จดหมายข่าวประจำเดือนม.ค – ก.พ. 51

[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนม.ค – ก.พ. 51′]

แถลง

จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฉบับนี้มาถึงมือท่านผู้อ่านล่าช้ากว่าปกติไปบ้าง เนื่องจากเฝ้ารอความชัดเจนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดรายละเอียดวิธีการจดแจ้งการพิมพ์ใหม่ ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา

กระทั่ง มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประจำวันที่ 3 มีนาคม 2551 ระบุให้ อธฺบดีกรมศิลปากร รองอธิบดีที่ได้รับมอบหมาย และผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์ สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล และให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1-15 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์สำหรับจังหวัดต่าง ๆ ที่เหลือ รายละเอียดพลิกดูได้ในฉบับ

นอกจากนี้แล้ว พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มีผลไปยกเลิกพ.ร.บ.การพิมพ์ และกฎหมายอื่นที่ใช้สำหรับวงการหนังสือพิมพ์มานานหลายสิบปีอีกรวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ เมื่อถ่ายโอนงานจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ตามกฎหมายเดิม ที่มีตำรวจสันติบาลและผู้ว่าฯเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มาเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ผอ.สำนักหอสมุดแห่งชาติ และผอ.สำนักศิลปากรเขตต่าง ๆ มารับหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่แทน มีรายละเอียดในภาคปฏิบัติจำนวนมากที่คนในวงการหนังสือพิมพ์และทางการต้องปรับตัว

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ได้ร่วมมือกันตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงานของสนช.ตัวแทนองค์กรสื่อและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ผ่านมา ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ใหม่นี้ ให้แก่ผู้แทนหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่  15 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจข้อปฏิบัติและแนวทางปรับตัวของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างละเอียด และจะตระเวนจัดประชุมชี้แจงไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ต่อไป

แต่ในเบื้องต้นนี้ จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ประมวลสรุปข้อข้องใจและแนวทางปฏิบัติจากการซักถามในการประชุมดังกล่าว รวม 24 ประเด็น มานำเสนอไว้ในฉบับนี้แล้ว

พลิกไปอ่านได้เลยที่หน้า 12 นี้

คณะผู้จัดทำ

[/wptab]

[wptab name=’สัมภาษณ์พิเศษบัญญัติ ทัศนียะเวช’]

สัมภาษณ์พิเศษบัญญัติ ทัศนียะเวช

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

“อยู่ตรงนี้ทำให้เราเห็นและยับยั้งจากข้างใน”

bunyute.jpgสภาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติในช่วงรอยต่อหลังการยึดอำนาจของคปค. ซึ่งสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนมีมติเสนอชื่อตัวแทนเข้าร่วมรับการสรรหาตัวแทนวิชาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไปเป็นสมาชิกสนช. ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการกลั่นกรองร่างกฎหมายที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อหลายฉบับ ซึ่งตัวแทนวิชาชีพสื่อมวลชนได้ติดตามผลักดันมายาวนานแต่ยังไม่บรรลุผล อย่างไรก็ตามมีความเห็นต่างจากนักข่าวนักหนังสือพิมพ์บางส่วนที่เกรงว่า จะกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของสื่อ และไปประทับตรารับรองการรัฐประหาร

สนช.ชุดนี้ได้ผลักดันกฎหมายสื่อหลายฉบับ รวมทั้งพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งเป็นการปิดฉากกฎหมายการพิมพ์เดิมที่ใช้ควบคุมคนหนังสือพิมพ์มากว่า 67 ปีลงได้   23 มกราคม 2551 ช่วงสุดท้ายก่อนครบวาระสนช. “จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์ฯ” ได้เปิดใจ”บัญญัติ ทัศนียะเวช” 1 ในสนช.ตัวแทนองค์กรสื่อ ถึงการทำงาน”วงใน” ในห้วงเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา อย่างละเอียด

หลังจากที่สนช.ลงมติรับรองร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์แล้ววงการสื่อก็เฝ้ารอมาตลอด ระหว่างนั้นมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

หลังจากที่สนช.ได้ผ่านร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์ ดิฉันก็ได้ติดตามเรื่องนี้ตลอด ก็ได้รู้ว่าที่ช้าก็เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวร แม้ต่อมารู้พระองค์ท่านจะไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อเฝ้าพระพี่นางนั้น และทางสำนักราชฯได้นำกฎหมายชุดหนึ่งที่ผ่านสนช.แล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ในกฎหมายชุดนั้นก็มีกฎหมายของเราด้วย จึงได้ติดตามและบอกคุณมานิจ(สุขสมจิตร)เป็นระยะ ๆ ว่า กฎหมายของเราอยู่ตรงนั้นแล้ว ตอนหลังก็ยังกลับมาติดตามว่าทำไมยังไม่ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่กำลังตกแต่งให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกระบวนการ เพื่อที่จะเสนอสำนักนายกฯต่อไป เรื่องนี้ก็ได้ติดตามมาตลอด

เรื่องนี้พวกเราก็ร้อนใจ เพราะก็รู้ว่าระหว่างนี้ที่เป็นช่วงรอยต่อการมีสภาผู้แทนราษฎรใหม่กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อาจเป็นปัญหาในการขอออกหัวหนังสือพิมพ์ได้ แต่ก็ต้องรอให้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 แล้ว แต่ยังต้องมีเรื่องประกาศกฎกระทรวงเพื่อแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ เรื่องกำหนดแบบฟอร์มจดแจ้งอะไรต่าง ๆ อีก

ทั้งนี้ พอประชุม 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีมติตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อติดตามเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ได้ทราบจากสมาชิกสนช.ว่า ครม.พล.อ.สุรยุทธ์จะประชุมครั้งสุดท้ายแล้ว(วันอังคารที่ 15 มกราคม 2551) เพราะถ้าเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้ง (23 มกราคม 2551) แล้ว ก็ อยากให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาไม่รู้จะใช้เวลาอีกแค่ไหน กว่าจะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา  ถ้าปล่อยคาทิ้งไว้กลายเป็นสุญญากาศ พวกเราที่จะไปยื่นจดแจ้งเพื่อขอออกหนังสือใหม่ก็จะมีปัญหา
ลำดับความการพิจารณาร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ในสนช. เป็นอย่างไร

เรื่องพ.ร.บ.จดแจ้งฯ นั้นใช้ทั้งพลังจากข้างนอก คือพวกเราตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ไปพบท่านนายกฯ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นการทำความเข้าใจกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ให้รู้ว่าเราต้องการอย่างนี้ และจุดประสงค์หลักของเราคือ ต้องการให้จดแจ้ง ให้ทางการรับรู้เท่านั้น ไม่ต้องขออนุญาตขออนุมัติ เพราะว่าการขออนุญาตนั้นเป็นเรื่องที่ล้าสมัย เพื่อให้เขาได้รับรู้ และข้างในสนช.เองเราก็มาขอเสียงจากเพื่อนสมาชิกกัน คือเวลาเราเสนอกฎหมายก็จะต้องมีผู้รับรอง และใช้ผู้รับรองค่อนข้างเยอะ

ต้องทำความเข้าใจกันเยอะหรือไม่

ก็ต้องทำความเข้าใจกัน ในส่วนของบางคนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับเรา  เราก็ตั้งเขามาเป็นกรรมาธิการ เช่น อธิบดีกรมการปกครอง นายชาญชัย สุนทรมัฏ เข้ามาเป็นกรรมาธิการเพื่อมารับรู้กันตั้งแต่ต้น หรืออาจารย์บวรศักดิ์ ท่านเป็นนักกฎหมาย ถ้ามีสมาชิกไม่เข้าใจแล้วเอาไปพูดในสภาฯในที่ประชุมใหญ่ อาจเกิดการถกเถียงหรือแตกประเด็นไปทางอื่นทำให้สมาชิกทั่วไปเกิดความลังเล เราก็พยายามดึงให้เขามานั่งในกรรมาธิการฯ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเล็กให้จบ  เพราะฉะนั้นใครจะเสนออะไรก็จะเสนอในนั้น

บางอย่างเราก็ยอมเพิ่มเติมให้ อย่างเช่นสิ่งพิมพ์ต่างประเทศที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ตำรวจมีอำนาจสั่งห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย อันนั้นเราก็ยอม เพราะไม่ได้กระทบถึงเราและสามารถยอมได้ หรือสิ่งพิมพ์จะต้องส่งหนังสือไปที่หอสมุดแห่งชาติ 2 เล่ม ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไร นั้นก็เป็นการต่อรอง หรือเรายอมให้เขา แล้วให้เขาเข้ามาพูดในที่ประชุม นั่นก็เป็นเทคนิคอีกอย่างหนึ่ง คือแทนที่จะไปพูดในสภาจุดประกายให้คนเห็นและมีข้อโต้แย้งกัน ก็ให้อยู่ในกรรมาธิการ

และการที่เข้าพบนายกฯครั้งนั้นแทนที่รัฐบาลจะรับกฎหมายที่เสนอโดย สนช.ไปพิจารณาภายใน 30 วัน นายกฯก็ยอมลดให้เหลือ 15 วัน และไม่เสนอร่างของรัฐบาลมาประกบ  อย่างนี้ถือเป็นการต่อรอง เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน คิดว่าการเข้ามาอยู่การเข้ามาข้างในไม่เป็นการสูญเปล่าและไม่ได้ถูกกลืนไป

ขณะนี้กฎหมายเกี่ยวกับสื่อที่ค้างอยู่ในสนช.มีอะไรบ้าง

กฎหมายสื่อไม่มีแล้ว เพราะว่ากฎหมายการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ก็ออกมาแล้ว กฎหมายขัดตั้งตั้งสื่อโทรทัศน์สาธารณะก็ออกมาแล้ว ที่สนช.ได้พิจารณาผ่านกฎหมายสื่อมีอยู่ 3-4 ฉบับคือ กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ กฎหมายวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ กฎหมายการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งกฎหมายการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์

เข้ามาทำงานเป็นสนช.ประมาณหนึ่งปี คิดว่ามีผลงานได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ bunyut01.jpg

ตัวเองคิดว่าถ้าจากที่เราตั้งความหวัง ที่ผ่านมาเราก็สามารถผลักดันออกมาได้ ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ก็ไม่มีใครมาผลักดันให้เรา แต่ไม่อยากพูดเหมือนกับว่าไปยกย่องตัวเอง ถ้าเราไม่เข้ามาคนอื่นในนี้เขาไม่รู้ร้อนรู้หนาวด้วย เขาคงไม่ต่อสู้ผลักดันให้เราได้เต็มที่ และก็คงไม่สามารถชี้แจงทำความเข้าใจให้กับสนช.จากแวดวงอื่นให้เข้าใจเหตุผลและความจำเป็นได้ลึกซึ้ง ในการเข้ามาทำงานเป็นสนช.ครั้งนี้ เราก็ได้เห็นคนที่อยู่ในวิชาชีพต่าง ๆ แล้วมีความจริงใจต่อวิชาชีพของตนเอง ก็สามารถผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ ได้หลายเรื่อง รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของคนในวิชาชีพอื่นที่เราไม่เคยรู้อย่างลึกซึ้งมาก่อน เช่นการเข้าไปร่วมทำงานในคณะกรรมาธิการฯ

