หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกับความท้าทายด้านจริยธรรมวิชาชีพ

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกับความท้าทายด้านจริยธรรมวิชาชีพ

 

ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล

สุรีวัลย์ บุตรชานนท์

มหาวิทยาลัยบูรพา

 

เมื่อจับจ้องมองสื่อมวลชนในแง่มุมของจริยธรรมวิชาชีพ “หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” นับเป็นสื่อมวลชนอีกแขนงหนึ่งที่มักถูกตั้งคำถามจากคนในแวดวงวิชาชีพหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และผู้อ่านอยู่เสมอถึงการทำหน้าที่บนพื้นฐานของจริยธรรม เนื่องจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นองค์กรสื่อขนาดเล็ก หลายแห่งมีสถานะทุนไม่แข็งแรง ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ลดทอนการให้ความสำคัญกับจริยธรรมวิชาชีพลง

ความสุ่มเสี่ยงด้านจริยธรรมวิชาชีพของหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นเกิดขึ้นหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการโฆษณาแฝง การใช้ถ้อยคำภาษาที่ไม่เหมาะสม หรือแม้แต่การอวดอ้างตำแหน่งหน้าที่ในทางไม่ควร ดังตัวอย่างล่าสุดในเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่มีผู้อ้างตนว่าเป็นนักข่าวสื่อมวลชนข่มขู่คุกคามแพทย์และพยาบาลใน รพ. เมืองพัทยา เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของแพทย์ที่ไม่รักษาญาติของตนก่อน (ผู้จัดการออนไลน์, เข้าถึง 25 ต.ค. 2561) ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559 ข้อที่ 23 ซึ่งระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่ชอบธรรม” โดยตรง

นอกเหนือจากการอวดอ้างตำแหน่งผู้สื่อข่าวแล้ว การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็เป็นประเด็นที่ถูกจับจ้องอยู่เสมอ ซึ่งแวดวงนักข่าวท้องถิ่นก็ตระหนักถึงปัญหานี้ โดย สมศักดิ์ รัฐเสรี  อดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นไว้ในเวทีหารือระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จ. อุบลราชธานี กับแกนนำสื่อท้องถิ่น จ. อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ตอนหนึ่งว่า “ที่ผ่านมามองว่านักข่าวเป็นพวกกาฝากสังคม  นักรีดไถ พฤติกรรมติดลบนี้จะทำให้เพื่อนๆ เละไปหมด ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังมีนักข่าวรีดไถอยู่และมีชีวิตที่ดีกว่า รวยกว่าคนมีจริยธรรมอีก” (คมชัดลึก, 2558)

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้มีการสำรวจประเด็นปัญหาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยให้ทุนส่งเสริมการวิจัยจากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการวิจัยเรื่อง “การสำรวจประเด็นทางจริยธรรมในการบริหารจัดการและนำเสนอเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในยุคดิจิทัล: กรณีศึกษาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสาน” ของปาจารีย์ ปุรินทวรกุล และ สุรีวัลย์          บุตรชานนท์ (2558) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาข่าว ภาพ ความคิดเห็น รวมถึงประกาศและโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตามประกาศข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยพิจารณาเงื่อนไขด้านสถานภาพของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ได้แก่ 1. ประเภทเข้มแข็งที่ดำเนินการมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปี 2. ประเภทยืนหยัดที่ดำเนินการต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และ 3. ประเภทพึ่งพิงที่ดำเนินการมาต่ำกว่า 5 ปี นั้น มีลักษณะความเสี่ยงที่จะละเมิดจริยธรรมในแต่ละประเด็น  ดังนี้

