นักวิชาการคาดหวังสื่อกำกับดูแลกันเองด้านเนื้อหา ประเด็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

นักวิชาการคาดหวังสื่อกำกับดูแลกันเองด้านเนื้อหา ประเด็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

ความท้าทายสภาวิชาชีพสื่อฯ ในการผลักดันจริยธรรมกลางเพื่อเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันสำหรับสื่อวิชาชีพ และผู้อยากเป็นสื่อ หลังผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนได้ข้อสรุป พร้อมข้อเสนอแนะด้านกฎหมาย เครือข่ายความร่วมมือ และภาคประชาชน ขณะที่นักวิชาการประเมินปี 67 การแข่งขันเพื่ออยู่รอดของธุรกิจสื่อแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการบริโภคข่าวสารของผู้คนยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไป คาดหวังสื่อกำกับดูแลกันเองด้านเนื้อหา ประเด็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของคนสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย ผศ.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล คณะทำงานศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นาตยา เชษฐโชติรส รองประธานคนที่ 1 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รศ.เสริมศิริ นิลดำ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย

สืบเนื่องจากเวทีเสวนาครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน การกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนในประเทศไทยยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาวการณ์ที่ภูมิทัศน์สื่อมวลชนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

ต่อมาสภาการสื่อมวลชนฯ ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยมี นาตยา เชษฐโชติรส รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงาน และมีกรรมการจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ ทั้งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

โดยคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล และข้อเสนอแนะในการพัฒนากลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ศึกษารูปแบบ วิธีการ หรือแนวทางที่จะทำให้การกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนไทย มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ผศ.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล หนึ่งในคณะทำงานฯ อธิบายรายละเอียดว่า คณะทำงานมีโจทย์ต้องศึกษา โดยมีเวลา 3 เดือน คือ 1. ทบทวนสภาพปัญหา แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ 10 ปีที่ผ่านมาได้ทำมาหลายรอบ แต่จำเป็นต้องทำอีก ที่เราทำกันอยู่แล้ว อาจได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่เพื่อหาทิศทางตอบโจทย์ปัญหา ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการทำงานแบบไม่มีเป้า ไม่ได้แก้ปัญหาเดิม ฉะนั้นจึงต้องศึกษาสภาพปัญหา สรุปภาพรวมปัญหา และหาแนวทางแก้ไข

2. ดูทิศทางในต่างประเทศเป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะคำว่ากำกับดูแล แม้เราจะมีแนวปฏิบัติว่าต้องเดินแบบไหน แต่กลไกกำกับดูแลของโลก ไม่ใช่แค่ทำตามแนวปฏิบัติ แต่ยังมีกลไกหนุนเสริมอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้วย ได้แก่ อินโดนีเซีย ที่มีบริบทแวดล้อมคล้ายเรา และออสเตรเลีย ซึ่งมีกลไกกำกับดูแลที่น่าสนใจ 

ทั้งนี้ การศึกษาของต่างประเทศ เพื่อให้เห็นว่ามีวิธีคิดแบบใด เรายังขาดอะไร ที่จะไปส่งเสริม โดยดึงข้อดีของเขามา เช่น ออสเตรเลีย ที่แม้บริบทของเราแตกต่างกันมาก แต่นอกจากมีจริยธรรมกลาง เขายังมีกฎหมายเกี่ยวกับ Censorship มาเกี่ยวกับ Disinformation ซึ่งเกิดมาจากภาคองค์กรวิชาชีพ 

กฎหมายอีกตัวที่น่าสนใจ การปรับวิธีคิด มุมมองเกี่ยวกับการกำกับดูแลไปอีกสเต็ปหนึ่ง ก็คือกฎหมายที่ชื่อว่า Australia’s News Media and Digital Platforms เป็นกฎหมายที่จะทำให้แพลตฟอร์มใหญ่จ่ายเงินให้กับคอนเทนต์ข่าว เมื่อเอาข่าวเขาไปโพสต์ จะต้องจ่ายเงินให้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากของไทย

ถอดโครงสร้างหวังปรับใช้ในบริบทสื่อไทย

เวลาที่เราศึกษาแล้วได้อะไร จะถอดเชิงโครงสร้างออกมา โดยมีข้อสังเกตอยู่ 3 ประเด็น ไม่ว่ากฎหมายตัวไหน ทั้งของออสเตรเลียและอินโดนีเซีย คือ 

