จริยธรรมสื่อกับการรายงานข่าว “ถ้ำหลวงฯ”

จริยธรรมสื่อกับการรายงานข่าว “ถ้ำหลวงฯ”

เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง

ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

ถูกตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งกับการรายงานของสื่อมวลชนว่า “จริยธรรม และจรรยาบรรณ” ของสื่อมวลชนมีมากน้อยแค่ไหนกับการทำงานรายงานข่าวสถานการณ์สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่ 13 คน ที่เข้าไปติดในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังภาพข่าวปรากฏในสื่อมวลชนทุกสำนักทั้งไทยและต่างชาติ ประชาชนในฐานะผู้เสพข่าว หรือผู้รับสาร ต่างเฝ้าจับตามองสื่ออยู่ทุกวินาทีในการรายงานสถานการณ์ ที่จะมีความเคลื่อนไหวหรือรายงานสดอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าวิชาชีพทุกสาขาจะมีจริยธรรมของตัวเองเป็นที่ตั้งในการปฏิบัติงาน สื่อมวลชนก็ไม่ต่างกัน ทุกคนได้เรียนวิชานี้มากันทุกคน แต่การนำไปปรับใช้ในสถานการณ์จริงก็จะแตกต่างกันไป มีคำบอกเล่าของหลายคนเคยบอกว่า “ตอนนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อฯ ได้” ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง แต่การที่จะเป็น “สื่อที่มีจริยธรรมที่ดีได้ทุกคน” ก็คงจะเป็นคำตอบที่ยากว่าจริงหรือไม่ เพราะหากผู้ที่ผ่านการเรียนวิชาจริยธรรม ก็คงจะต้องรู้หลักวิชานี้ และก็จะมีสำนึกของตัวเองอยู่ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ฉะนั้นคำพูดที่ว่า “ตอนนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อฯ ได้” ควรต้องกลับมาคิดทบทวนกันดีๆ ว่ามีจริงหรือไม่ หากจะเปรียบเทียบในคำนี้ ผมคิดว่าก็เหมือนกับนักข่าวอยากเป็นวิศวกรแต่ไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างรากฐานการสร้างตึก แล้วจะไปทำได้อย่างไร?

“สงครามข่าวสาร” ในยุคที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะทีวีดิจิตอลที่มีมากกว่า 20 ช่อง หนังสือพิมพ์หัวหลัก    หัวรอง เว็บไซต์ข่าว หรือแม้แต่ผู้ที่ตั้งเป็นเพจรายงานสถานการณ์ของตัวเองที่ไม่ต้องสังกัดใคร ที่ปัจจุบันเดินไปกระทบไหล่ใครแทบจะพูดได้ว่า วันนี้เดินชนนักข่าวมา ก็อาจจะพูดได้… ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงฯ ผมคิดว่าน้อยคนนักที่จะไม่ได้ดูข่าวนี้ หรือไม่ได้ดูเลยก็ไม่น่าจะมี เพราะด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่า สื่อยัดเยียดข่าวนี้ให้ทุกคนได้ดู ก็เพราะช่วงนั้นข่าวอื่นแทบไม่มีเลย ถึงแม้จะมีก็ไม่สามารถเบียดข่าวนี้ให้หลุดไปได้

ปฏิบัติการค้นหา ช่วยเหลือทีมหมูป่า ในครั้งนี้ มีทั้งคนที่เป็นสื่อมวลชน และไม่ใช่สื่อมวลชนมาร่วมรายงานสถานการณ์อยู่เกือบตลอดเวลา แต่บางครั้งการถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า “สื่อมวลชนมีจริยธรรม” ในการนำเสนอข่าวสารหรือไม่ บางครั้งภาพข่าว หรือภาพที่ปรากฏก็อาจจะไม่ใช่ภาพที่ออกมาจากสื่อมวลชนเอง แต่บางครั้งก็ออกมาจากสื่อมวลชนเสียเอง นั่นก็ทำให้เห็นได้ว่าบางสื่อนั้นก็ไม่ได้เคารพจริยธรรมของตัวเองที่มีอยู่เท่าที่ควร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็อาจเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งประสบการณ์ในการทำข่าวของผู้สื่อข่าว ว่าเนื้อหา หรือภาพเหล่านี้ควรส่งไปให้กองบรรณาธิการพิจารณาหรือไม่ หรือแม้กระทั่งตอนรายงานสดผ่านทางออนไลน์ ที่บางครั้งเพียงได้ยินข้อความการประกาศของเจ้าหน้าที่เรื่องการเรียกระดมพล แล้วนำเสนอไปเลยโดยยังไม่ทราบเหตุผลของการเรียกรวมพลนั้น อาจทำให้เกิดการตื่นตูมของผู้รับสารได้ เพราะเหตุการณ์ในขณะนั้นถือว่าเป็นช่วงที่อ่อนไหวกับความรู้สึก และข่าวลือปากต่อปากไปได้ หรือแม้กระทั่งที่พวกเรามักจะติดปากพูดว่า “การขายข่าวเรียกคนดู” ประเด็นนี้ก็ถือว่าไม่เคารพในจริยธรรมของตัวเอง