  1. ประเด็นจริยธรรมด้านความจริงความถูกต้องของการนำเสนอเนื้อหานั้น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสานในประเภทยืนหยัด มีความเสี่ยงที่จะละเมิดจริยธรรมด้านความจริง ความถูกต้อง มากกว่าประเภทเข้มแข็งและประเภทพึ่งพิง ทั้งในแง่ความถูกต้องของเนื้อข่าว การเสนอข่าวเพราะอคติความลำเอียง และการสอดแทรกความคิดเห็นลงในข่าว ในขณะที่ประเภทเข้มแข็ง พบความเสี่ยงที่จะสอดแทรกความเห็นลงในข่าวบ้างแต่ไม่มากนัก และประเภทพึ่งพิง พบความเสี่ยงเรื่องความถูกต้องของเนื้อข่าว และการแต่งเติมสาระจนเกินความเป็นจริงบ้าง แต่ไม่มากนักเช่นกัน

เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า หนังสือพิมพ์ภาคอีสานในประเภทเข้มแข็ง มีความระมัดระวังมิให้การนำเสนอเนื้อหาละเมิดจริยธรรมวิชาชีพด้านความจริงความถูกต้องได้เป็นอย่างดี แต่ประเภทยืนหยัด มีการนำเสนอเนื้อหาที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรมดังกล่าวสูงกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่ประเภทพึ่งพิงพบว่ามีเนื้อหาที่มีความเสี่ยงว่าจะละเมิดจริยธรรมในประเด็นนี้บ้างแต่ไม่มากนัก


  1. ประเด็นจริยธรรมด้านการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ (
    Public Interest) ซึ่งมุ่งเน้นให้สื่อมวลชนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ สื่อมวลชนจะต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รายงานข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างสมดุลนั้น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสานทั้ง 3 กลุ่ม มีความเสี่ยงในการนำเสนอข่าวและบทความที่อาจเป็นการแอบแฝงโฆษณาเพื่อประโยชน์ส่วนตนของหนังสือพิมพ์ โดยประเภทเข้มแข็ง พบปัญหาดังกล่าวในระดับน้อยที่สุด รองลงมาคือประเภทยืนหยัด และประเภทพึ่งพิง พบข่าวและบทความที่มีความเสี่ยงว่าจะละเมิดจริยธรรมดังกล่าวสูงที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสานประเภทเข้มแข็ง ไม่มีปัญหาเรื่องการนำเสนอข่าวชวนเชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในขณะที่ประเภทยืนหยัดและประเภทพึ่งพิง มีความเสี่ยงที่จะละเมิดในระดับต่ำ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า หนังสือพิมพ์ภาคอีสานทั้ง 3 กลุ่ม มีการนำเสนอเนื้อหาที่เสี่ยงต่อการละเมิดประเด็นจริยธรรมด้านการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะในระดับใกล้เคียงกัน แต่ประเภทพึ่งพิงนับว่ามีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น


  1. ประเด็นจริยธรรมด้านความยุติธรรม (
    Fairness) ของการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสาน ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเภทเข้มแข็ง ประเภทยืนหยัด และประเภทพึ่งพิง พบว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสานในประเภทเข้มแข็ง ยืนหยัด และพึ่งพิง มีการรักษาจริยธรรมในการนำเสนอเนื้อหาเป็นอย่างดี โดยมีเพียงประเภทพึ่งพิงเท่านั้นที่พบความเสี่ยงว่าจะละเมิดข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพในการนำเสนอข่าวที่ขาดการเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกพาดพิงได้แสดงข้อเท็จจริง แต่ก็พบความเสี่ยงดังกล่าวในระดับต่ำ


  1. ประเด็นจริยธรรมด้านความรับผิดชอบ
    (Responsibility) การไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญานั้น ในภาพรวมปัญหาในการนำเสนอภาพประกอบข่าวและบทความที่อาจละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งประเภทเข้มแข็ง ประเภทยืนหยัด และประเภทพึ่งพิง โดยมักปรากฏในรูปของการนำภาพจากระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้โดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งประเภทยืนหยัดมีความเสี่ยงที่จะละเมิดข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพในประเด็นดังกล่าวสูงที่สุด รองลงมาคือประเภทเข้มแข็ง ในขณะที่ประเภทพึ่งพิงพบปัญหาการนำภาพมาใช้โดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มาน้อยที่สุด