1.การมีกฎหมายรัฐหรือหน่วยงานที่เข้าใจภูมิทัศน์สื่อ เป็นเรื่องสำคัญมาก อันนี้ที่ก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่งของการกำกับดูแล คือเราไม่ได้บอกแค่ว่า สื่อต้องทำอะไรตามข้อกำหนด ตามจรรยาบรรณ จริยธรรม แต่กลไกการกำกับดูแลต้องหนุนเสริม หรือส่งเสริมให้สื่อมวลชนมีความเข้มแข็งด้วย โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันซึ่งเป็นอีกภูมิทัศน์สื่อหนึ่ง ที่กลายเป็นสภาพปัญหา เมื่อเกิดการแข่งขันกันเอง ถ้าเรามีกฎหมาย หรือภาครัฐ ที่เห็นว่าการต่อสู้กับอะไรบ้าง แล้วรัฐเข้ามาช่วยหนุนเสริมเรา จะเป็นประโยชน์มาก เช่น ออสเตรเลีย เขาเห็นเลยว่า หากปล่อยให้สำนักข่าวไปสู้กับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ก็ตายกันหมด เขาก็มาช่วยกันดูแลตรงนี้ 

ที่ออสเตรเลียยังมีองค์กรคล้าย กสทช. ชื่อ ACMA (Australian Communications and Media Authority) เข้ามาเป็นแบฺ็คอัพให้เป็นกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาดูแล ในขณะเดียวกันกลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อด้วยกันก็จับมือกันเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะสื่อใหญ่ ๆ ของเขาเป็นหัวหอกในการนำ ว่าเราต้องดูแลเรื่องนี้กันแล้ว และพร้อมที่จะปะทะกับแพลตฟอร์ม

2.การมีเครือข่ายความร่วมมือกันในกลุ่มวิชาชีพที่ไปด้วยกัน ไม่ใช่สื่อใหญ่ปล่อยสื่อเล็กตายไปเขาจะได้โต ไม่ได้บอกว่าออสเตรเลียสื่อใหญ่ไม่ได้เอาเปรียบสื่อเล็ก แต่ยังพบเห็นอยู่ว่า แต่พอดีลประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ก็ไปเร็ว แล้วทิ้งสื่อเล็กให้ตายอนาถก็มี

3.สำคัญมากคือการมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง อันนี้ต้องใช้กระบวนการหลากหลายเข้ามาช่วย

ผศ.ปาจารีย์ บอกอีกว่า สภาพปัญหาที่หยิบมาทบทวน จะทำให้เห็นภาพชัดเจน แม้ที่ผ่านมาเรายังมีปัญหาด้านจริยธรรมให้เห็นเป็นระยะ แต่ก็มีพัฒนาการมาก มีการถอดบทเรียน และเรียนรู้มาระยะหนึ่ง แต่คนที่อยู่ในภาคสนามเวลานี้ ไม่ได้มีเฉพาะสื่อมืออาชีพ แต่มีคนอื่นด้วย ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รู้ว่ากรอบจริยธรรมของสื่ออาชีพต้องทำอย่างไร อีกทั้งยังมีสื่อน้องใหม่ ที่อาจยังไม่มีเวลาศึกษา ก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน หรือทิศทางนโยบายองค์กรยังไม่ชัดเจน ไม่ได้บอกผู้สื่อข่าวให้ชัดว่ามีจริยธรรมอย่างไร ก็อาจเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน ขณะที่ในวงสื่ออาชีพกันเอง เราคุยกันได้

อยากไปให้ถึงจริยธรรมกลางร่วมกัน

ทว่า สิ่งที่เราอยากไปให้ถึงคือ 1.เราอยากให้ภาคประชาชน สังคม ได้รับรู้ด้วย เพราะเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแล สำคัญที่สุดผู้บริโภคสื่อที่จะฟีดแบคว่าอะไรดีไม่ดี เราทำดีแล้วหรือยัง นี่คือส่วนที่หนึ่ง

2.ปัญหาด้านการตรวจสอบ จากที่คณะทำงานคุยกันในวง โดยมีตัวแทนจากทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ที่ประชุมได้ถอดบทเรียน ก็เห็นตรงกันว่า บางทีผู้รับสารไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ไหน หรือกระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไร บางทีอาจไม่ทันใจ แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ทำอะไร เราอาจจะต้องสื่อสารเรื่องนี้เพิ่มขึ้นว่า กลไกกำกับดูแล ตรวจสอบของเรา มีกระบวนการอย่างไร เช่น กรณีนักข่าวรับเงิน ตอนนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ แต่อาจไม่ทันใจภาคประชาชน เราอาจจะต้องสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