เป็นกรรมาธิการชุดไหนบ้าง

กรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี เยาวชนและความมั่นคง ซึ่งกรรมาธิการชุดนี้ทำให้เราเปิดทัศนคติกว้างมากขึ้นในภาคประชาชน  เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าบทบาทภาคประชาชนเขาทำเครือข่ายชุมชนต่าง ๆ ไว้กว้างขวางหลากหลายมาก  อาทิ เครือข่าย ส้ธนาคารชุมชนซึ่งเข้มแข็งมาก ที่แล้วมาเราทำอยู่ข้างบน ก็จะพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับกว้าง ซึ่งก็จำเป็น แต่เขาจะทำกันในระดับรากหญ้า เราเห็นว่าเขามีความเข้มแข้งมาก

ดิฉันคิดว่าหน้าที่ของเราต่อไปนั้น สื่อนอกจากจะทำในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเราก็ทำมาเยอะแล้วและคอยดูแลในเรื่องนี้อยู่  ในเรื่องบทบาทประชาคมเราน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะว่าเป็นรากแก้วที่เราจะต้องไปช่วยเขาและเรียนรู้จากเขา รวมทั้งช่วยกันกระจายข่าวสะท้อนอะไรออกมา เพราะว่าเขาจะทำกันเยอะมากและเรียนรู้จากเขา  คิดว่าน่าจะช่วยได้เยอะ ถ้าบทบาทตรงนั้นเข้มแข็ง จะเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยรากแก้ว ซึ่งรัฐบาลทำไม่ได้ แต่พวกนี้ถ้าเข้มแข็งจะทำกันเขาทำได้ และมั่นใจว่าจะทำได้ ซึ่งก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

แต่เราอยู่ข้างนอกเราจะไม่รู้ว่าเครือข่ายประชาชน มองจากข้างนอกก็เหมือนกระจัดกระจาย หรือไปมองที่อบต. อบจ. ว่ามีการซื้อเสียงเข้ามา อะไรต่ออะไร แต่กลุ่มพวกนี้เขาเป็นกลุ่มชาวบ้านจริง ๆ เขาติดพื้นที่แล้วทำ คือจะเป็นนิวเคลียสแต่ละจุด ๆ แล้วมาเชื่อมต่อกัน จะมีพื้นฐานที่แน่นหนาและน่าสนใจ แล้วเราก็ควรที่จะให้ความสนใจ เรียนรู้จากเขา และดูว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยเขาได้บ้าง เนื่องจากพวกนี้เข้ามาอยู่ในสนช.หลายคน และผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ

คิดว่าล้มเหลวไหมในการเข้ามาเป็นสนช. เพราะมีกฎหมายบางฉบับที่กระทบสิทธิเสรีภาพเช่น กฎหมายความมั่นคงออกมาบังคับใช้

เรื่องกฎหมายความมั่นคงเราเองก็คัดค้าน ทำให้มีการแก้ไขไปมากและหลายจุด มีการยกเลิกมาตรา 22 ที่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญา เนื่องจากว่ามีเสียงคัดค้านเยอะและสื่อมีการโจมตีเยอะเขาก็ต้องถอยออกมา แต่ถึงกระนั้นในการโหวตเราก็ยืนยันไม่รับรอง เขาก็โหวตโดยพวกทหารและเสียงข้างมากที่มีอยู่  แต่เขาก็มีการปรับมาเยอะมากแล้ว แต่เราก็ไม่ได้รับรอง

แทนที่เราจะปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐมายกมือเราโดยที่เราไม่สามารถจะทัดทานอะไรได้ แทนที่กฎหมายฉบับนี้จะออกมาเป็นรูปแบบของเขา เราก็จะคัดค้านกันทั้งข้างนอกข้างใน ทำให้เขาต้องแก้ไขผ่อนปรนอะไรไปเยอะ แต่ทั้งนี้เราก็มีจุดยืนยังไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้

มีกฎหมายอื่นอีกไหมที่ได้ช่วยกลั่นกรองเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

มีหลายอัน เช่นกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ส่วนตนเองนั้นก็เป็นกรรมาธิการ แต่เป็นกรรมาธิการเสียงส่วนน้อย มีมาตรา 9 กรณีที่ผู้ถูกกระทำรุนแรงไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่แล้ว สื่อจะมารายงานตีพิมพ์หรือว่าออกทีวี หรืออื่น ๆ ไม่ได้เลย  มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิด ส่วนนี้เราก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราเห็นว่าการรายงานข่าวการกระทำรุนแรงในครอบครัว จะได้สามารถร้องเรียนให้สังคมได้รับรู้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ต่อสังคม มิให้ก้าวเพลี่ยงพล้ำเหมือนอย่างเขา เราก็อธิบายในแง่นี้ แต่ว่าผู้ที่ทำงานในภาคเอกชนนั้นบอกว่า อย่างนี้ไม่ได้ เพราะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจะถูกกระทำซ้ำซ้อน คือเขาถูกทำร้ายแล้วยังต้องมาโดนสื่อประจานซ้ำอีก เขามองคนละแง่  ในกรรมาธิการเราเป็นเสียงข้างน้อย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมากระตุ้นสร้างความตระหนักกับสื่อด้วยกันเอง ว่ายังมีความผิดตรงนี้อยู่

ก่อนกฎหมายจะบังคับใช้ดูเหมือนวงการสื่อเองก็ไม่ค่อยได้ติดตาม เป็นเพราะปํญหาอะไร

สื่อไม่ค่อยได้ติดตาม เพราะเข้ามาทางพวกเอ็นจีโอ ซึ่งเขาจะมีการทำงานและปรึกษากันโดยที่เราไม่รู้ จนกระทั่งเสนอเข้ามาเป็นกฎหมายแล้วเราถึงรู้ แล้วจึงตั้งเป็นกรรมาธิการ ได้แจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อแล้วให้ระวัง  ถึงเราจะเป็นกรรมาธิการแต่ก็เป็นเสียงข้างน้อยกำหนดคำแปรญัตติ และเนื่องจากเสียงข้างมากเขาไม่เห็นด้วยจึงเป็นเช่นนี้
ก่อนที่จะมาเป็นสนช. มีบางส่วนคัดค้าน เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการพื้นฐานของสื่อที่ต้องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ ไปรับรองกฎหมายขององค์กรที่เกิดจากการรัฐประหาร 1 ปีที่เป็น สนช. มาได้หรือเสีย

คิดว่าการที่เราเข้ามาอยู่ตรงนี้ทำให้เราเห็นและสามารถยับยั้งได้จากข้างใน อย่างกฎหมายความมั่นคงนั้นถ้าสมมติเราไม่ได้เข้ามาและไม่ได้ช่วยดูนั้น ก็อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขมากขนาดนี้ เพราะว่ากฎหมายพวกนี้ถ้าเขาวิปขึ้นมาแล้วอย่างไรเขาก็ต้องผ่าน ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะว่าเขามีกลไกของเขาอยู่ แต่เมื่อเราอยู่ข้างใน แล้วเราก็สะท้อนออกมาให้เห็นว่ามีความร้ายแรงขนาดนี้ เราจัดการสัมมนา มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวก่อนที่กฎหมายจะเข้านั้น เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่าง ๆ มากมาย ทำให้คนตื่นตัว  และทำให้คนที่อยู่ข้างในเขารู้ว่า เสียงข้างนอกคัดค้านนั้นมันรุนแรง ต้องยอมทบทวนว่าสามารถปรับอะไรลงได้บ้าง คิดว่าเป็นการดี แทนที่จะเป็นแบบสำเร็จรูปมาเลยแล้วมาสู้กัน ซึ่งเขาก็จะใช้กลไกที่ของเขาคือยกมือสู้กันเลย ซึ่งต้องผ่านแน่

ถ้าเราอยู่ข้างนอกไม่รู้เราก็ได้แต่ร้องอยู่นั่น แต่นี่เรารู้ตั้งแต่ต้นแล้ว และอภิปรายคัดค้านตั้งแต่ต้นมา แล้วทีนี้เขาเห็นว่าถ้าไปอย่างนี้มันจะไปไม่ไหว จะเป็นการเผชิญหน้าเกินไป จึงมีการจัดสัมมนาให้เราไปร่วมด้วย ให้แสดงข้อคิดเห็น และปรับเปลี่ยนอะไรต่ออะไรนั้น คิดว่าจะเป็นการผ่อนหนักผ่อนเบาที่ใช้ได้

ที่ผ่านมาสื่อก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์เป็นปกติ

ใช่ เราไม่ได้ผูกมัดว่าเราอยู่ตรงนี้แล้ววิจารณ์เขาไม่ได้  ตรงข้ามเราก็วิจารณ์ของเรา ทั้งนี้เรากลับพร้อมและยิ่งเห็นด้วย เพราะถ้ามีกฎหมายที่ไม่ดีแล้วสื่อออกมาสะท้อน และมีปฏิกิริยาตอบกลับ ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ เพราะฉะนั้นบทบาทของสื่อนี้สำคัญมาก เขาจะต้องฟัง  ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แต่สนช.ชุดที่แล้วมาจะเป็นอย่างนี้ พอสื่อลงข่าวอะไรไป จะมีการขยับเขยื้อน จะมีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้นข้างใน อาจจะเป็นเพราะว่าสนช.ชุดนี้มาจากหลากหลาย ไม่ใช่เป็นการเลือกโดยพรรคที่จะต้องวิปโดยพรรคเท่านั้น แต่เป็นอะไรที่ยังต้องรับฟัง

แต่สัดส่วนส่วนใหญ่เขามาจากระบบราชการหรือว่าคนในกองทัพ

จำนวนหนึ่งมาจากกองทัพ แต่ว่ามันหลากหลาย  และยอมปรับเท่าที่จะต่อรองได้ ยกเว้นแต่เป็นประเด็นแก่นของเขา เช่นกฎหมายความมั่นคงต้องมี นั่นเป็นหลักของเขาที่ต้องมี ต้องวิป แต่ว่าจะมีแค่ไหน จะร้อยเปอร์เซ็นต์หรือแค่ไหนก็ต้องมาสัมมนา มาคุยกันว่าอะไรที่สามารถลดได้ ส่วนไหนที่ต้องเบรกไว้ หัวข้อไหนที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องใช้ ต้องต่อรองกัน และเราก็ไม่ใช่ไปประทับตรารับรองเขา 100 %  เรื่องกฎหมายความมั่นคงแม้จะปรับลดลงมากแล้ว  เราก็ติ ก็วิจารณ์ แล้วในการลงมติวาระสามเราก็ไม่ได้รับ แต่เขาก็มีกลไกของเขาที่จะผลักดันจะต้องออกเป็นกฎหมาย

มีกฎหมายสื่อเกิดขึ้น 3-4 ฉบับ มีข้อเสนอแนะกับแวดวงนักข่าวอย่างไรบ้าง

จริง ๆ เรื่องจดแจ้งการพิมพ์ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ เพราะว่าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เมื่อก่อนเราต้องขออนุมัติ แต่ว่าตอนนี้เป็นจดแจ้งจึงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่ที่จะเปลี่ยนแปลงคือเรื่องทีวีสาธารณะ ถ้าทำดีก็จะเป็นการตั้งต้นที่ดีมาก ก็เอาใจช่วยเขาเต็มที่ เพราะอยากให้เขาไปได้ อยากให้เขาเกิดได้ อยากให้เขาเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออก แทนที่ทุกอย่างจะทำเป็นเชิงพานิชไปหมด

