
4 ก.ค. 2568 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 28 ปี ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดยมีวงเสวนา“เชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหม่ ในยุคเปลี่ยนแปลง?” จากวิทยากร 4 ท่าน โดย ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ฉายภาพปัญหาของประเทศไทย เช่น 1.การทุจริต ที่นับตั้งแต่ปี 2555 – 2567 สถานการณ์มีแต่แย่ลง หากไม่หลุดบ่วงการทุจริตประเทศก็ไม่อาจไปไหนต่อได้ 2.ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งก็เกิดตลอดช่วงปี 2555 – 2567 เช่นกัน ซึ่งการประเมินของธนาคารโลก (World Bank) บอกว่าไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้ถึงร้อยละ 3 แต่กลับโตได้จริงเพียงร้อยละ 2

โดยปัจจัยสำคัญมาจากประสิทธิภาพของภาครัฐ โดยเฉพาะการมีกฎหมายจำนวนมากและเป็นกฎหมายที่ไม่ได้แก้ไขมาหลายสิบปีทั้งที่โลกไปถึงไหนแล้ว ดังนั้นอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าก็ควรตัดให้หมด โดยย้ำว่าการมีกฎหมายจำนวนมากๆ ไม่ได้ทำให้คนเกรงกลัวเท่ากับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ลดขั้นตอนที่ให้คนใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้เหลือน้อยที่สุด หากทำได้ปัญหาการทุจริตก็จะลดลง
“ผู้เชี่ยวชาญของ World Bank เขาบอกว่าถ้าเราเปิดเสรี Deregulation (ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นลง) Digitalization (นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้) ศักยภาพของประเทศไทยไปได้ 3.5 ทำไมผมบอกทำได้? ภาคเอกชนแข็งแรง ฉะนั้นไม่ต้องกลัวการแข่งขัน เราทำได้ เพียงแต่ว่าต้องสร้าง Opportunity (โอกาส) สร้าง Environment (สิ่งแวดล้อม) ที่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขัน เปิดเสรี” ดร.ชนินทร์ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งในการแข่งขันนั้นหากประเทศใดมีความแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำคือมีวัตถุดิบ กลางน้ำคือแปรรูปวัตถุดิบได้ มีการเพิ่มมูลค่า มีความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทาน อย่างจีนที่เก่งเรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพราะมีแหล่งแร่ธาตุหายากและสำคัญ (Rare Earth)

ดังนั้นประเทศไทยควรนำวัตถุดิบทาวชีวภาพมาผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ นำไปสู่ 8 อุตสาหกรรมนำร่อง คือ 1.ยาและเวชภัณฑ์ (Biopharma) 2.เครื่องสำอาง (Biocosmetic) 3.อาหารเสริม (Bio Supplement) 4.อาหาร (Food) 5.เชื้อเพลิง (Biofuel) 6.เคมีภัณฑ์ (Biochemical) 7.เส้นใยสิ่งทอ (Fabric) และ 8.พลาสติก (Bioplastic) ทั้งนี้ ไทยจะไม่มองจีนเป็นคู่แข่ง แต่มองจีนเป็นลูกค้า เราจะกลับวิธีคิดกัน ทั่วโลกจะเป็นลูกค้าของเรา นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหาการทุจริตก็เป็นอีกด้านที่ต้องทำ ซึ่งมีตัวอย่างจากจีน
“การปราบคอร์รัปชั่นเรื่องเดียวแก้ปัญหาของประเทศไปมากกว่าครึ่ง ฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้เราจะเห็นถึงความสำเร็จส่วนหนึ่งก็คือความเจริญเติบโตของจีน เสถียรภาพในทุกด้าน แข่งขันได้ไม่อายใครในโลก ผมคิดว่ามาจากต้นตอเรื่องการปราบคอร์รัปชั่น แล้วอย่างอื่นก็ปล่อยเอกชน ปล่อยศักยภาพให้เขาทำเต็มที่แล้วรัฐบาลช่วย ผมว่าประเทศไทยไปรอด” นายเกรียงไกร กล่าว
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความเป็นห่วงปัญหา “คุณภาพคน” โดยหากมีคนไทย 100 คน ในจำนวนนี้ 40 – 50 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 – 50 ของประชากรทั้งประเทศ น่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากข้อจำกัด “อายุมาก” เฉลี่ยอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และ “การศึกษาน้อย” เฉลี่ยอยู่ที่เพียงระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น นอกจากนั้นก็ยังมีคนที่อายุยังไม่มาก คือต่ำกว่า 40 ปีลงมา แต่มีการศึกษาน้อยอยู่ด้วย