3.ปัญหาอำนาจการกำกับดูแลของ กสทช. ที่ดูแลได้เฉพาะวิทยุโทรทัศน์ ขณะที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมวิชาชีพ ก็ดูแลได้แค่สมาชิก ส่วนคนที่ไม่ใช่สมาชิก จะทำอย่างไร เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาดั้งเดิม

4.ปัญหาด้านธุรกิจ แข่งขันกันรุนแรงมาก บางทีล้ำเส้น ข้ามเส้น ที่เราวางไว้กันเอง ก็ยังมีอยู่

5.ข้อกังวลเรื่องกฎหมาย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ที่ตกไปในรัฐบาลชุดที่แล้ว ส่วนรัฐบาลใหม่ยังไม่แน่ใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่ปัญหานี้กลับเข้ามาแทรกแซง เพราะเป็นปัญหาใหญ่ ก็มาคุยกันว่า จุดตั้งต้นของคณะทำงานชุดนี้คือ ถ้าไม่อยากได้กฎหมาย แล้วเราจะเดินทิศทางใดในการกำกับดูแลถึงจะมีประสิทธิภาพ

ผศ.ปาจารีย์ ระบุด้วยว่า มีจุดหนึ่งที่คุยกันในวงการวิชาชีพ และในคณะทำงานด้วยว่าที่เราต้องไปให้ถึงก่อนอันดับแรก คือเรื่องการทำจริยธรรมกลาง หรือจริยธรรมร่วมซึ่งสำคัญมาก ตอนนี้ทุกองค์กรวิชาชีพ กสทช. มีแนวปฏิบัติ มีไกด์ไลน์ มีจรรยาบรรณ มีข้อบังคับ แต่เราจะเอาอันไหน หรือแต่ละคำที่ใช้ในข้อกำหนดนี้ เราเข้าใจตรงกันไหม เช่น คำว่า ความเป็นกลาง อะไรคือกลาง อันนี้น่าจะปรากฏในการทำจริยธรรมกลาง หรือจริยธรรมร่วม ที่สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพ ต้องมาคุยกันว่า เรื่องนี้จะยังคงเป็นบรรทัดฐานของเราไหม หรือเรานิยามศัพท์คำนี้ครอบคลุมแค่ไหนอย่างไร อีกทั้งแต่ละองค์กร ก็มักจะมีไบเบิลของตัวเอง

หวังองค์กรวิชาชีพผลักดันให้เกิดผล

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องจริยธรรมกลาง ก็เป็นข้อเสนอต่อองค์กรวิชาชีพ เพราะเรื่องนี้ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพเป็นผู้ผลักดันในเรื่องนี้เอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในกระบวนการที่จะมีต่อไป คือ 1.ในอนาคตองค์กรวิชาชีพต้องเป็นผู้ผลักดัน โดยมาคุยกัน 2.ด้วยความที่บริบทเราเปลี่ยนเร็ว การทบทวนในรอบกี่ปี แล้วมาคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิทัศน์สื่อ และตลอดเวลา เราจะต้องปรับอย่างไร

ทั้งนี้ข้อดีของสื่อมวลชนไทยอย่างหนึ่งคือ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพของเรา ค่อนข้างดี อาจจะยังไม่ใช้คำว่าเข้มแข็ง ซึ่งไอเดียนี้มาจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพ จากสื่อมวลชนที่เข้าร่วมคณะทำงานชุดนี้ และไดรฟ์ประเด็นนี้ขึ้นมา ดังนั้นจุดเริ่มต้น ต้องมาจากองค์กรวิชาชีพ อาจจะ 1-2-3 องค์กรใหญ่ๆมาคุยกันก่อน และโดยคอนเน็กชันและเครือข่ายที่ดีของเราที่มีทั่วประเทศ สามารถจะดำเนินการในจุดนี้ได้เลย

ผศ.ปาจารีย์ บอกว่า ปัจจุบันคณะทำงานชุดนี้ ทำงานสำเร็จแล้ว ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะให้กับสภาการสื่อมวลชนแล้ว พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะต่อองค์กรวิชาชีพ และต่อภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าสภาการสื่อมวลชนฯ จะมีแผนต่อไป