แต่เริ่มต้นก็เจอปัญหาหนักเสียแล้ว

ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะออกตอนนี้หรือว่าเมื่อไหร่ก็ต้องมีการต่อต้าน เพราะทำให้เขาขาดอาชีพ ก็ต้องต่อต้านให้ถึงที่สุด ถึงอย่างไรก็ต้องเอาใจช่วยเพราะอยากให้เกิดได้จริง ๆ และอยากให้ประชาชนสนับสนุน คือกลุ่มคนชุมชนต่างๆ กลุ่มประชาชน ผู้ผลิตรายการต่าง ๆ รวมทั้งผู้ชมให้การสนับสนุน และช่วยกันประคับประคอง ให้เหมือนกับประชาชนเป็นเจ้าของสถานี อยากให้เกิดความรู้สึกนี้

ทางออกของนักข่าวทีไอทีวี

คิดว่าที่สุดแล้วจะมีจำนวนหนึ่งเข้ามา เพราะว่าเป็นอาชีพเขา และเขาก็มีฝีมือ แต่จะเข้ามาทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าอาจจะกระทบกระเทือนเขาปัจจุบันทันด่วน แต่จริงแล้วก็ไม่ได้กระทบอย่างปัจจุบันทันด่วน เพราะว่าเขาน่าจะรู้ล่วงหน้ามาตั้งนานแล้วว่าจะมีรายการนี้ ตอนนี้มันชุลมุนต้องประคับประคอง ไม่อยากให้ไปวิจารณ์ให้เขาเสียกำลังใจ  อยากจะกำลังใจเขาเต็มที่ และอยากจะให้ถือว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ ให้มันเกิดขึ้นให้ได้

ถ้าเกิดได้คือความสำเร็จของการปฏิรูปสื่อหรือไม่

ใช่ ปฏิรูปประชาธิปไตยก็จะตั้งต้นได้ตรงนี้ถ้ามีสื่อ เพราะว่าทีวีจะมีอิทธิพลต่อประชาชนเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าให้เขาเกิดได้ ให้ประชาชนยอมรับแล้วให้เขาเป็นเจ้าของ กระบวนการเรียนรู้มันจะเกิดขึ้นจากตรงนี้มากทีเดียว

หมดวาระสนช.แล้วจะทำอะไรต่อ

คงไปเลี้ยงหลาน

งานในแวดวงสื่อและที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคงไม่ทิ้งไป

ไม่ทิ้ง ยินดีช่วยงานวงการสื่อ เป็นที่ปรึกษาของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเท่าที่จะทำได้
{mospagebreak } page1 of 2

เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน

โดย ชาย ปถะคามินทร์
เลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เห็นจะ ๆ ไม่ต้องรอคนร้อง

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ที่ต้องการควบคุมกันเองในด้านจริยธรรมของวิชาชีพ โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์เป็นคณะทำงานหลักในการพิจารณาตรวจาสอบ ผ่านการร้องเรียน และคณะอนุกรรมการสามารถที่จะพิจารณาเรื่องที่เห็นว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพขึ้นมาพิจารณาได้

ที่ผ่านมาได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนแล้วจำนวนมาก ทั้งการนำเสนอข่าว ภาพข่าว และคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้กระบวนการในการพิจารณาได้สิ้นสุด และคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ได้มีคำวินิจฉัยแล้วหลากหลายเรื่อง ดังบางส่วนที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………… 
คำวินิจฉัยคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่อง การร้องเรียนจริยธรรมในการเสนอภาพข่าวฆ่าข่มขืน โดยหนังสือพิมพ์….

เนื่องจากปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนต่อกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าหนังสือพิมพ์…. ฉบับวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2549 ได้ลงพิมพ์ภาพและข่าวหญิงในสภาพเปลือยจากการถูกข่มขืนว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์นั้น

คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ได้นำคำร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2546

ข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนฟังได้เป็นที่ยุติว่า หนังสือพิมพ์…… ซึ่งเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฉบับวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2549 ได้ลงพิมพ์ภาพและข่าว โดยพาดหัวข่าวใหญ่หน้า 1 ว่า ข่มขืนฆ่าอำมหิตสาวสวย และพาดหัวข่าวรองว่า ทิ้งศพหมกในคูน้ำสภาพเปลือยกายล่อนจ้อนไร้เสื้อผ้า พร้อมกับภาพศพผู้ตายสภาพเปลือยกายท่อนบน ที่เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังนำขึ้นจากคลองที่เกิดเหตุ โดยปรากฏรูปร่างหน้าตาชัดเจน และได้ระบุในข่าวถึงชื่อ นามสกุล อายุ อาชีพ สถานที่ทำงาน ภูมิลำเนาที่อยู่ ญาติพี่น้อง และสาเหตุการฆาตกรรมจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา พร้อมทั้งประวัติความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัวของผู้ตายโดยละเอียด ดังที่ปรากฏในข่าว

คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การเสนอข่าวและภาพของหนังสือพิมพ์…..ดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายเสื่อมเสียต่อผู้ตกเป็นข่าว เป็นการเสนอข่าวโดยมิได้คำนึงว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของผู้ตกเป็นข่าว และทั้งภาพที่ลงพิมพ์ก็เป็นภาพที่เห็นได้ว่าเป็นที่อุจาดอนาจาร น่าหวาดเสียวต่อความรู้สึกของสาธารณะชน ซ้ำเติมความโศกเศร้าแก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นสุภาพสตรีหนักยิ่งขึ้น อันถือได้ว่าเป็นการละเมิดผิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 15 และข้อ 17

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยข้อเสนอของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ จึงมีมติเห็นสมควรให้ตักเตือนการเสนอภาพข่าวดังกล่าว ของหนังสือพิมพ์…. ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2548 หมวด 5 ว่าด้วยความรับผิดทางจริยธรรมข้อ 26 (4) เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการเสนอภาพข่าวลักษณะนี้ต่อไป

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
วันที่ 16 กรกฎาคม 2549

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

ที่มาของกระบวนการพิจารณาในเรื่องนี้ มีที่มาเริ่มจากที่มีประชาชนที่ติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ได้โทรศัพท์ร้องเรียนผ่านทางคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ เพราะเห็นว่าการลงตีพิมพ์ภาพข่าว ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและฆ่าไม่เหมาะสม แต่ไม่ขอที่จะแจ้งชื่อจริงแก่คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา โดยใช้ภาพข่าวและข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว และมีมติในการประชุมในวันดังกล่าวทันที โดยไม่ต้องให้ฝ่ายที่ถูกร้องเรียนได้ชี้แจง เนื่องจากเห็นว่า พยานเอกสารที่ปรากฏชัดเจน

จากนั้นได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งก็มีมติดังกที่ปรากฏเป็นคำวินิจฉัยดังกล่าว

หลังจากที่คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ที่ประชุมยังมีความเห็นว่า ควรที่จะมีแนวปฏิบัติเพื่อให้หนังสือพิมพ์นำเสนอภาพข่าวและข่าวผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างเหมาะสม จึงได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อร่างแนวปฏิบัติ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ นักวิชาการ และองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและสตรี มาร่วมประชุม เสนอแนะความคิดเห็น  หลังจากนั้นยังได้เชิญบรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ มาร่วมประชุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกรอบ จนได้ข้อสรุปและออกมาเป็นแนวปฏิบัติตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่อง การเสนอข่าวและภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ

เนื่องด้วยในปัจจุบัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวและภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศในทางที่ไม่เหมาะสม และอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สิทธิมนุษยชนและกฎหมายโดยหนังสือพิมพ์ ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ในสังกัดสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โดยให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานและป้องกันการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยคำแนะนำของ คณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม ซึ่งได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานข่าว บรรณาธิการและผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง จึงเห็นสมควรให้กำหนดแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการเสนอข่าวและภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ ดังต่อไปนี้

๑) การนำเสนอข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ

๑.๑  หนังสือพิมพ์ต้องไม่ลงตีพิมพ์ชื่อ ชื่อสกุลหรือตำบลที่อยู่ของผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุลและตำบลที่อยู่ของญาติของผู้เสียหาย ไม่ว่ากรณีใดๆ หรือสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ได้ว่าผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศเป็นใคร

๑.๒   ในกรณีที่ผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เสียชีวิต ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

๑.๓  การพาดหัวข่าว โปรยข่าว หรือการนำเสนอรายละเอียดของเนื้อหาข่าวผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งในเรื่องการใช้ภาษาและการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ตอกย้ำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องเพศอันเนื่องมาจากการละเมิดทางเพศนั้น

๒) การนำเสนอภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ

๒.๑   หนังสือพิมพ์ต้องไม่ลงตีพิมพ์ภาพข่าวของผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ไม่ว่ากรณีใดๆ และไม่ว่าผู้ที่ถูกละเมิดทางเพศนั้น จะเสียชีวิตหรือไม่ก็ตาม

๒.๒   ในกรณีที่ผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต หนังสือพิมพ์อาจลงตีพิมพ์ภาพหน้าตรงของผู้เสียชีวิตขณะมีชีวิตได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๙

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

หมายเหตุ
 คอลัมน์ “เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน” เป็นคอลัมน์ใหม่ที่จะมีต่อเนื่องกันไปนับจากฉบับนี้ โดยจะเป็นการกลับไป”เปิดแฟ้ม”กรณีร้องเรียนที่เกิดขึ้นและผ่านกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ เสร็จสิ้นและปิดเรื่องไปแล้ว มิใช่เพื่อเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เพื่อจะติเตียนกันซ้ำซาก หรือหวังฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกรณีศึกษา สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และผู้เกี่ยวข้อง จะได้เห็นถึงแง่มุมในการพิจารณากรณีต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมต่อไป
{mospagebreak } page1 of 2

ตระเวณสำรวจพัฒนาการสื่อยุโรป: จากฝรั่งเศสถึงเยอรมัน

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
cfpj3.jpg
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานในสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและพัฒนาการของสื่อมวลชน

อย่างที่เคยเกริ่นกันไว้ในฉบับก่อนๆ ว่า ฝรั่งเศสเป็นไม่กี่ประเทศในยุโรปตะวันตกที่ไม่มี
“สภาการหนังสือพิมพ์” ไว้กำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรม นั่นก็เพราะสาเหตุหลายประการ

เตรียมการจัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส”

“มาโนลา การ์เดซ์” ผู้ประสานงานของเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์นานาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสุนนจากมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ของเอกชนในฝรั่งเศส เน้นการทำงานด้านการส่งเสริมจริยธรรมและคุณภาพของสื่อมวลชนในฝรั่งเศส รวมทั้งสร้างเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักข่าวในประเทศต่างๆ อาทิ บราซิล อินเดีย เซเนกัลและอุซเบกิสถาน

“สาเหตุที่สื่อในฝรั่งเศสไม่ยอมให้มีสภาการหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าจะถูกควบคุม แต่วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สื่อต้องการพื้นที่ในการสื่อสารกับสาธารณะในกรณีที่เป็นปัญหาจริยธรรมในภาพรวม ขณะที่ระบบเดิมใช้ผู้ไกล่เกลี่ยเป็นกรณีๆไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องเฉพาะหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเท่านั้น และเมื่อการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม”

ดังนั้น เมื่อช่วงปีเศษๆที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสกลับมาคุยกันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสภาการหนังสือพิมพ์กันอีกครั้ง โดยทางเครือข่ายฯ กำลังทำหน้าที่ให้ข้อมูลกัยทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการพิจารณาข้อเสนอนี้ ในการประชุมใหญ่ระดับชาติในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

