บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคที่ใครๆ ก็ (อยาก) เป็นสื่อได้

บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคที่ใครๆ ก็ (อยาก) เป็นสื่อได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรพัชญ์ เจียระนานนท์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทนำ

หน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดของสื่อมวลชนคือ การนำเสนอข่าว การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนในสังคม ตำรา เอกสารด้านการเรียนการสอนวิชาการหนังสือพิมพ์สมัยก่อนอธิบายแบบอุปมาอุปไมยถึงการเป็นข่าวไว้ว่า “หมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาเป็นข่าว” โดยถึงแม้ว่าคำอุปมาอุปไมยนี้จะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่สะท้อนปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นข่าวคือ เหตุการณ์นั้นต้องเกิดขึ้นจริง (เกษม ศิริสัมพันธ์, 2551) และจะต้องมีความแปลก เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งจะมีกระบวนการคัดสรรว่าเรื่องใดควรเป็นข่าวเรื่องใดไม่ควรเป็นข่าว

การรับรู้ของคนในแวดวงสื่อสารมวลชนรวมไปถึงประชาชนทั่วไปยังคงให้ความเชื่อถือสื่อเก่า ประเภทหนังสือพิมพ์ คนข่าวที่มีชื่อเสียงในการเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน เคยทำหน้าที่รับใช้ประชาชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้สาระความรู้ มีกระบวนการของกองบรรณาธิการที่เข้มข้นในการพยายามตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ถูกต้องครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ก็ยังคงทำหน้าที่ในการรายงานข่าวสารและวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ ประดุจสุนัขเฝ้าบ้านให้กับสังคม ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมือง การเมืองการปกครอง ยังไม่ได้ให้อิสระเต็มที่กับการทำหน้าที่ตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบรัฐบาล หรือผู้บริหารประเทศ

 

สื่อสังคมออนไลน์ : ช่องทางการสื่อสารทางเลือกใหม่

ปัจจุบันจากความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อการรายงานข่าวของนักข่าวที่จากเดิมต้องรายงานข่าวผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง ผ่านโทรทัศน์ ผ่านหนังสือพิมพ์ ขยับมาสู่เว็บไซต์ จนกระทั่งต้องรายงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพราะประชาชนในสังคมนอกจากจะรับข่าวสารผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์แล้ว การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวทำให้พฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ทุกคนมีหน้าจอของตัวเองเป็นโทรศัพท์มือถือ งานวิจัยของ วิโรจน์ ศรีหิรัญ (2560) พบว่าสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก คือช่องทางยอดนิยมของการเปิดรับข่าวสารของคนกรุงเทพมหานครที่เปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ได้แก่ สื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์ สื่อโทรทัศน์ช่อง 7 และช่อง 3 โดยเปิดรับทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เปิดรับชมทางเครื่องรับโทรทัศน์และทีวีออนไลน์ รวมถึงเปิดรับสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์เหล่านี้ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กของไทยรัฐ เดลินิวส์ ช่อง 7 และช่อง 3 ด้วย

บรรดาผู้สื่อข่าว องค์กรข่าวต่างๆ จะใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเสริมสื่อหลักของตนเอง เป็นช่องทางการเกิดใหม่ของสำนักข่าวออนไลน์โดยเฉพาะอย่าง สำนักข่าว The Matter หรือ The Standard แล้ว ประชาชนทั่วๆ ไปจากเดิมที่เป็นผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียว แต่เมื่อมีเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ประชาชนหลายคนหลายกลุ่มจึงใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสารและตั้งตนทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเสียเอง มีผู้ติดตามอยู่หลายหมื่นคนหลายแสนคนบ้างก็มีส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนหลัก คือ การกำหนดวาระข่าวสารของสื่อเก่า สื่อดั้งเดิม สื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่เป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อระบบความคิดของคนในสังคมนั้น กลายเป็นรองหรือกลายเป็นผู้วิ่งตามสื่อออนไลน์ วิ่งตามสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวออนไลน์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่าแสนคน เพราะนำข้อมูลมาจากการเปิดประเด็นของสื่อออนไลน์ ทำบทบาทในลักษณะเป็นผู้รายงานต่อ ทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้นำทางความคิดกลุ่มใหม่ มีอิทธิพลในการกำหนดประเด็น เปิดประเด็น เพื่อให้เกิดความสนใจในสังคม ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นผู้นำทางความคิดและการกำหนดวาระข่าวสารให้กับสังคม แต่ในปัจจุบันบทบาทเหล่านี้ในสื่อหลักลดน้อยลงไปอย่างมาก