ความท้าทายของบอร์ดสภาการสื่อมวลชนฯ ชุดใหม่

ขณะที่ นาตยา เชษฐโชติรส ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน เห็นว่า โจทย์ในการพัฒนากลไกกำกับดูแลองค์กรสื่อทางด้านจริยธรรม และปัญหาในด้านการประกอบวิชาชีพ เราจะทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ ให้สมกับความคาดหวังของประชาชน  

ในคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วยบุคลากรในวิชาชีพ ทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และผู้ทรงคุณวุฒิ นักวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ นักกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ เนื่องจากมีระยะเวลาจำกัด ที่คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติชุดนี้ จะครบวาระในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้แล้ว เราจึงมีเวลา 3 เดือน และกำหนดกรอบในการทำงาน จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุป

แม้จะยังไม่สามารถทำได้เสร็จสิ้น ในวาระคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ชุดนี้ จึงเป็นความท้าทายของคณะกรรมการฯ ในชุดหน้าว่า จะรับแนวทางศึกษาที่คณะทำงานได้ศึกษาเพื่อนำไปพิจารณา และดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร

โดยคณะทำงานมีข้อเสนอแนะ ให้กรรมการชุดหน้า สามารถทำได้เลยคือ Joint Code of Conduct ซึ่งทุกวันนี้แต่ละองค์กรสื่อก็จะมีหลักจริยธรรมของตัวเอง มีแนวปฏิบัติของตัวเอง ซึ่งแนวทางก็คงไม่แตกต่างกันมาก แต่ในหลักปฏิบัติของสื่อและบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่สื่อ อาจจะยังไม่เหมือนกันทีเดียว เราเห็นว่าท่ามกลางความคาดหวังของประชาชน ที่รู้สึกว่า หากตัวเองได้รับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนกับใคร หรือพวกเราที่ทำงานกันได้ไปละเมิดประชาชนหรือไม่ และถ้าประชาชนได้รับผลกระทบแล้วจะร้องเรียนกับใคร ที่ไหน เราจึงคิดว่า อยากให้คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่สื่อ สมัครอบรมกับเรา ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ เพื่อเป็นโครงการนำร่อง 

หวังให้เกิดความร่วมมือสื่อ-หน่วยงานกำกับ

อยากให้มีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อ เช่น กสทช. ซึ่งไม่ได้กำกับเราโดยตรง แต่มีทรัพยากรมากกว่าองค์กรวิชาชีพอย่างพวกเรา ก็อาจมีความร่วมมือกัน ที่จะจัดทำหลักสูตร สำหรับคนที่จะเข้ามาสู่วิชาชีพนี้ เพื่อให้เข้าใจในหลักจริยธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ มีทักษะ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ว่าจะทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบอย่างไร

นาตยา ยกกรณีอินโดนีเซีย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ บุคคลที่จะเข้ามาสู่ระบบ เข้ามาทำหน้าที่สื่อมวลชน ถัดมา นักข่าวระดับต้นถึงระดับกลาง รีไรท์เตอร์ หัวหน้าข่าว และอีกส่วนคือ ระดับสูง บรรณาธิการ ทั้ง 3 ระดับนี้จะต้องเข้ารับการอบรมทั้งหมด และให้ใบประกาศหลังสอบผ่าน ซึ่งบ้านเรายังไม่เคยมี 

สำหรับบ้านเรา อย่างมากที่สุด อยากให้องค์กรสื่อแต่ละแห่งยอมเสียสละให้บุคลากรเข้ามารับการอบรมจากสภาวิชาชีพ ที่มีเป็นระยะเช่นเดียวกับตัวนักข่าวเอง การเข้ามาอบรมก็ถือว่ามีความใฝ่รู้ ต่อไปถ้าหากเราจะทำให้เป็นระบบ ก็อาจต้องมีมากกว่านั้น คือความร่วมมือกับทางองค์กรวิชาชีพ และเจ้าตัวด้วย รวมถึงผู้สนับสนุน อย่าง กสทช. หรือกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ หากมีความสนใจเปิดหลักสูตรอบรมร่วมกับเรา

ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง หากเราเริ่มต้นด้วยการพัฒนาคนแล้ว น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้าหากถึงขั้นที่เป็นระบบ มีหลักสูตรก็จะเป็นโจทย์ที่คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ชุดใหม่ จะส่งเสริมให้คนในวิชาชีพ ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ก็อาจจะทำอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ขณะที่ในส่วนของสื่อภูมิภาค ที่มีตัวแทนเป็นกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนากลไกจริยธรรมสื่อดีมาก ทั้งให้การสนับสนุน และเห็นด้วยกับการพัฒนาหลักสูตร เพื่อเป็นความร่วมมือกัน ทั้งเจ้าของสื่อ ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ เพราะถึงที่สุดแล้ว เจ้าของสื่อก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะความเข้าใจกับคนปฏิบัติหน้าที่สื่อ

รองประธานสภาการสื่อมวลชนฯ ระบุว่า ขอให้ติดตามพวกเราต่อไป เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ที่จะพัฒนาจริยธรรมในการประกอบอาชีพของพวกเรา เพื่อให้ก้าวทันกับยุคสมัย และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา 

นักวิชาการชี้ สื่อยังกำกับดูแลในแง่มุมเดิม

ขณะที่มุมมองนักวิชาการด้านสื่อ รศ.เสริมศิริ นิลดำ เห็นว่า การทำงานของสภาวิชาชีพสื่อ ที่ทางวิชาการเฝ้าจับตาดู แสดงว่ากลุ่มวิชาชีพเขาตระหนักรู้ในตัวเอง ว่าตอนนี้การกำกับดูแลกันเองยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแง่มุมไปจากเดิม ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นในการกำกับดูแลตัวเอง ปีที่ผ่านมา 2566 สถานการณ์สื่อ ก็ไม่ต่างจากปีอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น แสดงว่าเรากำกับดูแลตัวเองในแง่มุมเดิม ๆ 

เช่น ก่อนหน้านั้น ก็อาจพูดถึงเรื่องเสรีภาพด้วยมุมเดิมว่า เสรีภาพจากการแทรกแซงของรัฐ และจากการแทรกแซงการทำหน้าที่ของกลุ่มทุน ภาคธุรกิจ การกำกับดูแลส่วนใหญ่ในเรื่องข่าวที่เป็นประเด็นอ่อนไหว เช่น กลุ่มเปราะบางต่างๆ คนที่ได้รับความทุกข์ และเป็นลักษณะการเตือนเมื่อได้รับการร้องเรียน เรื่องกระบวนการทำข่าว ข่าวที่มีลักษณะการไลฟ์สด ความรุนแรงต่าง ๆ 

ในมุมของวิชาการ ก็ยังรู้สึกดีว่าสภาวิชาชีพยังมีลักษณะออกมาเทคแอ็คชั่น แต่ผลของการที่ออกมาแถลงการณ์เตือนต่าง ๆ ฟีดแบคหรือข่าวที่นำเสนอสู่สังคมต่อ ๆ มา ก็ยังแพ้เหตุผลบางด้าน เช่น เรตติ้ง

“จริง ๆ มันเป็นสามเส้า เส้าหนึ่งก็พูดถึงคนที่เป็นใหญ่ที่สุดในธุรกิจนี้ ก็คือผู้รับสาร คือประชาชน คือสังคม อีกเส้าหนึ่งคือ ผู้ทำอาชีพนี้ นักวิชาชีพ และอีกเส้าก็คือองค์กรธุรกิจสื่อ มันเป็นวัฏจักร มันคัดง้างกันอยู่  เจ้าของธุรกิจแคร์ที่สุดคือผู้รับสาร จึงมักอ้างว่าเรตติ้งดี การเสนอข่าวที่่เร้าอารมณ์ ขณะที่ก็มีผู้รับสารบอกว่าไม่มีทางเลือก ข่าวสีสันก็เป็นเรื่องปกติที่สังคมต้องการ แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ทั้งนี้ สื่อสามารถทำข่าวหนักที่เป็นสาระ ให้ย่อยง่าย ทำได้ถ้าเราดีไซน์วิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ ดังนั้นเป็นองค์กรสื่อ กับผู้ประกอบวิชาชีพ จำเป็นต้องครีเอตขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือก” รศ.เสริมศิริ กล่าว

ปรากฏการณ์พึ่งเพจ-รายการ แทนสื่อ

อย่างไรก็ตามในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา พัฒนาการด้านจริยธรรมของสื่อก็ได้เห็นความพยายาม ความตั้งใจของสภาวิชาชีพต่าง ๆ พยายามรวมกันจัดกิจกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจยังไม่เป็นรูปธรรม จึงอยากเห็นผลที่จริงจัง