“ล่าสุด ทางสหภาพนักข่าวฝรั่งเศส ยังไม่มีความเห็นต่อข้อเสนอให้มีการจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน ส่วนสมาคมบรรณาธิการบางส่วนให้ความสนใจ ขณะที่กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ได้แต่หวังว่า เมื่อถึงวันประชุม  เราจะสามารถจูงใจให้สมาคมวิชาชีพด้านสื่อรับเป็นเจ้าภาพในการผลักดันเรื่องนี้” มาโนลา บอกถึงความคืบหน้า

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้นำเสนอโครงสร้างของสภาการหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสไว้แล้ว โดยให้มีคณะกรรมการที่มาจากเจ้าของและบรรณาธิการ 8 คน นักข่าว 8 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 8 คน แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องเงินทุนในการดำเนินการ ยังไม่รู้ว่าจะมีองค์กรใดเป็นเจ้าภาพ

สร้างนักข่าวมืออาชีพสไตล์ฝรั่งเศส

เป็นที่ทราบกันดีว่า การศึกษาด้านวารสารศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาในประเทศฝรั่งเศสยังเป็นเรื่องใหม่ จนถึงปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเพียง 12 แห่งเท่านั้น ที่เปิดสอนในด้านนี้ ดังนั้น ทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่อาชีพสื่อมวลชน จึงอยู่ที่สถาบันฝึกอบรมด้านวิชาชีพสื่อมวลชน

“ศูนย์ฝึกอบรมสื่อมวลชนอาชีพ” หรือ CFPJ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่อบรมความรู้ด้านวิชาชีพสื่อมวลชนให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยผู้เข้าอบรมจะต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีการสอบแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ในปีล่าสุด มีผู้สมัครสอบประมาณ 1,000 คน แต่สามารถรับได้เพียง 40 คน เข้าอบรมในหลักสูตร 2 ปี

ในปีแรก จะเน้นการการเขียนข่าวพื้นฐานและการสื่อข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์ มีการฝึกภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับภาคทฤษฎี ส่วนปีที่สอง จะเน้นทางด้านสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว มักจะได้ทำงานในสื่อระดับชาติเกือนทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งคือ ศูนย์แห่งนี้ ได้รับเงินทุนอุดหนุนจากรัฐและเจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ต่างๆ

นอกจากที่ศูนย์แห่งนี้ จะจัดฝึกอบรมให้กับคนหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสที่สนใจอยากก้าวเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ยังมีการเปิดหลักสูตรพิเศษให้กับนักข่าวต่างชาติเข้ามาเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาชีพ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเข้ารับการอบรมเป็นภาษาฝรั่งเศส

เรียนรู้หนังสือพิมพ์ทางเลือกของคนเยอรมัน

ข้ามฟากไปยังประเทศเยอรมนี ที่เมื่อ 2-3 ปีก่อน จดหมายข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกในการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนเยอรมันทุกประเภทไปบ้างแล้ว การไปเรียนรู้จักสื่อเยอรมันในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นสื่อหนังสือพิมพ์ทางเลือกเป็นพิเศษ

หนังสือพิมพ์ “Die Tageszeitung” เป็นหนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งมากว่า 28 ปีแล้ว จากกลุ่มนักกิจกรรมสังคมที่ต้องการสร้างสื่อที่มีความเป็นอิสระ ไม่ผูกติดกับพรรคการเมือง และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจ จึงมีผู้ร่วมลงหุ้นก่อตั้งกว่า 75,000 คน ปัจจุบันตีพิมพ์วันละประมาณ 60,000 ฉบับ ในจำนวนนี้ ส่งให้กับสมาชิกขาประจำถึง 48,000 ฉบับ มีสำนักงานใหญ่อยู่ใจกลางนครเบอร์ลิน

“สเวน แฮนเซ็น” บรรณาธิการข่าวโต๊ะข่าวเอเชียแฟซิฟิค ของ Die Tageszeitung ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จะมีโฆษณาน้อยกว่าฉบับอื่นๆ เพราะแม้จะเป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติที่มีจำหน่ายทั่วประเทศ แต่ก็อาจจะมียอดจำหน่ายน้อยเกินไปสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ คนทำงานส่วนใหญ่จึงมีค่าตอบแทนไม่สูงนัก หลายคนจึงต้องดิ้นรนไปหางานพิเศษที่ไม่ขัดต่อวิชาชีพนักข่าวทำเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติม
german2_resize.jpg

*บก.โต๊ะข่าวเอเชียแปซิฟิกนสพ.Die Tageszeitung

“เราไม่ใช่สื่อทางเลือก เพราะทำงานโดยยึดมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อื่นๆ แต่อาจมีความแตกต่างสำคัญในเรื่องความเป็นเจ้าของ อาจเรียกได้ว่า เราเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่มีเจ้าของมากที่สุด ขณะนี้ ตั้งเป้าว่าต้องมีสมาชิกให้ได้ 50,000 รายเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในทางธุรกิจ และจะต้องไม่ต่ำกว่า 45,000 ราย” บก.โต๊ะข่าวเอเชียแฟซิฟิคให้ข้อมูล พร้อมทั้งบอกด้วย เคยมีบางครั้ง ที่ประกาศปิดตัวเองเพราะยอดสมาชิกน้อยเกินไป แต่เมื่อประกาศออกไป คนก็แห่กันมาสมัครเป็นสมาชิก จนต้องอยู่ต่อมาถึงทุกวันนี้

ส่วนแนวทางในการเสนอข่าวของ Die Tageszeitung จะเน้นข่าวที่แตกต่างไปจากที่หนังสือพิมพ์ทั่วไปนำเสนอ อาจมีพาดหัวข่าวด้วยภาษาที่รุนแรงกว่า แต่จะเน้นความตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ขณะที่ข่าวต่างประเทศก็มีความสำคัญและจะเน้นเรื่องราวจากประเทศที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นไม่ค่อยให้ความสนใจ

วันนี้ ของหนังสือพิมพ์ในระบอบคอมมิวนิสต์เดิม

เพื่อความแตกต่างในการเรียนรู้สื่อในประเทศเยอรมนี หนังสือพิมพ์อีกฉบับที่เรามีโอกาสไปเยี่ยมเยียนคือ หนังสือพิมพ์ Sachsische Zeitung ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับหลักของแคว้น Saxony มีสำนักงานอยู่ในเมือง Dresden เมืองหลวงของแคว้น ซึ่งเป็นดินแดนในฝั่งเยอรมันตะวันออก ก่อนการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1989 ปัจจุบันมียอดพิมพ์อยู่ที่ประมาณ 290,000 ฉบับต่อวัน ในจำนวนนี้ 90% เป็นสมาชิก ส่วนที่เหลือวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไป และถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ในระดับภูมิภาค เพราะส่งไปจำหน่ายในหลายเมือง

“แฟรงค์ กรูบิทซ์” บรรณาธิการข่าวการเมือง เล่าว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1946 เคยเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออก จนกระทั่งปี 1991 เมื่อรวมประเทศเยอรมัน หนังสือพิมพ์จึงถูกขายให้กับกลุ่ม Gruner&Jarn ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารยักษ์ใหญ่ในเมืองฮัมบูร์ก ช่วงเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นักข่าวต้องปรับตัวกันมาก เพราะอยู่ใต้ระบอบคอมมิวนิสต์มานาน แต่ก็ไม่ลำบากมากนัก

ในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ Sachsische Zeitung กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ในทวีปยุโรปทั่วไป คือ การสูญเสียนักอ่านรุ่นใหม่ จึงทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจของนักอ่านรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น มีการเพิ่มหน้าเกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นขึ้นมาทุกวันศุกร์

จากการได้สัมผัสและเรียนรู้พัฒนาการของสื่อมวลชนในฝรั่งเศสและเยอรมนีแล้ว ทำให้คิดต่อไปข้างหน้าว่า ปัญหาหลายอย่างเป็นเรื่องน่าศึกษาสำหรับแวดวงสื่อมวลชนไทยในอนาคต และอีกหลายเรื่องอาจสามารถนำมาปรับใช้และเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง…
{mospagebreak } page1 of 2


บทความพิเศษ

โดย โอภาส  อาจารวงศ์

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบ
พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 กับ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484

เมื่อวันที่  18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้มีประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ในราชกิจจานุเบกษา  และพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้มีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จึงมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ที่ออกใช้บังคับใหม่ บัญญัติให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2488 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2485 กำหนดให้เจ้าของหนังสือพิมพ์ข่าวสารการเมืองต้องมีทุนสำหรับการทำหนังสือพิมพ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดจำนวนหนังสือพิมพ์ที่ออกจำหน่ายได้ ส่วนพระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2488 ได้ยกเลิกความในพระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 2) ดังนั้น พระราชบัญญัติการพิมพ์ทั้งสองฉบับ จึงไม่มีผลบังคับอยู่แล้ว

สำหรับคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กำหนดให้หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ สถานีวิทยุกระจายเสียง ต้องอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสารและกรมประชาสัมพันธ์ และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 กำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตต่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อนดำเนินการพิมพ์ออกแจกจ่าย เมื่อพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550  บัญญัติให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปฯ จึงไม่มีการควบคุมโดยคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร และคณะปฏิรูปอีก ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่มีคณะกรรมการนี้อยู่แล้ว

ดังนั้นจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550  นั้น มีบทบัญญัติที่แตกต่างกันอย่างไร และจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร

ประเด็นแรก พระราชบัญญัติการพิมพ์เดิม กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานการพิมพ์ แต่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติ โดยไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเจ้าพนักงานการพิมพ์  พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์จึงไม่มีเจ้าพนักงานการพิมพ์อีกต่อไป

ประเด็นที่สอง พระราชบัญญัติการพิมพ์เดิม มาตรา 9 บัญญัติให้เจ้าพนักงานการพิมพ์มีอำนาจออกคำสั่งห้ามขายหรือแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ที่เห็นว่าอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยมีอำนาจยึดสิ่งพิมพ์หรือแม่พิมพ์ด้วย  แต่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์มิได้บัญญัติให้อำนาจในการกระทำดังกล่าวไว้ มีเพียงบทบัญญัติมาตรา 10 ที่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งห้ามนำเข้าเพื่อเผยแพร่สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประเด็นที่สาม พระราชบัญญัติการพิมพ์เดิม มาตรา 21 บัญญัติให้เจ้าพนักงานการพิมพ์มีอำนาจตักเตือนผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือสั่งให้งดการพิมพ์ได้ หากเห็นว่าสิ่งพิมพ์นั้นอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ มิได้บัญญัติให้อำนาจดังกล่าวไว้

ประเด็นที่สี่ พระราชบัญญัติการพิมพ์เดิมกำหนดคุณสมบัติของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ มีคุณสมบัติเหมือนกัน โดยคุณสมบัติประการหนึ่งคือต้องมีสัญชาติไทยหรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย แต่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ กำหนดคุณสมบัติของบรรณาธิการกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาแตกต่างกันโดยบรรณาธิการต้องมีสัญชาติไทยหรือสัญชาติแห่งประเทศที่มีสนธิสัญญากับประเทศไทย ส่วนผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น หากเป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมด และต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่เป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย

นอกจากนี้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ยังมีบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย (นอมินี) ในนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์

