สิทธิส่วนบุคคลกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

สิทธิส่วนบุคคลกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชราภา เอื้ออมรวนิช

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

 

 

บทนำ

 สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีข้อมูลข่าวสารให้ผู้รับสารเลือกเปิดรับอย่างมากมาย และมีการนำเสนอกันอย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่าเป็นสังคมอุดมข่าวสาร สื่อมวลชนมีสิทธิ เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารได้อย่างเสรี ซึ่งหน้าที่หลักสำคัญของสื่อมวลชน คือ การให้ข้อมูลข่าวสาร (to inform) การให้การศึกษา (to educate) และการให้ความบันเทิง (to entertain) โดยวิชาชีพสื่อมวลชนถือเป็นวิชาชีพที่ได้รับสิทธิ เสรีภาพเป็นพิเศษจากทุกสังคมนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเชื่อกันว่า “เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน” (ศิริวรรณ อนันต์โท และสันทัด ทองรินทร์, 2559 : 4-5) แต่ทั้งนี้การมีเสรีภาพของสื่อก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่สื่อควรใช้เสรีภาพอย่างถูกต้องให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยไม่ทำร้ายสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้รับสารสามารถเลือกรับข่าวสารจากสื่อมวลชนที่ตนเองชื่นชอบผ่านช่องทางการนำเสนอข่าวที่หลากหลาย จึงส่งผลให้สื่อมวลชนต้องมีการปรับตัวเพื่อนำเสนอข่าวสารให้มีความน่าสนใจด้วยความรวดเร็ว เพื่อแย่งชิงพื้นที่การรับชมจากผู้รับสารให้เลือกรับข่าวสารจากสื่อของตน โดยรูปแบบการนำเสนอข่าวในปัจจุบันมีทั้งการนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงการนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อใหม่อย่างสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า สื่อดั้งเดิมต่างมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข่าวให้สอดคล้องกับความทันสมัยของเทคโนโลยี และพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารของผู้รับสารที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันในการนำเสนอข่าวสารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับสารที่มีการเปิดรับข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น

แต่ไม่ว่าสื่อมวลชนจะนำเสนอข่าวในรูปแบบใดก็ตาม หน้าที่หลักของสื่อมวลชนก็ยังต้องมีการคัดเลือกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อนำมารายงานเป็นข่าว โดยข่าว คือรายงานมิใช่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ข่าวจะต้องเป็นเรื่องราวที่มีการรายงานให้เราทราบ สาระสำคัญของข่าวต้องเป็นรายงานของเหตุการณ์และ / หรือสถานการณ์ที่ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเห็นพ้องกันว่าสำคัญและน่าสนใจพอที่ประชาชนควรหรือต้องรับรู้เหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้นๆ ตามหลักการประเมินคุณค่าข่าว (มาลี บุญศิริพันธ์, 2556, 121) โดยการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ได้ข้อมูลแล้วนำเสนอ สิ่งที่สื่อมวลชนพึงตระหนัก คือ ความรับผิดชอบในการสื่อข่าว กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีมาตรฐานในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสาร ความถูกต้อง ครบถ้วน และมีความสมดุล โดยจะต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงอย่างละเอียดรอบด้าน และอย่างที่ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบโดยพิจารณาดูบริบทที่เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้น สื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสิทธิส่วนบุคคลและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการรายงานข่าวสารข้อมูลต้องให้ความสำคัญและรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของปวงชนและต่อสังคม โดยต้องนำเสนอความจริงของเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กล่าวคือ จะต้องยึดมั่นในหลักการ หน้าที่ (Duty)  มีความรับผิดชอบ (Accountability) ภาระผูกพัน (Obligation) ความจริงและความถูกต้อง (Truth and Accuracy) ความยุติธรรม (Fairness) ความสมดุล (Balance) ความน่าเชื่อถือ (Credibility) วิชาชีพนิยม (Professionalism) โดยสื่อมวลชนจะต้องมีหน้าที่ในการเป็นสุนัขเฝ้ายาม (Watchdog) การเป็นนายทวารข่าวสาร (Gatekeeper) การเป็นผู้จัดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความน่าสนใจและมีคุณค่าต่อผู้รับสารมากน้อยเพียงไร สื่อมวลชนต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มีที่มาอย่างชัดเจน เป็นข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมานำเสนอ นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่เป็นกระจก (Mirror) ที่สะท้อนข้อเท็จจริงให้คนในสังคมรับรู้ว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อตักเตือนและกระตุ้นให้คนในสังคมเตรียมพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที (Goran&Karamarko, 2015, 141 ; นวลวรรณ   ดาระสวัสดิ์, 2540 อ้างถึงใน บุปผา บุญสมสุข, 2558, 116 ; McQuail, 2005 อ้างถึงใน Ravi, 2012, 307; กาญจนา แก้วเทพ, 2556, 94) แต่ทั้งนี้การเลือกนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ สื่อมวลชนต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นข่าวด้วย