สำหรับเรื่องร้องเรียนแรง ๆ เท่าที่ดูจากสภาการสื่อมวลชน ฯ ประมาณ 10 กว่าเคส เป็นเรื่องที่ไม่แรง เพราะบางเรื่องไม่ได้ร้องผ่านสภาการสื่อมวลชนฯ มักจะใช้กระแสทัวร์ลง สู้เอง ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้ช่องทางร้องเรียนหรือบางประเด็นที่เขาสามารถใช้แง่มุมทางกฎหมายได้ก็จะดำเนินการเลย จึงทำให้เคสที่ร้องไปทางสภาวิชาชีพต่างๆ อาจมีเฉพาะเคสใหญ่ ๆ ตอนนี้ จึงกลายเป็นไปร้องรายการ ไปร้องกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจจะเคลียร์ได้หน้างาน

ในอีกด้านหนึ่ง “การมีส่วนร่วม รีแอ็คชั่นจากผู้บริโภคข่าว ค่อนข้างเข้มข้นในการตรวจสอบสื่อ เมื่อเสนอข่าวในเชิงละเมิดสิทธิคนบางกลุ่ม เสนอเรื่องความรุนแรง และข่าวที่เด่นดังเรื่องการจ่ายเงินดูแลนักข่าว ถ้าไปเช็คในสื่อ การติดแฮชแทค การคอมเมนต์ในข่าวเหล่านี้ ภาคประชาชนก็เข้มข้นในการตรวจสอบจริยธรรมของสื่อ ช่วยกันกำกับดูแล แต่อาจไม่ได้ไปผ่านสมาคมวิชาชีพ แต่ผ่านตัวข่าวแต่ละชิ้น บางทีเจ้าของข่าวก็แก้ไขหลังมีฟีดแบคจากผู้รับสาร ทำให้ทัวร์ลงเร็วกว่าการกำกับดูแลของสภาวิชาชีพด้วยซ้ำ”

ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนต่อเนื่อง

รศ.เสริมศิริ ยังระบุถึง ในมุมของสายวิชาการซึ่งทำหน้าที่บ่มเพาะคนเข้าสู่วิชาชีพ สิ่งที่เราห่วงใยกันตลอด คือหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในประเทศไทย ปรับตลอด ถ้าย้อนไปดูใน 5 ปีที่ผ่านมา หลาย ๆ หลักสูตรจะพบลักษณะชื่อหลักสูตรเปลี่ยน เช่น เอาคำว่า ดิจิทัล คอนเทนต์ การจัดการคอนเทนต์ เข้ามา 

อีกทั้งเรื่องการแบ่งสื่อ ก็ไม่ได้สอนเรื่องการเขียนข่าวในแบบเดียวแล้ว แต่เราสอนการเขียนข่าวหลายสกรีน ถ้าหน้าจอแบบนี้ ต้องเขียนอะไร อย่างไร  

เช่นเดียวกัน เรื่องการกำกับดูแลในแง่มุมจริยธรรม ก็ปรับ เมื่อก่อนเราพูดถึงจริยธรรมในรูปแบบเดิม ๆ การรับซอง การไม่เป็นกลาง แต่ตอนนี้เมื่อมีความซับซ้อนมากขึ้น เราจึงพยายามมองไปถึงขั้น การใช้กราฟิกในงานข่าว ที่เป็นความนิยมใช้จำลองสถานการณ์เหตุการณ์ ว่าอะไรทำได้  ก็เป็นโจทย์สำคัญของครูบาอาจารย์ในนิเทศศาสตร์ยุคปัจจุบัน 

วัฒนธรรมองค์กรสื่อเบ้าหลอมสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะสอนอย่างไร ก็ยังเป็นปัญหาเดิม เมื่อเข้าไปสู่องค์กร ๆ ก็ต้องหล่อหลอมเรื่องวัฒนธรรม ธรรมเนียมการทำงาน แม้กระทั่งเรื่องพี่เลี้ยง ครูคนแรกของสายอาชีพเขา มีผลมาก เวลาเข้าไปทำงานในองค์กรไหน ได้พี่เลี้ยง คนสอนงานแบบไหน เป็นตัวต้นแบบในองค์กร ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้โลกการทำงานจริง ถ้าต้นแบบ หรือองค์กรมีแนวปฏิบัติที่กำกับดูแลจริยธรรมของตนเอง โดยไม่ได้หมายถึงเอกสารหรือคู่มือ แต่หมายถึงการเน้นย้ำ การตระหนักรู้เข้าไปในสามัญสำนึก เราอยากให้มีระดับนั้น 