ประเด็นที่ห้า พระราชบัญญัติการพิมพ์เดิม บัญญัติให้เจ้าพนักงานการพิมพ์มีอำนาจตักเตือนเป็นหนังสือแก่ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์และมีอำนาจเรียกบุคคลดังกล่าวไปรับคำอธิบายแล้วให้ลงชื่อรับทราบคำอธิบาย หากเห็นว่าการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้ส่งเรื่องหรือข้อความที่จะโฆษณาไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อน หรือสั่งพักหรือถอนใบอนุญาตหรืองดการเป็นผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์โดยมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้ แต่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจในการกระทำดังกล่าว

นอกจากบทบัญญัติที่แตกต่างกันในสาระสำคัญดังที่กล่าวแล้ว ยังมีบทบัญญัติที่แตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระราชบัญญัติการพิมพ์เดิม มาตรา 48 บัญญัติว่า “เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ

ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ   และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” แต่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ไม่มีบัญญัติที่มีข้อความดังกล่าว ปัญหาว่าบรรณาธิการต้องร่วมรับผิดชอบเป็นตัวร่วมกับผู้ประพันธ์ในความผิด “นอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์หรือไม่

คำว่า  “ความรับผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้”   ตามความหมายของพระราชบัญญัติการพิมพ์  หมายถึง  ความผิดอื่นที่อาจมีขึ้นจากการโฆษณาบทความหรือบทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์หรือสิ่งตีพิมพ์  ซึ่งความผิดนั้นพระราชบัญญัติการพิมพ์ไม่ได้บัญญัติไว้เพราะมีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้เป็นความผิดอยู่แล้ว  เช่น  ความผิดฐานเปิดเผยความลับ  ความผิดฐานหมิ่นประมาท กล่าวโดยเฉพาะคำว่า  “ความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้”  หมายถึง ความผิดฐานหมิ่นประมาท  นั้นเอง เพราะโดยทั่วไปความผิดที่อาจเกิดขึ้นจากการโฆษณาบทความหรือบทประพันธ์ก็มีเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทเท่านั้น

อธิบายให้ได้ความง่าย ๆ ก็คือว่า  เมื่อพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ.  2550 มิได้บัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการรวมร่วมกับผู้ประพันธ์  บรรณาธิการยังต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทอีกหรือไม่  หากบรรณาธิการไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์จะถือว่าเป็นกฎหมายยกเลิกความผิดของบรรณาธิการที่จะมีผลย้อนหลังไปถึงคดีที่ถูกฟ้องร้องอยู่หรือไม่

บทบัญญัติมาตรา 48  ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ที่บัญญัติให้ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดนอกจากที่ระบุในพระราชบัญญัติการพิมพ์  เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบเป็นตัวการร่วมกับผู้ประพันธ์โดยไม่ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า  บรรณาธิการมีส่วนร่วมรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้นด้วยหรือไม่  ในทางกฎหมายเรียกบทบัญญัติลักษณะนี้ว่า  เป็นบทสันนิษฐานของกฎหมาย  และเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด  กล่าวคือหากปรากฏว่าบทประพันธ์ที่โฆษณามีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น  และศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประพันธ์ต้องรับผิดในบทประพันธ์ดังกล่าว  บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ที่โฆษณาบทประพันธ์ดังกล่าวก็ต้องร่วมรับผิดชอบโดยปริยาย  โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ว่าบรรณาธิการมีส่วนร่วมรู้เห็นกับการประพันธ์  หรือมีส่วนร่วมรู้เห็นกับการโฆษณาบทประพันธ์นั้นหรือไม่

เมื่อพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ. 2550  ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการร่วมกับผู้ประพันธ์ บรรณาธิการจึงไม่ต้องรับผิดกับผู้ประพันธ์  หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบรรณาธิการมีส่วนร่วมในการประพันธ์บทประพันธ์หรือมีส่วนร่วมรู้เห็นกับการโฆษณาบทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ  เพราะถือว่าบรรณาธิการไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย  ดังที่ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 2 บัญญัติว่า  “บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏบรรณาธิการมีส่วนร่วมในการประพันธ์บทประพันธ์หรือมีส่วนร่วมรู้เห็นในการโฆษณาบทประพันธ์ที่เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ  บรรณาธิการย่อมต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์ฐานเป็นตัวการร่วมกัน  เพราะถือได้ว่าบรรณาธิการได้กระทำอันกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้

ดังนั้น  บรรณาธิการต้องร่วมรับผิดชอบกับผู้ประพันธ์หรือไม่  จึงไม่ได้อยู่ที่ลักษณะของความผิดฐานหมื่นประมาท  แต่อยู่ที่ลักษณะของการกระทำที่มีส่วนร่วมในการประพันธ์หรือมีส่วนร่วมในการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการหรือไม่

เมื่อพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ.  2550 ไม่มีบทบัญญัติที่เป็นบทสันนิษฐานของกฎหมายให้ต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์  ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 48  แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484  จึงเข้าลักษณะของกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด  ซึ่งบัญญัติมาตรา  3  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความ

คดีที่มีการฟ้องร้องบรรณาธิการให้ร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์หรือร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในการโฆษณาบทประพันธ์  ในขณะที่พระราชบัญญัติการพิมพ์  2484  จึงต้องพิจารณาว่าปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของพนักงานอัยการหรือโจทก์ในคดีดังกล่าวหรือไม่ว่า  บรรณาธิการได้กระทำการใดที่มีลักษณะเป็นการร่วมกับผู้ประพันธ์ในการประพันธ์หรือโฆษณาบทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ

หากในคดีดังกล่าว  ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบรรณาธิการได้กระทำการใดที่มีลักษณะเป็นการร่วมกับผู้ประพันธ์ในการประพันธ์หรือโฆษณาบทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ  ศาลย่อมต้องพิจารณาพิพากษายกฟ้องบรรณาธิการ  เพราะถือว่าไม่มีบทสันนิษฐานของที่บัญญัติให้บรรณาธิการต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์

อย่างไรก็ตามการที่ศาลจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยได้  บรรณาธิการที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยต้องยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย  โดยอาจทำเป็นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย  โดยอาศัยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเพ่ง  มาตรา 24 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   มาตรา 15 บัญญัติให้นำมาใช้ได้เท่าที่พอจะใช้บังคับได้

{mospagebreak } page1 of 2

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเดินสายเยี่ยมองค์การสมาชิก/แจกบัตรนักข่าว
ประกวดนสพ.ส่งเสริมจริยธรรมปี2

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินำทีมสัญจร จับเข่าคุยผู้บริหารสื่อองค์กรสมาชิก เพื่อรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการทำงานในอนาคต ในโอกาสนี้ได้ทะยอยมอบบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวในสังกัดองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ด้วย พร้อมกับเชิญชวนสมาชิกร่วมการประกวดหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมานายสุวัฒน์ ทองธนากุล  ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายวีระ ประทีปชัยกูร รองประธานฯ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี  พร้อมด้วยกรรมการและอนุฯกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ได้เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยือนองค์กรสมาชิก ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน และหนังสือพิมพ์ในเครือฐานเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการออกพบปะองค์กรสมาชิกครั้งแรกของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่  5 หลังจากที่ว่างเว้นไปสามปี เพื่อชี้แจงการดำเนินงานของคณะกรรมการฯที่ผ่านมา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากองค์กรสมาชิก ในการวางแผนการทำงานต่อไปในอนาคต

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ รายงานภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ภารกิจหลักของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ร่วมกันของวงการหนังสือพิมพ์ ให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเอง  คือการรับเรื่องราวร้องทุกข์นั้นมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด โดยในแง่จำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนมีแนวโน้มลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก ในด้านลักษณะการร้องเรียนก็เปลี่ยนไป  จากเดิมที่มักเป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของตัวนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ ในระยะหลังจากเป็นการร้องเรียนหนังสือพิมพ์มากขึ้น  แสดงว่านักข่าวมีความตระหนักและระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันสังคมก็เพิ่มความสนใจและติดตามพฤติกรรมของหนังสือพิมพ์มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังได้มีการทำงานในเชิงรุกอีกหลายเรื่อง อาทิ การส่งเสริมจริยธรรมของสื่อด้วยการสอดแทรกความรู้เรื่องจริยธรรมเข้าไป เมื่อมีการจัดงานหรือการสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าว หรือองค์กรสื่ออื่นๆ  การออกแนวปฏิบัติในการทำข่าว ทั้งนี้ แนวปฏิบัติในการทำข่าวบางส่วนเป็นเรื่องที่มีผลสืบเนื่องมาจากเรื่องร้องเรียนการทำงานของสื่อ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ แล้วว่า เป็นเรื่องที่สมควรออกแนวปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการทำข่าวอย่างระมัดระวังต่อไป  และการจัดทำโครงการส่งเสริมจริยธรรมหนังสือพิมพ์ โดยร่วมมือกับโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ด้วยการนำข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มาประยุกต์เป็นตัวชี้วัด จากนั้นจะคอยติดตามการนำเสนอข่าวหน้า 1 และการโฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์ที่เข้าร่วมโครงการ ข่าวใดเข้าลักษณะตามตัวชี้วัดก็จะถูกตัดคะแนน การประกวดปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากหนังสือพิมพ์รายวัน 12 ฉบับในส่วนกลาง แต่ในปีนี้จะแยกกลุ่มหนังสือพิมพ์ราย 3 วัน รายสัปดาห์ ราย 15 วัน รายเดือนและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เป็นอีกหมวดหนึ่ง   หนังสือพิมพ์ที่โดนตัดคะแนนน้อยที่สุดจะได้รับรางวัลหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น

เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ รายงานด้วยว่า ส่วนงานด้านอื่นๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว และมีแผนงานที่จะดำเนินงานต่อคือ 1. การผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ 2. การจัดทำโครงการส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน ซึ่งจะเริ่มโครงการเป็นปีที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2551 หลังจากที่ปีแรกประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการจัดทำคู่มือการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน 3. การจัดอบรมหลักสูตรการทำงานของผู้สื่อข่าว มีทั้งระดับสูง ระดับกลาง และระดับต้น ให้สื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะมีการอบรมทุกวันเสาร์เป็นเวลา 6 เดือน 4. การส่งเสริมด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน 5. การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท    6. การผลักดันให้มีการตั้งศูนย์ศึกษากฎหมายทางด้านสื่อ ซึ่งติดปัญหาเรื่องการขาดบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และ 7. การจัดทำบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการทำข่าว  8. การควบคุมเว็บไซต์ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าสมควรที่จะมีการควบคุมด้านจริยธรรมสื่อด้วยหรือไม่ เพราะที่มีการร้องเรียนการนำเสนอข่าวบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้บริหารสามองค์กรสมาชิกได้เสนอแนะแนทางการดำเนินงานของสภาการหนังสือพิมพ์ฯเพิ่มเติมหลายประการ เช่น  1. การรับเรื่องร้องเรียนขอให้มีการทำงานตามกระบวนการอย่างถูกต้องและเป็นธรรม  2. ให้ทำสรุปเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับที่มา ที่ไป ขั้นตอนการดำเนินงาน และผลสรุปที่ออกมาเป็นอย่างไร  3. ให้ผู้แทนของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ประสานงานเพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานศาล เรื่องการให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ 4.ให้สร้างความเข้าใจกับหนังสือพิมพ์เรื่องการโฆษณาแฝงบนเนื้อที่ข่าว เป็นการกระทำที่ไม่สมควร 5. ให้สอดส่องตัวผู้สื่อข่าวเรื่องการรับสิ่งของหรือประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น  ซึ่งคณะกรรมการฯจะทะยอยเดินทางพบปะองค์กรสมาชิกที่เหลือตามลำดับต่อไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
{mospagebreak } page1 of 2

