จรรยาบรรณสื่อมวลชน: กรณีภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่า

จรรยาบรรณสื่อมวลชน: กรณีภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่า

 

สิริยา จิตพิมลมาศ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

“ลูกชาย ได้มาเข้าฝันบ้างไหม…คุณแม่”

นักข่าวได้ถามแม่ของหนึ่งในเด็กทีมหมูป่าผู้เคราะห์ร้ายติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ. เชียงราย

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงจรรยาบรรณและจริยธรรมสื่อมวลชน โดยนักข่าวภาคสนามท่านหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ให้สัมภาษณ์ส่วนบุคคลกับผู้เขียนว่าสถานการณ์ความกดดันในตอนนั้นทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เนื่องจากทีมหมูป่าได้ติดถ้ำหลวงล่วงเลยเข้าไปถึงวันที่ 10 มีทั้งข่าวลือมากมายและข้อมูลจากสายข่าวที่ไม่สู้ดีนัก ส่วนตัวแล้วนักข่าวภาคสนามท่านนี้เห็นว่าคำถามสัมภาษณ์นั้นไม่เหมาะสม แต่ก็ยังแสดงความเห็นใจและเข้าใจเหตุการณ์นี้มากกว่าประชาชนที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด จากเหตุการณ์ที่เกริ่นไว้เบื้องต้นสามารถชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดซึ่งเกิดจากความสิ้นหวังหมดหนทาง (Desperation) และถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นได้ว่ามีส่วนจากความเชื่อในโชคลางอีกด้วย

เหตุการณ์นี้จึงนำมาสู่คำถามว่าเวลาสื่อมวลชนลงปฏิบัติงานในช่วงวิกฤตการณ์ ซึ่งมีความกดดันรายล้อม จะสามารถนำความสิ้นหวังหมดหนทาง (Desperation) และความเชื่อมาเป็นสองปัจจัยหลักในการวิเคราะห์ข้อมูลและปฏิบัติการนั้นควรจะกลายเป็นมาตรฐานจรรยาบรรณใหม่ที่สังคมควรจะยอมรับได้หรือไม่?

 

ความสิ้นหวังหมดหนทาง (Desperation) มาตรฐานใหม่ของจรรยาบรรณสื่อมวลชนไทย?

Bivins (2004) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Mixed Media: Moral Distinctions in Advertising, Public Relations, and Journalism ซึ่งเชื่อมั่นและศรัทธาในปรัชญาของอริสโตเติล เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ได้ให้ความเห็นว่า จรรยาบรรณสื่อที่พอดีและเหมาะสมกับการนำไปใช้มากที่สุดคือ จรรยาบรรณที่ผ่านการแนะนำและชี้แนะแล้วเท่านั้น อย่างเช่น การขอคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า ในขณะที่ Wyatt (2014) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชา Communication and Journalism ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วิจารณ์หนังสือของ Bivins ว่าขาดการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งจากตัวผู้สื่อข่าวเองจนไปถึงโครงสร้างองค์กรจากภายใน ทั้ง ๆ ที่ Bivins เองก็ได้เขียนไว้ในบทนำของหนังสือแล้วว่า “อิทธิพลจากองค์กร โดยเฉพาะในวงการข่าว สามารถมีได้อย่างมหาศาล” อิทธิพลดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าวได้โดยสิ้นเชิง โดยมีอิทธิพลมากพอที่จะสร้างความปรองดองหรือส่งเสริมความขัดแย้งจนไปถึงการริเริ่มสงคราม (Umeoguและ Ifeoma, 2012)  โดยในประเทศไทยก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยการออกใบอนุณาตในการประกอบอาชีพสื่อมวลชนที่ควบคุมกำกับโดยรัฐ  แต่ก็ติดว่าถ้าหากภาครัฐเป็นผู้ตรวจสอบและเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว อิสรภาพของสื่อก็จะหมดไป ในขณะที่ ดร. เกษม ศิริสัมพันธ์ (2008) ได้เน้นย้ำว่า ไม่ว่าอย่างไรสื่อก็ควรรักษามาตรฐานจรรยาบรรณสื่อหรือ “คุณภาพของข่าว” ที่นอกจากจะต้องเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ยังต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