 

สิทธิส่วนบุคคลกับการนำเสนอข่าวภายใต้คุณค่าข่าว      

สังคมในแต่ละวัน มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย การที่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจะได้รับความสนใจคัดเลือกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนไปยังสาธารณชนได้นั้น สื่อมวลชนจะต้องมีการประเมินคุณค่าของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ว่ามีคุณลักษณะสำคัญของข่าวมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะเลือกนำเสนอข่าวนั้น ประเด็นสำคัญในการพิจารณาคุณลักษณะสำคัญของข่าวนั้น จะต้องพิจารณาภายใต้มุมมองของการเป็นผู้รับข่าวสาร มิใช่ในบทบาทของการเป็นผู้ส่งสารแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะหน้าที่สำคัญของการเป็นสื่อมวลชนที่ดีนั้น คือ การรายงานข่าวที่ประชาชนอยากรู้ ควรรู้ และต้องรู้ โดยการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวนั้น จะต้องรายงานให้ผู้รับข่าวสารได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ภายใต้องค์ประกอบของคุณค่าข่าว ซึ่งประกอบไปด้วย ความรวดเร็ว (Immediacy) ความใกล้ชิด (Proximity) ความเด่น (Prominence) ความผิดปกติ (Unusualness) ความสนใจตามปุถุชนวิสัย (Human interest) ความขัดแย้ง (Conflict) ความลึกลับหรือมีเงื่อนงำ (Mystery / Suspense) ผลกระทบ (Consequence) ความก้าวหน้า (Progress) และ เพศ (Sex)

ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้น ประเด็นคุณค่าข่าวเป็นส่วนสำคัญที่สื่อมวลชนจะต้องมีการพิจารณาคัดเลือกข่าวที่มีคุณค่าข่าวมากที่สุดมานำเสนอแก่สาธารณชน โดยข่าวแต่ละข่าวที่เลือกนำเสนอนั้นอาจมีคุณค่าข่าวเพียงแค่ประการเดียว แต่เป็นคุณค่าข่าวที่สาธารณชนควรค่าแก่การรับรู้ หรืออาจเป็นข่าวที่มีคุณค่าข่าวหลายประการรวมกันอยู่ก็เป็นได้ ทั้งนี้การคัดเลือกข่าวมานำเสนอบนพื้นฐานคุณค่าข่าวนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างมาก คือ สิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าว ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในการรายงานข่าวที่มีการพูดถึงกันอยู่เสมอ

โดยการรายงานข่าวที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ถึงแม้บางเหตุการณ์จะมีคุณค่าข่าวที่ควรนำเสนอ แต่ข่าวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ด้วยรูปแบบการเขียน การเขียนเนื้อข่าวและความนำ การให้หัวข่าวหรือการใช้ภาพประกอบที่อาจเป็นการกระทำซ้ำความเจ็บปวดให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นข่าวได้ จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเด็นของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าวนี้ ส่งผลให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ออกมาร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 เพื่อให้สื่อมวลชนใช้เป็นแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าวโดยสิทธิส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายและจริยธรรม บ่อยครั้งที่ผู้สื่อข่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นำเสนอข่าวที่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลต่างๆ ในสังคมโดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลสาธารณะ โดยบุคคลสาธารณะ อาจเป็นบุคคลที่มีหน้าที่การงานที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในสังคม เช่น นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจชื่อดัง หรืออาจเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นักกีฬา ดารา นักแสดง นักร้อง ศิลปิน นายแบบ นางแบบ หรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี หรือผู้ต้องหา โดยเรื่องสิทธิส่วนบุคคล นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น เนื่องจากปัญหาการตีความว่า แค่ไหน เพียงใด ที่สื่อมวลชนจะนำเสนอได้ ซึ่งโดยหลักจริยธรรม บุคคลเหล่านั้นก็ยังได้รับความคุ้มครองการใช้ชีวิตส่วนตัว ดังนั้นสื่อมวลชนจะต้องแยกให้ออกระหว่างขอบเขตสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิในการรับรู้ของประชาชน และจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการคัดเลือก และรายงานข่าวด้วย (จักร์กฤษ เพิ่มพูล, 2556, 3 ;จักร์กฤษ เพิ่มพูล, 2554, 20 ;รัตนวดี นาควานิช, 2554, 52)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 หมวด 3 มาตรา 32 ได้ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว  เกียรติยศ  ชื่อเสียง  และครอบครัว การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง  หรือการนําข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ  จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าวด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าในมาตรา 35 จะได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