ซึ่งเมื่อประเทศมีภูมิหลังด้านทรัพยากรมนุษย์แบบนี้ แล้วจะพูดถึงการแข่งขันได้อย่างไร จึงมีข้อเสนอว่า โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) เช่น ถนนหรืออาคารต่างๆ ประเทศไทยมีมากแล้ว น่าจะลดงบประมาณโครงการก่อสร้างสิ่งเหล่านี้ลงแล้วหันมาใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมอีก 2 ด้าน คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Infrastructure) โดยการทำโครงการแห่งชาติเพื่อพัฒนาทักษะ (National Skill Program) มุ่งเน้นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงและออกจากระบบโรงเรียนไปแล้ว
ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายขึ้นมาเพื่อพัฒนาทักษะของคนกลุ่มนี้ โดยควรตั้งเป้าทำให้ได้ 10 ล้านคนต่อปี ผ่านระบบคูปอง ซึ่งมีตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมีบทพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี แม้กระทั่งทำได้เพียงร้อยละ 5 – 10 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ก็ยังทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 2-3 โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท กับ 2.โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เช่น อินเตอร์เน็ตควรเข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือมีราคาถูกมากพอสำหรับประชากรระดับฐานราก
“ผมเชื่อว่ามนุษย์เกิดมามี IQ เท่ากัน ไม่เกี่ยวกับยากดีมีจน เราเจอเรื่องราวของคนที่เกิดมายากจนซึ่งเยอะมาก ประมาณ 60-70% ที่เกิดมาในครอบครัวซึ่งไม่พร้อมจะเลี้ยงดู ดังนั้นภาครัฐต้องเข้าไปเสริม ให้แต้มต่อเขาในเรื่องของอินเตอร์เน็ต เคยฟังเพลง ‘เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ไหม? ผมชอบเรื่องนี้เพราะมาจากศิลปินเด็กๆ 2 คน ซึ่งเป็นเด็กรากหญ้ามาก แต่เขาสามารถสร้างตนเองเป็นศิลปินดัง ไม่ต้องไปพึ่งนายทุนซึ่งเป็นบริษัทรายใหญ่ เพราะมีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง เขาเข้าถึงยูทูบได้” ดร.สมชัย กล่าว
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง 2 คำ คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบขูดรีด” คนส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มคนมีอำนาจพยายามเข้าไปจับจองทรัพยากรที่มีจำกัดก่อน จึงต้องเปลี่ยนไปสู่ “ระบบเศรษฐกิจที่สร้างการเติบโตแบบฐานกว้าง” ขณะที่เมื่อดูรูปแบบการสร้างการเติบโตของหลายๆ ประเทศ

เช่น หากเราบอกว่าทุนนิยมเสรี อย่างในสหรัฐอเมริกา ที่เราเคยเชื่ออย่างที่นักเศรษฐศาสตร์แนวทางหนึ่งพูดถึงแนวคิด Tickle Down (เศรษฐกิจไหลริน) ดึงดูดกลุ่มทุนใหญ่มาช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วเชื่อว่าจะกระจายไปถึงรากหญ้า โดยกลุ่มทุนใหญ่พัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนรัฐเก็บภาษีแล้วกระจายไปถึงรากหญ้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คำถามคือมีรูปแบบที่ดีกว่านั้นหรือไม่? ทำอย่างไรจะลงทุนแล้วกระจายไปถึงรากหญ้าในทันที?
ทั้งนี้ ตนขอยกตัวอย่าง “การปลูกทุนให้กับประเทศ” ที่ใช้คำว่าปลูกเพราะสื่อถึงการสร้างการเติบโต เช่น“ปลูกบ้านเกิด” ปัจจุบันประเทศไทยเป็นเมืองโตเดี่ยว คนต่างจังหวัดต้องเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แม้หลายคนจะไม่อยากจากบ้านเกิดก็ตาม ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วทุกคนสามารถอยู่ในท้องถิ่นของตนเองได้ ประเทศไทยยังมีปัญหาทั้งน้ำประปาไม่สะอาด บริการสาธารณะ การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ดังนั้นหากอยากสร้างการเติบโตที่ครอบคลุม คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ก็ต้องมีนโยบาย “ปลูกเมืองรอง” พัฒนาเมืองรองให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างจากประเทศโลกที่ 1 แล้วอย่ามองว่ารัฐต้องเป็นคนลงทุน แต่ให้ชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุนด้วย “ปลูกไฟฟ้า” หมายถึงการเปิดให้บ้านเรือนประชาชนติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เพราะในเมื่อประเทศไทยมุ่งไปยังการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เหตุใดจึงให้ทำได้เพียงฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (Solar Farm)
เพราะแม้จะเข้าใจเรื่องเสถียรภาพของโครงสร้างพลังงาน แต่หากเปิดให้ประชาชนทำได้ด้วย ด้านหนึ่งประชาชนได้ลดค่าใช้จ่าย อีกด้านหนึ่งภาคเอกชนก็ได้ต่อยอดทางธุรกิจ เช่น ตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้า (Inverter) “ปลูกป่าเศรษฐกิจ” เรื่องนี้มีตัวอย่างจากญี่ปุ่น ประเทศที่ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ป่า และในจำนวนนี้ร้อยละ 40 เป็นป่าที่ปลูกโดยภาคเอกชนและสามารถนำไม้ที่ปลูกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ คือได้ทั้งพื้นที่ปาและมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่ประเทศไทย มีเป้าหมายอยากพื้นที่ร้อยละ 40 ของประเทศเป็นป่า แต่ยังขาดอยู่อีก 16 ล้านไร่ รวมถึงยังมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งแม้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทั้งสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นหากรัฐตั้งเป้า เช่น จะปลูกป่าเศรษฐกิจให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในระยะเวลากี่ปี? จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้ได้เท่าไร? หากรัฐบาลมีโจทย์ชัดย่อมสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ และช่วยประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินของตนเองแต่รัฐมีนโยบายเข้าถึงคนรากหญ้า
“ถ้าถามว่าอะไรคือทิศทางอนาคตของประเทศที่สร้างการเติบโต การปลดล็อกอย่างเดียวไม่พอ การสร้าง Growth (การเติบโต) เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
สำหรับงานครบรอบ 28 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในช่วงบ่ายยังมีการเสวนา หัวข้อ “ความท้าทายของสื่อมืออาชีพใน VUCA World” โดย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส. น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-