สภาการสื่อมวลชนฯ กับการปฏิรูปสื่อ

นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งสาระสำคัญคือ ทำให้องค์กรสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสำนักข่าวออนไลน์ สามารถเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกได้ ภายใต้ข้อบังคับใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมา

กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติน่าจะเสร็จสมบูรณ์และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในช่วงต้นปีหน้า (2564) ที่จะมีคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติชุดแรกมาทำหน้าที่อย่างเต็มตัว เพราะจะต้องมีการปรับปรุงข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมฯ ที่ปัจจุบันยังบังคับใช้กับหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ให้ครอบคลุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกประเภทมากขึ้น

ส่วนที่มีข้อสงสัยว่า การเปลื่ยนชื่อเป็น “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกับกระบวนการปฏิรูปสื่อที่กำลังดำเนินอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น คำตอบคือ ไม่ได้มีประเด็นใดที่ขัดแย้งกัน เพราะสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ยังมีหนังสือพิมพ์เป็นสมาชิกหลักเพียงแต่เปิดโอกาสให้สื่ออื่น ๆ สามารถเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกได้เท่านั้น

ที่สำคัญ สภาการสื่อมวลชนฯ ยังคงเป็นกระบวนการกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจเช่นเดิม ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้บังคับก็จะเป็นการหนุนเสริมการทำหน้าที่ของ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมายต่อไปอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น โดยสรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ย่อมเป็นผลดีและสอดคล้องกับสภาวะการหลวมรวมกันของสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอยู่อย่างต่อเนื่องในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็วในอนาคต.

ที่มา. จดหมายเหตุ ฉบับเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2563

https://www.presscouncil.or.th/archives/5740