ข่าวออนไลน์: ต้นทางการปกป้องสิทธิเด็ก*

ข่าวออนไลน์: ต้นทางการปกป้องสิทธิเด็ก*

ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล

มหาวิทยาลัยบูรพา

 

แม้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC: Convention on the Rights of the Child) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2532 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2533 โดยมีบทบัญญัติ 54 ข้อ ภายใต้หลักสิทธิขั้นพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิที่ในการมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันตั้งแต่ พ.ศ. 2535 (Unicef, 2018) และมีการประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและรองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ได้แก่ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อก็ได้มีการวางกรอบจริยธรรมวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องบทบาทหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กของสื่อมวลชนยังเป็นสิ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการวิจัยหลายชิ้นสะท้อนปรากฏการณ์การละเมิดสิทธิเด็กผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เช่น การศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์เนื้อหาข่าวด้านสิทธิเด็กในหนังสือพิมพ์ไทยรายวัน (ปี 2555)” โดยธาม เชื้อสถาปนศิริ พิริยา เพชร์แก้ว และนพวรรณ ต่อแสงศรี (2555) พบว่า หนังสือพิมพ์ไทยระดับประเทศ (ส่วนกลาง) ที่ตีพิมพ์ในปี 2555 มีการเสนอข่าวละเมิดเด็กในลักษณะต่างๆ ได้แก่                 1) การละเมิดอัตลักษณ์ตัวบุคคลเด็ก 2) การละเมิดด้านภาษาเร้าอารมณ์ การใช้สรรพนามประณาม ตีตรา      เหมารวม และ 3) การละเมิดด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การนำเด็กมาแถลงข่าว เป็นต้น เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่อง “การนำเสนอข่าวและการละเมิดสิทธิเด็กในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ไทย (2555)” โดยธาตรี ใต้ฟ้าพูล (2555) ที่พบว่าการละเมิดสิทธิเด็กในสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ที่มากที่สุด คือ การเปิดเผยเอกลักษณ์บุคคล การละเมิดความเป็นส่วนตัว และการใช้ภาษาเร้าอารมณ์

ในยุคที่สื่อมวลชนนำเสนอเนื้อหาข่าวในโลกของสื่อเก่า เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนอาจถืออำนาจเต็มในการทำหน้าที่นายทวารข่าวสาร (Gatekeeper) ผูกขาดการเลือกนำเสนอข่าว แต่เมื่อสื่อมวลชนทุกแขนงต่างข้ามภูมิทัศน์จากสื่อเก่าเข้าสู่โลกของสื่อใหม่โดยมีทั้งเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์   (สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล และ จักรกฤษ เพิ่มพูล: 2557, 206) รูปแบบของการสื่อสารในสื่อใหม่ (New Media) ได้กระจายศูนย์อำนาจการสื่อสาร (Decentralization) ให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งสาร (Sender) ได้อย่างกว้างขวาง (R.K. Logan อ้างถึงใน กาญจนา แก้วเทพและนิคม ชัยขุนพล: 2555, 46-51) สมาชิกในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ในยุคสื่อเก่าเคยเป็นเพียงผู้รับสาร (Receiver) ได้ปรับบทบาทของตนเองมาเป็นผู้ส่งสารทันทีเมื่อแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Feedback) ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันข้อมูล (Share) การแสดงความคิดเห็น (Comment) หรือการแสดงความรู้สึก (Like)

ในการศึกษาเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กผ่านทางสื่อเฟซบุ๊กของสำนักข่าวออนไลน์”(ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล, 2561: 505) พบว่า เมื่อศึกษาถึงปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อข่าวเด็ก ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับสารเป็นผู้ส่งสารได้มีส่วนร่วมในการแสดงความรู้สึกที่มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 10,261 รายการต่อข่าวหนึ่งชิ้น หรือในข่าวที่ได้รับความสนใจมากอาจสูงถึง 433,000 รายการ ขณะที่การแสดงความคิดเห็นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 204 รายการต่อข่าวหนึ่งชิ้น หรือในข่าวที่ได้รับความสนใจมากอาจมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นถึง 17,000 ราย ที่สำคัญในการแบ่งปันข้อมูลมีค่าเฉลี่ย 382.05 รายการ หรือหากได้รับความสนใจสูงจะมียอดการแบ่งปันถึง 61,000 รายการ ซึ่งหมายถึงข่าวเด็กจะถูกกระจายต่อไปอีกอย่างกว้างขวางโดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก และสะท้อนว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนยังมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากประชาชนสูง

พร้อมกันนี้ การวิจัยดังกล่าวยังได้ศึกษาถึงลักษณะการนำเสนอข่าวเด็กทางสื่อเฟซบุ๊กของสำนักข่าวออนไลน์ว่ามีเนื้อหาละเมิดหรือเป็นไปตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งใช้เกณฑ์การแสดงบทบาทหน้าที่ที่พึงปรารถนา 6 ประการ ได้แก่ 1) เนื้อหาคำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก 2) เนื้อหาไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กโดยไม่เป็นธรรม 3) เนื้อหาไม่ทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก 4) เนื้อหาไม่มีการชักจูง ส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร/ไม่กระทำผิด/ไม่กระทำการลามกอนาจาร 5) เนื้อหาไม่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่จะทำให้เด็กเกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์ และ 6) เนื้อหาไม่ระบุตัวตนเด็กหรือผู้ปกครองในกรณีที่ตกเป็นจำเลยโดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กจำนวน 1,617 ข่าว จากแฟนเพจสำนักข่าวออนไลน์ที่มียอดผู้เข้าชมเฟซบุ๊กสูงสุดในประเทศไทย 3 อันดับแรก ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2560 พบว่า การนำเสนอข่าวเด็กทางเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวออนไลน์ยอดนิยมทั้ง 3 แห่ง มีทิศทางการนำเสนอข่าวที่สะท้อนบทบาทหน้าที่ที่ไม่พึงปรารถนาค่อนข้างสูง โดยประเด็นที่ละเมิดสิทธิเด็กสูงสุดคือเรื่องของการทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก คิดเป็น 48.24% ของการนำเสนอข่าวทั้งหมด รองลงมาคือการเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก 43.97% และอันดับที่ 3 คือ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่จะทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์ คิดเป็น 3.40%

ด้านการนำเสนอข่าวที่แสดงบทบาทหน้าที่ที่พึงปรารถนา พบว่า แฟนเพจสำนักข่าวออนไลน์มีการเสนอข่าวเด็กที่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก 13.23% ของการนำเสนอข่าวทั้งหมด รองลงมาคือการไม่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่จะทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์ 12.93% และอันดับที่ 3 คือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กโดยไม่เป็นธรรม 0.99% นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข่าวที่ไม่สามารถระบุทิศทางของบทบาทหน้าที่ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ได้ โดยมักเป็นข่าวที่ไม่สามารถถอดรหัสหรือตีความได้ว่าเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กหรือไม่ 1.42% ของการนำเสนอข่าวทั้งหมด ข่าวที่ไม่มีนัยเชิงบวกหรือเชิงลบต่อเด็ก 1.30% และข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องสิทธิเด็ก 0.99%

จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่พบในการวิจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายิ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กมีอำนาจในการกระจายข้อมูลข่าวสารได้เพียงคลิกนิ้วมือมากขึ้นเท่าไร การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในฐานะที่เป็น “ต้นทาง”      และกลไกในการปกป้องสิทธิเด็กตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้นเพราะถ้า “ข่าว” ละเมิดสิทธิเด็กเสียเองแล้ว การที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แบ่งปันหรือแชร์ข่าวนั้นออกไป รวมถึงเข้ามาแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก ก็ย่อมเป็นการผลิตซ้ำการละเมิดสิทธิเด็กไปด้วย

ดังนั้น การตระหนักและมีหลักปฏิบัติในการรายงานข่าวเด็กที่แม่นยำจึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของสื่อมวลชน โดยข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559 ได้ระบุถึงการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กไว้ในข้อ 13 ว่า “หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างในสังคม” (สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, 2014)

เช่นเดียวกับองค์การยูนิเซฟก็ได้มีการได้กำหนดหลักการในการรายงานข่าวเด็ก (Unicef, 2018) ที่ไม่ยากต่อการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ คือ 1) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของเด็กในทุกสถานการณ์               2) ให้หลักประกันต่อสิทธิด้านต่างๆ ของเด็กเป็นพิเศษ เช่น สิทธิในความป็นส่วนตัว สิทธิในการไม่เปิดเผยข้อมูล สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการรับฟัง สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ สิทธิในการปกป้องจากผลกระทบ 3) ปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกสถานการณ์ 4) เมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นด้วย 5) ปรึกษาผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กเรื่องผลกระทบทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่อาจเกิดจากการรายงานข่าว 6)อย่านำเสนอเรื่องหรือภาพที่อาจทำให้เด็ก ญาติ หรือเพื่อนๆ ของเด็กต้องตกอยู่ในอันตราย แม้จะปกปิดตัวตนของเด็กในข่าวแล้วก็ตาม

*หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กผ่านทางสื่อเฟซบุ๊กของสำนักข่าวออนไลน์” โดยการสนับสนุนจากสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