6 องค์กรวิชาชีพสื่อระดมชี้แจงแนวทางปรับตัวรับพ.ร.บ.จดแจ้งฯ

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติร่วมกับ 6 องค์กรสื่อจัดประชุมผู้แทนหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ พร้อมทยอยจัดเวทีเสวนาสัญจรในระดับภูมิภาคในเร็ว ๆ นี้

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๖ องค์กรประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ให้กับองค์กรสมาชิกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนตัวแทนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กว่า 60 คน โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสายสื่อมวลชน อาทิ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช นายภัทระ คำพิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกสานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจงพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ.2550ในครั้งนี้

นายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) กล่าวว่า เนื้อหาในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ 2550 มี 2 ส่วนใหญ่ๆ ที่จะชี้แจงคือ หนังสือพิมพ์ที่ออกอยู่ก่อนที่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพพิมพ์ 2550 จะมีผลบังคับใช้นั้น ไม่ต้องทำอะไร เพราะบทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่า ความเป็นบรรณาธิการความเป็นเจ้าของ ความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา สถานะของหนังสือพิมพ์ยังอยู่อย่างเดิม เว้นแต่จะเปลี่ยนบรรณาธิการ เปลี่ยนเจ้าของ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณานั้นจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รับจดแจ้ง  ส่วนหนังสือพิมพ์ที่จะออกใหม่นั้น กฎหมายระบุไว้ว่า ต้องไปจดแจ้งการพิมพ์ แต่พนักงานรับจดแจ้งไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้จดหรือไม่ให้จดแจ้ง หากหลักฐานครบถ้วนตามระเบียบต้องรับจดแจ้ง แต่ถ้าหากไม่ครบต้องแจ้งให้ผู้ยื่นขอจดแจ้งทราบในส่วนที่ขาดทั้งหมดในคราวเดียว ส่วนการรับจดแจ้งนั้นต้องดำเนินการโดยพลัน

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญกล่าวต่อว่า สำหรับการสถานที่รับจดแจ้งนั้น ในส่วนของกรุงเทพมหานครต้องไปจดแจ้งที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ต่างจังหวัดไปจดแจ้งที่สำนักศิลปากรเขตที่ 1 – 15 ทั้งนี้แบบฟอร์มของการจดแจ้งนั้นมีไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอให้กฎกระทรวงลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้นก็อยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรมที่จะต้องประชุมชี้แจงต่อเจ้าเจ้าหน้าที่ของตนเอง โดยต้องเร่งดำเนินการ มิฉะนั้นหนังสือพิมพ์ใหม่จะไม่สามารถออกได้ หรือหนังสือพิมพ์เก่าที่ต้องการจะเปลี่ยนชื่อก็ไม่สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงสาระหลัก ๆ ในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แล้ว ที่ประชุมได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามในข้อสงสัยต่างๆเกี่ยวพระราชบัญญัติ โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร นางบัญญัติ ทัศนียะเวช นายสมชาย แสวงการ และนายภัทระ คำพิทักษ์ เป็นผู้ตอบข้อสงสัยในทางปฎิบัติต่าง ๆ ซึ่งตัวแทนหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคได้ซักถามอย่างกว้างขวาง

ในตอนท้ายก่อนปิดการประชุมนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีองค์กรสมาชิกหลายท่านไม่ได้มาร่วมรับฟัง แล้วหากสมาชิกในเครือข่ายของงแต่ละภาคอยากให้ผู้ที่มีส่วนในการร่างกฎหมายไปชี้แจงเพื่อให้เกิดความกระจ่างอีกก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ทางสภาการหนังสือพิมพ์ฯพร้อมที่จะไปจัดเวทีชี้แจงให้แต่ละภูมิภาคต่อไป เพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติต่าง ๆ พร้อมทั้งรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นมาประสานในการแก้ไขต่อ พร้อมกันนี้ทางตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพจะได้เร่งประสานกับกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อร่วมทำความเข้าใจและเสนอแนะให้การเปลี่ยนผ่านการรับจดแจ้งการพิมพ์เกิดขึ้นโดยเร็วและมีปัญหาและผลกระทบน้อยที่สุด
{mospagebreak } page1 of 2

24 ข้อข้องใจไขปัญหากม.ใหม่
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.  2550

1.กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังไปขอจดแจ้งไม่ได้

มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ประกาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 2 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์  ทั้งนี้กฎหมายจะบังคับใช้ได้จริงต้องมีกฎกระทรวง เป็นเรื่องที่ว่าด้วยขั้นตอนการทำงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้ลงนามรับรองในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ (หมายเหตุ-ล่าสุดกฎกระทรวงนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551)
2.ทำไมยังต้องยื่นจดแจ้ง เพราะเท่ากับขออนุญาต กลายเป็นเสรีภาพกำมะลอหรือไม่

เสรีภาพคู่ไปกับความรับผิดชอบ เพราะหากทุกคนสามารถออกหนังสือพิมพ์อย่างเสรีภาพ โดยไม่ต้องมีรายละเอียดใด ๆ อาจมีผู้ไม่หวังดี ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์   ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการไปจดแจ้งก่อนออกหนังสือพิมพ์ แต่เจ้าหน้าที่รับจดแจ้งไม่มีสิทธิ์ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต
3.ในพ.ร.บ.จดแจ้งฯ ไม่ระบุวันที่เริ่มทำการตีพิมพ์หลังจากที่ได้รับจดแจ้งแล้ว เปิดช่องให้คนยื่นจองหัวหนังสือไว้หาประโยชน์

ขณะนี้สำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่รับจดแจ้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล และสำนักงานศิลปากรเขตสำหรับต่างจังหวัด ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานหอสมุดแห่งชาติจะต้องกำหนดระเบียบขั้นตอนมารองรับการจดแจ้งการพิมพ์ต่อไป
4.การขอเลขมาตรฐานสากล (ISBN) จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ตามมาตรา 8 (3) จะต้องปฏิบัติอย่างไร 

ขณะนี้ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติมีระเบียบในการออกหมายเลขมาตรฐานสากลอยู่แล้ว แต่ระเบียบที่สอดคล้องกับกฎหมายการพิมพ์คงต้องออกระเบียบใหม่ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีระเบียบใหม่ออกมา ก็ให้ใช้ระเบียบเดิมที่ปฏิบัติอยู่
5.ก่อนที่พ.ร.บ.จดแจ้งฯการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จะมีผลบังคับใช้ มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับที่ออกไปโดยไม่ได้ขอจดแจ้งใด ๆ  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะช่วยประสานกระทรวงวัฒนธรรม ขอผ่อนปรนในระยะเริ่มต้นให้จดแจ้งย้อนหลังได้หรือไม่

ไม่สามารถทำได้ เพราะหนังสือพิมพ์ที่ออกไปก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายรองรับ มีข้อแนะนำว่าให้รีบไปติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรเขตที่รับผิดชอบ หรือหอสมุดแห่งชาติ เพื่อแสดงความจำนงมายื่นจดแจ้งไว้ก่อน
6.หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ระบุในการขอจดแจ้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงสถานที่พิมพ์ การเปลี่ยนแปลงกำหนดออกของหนังสือพิมพ์ หรือ ๆ ต้องปฏิบัติอย่างไร และการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายทุครั้งด้วยหรือไม่

การเปลี่ยนขนาดของหนังสือพิมพ์ไม่ต้องไปแจ้ง เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่หากเปลี่ยนแปลงรายการ เช่น เปลี่ยนเจ้าของ ชื่อหนังสือพิมพ์ วัตถุประสงค์ ระยะเวลาการออกหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนภาษา ที่ตั้งโรงพิมพ์ จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน และไม่เสียค่าใช้จ่ายอีก นอกจากการขอจดแจ้งครั้งแรกที่มีค่าธรรมเนียมการจดแจ้ง 5,000 บาท ซึ่งเดิมผู้แทนองค์กรหนังสือพิมพ์เสนอรัฐบาลกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้งเพียง 1,000 บาท

7.หนังสือพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ก่อนที่พ.ร.บ.จดแจ้งฯจะบังคับใช้ แต่งดเว้นการออกหนังสือพิมพ์ไประยะหนึ่ง ถ้ากลับมาออกใหม่จะถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับจดแจ้งแล้วหรือไม่
 

หากใบอนุญาตยังไม่ถูกเพิกถอนถือว่าเป็นการจดแจ้งแล้ว ตามที่ได้ระบุไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 28 และมาตรา 29 ของพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ทั้งนี้ การจะเพิกถอนใบอนุญาตในการออกหนังสือพิมพ์เป็นคำสั่งทางปกครอง หากผู้ออกคำสั่งไม่แจ้งคำสั่งให้ผู้รับคำสั่งทราบตามนั้น ในทางกฎหมายถือว่าไม่มีผล
8.ทะเบียนที่ขอไว้เดิม เมื่อจะยกมาสู่การจดแจ้งต้องปฏิบัติอย่างไร และจะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่า ทะเบียนที่ขอไว้โอนมาสู่การจดแจ้งแล้วหรือยัง
หากปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484  ถือว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ด้วย แต่ถ้าหากว่าเดิมเป็นการออกเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตต้องไปจดแจ้งใหม่
9.ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มีระยะเวลาของการเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อมีการถ่ายโอนมาสู่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 แล้ว จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่า ใบอนุญาตถูกเพิกถอนไปแล้วหรือไม่

ขณะนี้ยังไม่มีการโอนทะเบียนกัน เพราะหน่วยงานต้องรอความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือคำสั่ง
สำนักนายกฯที่จะออกมาบังคับใช้ ระหว่างนี้ให้รีบไปที่จดทะเบียนไว้เดิม เพื่อขอดูว่าหนังสือพิมพ์ยังสามารถตีพิมพ์ได้หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วหรือไม่ หากถูกเพิกถอนไปแล้วเนื่องมาจากสาเหตุอะไร
10.ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อที่สถานีตำรวจก่อนที่ พ.ร.บ.จดแจ้งฯใหม่นี้จะประกาศบังคับใช้ แล้วทางตำรวจให้ส่งเป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบ โดยไม่มีเอกสารแสดงความจำนงขอจดแจ้ง สามารถนับเป็นการจดแจ้งได้เลยหรือไม่

การแสดงความจำนงขอจดแจ้งโดยไม่มีเอกสารถือเป็นความบกพร่องของผู้แสดงความจำนง เพราะฉะนั้น เมื่อติดต่อขอทำธุรกรรมใด ๆ ต้องมีเอกสารการรับรองจากเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ยื่นจดแจ้งแล้ว กรณีนี้ถือว่ายังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์เดิม จึงไม่เข้าข่ายตามบทเฉพาะกาล ต้องไปยื่นขอจดแจ้งใหม่
11.มาตรา 11 ระบุว่า ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาที่พิมพ์เผยแพร่ในราชอาณาจักรต้องจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งขัดแย้งกับบทลงโทษที่ไม่ได้ระบุบทลงโทษมาตรา 11 ไว้ ดังนั้นหากไม่มีการจดแจ้งตามมาตรา 11 แสดงว่าไม่มีความผิดใช่หรือไม่

การฝ่าฝืนมาตรา 11 ไม่ได้ระบุโทษเอาไว้ แต่ในมาตรา 25 ระบุว่าผู้ใดออกหนังสือพิมพ์โดยยังไม่ได้รับจดแจ้งตามมาตรา 11 หรือรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ แล้วเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของ กิจการหนังสือพิมพ์ โดยฝ่าฝืนมาตรา 7 มาตรา 15 หรือมาตรา 16 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
12.ระหว่างที่กฎกระทรวงยังไม่ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันแก้ไขรายละเอียดบางเรื่องในกฎกระทรวงที่จะออก เช่น ลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้ง

การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎกระทรวงนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ว่าเมื่อมีการแก้ไขแล้ว จะทำให้ดีขึ้นหรือว่าแย่ลงกว่าเดิม เพราะการจะออกกฎกระมรวงหรือแก้ไขแต่ละอย่างนั้น จากประสบการณ์พบว่าเมื่อเสนอไปหนึ่งอย่างจะมีการพ่วงแก้ไขเรื่องอื่น ๆ ที่พวกเราไม่ต้องการเข้าไปด้วย และตอนนี้เป็นที่รู้กันว่า บรรยากาศเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อในช่วงนี้เป็นอย่างไร ควรรอให้กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับไปอีกสักพักแล้วค่อยดำเนินการจะดีกว่า
13. หากมีชื่อหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว สามารถไปขอจดแจ้งชื่อเพื่อออกหนังสือพิมพ์เพิ่มได้อีกหรือไม่

สามารถทำได้ เพราะ ไม่มีข้อห้ามในกฎหมาย
14.ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ได้นิยามศัพท์ไว้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งตามคำนิยามศัพท์ของ พ.ร.บ.ใหม่ หลุดพ้นจากความผิดในทางอาญาด้วยหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเก่าหรือกฎหมายใหม่ บรรณาธิการต้องรับผิดชอบ จากบทวิเคราะห์ศัพท์ระบุว่า บรรณาธิการหมายถึง บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหา หรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย ส่วนผู้ประพันธ์นั้นอยู่ที่โจทก์ ว่าจะนำสืบให้ศาลเห็นได้หรือไม่ว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ และ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความผิดจริง
15.หากนักการเมืองเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ด้วย จะแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย

ในขณะที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ ควรเปลี่ยนชื่อเจ้าของออกจากหนังสือพิมพ์ แล้วตั้งคนอื่นทำหน้าแทนก่อน และให้รีบจัดการเรื่องการถือหุ้นให้เรียบร้อย เพื่อแสดงว่านักการเมืองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์แล้ว เมื่อมีกระบวนการทางกฎหมายแล้วจึงมาทำเรื่องให้ถูกต้อง
16.มาตรา 16 การห้ามชาวต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 70 ในกิจการหนังสือพิมพ์ หากหนังสือพิมพ์ที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกินร้อยละ 70 เป็นชาวต่างชาติจะต้องแก้ไขอย่างไร

รัฐธรรมนูญมาตรา 45 ระบุว่า เจ้าของกิจการหรือสื่อมวลชนอื่น ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย คำว่า “บุคคลสัญชาติไทย” ระบุในมาตรา 16 ของพ.ร.บ.จดแจ้งฯว่า นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทยนั้น คือต้องเป็นคนไทยจริงๆ ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 หากคนไทยถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 70 ถือว่าเป็นกิจการของคนต่างด้าว นอกจากนี้ยังได้ควบคุมถึงกรรมการ ผู้มีอำนาจสั่งการด้วยว่า กรรมการจะต้องเป็นคนไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกิจการนั้น เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของอยู่ควรมีการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้น
17.หนังสือพิมพ์ที่ออกมาก่อนที่ พ.ร.บ.จดแจ้งฯจะมีผลบังคับใช้นั้น จะต้องหยุดดำเนินการเพื่อรอให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย หรือว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร

หนังสือพิมพ์ที่ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไปขอจดแจ้งต้องเสี่ยงดูเองว่าจะมีผลอย่างไร แต่หากเมื่อใดที่มีเจ้าหน้าที่รับจดแจ้งแล้ว ขอให้รีบดำเนินการจดแจ้งเลย
18.หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดต้องไปจดแจ้งที่สำนักศิลปากรเขต หรือที่วัฒนธรรมจังหวัด

ตามกฎกระทรวงระบุว่าให้ไปจดที่สำนักศิลปากรเขตต่าง ๆ   แต่เวลานี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการโอนอำนาจกันได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์จะได้รีบไปหารือกับกระทรวงวัฒนธรรมในเร็ว ๆ นี้
19.ในมาตรา 25 ระบุว่า เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับจดแจ้งตามมาตรา 11 หรือรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ของการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของ กิจการหนังสือพิมพ์ แล้วได้เป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของ กิจการหนังสือพิมพ์ โดยฝ่าฝืนมาตรา 7 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครเป็นคู่ความ ฝ่ายนายทะเบียนหรือสื่อด้วยกัน

พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับจดแจ้งในฐานะนายทะเบียน
20.การแจ้งยกเลิกกิจการหนังสือพิมพ์นั้นหากเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียชีวิต ใครจะเป็นผู้ไปแจ้งยกเลิกแทน และหากไม่มีการแจ้งยกเลิกจะมีโทษถึงทายาทด้วยหรือไม่

การไม่แจ้งยกเลิกกิจการเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่มีโทษถึงผู้สืบสกุล ส่วนผู้ที่สามารถแจ้งยกเลกการพิมพ์ได้นอกจากเจ้าของหนังสือพิมพ์ คือ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการ
21. มาตรา 12 (4) ชื่อและที่ตั่งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ หากหนังสือพิมพ์ระบุแต่เพียง “เจ้าของหนังสือพิมพ์” โดยไม่ได้ระบุว่า “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” ถือว่ามีความผิดหรือไม่ และต่อจากนี้จะต้องระบุชื่อเต็มคือ “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” หรือไม่

มาตรา 12 (4) ชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เป็นที่รู้กันว่า “เจ้าของ” คือ” เจ้าของกิจการ” เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า “เจ้าของหนังสือพิมพ์” ไม่น่าจะมีความความผิด
22.การจดแจ้งกับกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการตรวจสอบประวัติ เหมือนกับการจดแจ้งกับตำรวจสันติบาลซึ่งใช้เวลานานหรือไม่

รายละเอียดในทางปฏิบัติอยู่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนด ซึ่งเข้าใจว่ายังไม่มีรายละเอียดเหมือนกันว่าต้องมีอะไรบ้าง ส่วนเรื่องเงื่อนเวลานั้น กฎหมายกำหนดว่าให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้ผู้ยื่นจดโดยไม่ชักช้า คำว่า “ไม่ชักช้า” ตามที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกิจการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กำหนดไว้คือ 15 วัน หากล่าช้าก็มีศาลปกครองเป็นที่พึ่ง
23. เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเราสามารถไปให้ตำรวจสอบประวัติก่อน จากนั้นจึงค่อยยื่นจดแจ้งได้หรือไม่ 

ได้ เพราะการขอให้ตำรวจรับรองประวัติให้ เป็นการลดขั้นตอนการตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ในการขอจดแจ้ง แต่ในรายละเอียดการขอจดแจ้งก็ไม่ระบุเงื่อนไขว่าต้องให้มีการรับรองประวัติแต่อย่างใด

24.เนื้อหาในหมวด 1 สิ่งตีพิมพ์ มาตรา 8 และมาตรา 9 ระบุว่า ให้ผู้พิมพ์ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา 8 จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายในสามสิบวัน นับแต่วันเผยแพร่ จะมีการบังคับหนังสือพิมพ์ด้วยหรือไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุให้หนังสือพิมพ์ต้องส่งหนังสือพิมพ์ให้สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ได้มีการแยกหมวดไว้อย่างชัดเจนแล้ว หมวดที่ 1 สิ่งพิมพ์ขอให้ปฏิบัติตามนี้ ส่วนหนังสือพิมพ์มีข้อยกเว้นไม่ต้องส่งหนังสือพิมพ์ให้สำนักหอสมุดแห่งชาติสถานที่รับจดแจ้งการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัด
{mospagebreak } page1 of 2

สถานที่รับจดแจ้งการพิมพ์

สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ รหัสไปรษณีย์ 10300
โทรศัพท์ 0-2281-5212,0-281-5313
www.nlt.go.th
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1.กรุงเทพมหานคร
2.นนทบุรี
3.ปทุมธานี
4.นครปฐม
5.สมุทรสาคร
6.สมุทรสงคราม
7.สมุทรปราการ

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
ถนนไกรเพชร  ตำบลหน้าเมือง  อำเภอเมือง
จังหวัดราชบุรี  รหัสไปรษณีย์ 70000
โทรศัพท์:  032-323226-7 โทรสาร: 032-323226-7
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดราชบุรี
2. จังหวัดเพชรบุรี
3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี
ถนนมาลัยแมน  ตำบลรั้วใหญ่  อำเภอเมือง
จังหวัดสุพรรณบุรี  รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์:  035-555281,035-545466-7  โทรสาร: 035-545466
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดสุพรรณบุรี
2. จังหวัดกาญจนบุรี
สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา
ถนนคลองท่อ  ตำบลประตูชัย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  รหัสไปรษณีย์ 10300
โทรศัพท์:  035-242501  โทรสาร: 035-242448
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. จังหวัดอ่างทอง
3. จังหวัดสิงห์บุรี
4. จังหวัดสระบุรี
5. จังหวัดนครนายก

สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี
ถนนพระยากำจัด  ตำบลท่าหิน  อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี  รหัสไปรษณีย์ 15000
โทรศัพท์:  036-413779  โทรสาร: 036-412510
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดลพบุรี
2. จังหวัดนครสวรรค์
3. จังหวัดชัยนาท
4. จังหวัดอุทัยธานี
5. จังหวัดเพชรบูรณ์

สำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
ตำบลหน้าเมือง  อำเภอเมือง
จังหวัดปราจีนบุรี  รหัสไปรษณีย์ 25000
โทรศัพท์:  037-212610 โทรสาร: 037-212610
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดปราจีนบุรี
2. จังหวัดสระแก้ว
3. จังหวัดฉะเชิงเทรา
4. จังหวัดชลบุรี
5. จังหวัดระยอง
6. จังหวัดจันทบุรี
7. จังหวัดตราด
สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย
ถนนสายเมืองเก่า-ดอนโก  ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย  รหัสไปรษณีย์ 64210
โทรศัพท์:  055-633456,055-697365 โทรสาร: 055-697365#11
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดสุโขทัย
2. จังหวัดพิษณุโลก
3. จังหวัดตาก
4. จังหวัดกำแพงเพชร
5. จังหวัดพิจิตร
6. จังหวัดอุตรดิตถ์

สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน
ถนนผากอง  ตำบลในเวียง  อำเภอเมือง
จังหวัดน่าน  รหัสไปรษณีย์ 55000
โทรศัพท์:  054-711160 โทรสาร: 054-711160
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดน่าน
2. จังหวัดแพร่
3. จังหวัดลำปาง
4. จังหวัดพะเยา

สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่
ถนนซุปเปอร์ไฮร์เวย์  ตำบลช้างเผือก  อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่  รหัสไปรษณีย์ 50300
โทรศัพท์:  053-222262 โทรสาร: 053-409072
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดเชียงใหม่
2. จังหวัดลำพูน
3. จังหวัดเชียงราย
4. จังหวัดแม่ฮ่องสอน

