บทเรียน “ถ้ำหลวง” โอกาสยกระดับวงการสื่อไทย

บทเรียน “ถ้ำหลวง” โอกาสยกระดับวงการสื่อไทย

 

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

“สำหรับผมมองว่าการจัดการสื่อครั้งนี้มีระบบมากที่สุดครั้งหนึ่งในกระบวนการจัดการสื่อแม้ว่าทำให้สื่อมวลชนลำบากมาก …. แต่น่ายินดีที่ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนรวมทั้งสื่อมวลชน”

ขออนุญาตยกคำพูดของ “พลตรีวุฒิไชย อิศระ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในฐานะแพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 3 ที่พูดบนเวทีเสวนา หัวข้อ “ถอดบทเรียนสุขภาพ จากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวง” ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561

เหตุการณ์ถ้ำหลวงเป็นการสะท้อนให้เห็นปริมาณของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติมากเป็นประวัติการณ์ หลายร้อยชีวิตที่ต้องถูกกันออกจากพื้นที่หน้าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เท่ากับว่าแม้จำนวนสื่อจะมีจำนวนมาก จะมีความวุ่นวายเพียงใด สุดท้าย “สื่อมวลชน” ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ก่อนที่ความวุ่นวายจะมลายหายไป ย้อนไปก่อนหน้านั้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันแรกที่สังคมรับทราบข่าวการหายตัวในถ้ำของทีมหมูป่า 13 ชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว เพื่อให้ท่านเข้าใจว่าทำไม จึงตั้งชื่อเรื่อง “บทเรียนถ้ำหลวงโอกาสยกระดับวงการสื่อไทย”

ช่วงแรกๆ ปริมาณสื่อมวลชนยังไม่มากมายนัก เพราะยังคิดว่าเป็นเพียงข่าวคนหาย 13 คนธรรมดา รวมถึงเจ้าหน้าที่ก็ยังประเมินไม่แน่ชัด กำลังจึงไม่ถูกระดมมามากมายเท่าไร ปัญหาจึงแทบจะไม่มีอะไร สื่อก็ทำหน้าที่รายงานข่าวตามปกติ เจ้าหน้าที่ก็ค้นหาตามวิธีปกติเช่นกัน

จากนั้นนานวันเข้าเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ก็ถูกระดมเข้าปฏิบัติภารกิจมากขึ้น เพราะเริ่มไม่ใช่แค่การค้นหาคนหายธรรมดา มันอาจจะกลายเป็นสาธารณภัยขนาดย่อมๆ แน่นอนว่าการขยับของเจ้าหน้าที่มันบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ว่ามันไม่ปกติแน่ๆ สื่อมวลชนจากส่วนกลางจากหลายสำนักจึงเสริมทีมเข้าไปในพื้นที่

เมื่อคนหมู่มากอยู่ในพื้นที่บนภูเขา ปัจจัยต่างๆ จึงเริ่มมีข้อจำกัดทั้งปัญหาสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต เกิดปัญหาพื้นที่หน้าถ้ำที่แคบลงไปถนัดตาเพราะมีจำนวนคนมากขึ้นทุกวัน ปัญหาของสภาพอากาศที่ฝนตกแทบทุกวันจนทำให้พื้นที่เละเทะเต็มไปด้วยโคลนและน้ำขัง

เพียงแค่ปัญหาที่กล่าวมา ถ้าสื่อมวลชนที่เข้าพื้นที่ไม่มีการเตรียมตัวมาอย่างดีย่อมเกิดปัญหาในเชิงกายภาพแน่นอน ทั้งปัญหาการรายงานข่าวที่ต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ ปัญหาสุขภาพที่ต้องอยู่กับโคลนและน้ำขังตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่

เท่าที่ผมได้รับข้อมูลจากทีมข่าวภาคสนามที่ลงพื้นที่ทำข่าวถ้ำหลวง เรียกว่า “น้อยมาก” ที่ทีมข่าวจะมีโอกาสในการเตรียมตัวก่อนลงพื้นที่บางสำนัก บรรณาธิการหรือหัวหน้างาน สั่งให้เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าโดยด่วนเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่ บางคนดีหน่อยที่รู้ตัวล่วงหน้าช่วงเย็นว่ารุ่งขึ้นให้ลงพื้นที่ แต่บางคนรู้ล่วงหน้าไม่ถึงครึ่งวัน หรือไม่กี่ชั่วโมง ว่าต้องลงพื้นที่พรุ่งนี้ และบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ทำข่าวที่เกี่ยวกับภัยพิบัติหรือน้ำท่วม หรือข่าวที่ต้องสมบุกสมบันมาก่อน ก็ต้องไปเช่นกัน

งานแบบนี้เรียกว่า “หมายด่วน” คือ ทีมข่าวต้องรีบลงพื้นที่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าความรีบและการไม่มีประสบการณ์ของทีมข่าว ย่อมหมายถึงอะไรได้บ้าง 1. เสื้อผ้าที่เหมาะกับพื้นที่ข่าวแบบนี้ ต้องเตรียมเสื้อผ้าแบบไหนไป รองเท้าอะไรและต้องเตรียมไปกี่วัน 2. อุปกรณ์ที่ออฟฟิศจัดเตรียมให้เป็นการเฉพาะมีอะไรบ้าง เช่น เสื้อกันฝน วิทยุสื่อสาร (วอแดง) รองเท้าบูธ ชุดกันน้ำ