นอกจากนี้แล้วรายการข่าวทางโทรทัศน์ยังมีการนำคลิปวีดิโอของสำนักข่าว หรือเพจข่าวบางเพจมาใช้ หรือเป็นผู้ติดตามเนื้อหาของข่าวหลังจากที่เป็นกระแสอยู่ในโลกออนไลน์ ข่าวที่มีลักษณะดราม่าในโลกออนไลน์มานำเสนอในสื่อโทรทัศน์จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพยายามในการทำข่าวของสื่อโทรทัศน์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อที่ทรงพลัง มีเครื่องมือที่ทันสมัย มีนักข่าวอยู่ในมือจำนวนมาก แต่ไม่เน้นใช้ศักยภาพของสื่อโทรทัศน์ที่ตนเองมีอยู่ กลับทำข่าวในลักษณะมักง่าย ไม่ยอมออกไปหาข่าวหรือทำข่าวด้วยตนเอง แต่ใช้การนำภาพและเสียงในโลกออนไลน์มานำเสนอ ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดความเสื่อมศรัทธา เพราะไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรน่าสนใจเพิ่มเติม ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถดูคลิปวีดิโอพวกนี้ได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาดูในสื่อโทรทัศน์อีกครั้ง

นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว สาเหตุประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความเสื่อมโทรมของบทบาทสื่อมวลชนที่เน้นคิดเรื่องการแข่งขันในเชิงธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว จนทำให้ความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนกระแสหลักถดถอยหายไปด้วยปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมา การเกิดขึ้นของเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ข่าวใหม่ๆ มันคือการตั้งใจจะท้าทาย ตั้งคำถาม การทำหน้าที่และบทบาทของสื่อมวลชนกระแสหลักว่า ยังคงได้ทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่ออยู่หรือไม่ ถ้าไม่ทำหรือทำแล้วแต่ยังไม่ถูกใจประชาชนทั่วไป สมัยก่อนอาจจะต้องง้องอนสื่อกระแสหลักไปจนถึงกระทั่งเรียกร้องให้มีสื่อเสรีภาพ แต่ปัจจุบันประชาชนบางกลุ่มกำลังท้าทายว่าฉันไม่ง้อแล้วนะ เพราะถ้าไม่ทำถ้าไม่รายงาน ถ้าทำหน้าที่ไม่ดี ฉันทำเองดีกว่า สังเกตได้จากกรณีเหตุการณ์ถ้ำหลวงที่มีผู้คนรอติดตามข่าวสารการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ มีเพจเฟซบุ๊กรายงานข่าวโดยเฉพาะ รวมไปถึงชื่นชมการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ Mthaiแต่ในทางตรงกันข้ามเหตุการณ์ดังกล่าวสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ ผู้สื่อข่าวต่างๆ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติงาน การปฏิบัติตัว มารยาท จริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อ

เมื่อประชาชนมี “ทางเลือก” เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้การได้ติดตามสื่อโซเชียล จะได้เนื้อหาที่ไม่เข้มข้น ต้องใช้องค์ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อมากกว่าการติดตามสื่อหลัก เพราะสื่อโซเชียลมักจะขาดการกลั่นกรองความถูกต้องของข้อมูล การทำข่าวเชิงลึก ที่อาจจะต้องเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้กับประชาชนคนรับสารแม้ว่าประชาชนทั่วไปจะถูกค่อนขอดจากสื่อมวลชน นักวิชาการ รวมถึงประชาชนด้วยกันเองบางกลุ่มว่า ชอบรับสารแบบง่ายๆ ไม่ต้องคิดวิเคราะห์มากนัก เหมือนกับลักษณะของการเล่าข่าว ที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง ปัญหาคือ คนทั่วไป จะมีวิธีคิดอย่างไรในการจะเป็นสื่อ ทำได้ดีกว่า หรือทำแล้วแย่กว่าเดิม ทำแล้วละเมิดสิทธิ ทำโดยไม่มีหลักการหรือแนวคิด จนสุดท้ายกลายเป็นการทำเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง เพราะเล็งเห็นประโยชน์และอิทธิพลของสื่อว่ามีมากมายมหาศาลเพียงใด