นอกจากนี้สมาคมสื่อต่างๆ ได้ออกข้อบังคับที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนโดยให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 หมวดที่ 2 ข้อ 5 ที่กล่าวไว้ว่า การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์และโศกนาฏกรรมแก่ผู้ที่ตกเป็นข่าว หรือข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 หมวดที่ 2 ข้อ 13 ที่กล่าวไว้ว่า หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างในสังคม

กรณีข่าวที่สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นข่าวจนหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบของสื่อมวลชน คือ กรณีการทำข่าวการเสียชีวิตของดาราหนุ่มชื่อดังที่สื่อมวลชนนั่งเฝ้าเกาะติดที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานจนสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้ป่วยรายอื่น   มีความพยายามในการยื้อแย่ง แข่งขันกันเพื่อให้ได้ภาพข่าวที่ชัดเจนที่สุดจนละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของดาราหนุ่ม รวมถึงครอบครัว จนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยต้องออกแถลงการณ์ขอแสดงความเสียใจและขออภัยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

อีกทั้งกรณีนักฟุตบอลทีมหมูป่า 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย จนกลายเป็นข่าวใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก มีผู้สื่อข่าวจากทั่วทุกมุมโลกเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพื้นที่กันแบบนาทีต่อนาที  และต้องการรายงานข่าวสารในเชิงลึกจนอาจลุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ตกเป็นข่าว หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าข่าวดังกล่าวจะมีคุณค่าข่าวหลายประการไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็ว ความใกล้ชิด ความเด่น และความน่าสนใจตามปุถุชนวิสั ยกแต่ทั้งนี้สื่อมวลชนก็ควรมีขอบเขตที่เหมาะสมในการนำเสนอข่าว เนื่องจากการทำข่าวในลักษณะดังกล่าวนั้นก็เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นข่าว รวมถึงครอบครัวจนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ต้องออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้คำนึงถึงจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล และผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องในการรายงานข่าวกรณีเด็กและเยาวชนได้รับความช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนถึงสิทธิส่วนบุคคล และบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงข้อบังคับของสมาคมที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลเห็นความสำคัญของความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ไม่เหยียดหยามแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ เพราะความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อายุ ภาษา วัฒนธรรม เพศ ความพิการสุขภาพ ฐานะทางการเงิน ศาสนา การศึกษา และความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (กฤชณัท แสนทวีและชัชฎา อัครศรีวร นากาโอคะ, 2559,5)  แต่ปัญหาของการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวก็ยังพบเห็นได้อยู่บ่อยครั้งด้วยสภาพการแข่งขันกันของสื่อมวลชนในปัจจุบัน ที่ต้องการให้ผู้รับสารเลือกเปิดรับข่าวสารจากสื่อของตน จนทำให้บางครั้งสื่อมวลชนต่างพยายามแย่งชิงพื้นที่ในใจของผู้รับสาร โดยให้ความสำคัญเพียงแค่คุณค่าข่าวแต่มองข้ามความสำคัญในประเด็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นข่าว จนกลายเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาที่ยากเกินจะแก้ไข ถึงแม้ว่าสมาคมต่างๆ จะมีการแถลงการณ์ถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล จนบ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวสื่อมวลชนเองก็ถูกฟ้องร้องจากผู้ที่ตกเป็นข่าว ดังเช่นกรณีของคุณทราย เจริญปุระ ที่ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีกับสำนักข่าวชื่อดังแห่งหนึ่ง จากกรณีพาดหัวข่าว “ความในใจจากลูกทรพี? เปิดค่ารักษาแม่ “ทราย เจริญปุระ” ต้องเล่นละครกี่เรื่องถึงจะจ่ายไหว?” จากกรณีส่งคุณแม่เข้ารับการรักษาอาการป่วยโรคซึมเศร้าและอัลไซเมอร์ ที่โรงพยาบาลศรีธัญญาที่ถึงแม้ว่าผู้ที่ตกเป็นข่าวจะเป็นบุคคลสาธารณะ และข่าวจะมีคุณค่าข่าวมากเพียงใดก็ตาม แต่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนจะมองข้ามไปไม่ได้เช่นเดียวกัน

