จริยธรรม สื่อ และสังคมที่เปลี่ยนแปลง

จริยธรรม สื่อ และสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พงษ์ วิเศษสังข์

นักวิชาการอิสระ

 

จริยธรรม เป็นหลักทางคุณธรรมที่ทำให้บุคคลแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องออกจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (Estacott, E., (2018, August 28) จากตัวอย่างนิยามของคำว่า จริยธรรม ทำให้การใช้คำว่า จริยธรรมและคุณธรรม มีอยู่คู่กันและจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2543 ให้คำนิยามของ คุณธรรม ไว้ว่า หมายถึง สภาพคุณงามความดี เป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 2 ความหมาย คือ 1) ความประพฤติดีงาม เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมทางวัฒนธรรม ประเพณี หลักกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ 2) การรู้จักไตร่ตรองว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ และอาจกล่าวได้ว่า คุณธรรม คือ จริยธรรมแต่ละข้อที่นำมาปฏิบัติจนเป็นนิสัย เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีความรับผิดชอบ (Pensri Thodsaporn, nd.) จากคำนิยามในพจนานุกรมสามารถทำความเข้าใจได้ว่า การที่บุคคลจะมีจริยธรรม ต้องมีคุณธรรมในแต่ละด้านเสียก่อน นอกจากนั้น จากคำนิยามของคำว่า คุณธรรม ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า คุณธรรมและจริยธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่แต่ละคนเรียนรู้มาจากสังคมและสภาพแวดล้อมในการตีความว่าสิ่งใดถูกต้อง และสิ่งใดไม่ถูกต้อง

คำสำคัญในนิยามจากสองแหล่งข้างบนที่เป็นปัญหาทางจริยธรรมในสังคม คือ การแยกแยะสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกจากสิ่งที่ถูกต้อง และประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม ซึ่งการที่คนเราจะแยกแยะสิ่งใดก็ตามออกเป็นขั้วบวกขั้วลบได้นั้นต้องมีหลักคิด นั่นคือ หลักทางศีลธรรม อย่างไรก็ตามศาสนาที่ต่างกัน ก็อาจมีหลักคิดในการตัดสินใจกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่างกัน แต่โดยรวมแล้วศีลธรรมในทุกศาสนาสอนให้คนทำดี

ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังอยู่ในยุคเกษตรกรรม สังคมไทยยังมีความเป็นกลุ่มก้อน (Collectivism) สูง ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ หรือครอบครัวขยาย (extended family) ครอบครัวหนึ่งประกอบด้วยคนหลาย ๆ รุ่นคนในชุมชนเดียวกันก็มักเกี่ยวดองเป็นญาติพี่น้องกัน การสั่งสอนการแยกแยะความถูกต้องเกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชนเป็นหลักปัญหาด้านจริยธรรมของคนในสังคมมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากทุกคนได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูมาคล้าย ๆ กัน จากรุ่นสู่รุ่น ดูตัวอย่างนิยาย หรือละครเก่า ๆ ที่คนดูไม่มีข้อสงสัยในจริยธรรมของพระเอกและนางเอก เนื่องจากพระเอกและนางเอกถูกวางตัวให้เป็นตัวแทนของความดีในสังคมที่ยอมเสียสละ และสามารถพลีชีพเพื่อให้คนอื่น ๆ ทั้งคนในครอบครัวของตนเองและคนในสังคมให้มีความสุขตามแนวคิดของปรัตถนิยมเชิงจริยศาสตร์ (ethical altruism) ทั้งหมดนั้นเกิดจากการอบรมบ่มเพาะจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอาในแนวคิดนี้การที่คนคนหนึ่งคิดจะกระทำการสิ่งใด เขาคิดหน้าคิดหลังถึงชื่อเสียงหน้าตาของบิดามารดาและวงศ์ตระกูล ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม เช่น การจะนำสิ่งของไปวางไว้ในที่สาธารณะก็ต้องคำนึงว่าจะกีดขวาง สร้างปัญหาให้ผู้อื่นหรือไม่ หรือการที่จะพูดสิ่งใดออกไปแล้ว จะทำให้ใครเสียหายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปสังคมอุตสาหกรรม ค่านิยม ความเชื่อจากทางตะวันตกที่ไหลบ่าผ่านช่องทางต่าง ๆ เข้าสู่สังคมไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมอย่างรวดเร็วมากโดยปราศจากการทำความเข้าใจในค่านิยมและความเชื่อเหล่านั้นให้ถ่องแท้เสียก่อน ลักษณะของสังคมปัจเจกบุคคลแพร่ขยายเข้าสู่สังคมไทยมากขึ้น คนจำนวนมากจากต่างพื้นที่เข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนที่ต่างไม่รู้จักซึ่งกันและกัน ทำให้ลักษณะของครอบครัวในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเปลี่ยนจากความเป็นครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) ที่มีเพียงพ่อแม่และลูก หรือครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว (single-parent family) ที่มีเพียงพ่อ หรือแม่ กับลูก ประกอบกับการเข้าสู่สังคมระบบทุนนิยม ทำให้พ่อแม่ลูกต้องใช้เวลาในการขวนขวายเพื่อการอยู่รอดทางเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัว เวลาของการอยู่ร่วมกันมีน้อยลง ส่งผลให้การสั่งสอนบ่มเพาะแทบไม่เหลือให้เห็น หากจะมีก็มักเป็นการบ่มเพาะตามแนวคิดของอัตนิยมเชิงจริยศาสตร์ (Ethical Egoism) ที่ยึดเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น มีความเชื่อว่าหากทำให้ตัวเองเป็นสุขแล้ว คนรอบข้างและสังคมก็จะเป็นสุขด้วยโดยไม่ได้สอนวิธีการคิดให้เป็นระบบและให้ถี่ถ้วนว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปเพื่อให้ตนเองได้เป็นสุขนั้น อาจมีผลกระทบด้านลบต่อผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้คนที่มีแนวคิดของอัตนิยมเชิงจริยศาสตร์เชื่อว่าการได้อยู่เหนือกว่าผู้อื่น จะได้รับการชมเชยจากสังคม ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในทางเสียหายผ่านสื่อใหม่มีให้เห็นอยู่อย่างดาษดื่นหรือในครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินดี การให้ผู้อื่นแสดงตัวยอมรับผิดจากการกระทำของตนเอง หรือการทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับการลงโทษน้อยกว่าผู้อื่นที่กระทำความผิดเดียวกัน เพื่อการอยู่รอดปลอดภัยของตนเองถือเป็นความถูกต้องของการดำรงชีวิต ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้พบเห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอในสังคม และในสื่อต่าง ๆ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีแบ่งชั้นวรรณะ หรือคนจนคนรวย เนื่องจากจริยธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่สามารถบอกด้วยความร่ำรวยทางทรัพย์สินเงินทอง