สำหรับในกรณีของถ้ำหลวงซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่อยู่ในประเภทวิกฤตและภัยพิบัติ และไม่ได้ถูกพบเจอบ่อยครั้งจึงกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก สร้างความกดดันมหาศาลให้สื่อมวลชน เพราะทั้งโลกคอยจับจ้องความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การกู้ภัยที่ถ้ำหลวงตลอดเวลา สำนักข่าวไทยและต่างชาติมารอทำข่าวหน้าถ้ำหลวงจำนวนมาก อีกทั้งสำนักข่าวในประเทศเองที่ต้องการออกอากาศความเคลื่อนไหว 8 ครั้งต่อวัน ในขณะที่รัฐบาลก็เข้ามาควบคุมเข้มงวดกับสื่อมวลชนให้นักข่าวรอการแถลงการณ์ตอนเย็นเท่านั้น เพราะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นความลับ ความกดดันและการแข่งขันจึงเกิดขึ้นอย่างมหาศาลจึงมาตกที่นักข่าวภาคสนาม ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นการเข้าไปสัมภาษณ์บริเวณภายในถ้ำที่เป็นพื้นที่ที่สงวนไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน หรือการส่ง     โดรนเข้าไปถ่ายทำข่าวในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาต เหตุการณ์นี้ถูกตำหนิโดยคุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร         ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ (ศอร.) ในขณะนั้น ว่าเป็นการกระทำที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ละเมิดกฎระเบียบ สร้างความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่

ความเสี่ยงเองมีหลายระดับ Coombs (2007) ได้กล่าวว่าเหตุการณ์วิกฤตนั้นจะมีลักษณะ 3 อย่าง       นั่นก็คือ 1. ความเสี่ยงกับบุคคลส่วนรวม 2. ความเสี่ยงในการเสียหายทางการเงิน 3. ความเสี่ยงในการศูนย์เสียชื่อเสียง ซึ่งเหตุการณ์กู้ภัยครั้งนี้มีทั้ง 3 ระดับ นั่นก็คือความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่กู้ภัย การช่วยเหลือทางการเงิน อุปกรณ์ และอาสาสมัครจากคนทุกสารทิศ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียงของประเทศถ้าเกิดความผิดพลาดประการใดประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนควรจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และในครั้งนี้ควรนำจรรยาบรรณและจริยธรรมขั้นสูงสุดมาใช้ ไม่ใช่ใช้ความสิ้นหวังหมดหนทาง (Desperation)

คุณชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อช่อง TNN 24 ว่าการทำข่าวภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่าเต็มไปด้วยความรู้สึกที่มีความอ่อนไหว และทุกๆ องค์กรต้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพราะสถานการณ์เป็นสถานการณ์วิกฤต ซึ่งถ้าเป็นนักข่าวก็ไม่ควรหวั่นไหว และควรที่จะส่งผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์เข้าไปแทน รวมไปถึงกองบรรณาธิการที่ควรจะเข้ามากำกับดูแลให้เข้มงวด สั่งการการรายงานข่าว พิธีกรและคำถาม ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวต่อความรู้สึก

อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนหลายๆ องค์กรก็สามารถรับมือกับความกดดันดังกล่าวด้วยการปรับทิศทางการนำเสนอข่าว โดยคุณพลอยศจี ฤทธิศิลป์ ผู้สื่อข่าวของช่องไทยรัฐ ได้รับมือความกดดันจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะต้องออกข่าวถึง 8 ครั้งต่อวัน ก็ได้แก้ไขปัญหาโดยเล่นข่าวในเชิงตามติดชีวิตความเป็นอยู่ของอาสาสมัครที่ทำงานอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างเช่นอาสาสมัคไทยที่ทำอาหารไทยรสจัดจ้านให้กับนักดำน้ำเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นนานขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับน้ำที่เย็นเฉียบในถ้ำ หรืออาสาสมัครที่มาช่วยทำอาหารให้กับนักดำน้ำอังกฤษ และออสเตรเลียที่มีการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

สื่อต่างชาติเองก็มีเรื่องจรรยาบรรณสื่อเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน ในความเป็นจริงแล้ว ศอร. ไม่ได้อนุญาตให้มีการเข้าสัมภาษณ์ผู้ปกครองของเด็กๆ ทีมหมูป่า สื่อต่างชาติเองถึงแม้จะได้รับความกดดันน้อยกว่า แต่ก็ได้มีการละเมิด และเข้าไปสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัว ซึ่งสื่อไทยเองยังไม่กล้าทำ

 

ว่าด้วยเรื่องของความเชื่อ

นอกจากความรู้สึกความสิ้นหวังหมดหนทาง (Desperate) แล้วยังมีเรื่องความเชื่อที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก โดยนักข่าวได้ถามแม่ของหนึ่งในเด็กทีมหมูป่าผู้เคราะห์ร้ายติดถ้ำหลวงว่า “ลูกชาย ได้มาเข้าฝันบ้างไหม…คุณแม่” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องความเชื่อเป็นพื้นฐาน เพราะว่าเชื่อในเรื่องวิญญาณ และเชื่อว่าวิญญาณก็สามารถมาเข้าฝันได้เช่นกัน