การแก้ไขปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่เรื้อรังมายาวนาน โดยยังไม่มีข้อสรุปถึงแนวทางที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายองค์กรสื่อ สมาคมสื่อ ผู้รับสาร รวมถึงผู้สื่อข่าว โดยสมาคมสื่อต่างๆ ควรใช้ข้อบังคับของสมาคมอย่างจริงจังและมีบทลงโทษที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลแก่สื่อมวลชน อีกทั้งผู้รับสารเองก็ควรจะมีการเลือกเปิดรับเฉพาะสื่อที่นำเสนอข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อเป็นแรงเสริมในการสร้างถึงการตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลแก่สื่อมวลชน นอกจากนี้แล้วองค์กรสื่อต่างๆ ควรให้ความสำคัญ และสร้างการตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลให้แก่ผู้สื่อข่าวในสังกัดอย่างชัดเจน อีกทั้งผู้สื่อข่าวเองถ้าพิจารณาในมุมกลับกันว่าหากผู้ที่ตกเป็นข่าวที่ตนเองกำลังนำเสนออยู่นั้น เป็นตัวของสื่อมวลชนเอง เป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนใกล้ชิดแล้ว ตนเองจะเลือกนำเสนอข่าวในลักษณะใด อาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยสื่อมวลชน และได้คำตอบของการนำเสนอข่าวที่มีคุณค่าข่าวโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นข่าวก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

กฤชณัท แสนทวี, และชัชฎา อัครศรีวร นากาโอคะ. (2559). อิทธิพลของปัจจัยด้านจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามความคาดหวังของผู้รับสาร.วารสารวิชาการและวิจัยสังคมศาสตร์. 11(3 (2) ) :1-18.

กาญจนา แก้วเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.

จักรกฤษ เพิ่มพูล. (2556). กรณีศึกษาด้านจริยธรรมสื่อมวลชน. มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์. : 1-6.

จักรกฤษ เพิ่มพูล. (2554). หลักจริยธรรมของคนข่าวเครือเนชั่น (ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา).กรุงเทพมหานคร : บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด.

บุปผา บุญสมสุข. (2558). คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชน. ในดรุณี หิรัญรักษ์ (บ.ก.) จริยธรรมสื่อ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.

มาลี บุญศิริพันธ์. (2556). วารสารศาสตร์เบื้องต้น : ปรัชญา และแนวคิด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560. (2560). สืบค้นจาก http://www.newsbroadcastingcouncil.or.th/?page_id=142, เข้าถึงเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2560.

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ. (2559). ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559. สืบค้นจาก https://www.presscouncil.or.th/, เข้าถึงเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2560.

โพสต์ทูเดย์. (2560). ทราย เจริญปุระ ฟ้องหมิ่นประมาทสื่อดัง หลังพาดหัวข่าวแรง.สืบค้นจากhttps://www.posttoday.com/ent/thai/524735, เข้าถึงเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2560.

รัตนวดี นาควานิช. (2554). ดารา-บุคคลสาธารณะ : เส้นบางๆ ระหว่างข่าว กับการรุกล้ำสิทธิโดยสื่อมวลชนในธุรกิจบันเทิง. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 31(1) : 50-80.

ศิริวรรณ อนันต์โท และสันทัด ทองรินทร์. (2559). จริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน. นครปฐม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล.

Goran, P.&Karamarko, M. (2015). Ethical Principles of Journalism : Content Analysis of the Covers of Most Read Daily Newspaper in Croatia. Mediterranean Journal of Social Sciences.6(4S2) : 141-151.

Ravi, B.K. (2012). Media and Social Responsibility : A Critical Prespective with Special Referance to Television. Academic Research International. 2 (1) : 306-325.

 

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