สำหรับในข้อ 1 ถ้าทีมข่าวมีประสบการณ์พอจะเดาได้ว่าต้องเตรียมเสื้อผ้า รองเท้าแบบไหน ยารักษาโรคอะไร อุปกรณ์เสริมอะไรที่ต้องติดไว้ในเป้เดินทาง หากไม่มีประสบการณ์ก็อาจจะเตรียมเสื้อผ้าทั่วไปตามมีตามเกิด และสุดท้ายก็จะไปพบว่าไม่เหมาะกับการทำข่าวในพื้นที่แบบนี้ ส่วนข้อ 2 บางออฟฟิศมีอุปกรณ์ให้ บางออฟฟิศไม่มีให้ ให้ไปตายเอาดาบหน้า คือ ถ้าเจอสภาพอะไรค่อยไปหาซื้อที่หน้างาน

สิ่งที่เหนือไปกว่าเรื่องเสื้อผ้า อุปกรณ์เสริมต่างๆ ก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง  แต่ปัจจัยที่ผลงานข่าวโชว์ในหน้าจอ หน้าสื่อ หน้าเว็บไซต์หรือแฟนเพจคือการรายงานข่าว ที่สื่อมวลชนบางส่วนถูกตำหนิว่า รายงานข่าวแบบดราม่า ไม่มีข้อมูลหรือเกินจริง ถามว่ามีไหมปัญหาแบบนี้ ตอบว่ามี แต่มุมมองผมเรียกร้องว่า อย่า    “เหมารวม” ว่าปัญหาเกิดจากทีมข่าวภาคสนามทั้งหมด แบบนั้นมันไม่แฟร์เท่าไหร่

“รายงานข่าวสดข่าวเช้า สายๆ เข้าเบรคกิ้งนิวส์ เที่ยงรายงานสดข่าวเที่ยง แล้วเข้าสดอีกทีข่าวเย็น   ถ้าไม่มีอะไรก็เฟซบุ๊กไลฟ์มา และถ้ามีอะไรก็แจ้งมาแล้วรายงานสดเลย” นี่คือคำบอกเล่าของทีมข่าวทีวีช่องหนึ่ง ที่กองบรรณาธิการมอบหมายภารกิจรายงานสด จนผมถามว่าแล้วเอาเวลาที่ไหนพักผ่อนและหาข้อมูลเพิ่มเติมล่ะ คำตอบก็คือ “ก็ข้างใน (ออฟฟิศ/กองบรรณาธิการ) สั่งมาแบบนี้ ขัดก็ไม่ได้ด้วย เพราะเขาวางรันดาวน์ไว้แล้ว แต่ทีมสนามก็มีสลับเวรกันรายงาน”

อีกเคส “มีน้องนักข่าวคนหนึ่ง เดินหาแหล่งข่าวไม่รู้จะทำประเด็นอะไร เดินไปเจอสัตวแพทย์ชื่อดังคนหนึ่งยืนที่เครื่องสูบน้ำ น้องเขาก็ไปถามสัตวแพทย์คนนั้นเรื่องแนวทางการสูบน้ำ โชคดีที่สัตวแพทย์คนนั้นแกรู้ทุกเรื่อง เลยตอบได้ แต่ถามว่ามันใช่ไหมที่ถามสัตวแพทย์เรื่องการสูบน้ำ แล้วก็มีหลายสื่อตามมาสัมภาษณ์  สัตวแพทย์คนนี้เรื่องการสูบน้ำต่อ”

คำบอกเล่านี้ เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ ที่นอกจากการกดดันจากกองบรรณาธิการในขณะที่นักข่าวอาจจะประสบการณ์น้อย จึงเป็นทางออกของทีมข่าวที่ต้องหาทางออกคือ ไปสัมภาษณ์ใครก็ได้

ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้บอกว่า กองบรรณาธิการหรือ ทีมข่าวภาคสนามจะเป็นสาเหตุของความผิดพลาด จนเปิดช่องให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์และกดดันให้สื่อต้องถอดบทเรียนกันเองในวงการ แต่หมายถึงโอกาสการนำมาเป็นกรณีศึกษาอย่างเป็นระบบร่วมกัน มันหมายถึงการหาโอกาสถอดบทเรียนหลายๆ วง เพื่อให้ได้คู่มือหรือตำราสักเล่มให้กับวิชาชีพของเราที่จะนำไปใช้ได้ในอนาคต

วงแรกเป็นการเชิญทีมข่าวภาคสนามมาเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำงาน เวทีที่สอง เวทีระดับหัวหน้าข่าว/บรรณาธิการ ที่มีอำนาจในการสั่งการ  เวทีที่สาม เป็นเวทีของนักวิชาการมาช่วยกันให้คำแนะนำและนำไปสู่ตำราการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาก่อนเข้าสู่สนามข่าว และอาจจะมีคำแนะนำให้กับกองบรรณาธิการ

เวทีที่สี่ อาจจะเป็นเวทีใหญ่ที่สุด คือ นำมุมมองจากทุกเวที มาเปิดเวทีที่ระดมหน่วยงานร่วมกับองค์กรสื่อ อย่างเช่น องค์กรวิชาชีพสื่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานความมั่นคง กสทช. กู้ภัย เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน ในการทำข่าวในสถานการณ์ภัยพิบัติ และอาจจะได้หลักสูตรการอบรมร่วมกันระหว่างนักข่าวกับหน่วยงานก็เป็นไปได้

หากได้อย่างน้อย 4 เวทีนี้ เชื่อว่าวิกฤติที่สังคมวิจารณ์การทำงานของสื่อในครั้งนี้ จะกลายเป็นโอกาสปฏิรูปที่จะช่วยยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชนไทย ในการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติและภัยพิบัติ ได้เป็นอย่างดี

 

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