กรณีนี้คุณจักร์กฤษ เพิ่มพูล คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ได้ให้ความเห็นว่าการเอาความเชื่อมาผูกกับการนำเสนอข่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องรายงานข่าวให้ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน มีความละเอียดอ่อนในฐานะคนไทยมากกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวกับความเชื่อและทำให้เกิดความสับสนในสังคมยังมีอีกมากมาย ดังเช่นปรากฏการณ์การรวมตัวกันของร่างทรงและหมอดูจำนวนมากอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมานั่งร้องไห้ ผีเข้าอยู่หน้าถ้ำ แล้วยังมีข่าวจากสื่อกระแสรองบนอินเทอร์เน็ต โดยยอดค้นหาใน Google ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2561 ภายใต้คำค้น (keyword) ว่า “คำทำนาย ทีมหมูป่า” มีจำนวนมากถึง 204,000 ผลการค้นหา โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นวีดีโอถึง 45,400 คลิป และเมื่อภารกิจกู้ภัยสำเร็จ แม้แต่เพื่อนของผู้เขียนที่เรียนจบสูงจากประเทศอังกฤษ ไม่ได้เขียนขอบคุณหน่วยค้นหาผู้สูญหายในเฟซบุ๊กแต่อย่างใด แต่กลับเขียนว่า “หมอดู ก. แม่นจริงๆ” เรียกยอดไลค์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จากกรณีนี้จะเห็นได้ว่าคนมีความเชื่อที่ฝังรากลึกและยากที่จะแก้ไข

AC Nielsen ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในปี 2016 ซึ่งบ่งชี้ว่าช่องข่าวท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา จะออกอากาศเรื่องอาชญากรรม ภัยพิบัติ และสงครามร้อยละ 53.8 ในขณะที่ร้อยละ 15.5 ทุ่มไปกับการโฆษณา ตามมาด้วยรายการอื่นๆ อีกร้อยละ 15.5 และประกาศจากทางการอีกร้อยละ 0.7  โดย Zoe Boag บรรณาธิการ นิตยสาร The New Philosopher สัญชาติออสเตรเลียได้ชี้ว่าปัจจุบันนักเรียนทั่วโลกใช้เวลา 900 ช.ม.           กับการศึกษาที่โรงเรียน ในขณะเดียวกันใช้เวลารับสื่อมากถึง 2,500 ช.ม. ต่อปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในสื่อก็คือสิ่งที่เด็กเรียนรู้และเลียนแบบ มันน่าเศร้าที่คิดว่าไม่ว่าพ่อกับแม่จะทุ่มเทดูแลลูก และส่งเข้าโรงเรียนอย่างดีที่สุดอย่างไร เด็กก็ยังจะเรียนรู้จากสื่ออยู่ดี

ฉะนั้นการนำเสนอข่าวทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยนักข่าวมืออาชีพที่ผลิตสื่อนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก    และบุคคลทั่วไปที่ผลิตเนื้อหาด้วยตนเองบนโซเชี่ยลมีเดีย ทุกๆ คนควรจะตระหนักถึงผลกระทบ เพราะการทำสื่อที่มีจรรยาบรรณและจริยธรรมนั้น เปรียบเสมือนการสร้างอนาคตของชาติให้เจริญรุ่งเรืองในอนาคตนั่นเอง

 

Reference

A.C. Neilson. 2016. The Three Pillars of Media Education – Sex, Beer, and Murder. The New

Philosopher, Are you what you learn? Issue. pp.14-15.

Boag, Z. 2016. #12 Education. The New Philosopher. Are You What you Learn? Issue. pp. 3

Jitpimolmard. [Telephone conversation] 26 August 2018, 11:00.

Patacamin, C. 2018. Media and Crisis News Report. Interview by TNN 24. [television broadcast]

TNN 24, 29 June 2018.

Ruttusilp, P. 2018. Interview on Journalistic Ethics: Case Study of Thai Cave Rescue. Interviewed

by Siriya

Siebert, F. S., Peterson T., & Schramm, W. 1970. The Theories of the Press. Translated by K.

Sirisampan., TU Press.

Umeogu, B. & Ifeoma, O. 2012. Crisis Journalism and World Peace. Scientific Research, Advances in Applied

Sociology, pp. 155-158.

Wyatt, W. N. 2014. The Ethics of Journalism: Individual, Institutional and Cultural Influences. New York: I.B.

Tauris & Co.

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