ที่น่ากลัวอีกอย่างคือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ “สื่อมวลชน” แล้วมาร่วมรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี่หละ ที่บางครั้งการนำเสนอบางอย่างแล้วส่งต่อในสังคมออนไลน์ ก็ทำให้สะท้อนกลับมาและถูกเหมารวมจากคนที่เสพข่าวว่าเป็นการทำของสื่อมวลชน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ถ้าถามว่า สื่อมวลชนมีจริยธรรมมากน้อยเพียงใดในการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าประชาชนที่เฝ้าติดตามอยู่เป็นผู้สะท้อนความรู้สึกเหล่านั้นให้กับแต่ละสำนักได้รับทราบอยู่แล้ว เพราะสมัยนี้การรายงานสดทุกช่องทาง มักจะมีสื่อออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และก็จะมีเสียงสะท้อนความรู้สึกส่งต่อให้ทีมงานได้รับทราบได้ทันทีว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับการทำงานในครั้งนี้ และในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ที่ท้าทายการทำงานของสื่อมวลชนอีกครั้ง บทเรียนหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงฯ สื่อมวลชนที่เคยเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ หรือสื่อมวลชนรุ่นหลัง ที่เห็นก็ควรนำมาปรับแก้ หรือปรับใช้ในการทำงานครั้งต่อไปได้เป็นอย่างดี

“ว่าด้วยจริยธรรมสื่อมวลชน” ที่ประชาชนที่ติดตามดูข่าวแล้วตั้งคำถามมากมาย จนมีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป  สอบถามถึงความพึงพอใจการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในช่องไหนมากที่สุด  และช่องไหนแย่ที่สุด.. ไทยพีบีเอสถูกโหวตให้เป็นสื่อมวลชนที่รายงานข่าวที่ถูกใจมากที่สุด

สำหรับแนวทางในการทำงานของไทยพีบีเอส ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยกให้ว่ารายงานข่าวถูกใจที่สุด น่าจะเป็นมาจากเรื่องแรกก็คือ ไทยพีบีเอส เป็นสื่อสารธารณะ ที่สามารถยกผังรายการปกติได้ทุกเมื่อ และรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ของสาธารณชน ทำให้ในช่วงเหตุการณ์ถ้ำหลวงฯ นั้น ไทยพีบีเอสล้มผังรายการ และจัดรายการรายงานสถานการณ์สดอยู่เกือบตลอดเวลา สลับกับการรายงานสดจากผู้สื่อข่าวของพื้นที่ ไม่มีโฆษณาคั่น ทำให้ผู้ที่ติดตามเปิดติดตามไว้ตลอด

เช่นเดียวกับการรายงานของไทยพีบีเอส ที่จะเน้นใช้ข้อมูลจากนักวิชาการ หรือ การรายงานสดจากสิ่งที่เห็น และสิ่งที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของผู้อำนวยการศูนย์ฯ นอกจากนั้นยังมีการตั้งจุดรายงานสดที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหว และงานนี้มีผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ในการทำข่าวในภาวะวิกฤตลงพื้นที่กันทั้งหมด ทำให้ผู้สื่อข่าวแต่ละคนนั้นจะสามารถรับรู้และประเมินสถานการณ์ และที่สำคัญคือการปฏิบัติตามกฎของเจ้าหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถทำได้แค่ไหน

ข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ” ส.ส.ท. ยึดมั่นจริยธรรมอย่างเคร่งครัดในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานทุกระดับของ ส.ส.ท. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพที่ให้ความสำคัญกับความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน

ข้อบังคับด้านจริยธรรมยังครอบคลุมถึง “การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก” นี่คือข้อบังคับจริยธรรมของไทยพีบีเอส ที่องค์กรได้กำหนดไว้ ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้สื่อข่าว แต่หมายรวมถึงพนักงานทุกคน ที่จะต้องพึงระลึกถึงข้อบังคับนี้เสมอเวลาปฏิบัติงาน ซึ่งไทยพีบีเอส เป็นองค์กรทางด้านสื่อ ที่ต้องมีข้อปฏิบัติด้านการทำข่าว และในเหตุการณ์นี้ก็เห็นได้ชัดถึงการปฏิบัติงานของทีมข่าว

“จริยธรรมของไทยพีบีเอส” กับการรายงานข่าวสถานการณ์ในลักษณะนี้ ผู้สื่อข่าวทุกคนรู้ขอบเขตการทำงานอยู่เสมอว่าสามารถทำอะไร ได้แค่ไหน ในช่วงแรกๆ ที่สถานการณ์ยังไม่ถึงจุดพีค สื่อมวลชนที่เข้าไปติดตามรายงานข่าว ต่างคนต้องใช้วิธีของตัวเองในการหาข่าวอยู่ตลอด เพราะการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ยังไม่มี พวกเราทำได้เพียงการรายงานสถานการณ์เท่าที่ตาเห็นว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำอะไรบ้าง สิ่งของที่กองทิ้งไว้มีอะไร รวมทั้งการไปพูดคุยกับญาติของทั้ง 13 คน ที่เฝ้ารอการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่ที่หน้าถ้ำหลวงฯ

แน่นอนว่าในช่วงแรก ทุกสื่อก็ต้องไปสอบถามกับญาติว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดได้อย่างไร ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็สามารถทำได้ตามปกติ เพราะทุกคนก็พร้อมที่จะอธิบายกับสื่อที่เกิดขึ้นว่า วันนั้นลูกของตัวเองไปซ้อมฟุตบอล ก่อนที่จะไปเที่ยวกันต่อตามประสาเด็กๆ แต่พอเหตุการณ์ล่วงเลยมา 2-3 วัน ผู้ปกครองทุกคนก็เริ่มใจไม่ดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอุปสรรคต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากเข้าไปอีก คำถามของสื่อที่มักจะไปรบกวนจิตใจของผู้ปกครองก็คือ “รู้สึกอย่างไร?” ซึ่งแน่นอนว่าคำถามนี้ทุกคนก็น่าจะรู้คำตอบ ยิ่งคนที่เฝ้าติดตามข่าวก็มักจะถามต่อไปว่า “จะถามทำไม?”

ผมเองก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ญาติในช่วงวันแรกๆ ที่เข้าไปถึงเช่นกัน แต่จะเลี่ยงคำถามข้างต้น แต่จะถามถึงการเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เราได้เฝ้ามองการทำงานอยู่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ญาติก็เห็นว่าทุกคนทำงานด้วยความเข้มแข็ง และช่วยเหลืออย่างเต็มที่แม้ว่าจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมายก็ตาม แต่แน่นอนว่าในช่วงนั้นไม่ว่าจะยิงด้วยคำถามไหน ญาติเกือบทุกคนมีน้ำตาคลอออกมาตลอด จนทำให้เราต้องรีบตัดบทออกไป

จนช่วงหลังๆ ยิ่งมีสื่อเข้ามาในพื้นที่เยอะขึ้น ก็จะมีแต่คนมุ่งเข้าไปหาที่ญาติก่อน จนทำให้ทางศูนย์อำนวยการฯ ต้องจัดทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มาคอยเฝ้าเยียวยาจิตใจ และให้คำปรึกษากำลังใจกับทุกครอบครัว พร้อมกับติดป้ายอยู่ที่หน้าเต้นท์ที่พักของญาติว่า “ห้ามสัมภาษณ์” ซึ่งทุกคนก็ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่

