิยมมาก

ด้านนักวิชาการ รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ มองสถานการณ์ AI ถือว่าท่วมโลกมาสักพักหนึ่งแล้ว ตอนนี้เทคโนโลยีกับสารสนเทศหรือเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ  ลักษณะ AI ที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตมนุษย์มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่เคยเข้ามาสู่มือของคนทั่วไปที่สามารถเข้ามาใช้งานมันได้ เพราะเวลาเราพูดถึงเทคโนโลยี AI ก็จะนึกถึงสำหรับคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี จะไม่นึกถึงว่าคนทั่วไปจะสามารถใช้งานได้ จึงทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา AI บางตัวถูกเอามาใช้งานแบบคนทั่ว ๆ ไป  ก็มีส่วนทำให้มันเกิดความตื่นเต้นตื่นตัว

สำหรับ AI ที่เชื่อมโยงกับงานข่าว จากที่ตนทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้งานแชตจีพีที ซึ่งเป็น AI ประเภทหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่นิยมกันมากแชตจีพีทีถูกแนะนำและใช้งานมานาน เพียงแต่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้งานได้ช่วง พ.ย.2565 แต่จริง ๆ มีการใช้งานและพัฒนาในกลุ่มของนักเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง เรียกว่า Last language Model เวลาเราคุยกับคอมพิวเตอร์ถ้าไม่ใช่คอมพิวเตอร์หรือนักโปรแกรมเมอร์ ก็จะคุยกับมันไม่รู้เรื่อง คนที่จะคุยกับมัน ก็ต้องเป็นนักเทคโนโลยีที่ทำโปรแกรม 

แต่พอเค้าพัฒนา AI ที่เป็นแชตจีพีที ทำให้เราสามารถใช้ภาษาพูดคุยธรรมดาของมนุษย์ คุยกับคอมพิวเตอร์ได้ โดยที่ไม่ต้องไปเขียนรหัสคำสั่ง นี่จึงเป็นเหตุทำให้แชตจีพีทีได้รับความนิยม เพราะมันเปลี่ยนวิธีการที่จะคุยกับคอมพิวเตอร์ เป็นภาษาธรรมชาติ National languages จึงเป็นเหตุที่ทำให้แชตจีพีทีได้รับความนิยม 

ไม่ควรปิดกั้น แต่ต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน

เมื่อถามว่าจะต้องรู้เท่าทัน AI แบบไหน รศ.ดร.มนวิภา กล่าวว่า ในฐานะคนสอนนิเทศศาสตร์ เราไม่ควรปิดกั้นการใช้ AI ของนักศึกษาและแม้กระทั่งสื่อมวลชน แต่ก็ต้องใช้อย่างมีสติ ระมัดระวัง และตรวจสอบข้อมูลอยู่เสมอ  อย่างที่หนึ่ง สื่อมวลชนหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ เช่น ไทยพีบีเอส ก็ใช้ AI บางส่วนแล้ว สำหรับอ่านข่าวให้ฟัง และกำลังจะทำผู้ประกาศข่าว AI เชื่อว่าหลายสถานีโทรทัศน์ หลายสำนักข่าว ก็เริ่มใช้งานสิ่งเหล่านี้ และนักข่าว หรือห้องข่าวเองก็ใช้ AI หลาย ๆ ตัวเช่นการ Generate ภาพทั้งหลาย

ฉะนั้น นอกจากใช้แล้วต้องใช้อย่างมีสติ เราพูดกันเองว่าข้อมูลยังไม่น่าเชื่อถือ แสดงว่าเมื่อข้อมูลออกมา ก็ต้องตรวจสอบอีกครั้ง ประเด็นอยู่ตรงนี้ว่า จะตรวจสอบหรือไม่ จงอย่าขี้เกียจ ไม่เช่นนั้นจะเจอดีฟเฟก ซึ่งภาษาข่าวก็คือหลุมดักควาย ที่โดนข่าวปลอมหลอกแสดงว่าเราไม่ได้ใช้อย่างมีสติ ไม่ได้ตรวจสอบอยู่เสมอ เชียร์ให้ใช้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าเพิ่งรีบ เรื่องความเร็ว เราอย่ารีบออกข่าวโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะมันไม่เหมือนเบรกกิ้งนิวส์ ที่นักข่าวอยู่ในสถานการณ์จริง รายงานข่าวจริงมาเลย ข้อมูลมากจากสนามจริงชัวร์แน่นอน