  1. ประเด็นจริยธรรมด้านสิทธิมนุษยชน (
    Human Right) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และสิทธิส่วนบุคคล (Right to Privacy) ของการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสาน พบว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสานทั้ง 3 กลุ่ม มีความระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาไม่ให้กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลค่อนข้างดี มีเพียงการนำเสนอความคิดเห็นผ่านทางคอลัมน์บางคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสานประเภทเข้มแข็งและประเภทพึ่งพิงเท่านั้น ที่เสี่ยงต่อการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 30 ที่ระบุว่า “ภาษาที่ใช้ในหนังสือพิมพ์พึงหลีกเลี่ยงคำที่ไม่สุภาพ หรือมีความหมายเหยียดหยาม” แต่พบปัญหาในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก ในขณะที่ประเภทยืนหยัดมีความเสี่ยงที่นำเสนอบทความละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ข้อ 27 ว่าด้วยหนังสือพิมพ์ พึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมีความเสี่ยงที่จะละเมิดข้อบังคับดังกล่าวในอัตราที่ไม่สูงนักเช่นกัน


  1. ประเด็นจริยธรรมด้านการรักษาไว้ซึ่งศีลธรรม วัฒนธรรมอันดีงาม
    ของการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสาน ทั้ง 3 กลุ่ม มีการนำเสนอประกาศและโฆษณาที่รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรมด้านการรักษาไว้ซึ่งศีลธรรม วัฒนธรรมอันดีเป็นอย่างดี โดยระมัดระวังให้การนำเสนอประกาศ โฆษณา ทั้งหลายอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม วัฒนธรรม ไม่เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประกาศหรือโฆษณาที่จะเป็นภัยต่อสังคม หรือมีเจตนาจะทำให้ผู้อ่านหลงเชื่องมงาย

จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า ทุกกลุ่มมีโอกาสที่จะคงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพ หรือเสี่ยงจะละเมิดจริยธรรมได้ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ในบางประเด็นประเภทเข้มแข็งมีความเสี่ยงที่จะนำเสนอเนื้อหาที่อาจละเมิดจริยธรรมวิชาชีพได้เท่าเทียมกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประเภทยืนหยัดหรือประเภทพึ่งพิง ในขณะที่บางประเด็นประเภทพึ่งพิงก็สามารถรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพได้ค่อนข้างดี ดังนั้น การที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นองค์กรขนาดเล็ก ไม่มี “ทุน” ที่เข้มแข็งทั้งด้านการเงิน ชื่อเสียงที่สั่งสมมา หรือประสบการณ์อันยาวนานในแวดวงสื่อ คงมิใช่ปัจจัยที่จะชี้วัดว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะยืนอยู่บนเส้นของจริยธรรมวิชาชีพได้ดีเพียงใด

เพราะแท้จริงแล้ว ความท้าทายทางจริยธรรมวิชาชีพมิใช่เรื่องของ “ทุน” หากแต่เป็นเรื่องของ “คน” ที่มีสิทธิเลือกว่าจะเดินออกนอกเส้นทางหรือไม่

รายการอ้างอิง

งานวิจัย

ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล และ สุรีวัลย์ บุตรชานนท์. (2558). การสำรวจประเด็นทางจริยธรรมในการบริหารจัดการ

และนำเสนอเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในยุคดิจิทัล: กรณีศึกษาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ.

 

หนังสือ

มาลี บุญศิริพันธ์. (2556). วารสารศาสตร์เบื้องต้น: ปรัชญาและแนวคิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์.

ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน. (2556). คู่มือการสอนวิชากฎหมายสื่อมวลชนและวิชาจริยธรรม

สื่อมวลชน. กรุงเทพฯ: บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.

ศิริวรรณ อนันต์โท. (2556). จริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน. วารสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

 

เว็บเพจ

คมชัดลึก, http://www.komchadluek.net/detail/20150217/201492.html, เข้าถึง 25 ต.ค. 2561

ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/local/detail/9610000105507, เข้าถึง 25 ต.ค. 2561

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, https://www.presscouncil.or.th/, เข้าถึง 25 ต.ค. 2561.

 

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