 

ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ : การตั้งคำถามต่อบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน

เมื่อความน่าเชื่อถือขององค์กรสื่อหลักของประเทศถูกสั่นคลอนด้วยประชาชน พลเมืองที่พร้อมจะทำหน้าที่ทดแทน และท้าทายคนในวิชาชีพสื่อมวลชน พร้อมกับตั้งคำถามทั้งในฐานะผู้รับสารและพร้อมจะเป็นผู้ส่งสารต่อการทำหน้าที่ของสื่อในยุคปัจจุบันบ่อยครั้ง ถี่มากขึ้น ถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งตั้งคำถามกับความเป็นฐานันดรที่ 4 ต่อสื่อมวลชน แล้วถ้าเช่นนั้นบทบาทที่ถูกต้องและควรจะเป็นต่อไปในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เมื่อสื่อมวลชนหลักถูกท้าทายจากสื่อมวลชนใหม่คือประชาชนคนทั่วไป สื่อมวลชนหลักควรจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตนเองอย่างไรต่อไป

กาญจนา แก้วเทพ (2556) ได้แบ่งขั้นตอนการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อตามแนวทางทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อ (Normative Theories of Media Performance) เอาไว้ 2 ระดับ คือ ระดับโครงสร้าง (Structure) และระดับปฏิบัติงาน (Performance) ซึ่งทั้ง 2 ระดับนั้นกล่าวถึงระดับนโยบายและเสรีภาพจากรัฐ กับกระบวนการตรวจสอบการทำงานในระดับองค์กรด้วยกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพเป็นตัวกำหนด โดยหากจะแก้ไขปัญหาของจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ต้องแก้ในทุกระดับของสื่อ ไม่สามารถแก้ไขเพียงแค่ระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (2558) ได้แสดงทัศนะถึงตัวสื่อมวลชน เมื่อคนส่วนใหญ่สามารถติดตามสถานการณ์ข่าวสารประจำวันได้จากช่องทางสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ข่าว หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์อย่าง โซเชียลมีเดีย การตอบคำถามว่า “ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร” นั้น น่าจะไม่ใช่หน้าที่ของหนังสือพิมพ์อีกต่อไป แต่หนังสือพิมพ์ในอนาคตต้องตอบคำถามว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไร ที่ไหน ทำไมและอย่างไรแล้ว ต้องตอบคำถามว่า แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป รวมทั้งจะมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภคสื่อ ต้องใช้การรายงานข่าวแบบตีความ (Interpretive Reporting) และการรายงานข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Reporting) มากขึ้น

เทพชัย หย่อง (2559) เสนอแนะถึงภารกิจที่สำคัญมากของสื่อกระแสหลักคือจะทำอย่างไรให้เป็นเสาหลักของการตรวจสอบข้อมูล ค้นหาความจริง ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบแทนสังคม ทำให้สังคมฉลาด รู้เท่าทันมากยิ่งขึ้นเพราะประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น

สุทธิชัย หยุ่น (2561) นำเสนอทางเลือกเพื่อความอยู่รอดของคนทำสื่อ คือต้องรวมกลุ่มกันทำเฉพาะเรื่องอย่างเจาะลึก วิเคราะห์ให้เข้มข้น ถ้าจะทำข่าวกีฬา สื่อมวลชนจะต้องทำมากกว่าแค่รายงานผล แต่สื่อมวลชนจะต้องวิเคราะห์เกมการแข่งขัน ทำให้ผู้ชมเห็นในหลากหลายมิติ มากกว่าการพยายามทำในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา อย่าทำในสิ่งที่คนทั่วไปมีเหมือนกัน เช่น ใช้ลีลาในการรายงานข่าวเพื่อเรียกความนิยม เพราะจะทำให้เกิดความล่มสลายของมาตรฐานวิชาชีพสื่อ คนดูจะเห็นว่าคนทำสื่อไม่รับผิดชอบอีกต่อไปแล้ว