สื่อเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของคนในยุคอุตสาหกรรมจนถึงยุคสังคมข่าวสารเช่นในปัจจุบัน สื่อได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักของการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในครอบครัว สิ่งใดที่เป็นที่ยอมรับ สิ่งใดไม่เป็นที่ยอมรับ โดยไม่ได้บอกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด และดัชนีที่เป็นตัวชี้ของการยอมรับในสื่อ คือ ความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ซึ่งส่งผลเป็นรูปธรรมในด้านการเงิน เช่น การสร้างชื่อเสียงให้นักร้องลำไย ไหทองคำ จากการนำเสนอภาพพฤติกรรมต่อต้านสังคม (antisocial behavior) บนเวทีการแสดงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในความไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถสร้างเรตติ้งให้กับสถานีได้ดี ส่งผลให้ชีวิตเด็กสาวได้เปลี่ยนไปเป็นคุณลำไย ที่มีค่าตัวในวงการบันเทิงสูงขึ้น ได้รับการเชิญออกรายการโทรทัศน์ งานสังคม งานโชว์ตัวในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กลายเป็นเด็กสาวที่มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นเจ้าของบ้านหลังใหญ่ พร้อมกับรถสปอร์ตหรูภายในเวลาประมาณสองปี ประกอบกับปรากฏการณ์เน็ตไอดอลที่ชายและหญิงหลายคนเปิดเผยสรีระของตนเองผ่านสื่อใหม่ ทำให้มีผู้ติดตามจำนวนมาก กลายเป็น เน็ตไอดอล ในชั่วข้ามคืนแล้วสื่อหลักก็นำไปเสนอต่อจนเป็นที่รู้จักของประชาชนที่ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักคนกลุ่มนี้มาก่อน ทำให้คนเหล่านี้มีชื่อเสียงเป็นที่สนใจ อันเป็นหนทางเข้าสู่ธุรกิจบันเทิงมีเงินทองเพิ่มขึ้นในชั่วข้ามคืน อีกหลายรายปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ประชาชนผู้เปิดรับสื่อหลักที่ปราศจากการรู้เท่าทัน (media literacy) เกิดการรับรู้ความเป็นจริงว่า เงินคือ พระเจ้า ที่จะประทานความสุขในทุก ๆ ด้านให้กับเจ้าของเงิน ดังนั้น การกระทำใดก็ตามที่จะทำให้ตนเองโดดเด่นเป็นที่รู้จักและสร้างเม็ดเงินได้มาก นั่นคือ สิ่งที่ได้รับการยอมรับประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมที่ยกย่องคนรวยอยู่เป็นพื้นฐาน ทำให้การรับรู้เรื่องเงินว่า คือหนทางแห่งความสุขกลายเป็นความเชื่อเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก (“สังคมไทยปัจจุบัน”, ม.ป.ป.)