เวลาเจอปัญหาหน้างาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องออกแบบ ต้องเขียน หรือทำอะไรก็ตาม อยากให้ซึมซับถึงผลกระทบ หรือเรื่องของประโยชน์ที่สังคมจะได้รับเยอะ ๆ นี่คือสิ่งที่ครูอาจารย์ พอผลิตออกไปแล้ว ก็จะเจอตรงนี้  

เชื่อว่าภาควิชาการ พยายามเอากรณีศึกษาในสังคม หรือแนวปฏิบัติในต่างประเทศ เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน ในเชิงการกำกับดูแล และภาควิชาการ ก็พัฒนาตัวเองเช่นกัน ครูอาจารย์ได้พยายามไปเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมวิชาชีพที่จัด เพื่อเป็นการพัฒนาทางจริยธรรม พัฒนาหลักสูตรทางจริยธรรม นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มีความพยายามที่จะเปิดหูเปิดตา จากมุมมองคนสายอาชีพเพราะเราไม่อยากตัดสินอะไรอย่างคนวิชาการอย่างเดียว อยากฟังความรู้จากสายวิชาชีพ ว่าเจออะไร อะไรที่เป็นข้อจำกัดในการแสดงบทบาทการกำกับตัวเอง การทำงานจริง ๆ เจอปัญหาอะไร แล้วตรงนั้นแก้อย่างไร ก็จะเป็นสิ่งที่อาจารย์นำกลับมาสอนอีกที

คาดหวังสื่อกำกับดูแลเชิงเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อสังคม

เมื่อถามถึงความคาดหวังในปี 2567 จะได้เห็นอะไรจากแวดวงสื่อ องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของคนสื่อ รศ.เสริมสิริ ระบุว่าสิ่งที่คาดหวังในปีนี้ และปีต่อ ๆ ไป คือสิ่งที่สภาวิชาชีพทำ หรือองค์กรธุรกิจสื่อด้านข่าว ก็ต้องเอาตัวรอดเยอะ รู้สึกว่าตั้งแต่ตอนนี้ หรือต่อไปจะยากขึ้น เพราะพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร หรือรายการ เกี่ยวกับข่าวทั้งหลายมันเปลี่ยน ดังนั้น การอยู่รอดของสื่อจะรุนแรงแข่งขันขึ้น จะใช้เทคนิค กลเม็ดต่าง ๆ 

ในส่วนของภาควิชาการที่คาดหวัง รู้สึกว่าตอนนี้การคัดกรองเรื่องข่าว จะมีความคาดหวังจากภาคประชาชนมากขึ้น ประเด็นที่เราพูดกันในปลายปีที่ผ่านมา เราสงสัยกันว่า การกำกับดูแลเชิงจริยธรรมของสื่อ มันอาจจะไม่ใช่เป็นลักษณะตัวเนื้อหา หรือภาพที่ละเมิดอย่างเดียว อยากให้พูดถึงว่า สื่อได้ทบทวนตัวเองหรือไม่ ว่าประเด็นข่าวที่ออกมาสู่สังคมทุกวันนี้ เป็นประเด็นข่าวที่มีประโยชน์ต่อสังคมไหม การกำกับดูแลตัวเองในเชิงเนื้อหา อยากให้กำกับเชิงประเด็น ไม่ใช่กำกับตัวรายละเอียดที่ออกมา 

เช่นตอนนี้ จะเจอข่าวคนท้อง คนมีปัญหาหย่าร้างกัน สามารถเป็นข่าวในสื่อได้ และยังเป็นข่าวใหญ่กว่าสิ่งที่ประชาชนควรรู้ ตรงนี้จึงอยากฝากว่า การกำกับดูแล อาจไม่ใช่เน้นมิติในเชิงจริยธรรมแบบเดิม ๆ แต่อาจต้องเพิ่มเรื่องการกำกับดูแลตัวเอง ในเชิงประเด็นข่าวที่นำเสนอ อยากให้ส่งเสริมประเด็นที่มีประโยชน์กับสังคมมากขึ้น