แนะสื่อระบุให้ชัดชิ้นงานใดใช้ AI

อย่างที่สอง กรณีนักข่าวใช้ Generate ภาพ ต้องแฟร์กันหน่อยไหม อันนี้ลงได้ไหมว่า ใช้ AI Generate มันเหมือนการแสดงความรับผิดชอบ เหมือนคอนเทนต์บางอย่างที่ปรากฏอยู่บนเว็บสำนักข่าวบางอัน ก็จะระบุว่า อันนี้เป็นสปอนเซอร์ คอนเทนต์อันนี้มันจะเป็นการช่วยทำให้เพิ่ม AI  Literacy ทั้งคนอ่าน คนใช้ ทั้งสองฝ่าย แล้วมันก็สะท้อนไปถึงจริยธรรมที่นักข่าวกำลังจะบอกว่า ฉันมีจริยธรรมในการใช้งานด้วยกัน นี่คือแฟร์ เพราะประกาศชัดเจนว่าอันนี้  สปอนเซอร์ อันนี้ AI ช่วยในการสร้างสรรค์ หรืออันนี้เป็นภาพที่สร้างสรรค์โดยใช้ AI อันนี้เป็นทางออก 

เมื่อถามว่า ถ้าคนสื่อไม่ปรับตัว รับรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตามโลกไม่ทันใช่หรือไม่ รศ.ดร.มนวิภา ระบุว่า แน่นอน เท่าที่สัมภาษณ์สื่อมวลชนมา จะไม่ค่อยได้ใช้ในเชิงเรื่อง เค้าอาจจะยังมีคำถามเรื่องข้อมูลอยู่แล้ว เท่าที่ดูหลาย ๆ คน เขาก็พูดคุยกันเอง ลองหรือยังเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ยังไงนักข่าวที่จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ ตามข้อมูลใหม่ ๆ จะลองใช้ ส่วนจะเข้ามาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ต้องเป็นคนกลุ่มแรกที่ใช้

AI แทนที่ได้เฉพาะบางตำแหน่งในสื่อ

รศ.ดร.มนวิภา ระบุว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ก็มีคนถกเถียงกันว่า นักศึกษาใช้ AI ทำรายงานส่งได้หรือไม่ ปรากฎว่าอาจารย์บางคนมีทัศนคติว่าไม่ได้ ก็ถามกันว่า แล้วห้ามกันได้หรือไม่ ก็ห้ามไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น เราควรคุยกันหรือไม่ว่า เราจะปรับตัวอยู่กับมันอย่างไร อย่าลืมว่าจริง ๆ AI ในงานวิจัยหนึ่งที่เจอ คือการแทนที่ในบางตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ทุกตำแหน่ง 

เช่น สำนักข่าว อาจจะจ้างคนแปลข่าว 5 คน หากใช้ AI ช่วยแปลข่าวได้ สามารถลดจาก 5 คน เหลือ 3 คนได้ หรือในคลิปสัมภาษณ์หนึ่งข่าว ที่ใช้เวลา 20 นาที แล้วต้องมานั่งถอดความ หรือแปล อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ AI ในเวลาเท่ากัน อาจจะแปลได้ถึง 2 ข่าว มันทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น แทนที่จะจ้างคนจำนวนมาก แต่ยังคงต้องใช้มนุษย์ในการเกลาภาษา และสำนวนอยู่ คำว่าทดแทนตำแหน่ง คือลักษณะนี้ ซึ่งเราจะอยู่ได้ ก็ต้องใช้มันให้เป็น เพื่อเพิ่มสกิลของตัวเอง โดยให้ AI เป็นตัวช่วย

จุดอ่อน AI ไม่รู้ข้อมูลแฝงอคติ เสี่ยงดีฟเฟก

รศ.ดร.มนวิภา ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่น่ากลัว คือข้อมูลข่าวสาร AI มันไม่รู้ว่า อันนี้ลำเอียง อันนี้ก้าวร้าว มีอคติฯ แล้วมันจะทำให้เกิดปัญหาว่า ถ้าไปถาม AI แล้วให้คำตอบมา เป็นคำตอบที่ไม่ตรง ไม่ถูก อันนี้โอเค แต่ถ้าไม่รู้ว่า สิ่งที่มันให้มา ไม่ใช่ หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่ให้มันให้มา มีความลำเอียง มีอคติ จะเกิดอะไรขึ้น อันนี้ น่ากลัวกว่าดีฟเฟก เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของข้อมูลข่าวสาร กลับเข้าไปในระบบของฐานข้อมูลที่มีการพูดคุยกัน แล้วก็จะทำให้ Misinformation หรือสิ่งที่เรียกว่าดีฟเฟก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว จึงต้องฝากไว้ว่าเราต้องใช้มันอย่างระมัดระวัง.