 

บทสรุปทางเลือกเพื่อทางรอด : บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน

เมื่อโลกในปัจจุบันทำให้การสื่อสารกว้างไกล ขยายขอบข่ายอาณาเขตจนทำให้การสื่อสารมวลชนถูกเปรียบเทียบ ทบทวน ตั้งคำถาม ต่อการทำหน้าที่ ซึ่งในวันที่คนทุกคนสามารถกระโดดลงมาเป็นสื่อได้เท่าเทียมกันหมดทุกคน มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยใช้ได้เหมือนกันหมด มีทักษะการสื่อสารที่ดีไม่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นอะไรคือ ความแตกต่างของความเป็นสื่อมืออาชีพที่จะเป็นเสมือนที่พึ่งของประชาชนทั่วไปได้นั้นควรจะต้องเริ่มจาก

  1. การคัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาเป็นผู้คัดกรองเนื้อหาที่จะสื่อสารไปยังประชาชน
  2. คนทำสื่อต้องสามารถยกระดับเนื้อหาของข่าว เพื่อนำเสนออย่างเจาะลึกและมีชั้นเชิง
  3. มีการส่งเสริมจริยธรรมและจรรยาบรรณในทุกระดับโครงสร้างทางสังคม
  4. ส่งเสริมเกียรติภูมิของวิชาชีพ ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความมีอิสระและเสรีภาพของสื่อที่ต้องตั้งมั่นอยู่ในศรัทธาของประชาชน

ถือเป็นความท้าทายของคนทุกคนในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะต้องตระหนักและช่วยกันนำพาสื่อมวลชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยหลักการที่ว่าสื่อต้องไม่เพียงสะท้อนสังคมแต่ยังต้องสร้างสรรค์สังคมด้วยสิ่งที่ดีงาม ยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพให้มีคุณค่าและมีศรัทธา การรักษาและสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ด้วย “เทคโนโลยี” แต่คนจะมาเป็นสื่อได้ต้องมีกระบวนการคัดสรรคนมาเป็นสื่อด้วย “อุดมการณ์”คนที่จะเป็นสื่อได้ต้องมีหัวใจของอาชีพสื่อที่แยกแยะสิ่งดีงามออกจากสิ่งชั่วร้ายได้ เพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมาและทำให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำหน้าที่ โดยไม่ต้องกระโจนลงมาทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเสียเอง

 

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน:ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัด      ภาพพิมพ์.

เกษม ศิริสัมพันธ์. (2551). ทฤษฎีสื่อสารมวลชน. พิมพ์ครั้งที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และสมาคมวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อโครงการกองทุนอนุสรณ์ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์.

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี. (2558). ทำนายอนาคตสื่อไทย ยุค Social Media ครองเมือง. (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/content/489384. (สืบค้นข้อมูลวันที่ 20 กันยายน 2561).

เทียนทิพย์ เดียวกี่. (2559). “จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อในการนำเสนอข่าวยุคดิจิทัล”. วารสารการสื่อสารและการจัดการ นิด้า.2, 125-143.

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์. (2561). สุทธิชัย หยุ่น ตำนานสื่อสารมวลชนไทย กับการเกิดใหม่ในโลก Live!. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561จาก https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce30/

พีระ จิรโสภณ. (2554). ทฤษฎีการสื่อสารมวลชน  ใน ประมวลสาระชุดวิชา ปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร  หน่วยที่ 10. หน้า 190-216. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วิโรจน์ ศรีหิรัญ. (2560). “คุณค่าข่าวของสื่อมวลชนไทยในยุควารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์. วารสาร      นิเทศศาสตร์ปริทัศน์. 21 (1), 166-176.

Thaireform. (2559). ทางเลือก/ทางรอดของสื่อไทยยุค 4.0. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน

  1. 2561. จาก https://www.isranews.org/main-thairefom/51805-4-0-51805.html

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