“สื่อรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่” อีกหนึ่งเรื่องที่ประชาชนเฝ้ามองดูข่าวที่สะท้อนเช่นกัน ต้องบอกก่อนว่าด้วยสภาพพื้นที่ที่ไม่กว้างนัก อีกทั้งกองทัพสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรวมๆ แล้วมีมากกว่า 1,000 คน เนื่องจากแต่ละสำนักส่งทีมข่าวลงพื้นที่กันไม่ต่ำกว่า 10 คน มีเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะส่งมาไม่มากนัก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็เต็มไปหมด เกือบครึ่งสนามฟุตบอลที่เจ้าหน้าที่กันพื้นที่ให้สื่อรวมตัวกันอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อที่เข้ามาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จนในที่สุดวันที่จะนำตัวทั้ง 13 คน ออกมาจากถ้ำ ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ออกจากพื้นที่ ไปอยู่ที่ อบต. โป่งผา ซึ่งพวกเราก็ยอมรับเงื่อนไขนั้นเพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สะดวกมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะนำเสนอข้อมูลให้กับสาธารณชนได้รับรู้  มันก็เป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปโดยปริยาย ซึ่งแต่ละสถานีต้องประเมินกันเองว่า ขอบเขตไหนที่จะสามารถทำได้ และไม่ละเมิดสิทธิของหลายๆ คน นั่นคืออีกหนึ่งจรรยาบรรณสื่อนั่นเอง

“ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดนับล้านคำ” วลีเด็ดที่ได้ยินกันมาเนิ่นนาน เหตุการณ์นี้ก็เช่นกันที่อยู่ที่ความเฉลียวฉลาดในการนำเสนอภาพออกสู่สาธารณชนว่าภาพไหนควรไม่ควร แน่นอนว่าการช่วยเหลือในครั้งนี้ทุกคนอยากเห็นภาพตั้งแต่เจ้าหน้าที่แบกแปลออกมาจากปากถ้ำ แต่หากลองเปรียบเทียบภาพเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นจากดอยผาหมีไปส่งที่โรงพยาบาล เพียงแค่เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นผ่านศีรษะไป ภาพนี้ก็สามารถแทนคำพูดนับล้านคำได้เช่นกันว่าขณะนี้ หนึ่งในสมาชิกทีมหมู่ป่าฯ ถูกช่วยเหลือออกมาแล้ว โดยที่ภาพนี้ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

“ร่มกันเสือก” แต่ด้วยความอยากได้ภาพของสื่อหลายคนต่างก็พากันไปรอเก็บภาพตามลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทุกที่ เพราะคาดว่าจุดนี้จะเป็นจุดที่เห็นเด็กๆ แน่นอน จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็นำร่มมากางปิดการทำงานระหว่างเคลื่อนย้ายจนในที่สุดก็ไม่เห็นอะไร ซึ่งเมื่อภาพเหล่านี้ออกสู่สาธารณ ประชาชนที่ดูอยู่ก็ขนานนามร่มคันนี้ว่า “ร่มกันเสือก” และก็อาจจะบอกเป็นนัยๆ กับสื่อบางสำนักว่า ไม่ต้องซูมขนาดนั้นก็ได้..

หากเปรียบเทียบการสื่อสารระหว่างสื่อมวลชนกับประชาชนในช่วง 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอยู่ตลอดเวลา จากก่อนหน้าที่การสื่อสารจะเป็นทางเดียว ขยับเป็นการสื่อสารสองทางผ่านการส่ง SMS หรือ จดหมายเข้าไปที่สถานี จนมาถึงปัจจุบันทันด่วน ในการคอมเมนต์ติชมจากผู้ชมได้ทันทีในขณะที่รายงานออกอากาศสด นั่นก็เป็นผลดีที่ทำให้สื่อต้องระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลมากยิ่งขึ้น เพราะหากยิ่งทำในสิ่งที่ประชาชนติติง..สุดท้ายสื่อที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นและเข้าถึงได้ง่าย พวกเขาก็เลือกที่จะไม่เข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน

ความท้าทายในการรายงานข่าวท่ามกลางกระจกที่เป็นผู้รับชมสะท้อนกลับมาทันทีถึงผู้ส่งสารนั้น ยิ่งทำให้การทำงานของผู้สื่อข่าวต้องพึงระลึกถึง “จริยธรรม” เป็นอย่างมาก เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ถือเป็นบทเรียนของการทำงานสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง ที่ช่องทางการสื่อสารเป็นตัวแปรสำคัญอย่างมากในการส่งสารให้กับผู้รับสาร เพราะด้วยความรวดเร็ว หากมีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็จะกระจายสู่สาธารณชนได้อย่างรวดเร็ว.

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