สำนักศิลปกรที่ 9 ขอนแก่น
ถนนกสิกรทุ่งสร้าง  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง
จังหวัดขอนแก่น  รหัสไปรษณีย์ 40000
โทรศัพท์:  043-242129, 043-337629
โทรสาร: 043-242129,043-337629
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดขอนแก่น
2. จังหวัดอุดรธานี
3. จังหวัดหนองคาย
4. จังหวัดเลย
5. จังหวัดหนองบัวลำพู
6. จังหวัดมหาสารคาม

สำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด
ถนนบ้านท่านคร  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง
จังหวัดร้อยเอ็ด  รหัสไปรษณีย์ 45000
โทรศัพท์:  043-513752 โทรสาร: 042-513530
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดร้อยเอ็ด
2. จังหวัดกาฬสินธุ์
3. จังหวัดนครพนม
4. จังหวัดสกลนคร

สำนักศิลปากรที่11  อุบลราชธานี
ถนนเลี่ยงเมือง  ตำบลแจระแม  อำเภอเมือง
จังหวัดอุบลราชธานี  รหัสไปรษณีย์ 34000
โทรศัพท์:  045-312846 โทรสาร: 045-312845
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดอุบลราชธานี
2. จังหวัดศรีสะเกษ
3. จังหวัดอำนาจเจริญ
4. จังหวัดมุกดาหาร
5. จังหวัดยโสธร

สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา
ถนนพิมาย-ชุมพวง  ตำบลในเมือง  อำเภอพิมาย
จังหวัดนครราชสีมา  รหัสไปรษณีย์ 30110
โทรศัพท์:  044-471518,044-285096 โทรสาร: 044-471518
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดนครราชสีมา
2. จังหวัดชัยภูมิ
3. จังหวัดบุรีรัมย์
4. จังหวัดสุรินทร์

สำนักศิลปากรที่ 13  สงขลา
ตำบลวัดขนุน  อำเภอสิงหนคร
จังหวัดสงขลา  รหัสไปรษณีย์ 90330
โทรศัพท์:  074-483461 โทรสาร: 074-483460
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดสงขลา
2. จังหวัดสตูล
3. จังหวัดยะลา
4. จังหวัดปัตตานี
5. จังหวัดนราธิวาส

สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
ถนนราชดำเนิน  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง
จังหวัดนครศรีธรรมราช  รหัสไปรษณีย์ 80000
โทรศัพท์:  075-356458,075-324479 โทรสาร: 075-324479
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. จังหวัดชุมพร
3. จังหวัดพัทลุง
4. จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต
ตำบลศรีสุนทร  อำเภอถลาง
จังหวัดภูเก็ต  รหัสไปรษณีย์ 83110
โทรศัพท์:  076-311025 โทรสาร: 076-311025
สำหรับการจดแจ้งการพิมพ์ในเขตจังหวัด
1. จังหวัดภูเก็ต
2. จังหวัดพังงา
3. จังหวัดกระบี่
4. จังหวัดตรัง
5. จังหวัดระนอง
{mospagebreak } page1 of 2

มติสภาการนสพ.ยกหนังสือเตือน”ไทยรัฐ”
วางกรอบรับปรัชญาการรับผิดชอบตนเอง

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นชอบข้อเสนออนุกรรมการอุทธรณ์ ให้ยกคำวินิจฉัยคณะอนุฯเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ให้แจ้งไทยรัฐระมัดระวังการเสนอภาพข่าว หลังผู้ถูกร้องอุทธรณ์ว่า การเตือนเท่ากับว่าละเมิดจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ “บรรยงค์”ชี้ วัตถุประสงค์ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯเพื่อการควบคุมกันเอง มีพื้นฐานจากปรัชญาของการแสดงความรับผิดชอบด้วยตนเอง ซึ่ง”ไทยรัฐ”ได้ขอโทษประชาชนผ่านบทบก.แสดงความรับผิดชอบสูงสุดแล้ว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มกรคม 2551 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 ครั้งที่ 1/ 2551 โดยมีนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งได้พิจารณาวาระต่าง ๆ และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแต่ละชุด ตลอดจนภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพหนังสือพิมพ์โดยรวม

นายอรุณ ลอตระกูล ประธานอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่องที่น่าสนใจ คือ กรณีสมาชิกสมาคมนักข่าว และประชาชน ร้องเรียนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ตีพิมพ์ภาพข่าวนักศึกษาสถาบันเทคโนโลพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ปราจีนบุรี ได้รับรางวัลชนะการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยมีการลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นักศึกษาอัญเชิญมาอยู่ในภาพออกไป เป็นการผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างร้ายแรง ซึ่งเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์มาโดยลำดับ

โดยหลังจากที่คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการ โดยแจ้งข้อร้องเรียนให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อร้องเรียน นายไพฑูรย์ สุนทร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและพนักงานทุกคนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะไว้เหนือเกล้า คำกล่าวหาของผู้ร้องเรียนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ดังที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ชี้แจงทำความเข้าใจตามบทบรรณาธิการชื่อ”จงรักภักดียิ่งชีวิต” ในฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 ชี้แจงเหตุผลที่ลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออกเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เนื่องจากนักศึกษาผู้อัญเชิญภาพพระบรมฉายาลักษณ์นั่งคุกเข่า จึงทำให้มีบุคคลอื่นยืนสูงกว่า ซึ่งไทยรัฐมีหลักปฎิบัติที่ยึดถือมาตลอดว่า การปรากฎภาพพระบรมฉายาลักษณ์ต้องอยู่ในลักษณะที่เหมาะสม

นายอรุณกล่าวต่อว่า จากนั้นคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ได้ส่งคำวินิจฉัยลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ส่งไปให้ผู้ร้องและผู้ถูกต้อง โดยชี้ว่า การที่ไทยรัฐลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออกทำให้รูปภาพที่ลงในหนังสือพิมพ์คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุและขั้นตอนการลำดับภาพและความสำคัญตามที่ปรากฏในคำชี้แจงแล้ว กรณีนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุหรือข้อเท็จจริงที่แสดงว่า ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนจริยธรรมทางวิชาชีพแต่อย่างใด จึงมีมติเสนอกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แจ้งให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐระมัดระวังการเสนอภาพข่าวในลักษณะเช่นนี้ในโอกาสต่อไป

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์นี้ ทางฝ่ายผู้ร้องไม่ติดใจอุทธรณ์หรือทักท้วง แต่ทางผู้ถูกร้องคือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ส่งคำอุทธรณ์กลับมายังคณะอนุกรรมการพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์  เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 โดยขอคัดค้านใน 4 ประเด็นคือ 1.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐยึดถือเป็นหลักปฏิบัติมานานที่จะไม่ให้มีภาพบุคคลอื่นอยู่สูงกว่าพระบรมฉายาลักษณ์  2.เรื่องหลักวิชาที่ต้องยึดถือข้อเท็จจริงนั้น ประเด็นสำคัญของภาพนี้คือ นักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินทางกลับถึงประเทศไทย หลังได้รับรางวัลชนะการแข่งขันระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา การที่บุคคลในกลุ่มจะถือสิ่งใดมาด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเห็นว่าไม่สมควรอาจตัดทิ้งเสียก็ได้

3.การตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพทิ้งเป็นการไม่ยึดถือข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างเคร่งครัด เช่น กรณีโทรทัศน์ทำภาพมัวบังผู้แสดงที่สูบบุหรี่หรือสูบสุรา การนำสกรีนปิดทับภาพคนตายที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับดำเนินการอยู่เพื่อไม่ให้เห็นภาพอุจาด หรือการรายงานข่าวเมื่อมีการด่าทอด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ หนังสือพิมพ์ก็ตัดคำด่าทอนั้นทิ้งไป ถือเป็นการไม่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนหรือไม่

4.การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปิดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่หากตีพิมพ์ลงไปจะเป็นการไม่เหมาะสม เพราะมีบุคคลอื่นอยู่สูงกว่าพระบรมฉายาลักษณ์ จึงน่าจะได้รับคำชมเชยว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีความรับผิดชอบอย่างยิ่ง มากกว่าจะถูกแจ้งให้”ระมัดระวังการเสนอภาพข่าวเช่นนี้ในโอกาสต่อไป” ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการตักเตือนจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพราะตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กำหนดให้มีการตักเตือนสมาชิกได้เฉพาะแต่ในกรณีที่มีการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์เท่านั้น

ประธานอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่ฯ กล่าวอีกว่า ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาทำอุทธรณ์ โดยคณะกรรมการอุทธรณ์ต้องไม่ใช่กรรมการที่อยู่ในคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์  ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 มีมติแต่งตั้งรศ.ดร.จุมพล รอดคำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ และนายอรุณ ลอตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เป็นคณะกรรมการพิจารณาคำอุทธรณ์

คณะกรรมการอุทธรณ์ ได้เสนอสรุปผลการพิจารณาอุทธรณ์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2551 นี้ โดยคณะกรรมการอุทธรณ์ทั้ง 3 คนได้ประชุมทันทีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 แล้วมีมติให้เสนอคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยกคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ เรื่อง จริยธรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550

ทั้งนี้ คณะกรรมการอุทธรณ์เห็นว่า ตามวัตถุประสงค์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 7(1) ส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ให้มีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยมีอำนาจและหน้าที่ตามข้อ 8(1) ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิก ให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่น ซึ่งตราขึ้นตามธรรมนูญนี้ หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด นั่นคือ ทั้งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่เป็นไปในลักษณะการควบคุมกันเอง  ปรัชญาที่ใช้ในการควบคุมกันเองจึงควรมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ คือการที่สมาชิกแสดงความรับผิดชอบด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอให้สภาการหนังสือพิมพ์เป็นผู้วินิจฉัย โดยในกรณีนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้แสดงความรับผิดชอบไปก่อนหน้าแล้ว

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ และคณะกรรมการอุทธรณ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ตีพิมพ์บท บรรณาธิการ เรื่อง”จงรักภักดียิ่งชีวิต” ในฉบับวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2550 หลังจากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนและเริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “หากการกระทำดั้งกล่าว นำไปสู่ความรู้สึกที่ท่านผู้อ่านเห็นว่าไม่สมควรและไม่เหมาะสม เราก็ใคร่กราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้” เป็นการแสดงความรับผิดชอบสูงสุดในด้านจริยธรรมของผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นการขอโทษคนไทยทั้งประเทศผ่านบทบรรณาธิการ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำของหนังสือพิมพ์ทั้งองค์กร รวมทั้งน่าจะสูงกว่าการที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกหนังสือเตือนให้ผู้ถูกร้องเรียนใช้ความระมัดระวัง

“เมื่อยอมรับวัตถุประสงค์ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เรื่องการควบคุมกันเอง และยอมรับปรัชญาที่ว่า การแสดงความรับผิดชอบของบรรณาธิการ เป็นเรื่องที่สูงสุดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ถูกร้องเรียนใช้ความระมัดระวัง ทั้งกรณีนี้ยังเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดบรรทัดฐานชัดเจน และเป็นกรอบแนวทางแก่องค์กรสมาชิกในการแสดงความรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ   พอสมควรแล้ว ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้ยกคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ เรื่องจริยธรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 รวมทั้งให้ใช้กรอบแนวทางดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคำร้องเรียนกรณีอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกันด้วย

อนึ่ง ในการพิจารณากรณีดังกล่าว กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่มีส่วนได้เสีย ทั้งฝ่ายผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องเรียน ได้ขอออกจากที่ประชุมกระทั่งมีมติเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานเลขานุการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะได้ทำหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้ผู้เกี่ยวข้องต่อไป

[/wptab]

[end_wptabset]