การพยายามสร้างเรตติ้งของบุคคลในสื่อก็เช่นกัน เป็นที่เข้าใจของสังคมอย่างดีว่าการทำทุกอย่าง เพื่อสร้างกำไรในรูปของตัวเงินให้กับเจ้าของเนื้อหา (content) ไม่ใช่พยายามสร้างความนิยมที่จะทำให้ประชาชนผู้รับสารได้รับประโยชน์ในการดำรงชีวิตจากการเปิดรับชม ด้วยการนำเสนอตัวเองด้วยบุคลิกที่ผิดเพี้ยนไปจากคนทั่วไป ไม่ว่าด้านบุคลิก การแต่งกาย และการพูด และเนื้อหาที่เกินจริง เช่น รายการเล่าข่าว รายการตลก และรายการตลกสถานการณ์ (sit-com) ซึ่งสามารถสร้างความบันเทิงให้กับผู้รับสารได้ โดยไม่ตระหนักว่าเนื้อหาเช่นนั้นสามารถมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้รับสารที่ไม่รู้เท่าทันสื่อและเปิดรับเนื้อหาเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่องได้ สรุปแล้วบุคคลในสื่อก็ทำเพื่อประโยชน์ของตนเองตามหลักของอัตถนิยมเชิงจริยศาสตร์ เนื่องจากเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็มักอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อการแสดง แต่ทุกครั้งที่ปรากฏในที่สาธารณะคนทั่วไปก็เห็นพฤติกรรมเช่นนั้นตลอดเวลา จนเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ความมีชื่อเสียง และการยอมรับ

ส่วนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับศาสนาที่คนใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ สื่อก็มักเน้นการนำเสนอพฤติกรรมที่เสื่อมเสียของพระสงฆ์ ซึ่งเนื้อหานี้ได้ผ่านการคัดเลือกกลั่นกรองเพื่อการสร้างเรตติ้งให้กับสถานี ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สื่อดีว่าข่าวเช่นนี้มีคุณค่าทางข่าว (news value) ค่อนข้างสูง เรียกความสนใจให้เกิดการเปิดรับชมสูง ส่งผลให้ศาสนาที่ถูกมองว่าเป็นสถาบันหลักในการทำหน้าที่สั่งสอนให้สาธุชนเกิดสติปัญญาในการแยกแยะความไม่ดีออกจากความดีขาดความเลื่อมใสศาสนิกชนไม่ว่าในศาสนาใดมักแยกตัวนักบวชออกจากศาสนาไม่ได้ โดยเฉพาะพระสงฆ์ (ผู้เขียนขอกล่าวถึงเพียงพระสงฆ์ในศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ) ในยุคทุนนิยม และสังคมปัจเจกบุคคล ได้ทำให้พุทธศาสนิกชนเสื่อมความศรัทธาที่จะเอาศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำรงชีวิต ผู้ชายหลายคนก้าวเข้าสู่กาสาวพัตรด้วยเป้าหมายส่วนตัว หวังลาภยศสรรเสริญ ไม่ว่าด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ทางสถาบันสงฆ์ หรือด้วยความสามารถพิเศษในด้านคาถาอาคม มนต์เสน่ห์ ซึ่งจะนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ความสะดวกสบายในชีวิตของตนเอง (ชัชวาล ชาติสุทธิชัย, 2558, มกราคม 16)

พระสงฆ์เป็นตัวแทนของศีลธรรม แต่บางรูปกลายเป็นปัญหาหลักที่นำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ด้วยการกระทำที่ถูกมองว่าไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ปฏิบัติศีล และไม่ใช่กิจของสงฆ์ นำไปสู่การสร้างภาพเหมารวมของพระสงฆ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าการสร้างภาพเหมารวมเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อการทำความเข้าใจสังคม และเป็นธรรมชาติมนุษย์ที่มักสร้างภาพเหมารวมของสิ่งต่าง ๆ จากข้อมูลด้านลบจากปรากฏการณ์วิวาทะระหว่างพระกันเอง พระกับชาวบ้าน หรือพฤติกรรมการเสพสุรา เสพเมถุน ฯลฯ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งตามสื่อต่าง ๆดังนั้น ในเมื่อพระสงฆ์ถูกมองว่าไม่สามารถแยกแยะการปฏิบัติชั่วออกจากการปฏิบัติดีได้ ทำให้ความต้องการที่จะเรียนรู้หลักทางศาสนาเพื่อนำไปสู่การแยกแยะความชั่วออกจากความดีของคนในสังคมเกิดขึ้นน้อยลง และตัววัดเองก็มีน้อยแห่งนักที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งของการเรียนรู้ทางธรรม ปัจจุบันมีวัดจำนวนมากพยายามพัฒนาสร้างศาสนวัตถุและศาสนสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดผู้ที่หลงบุญได้นำเงินมาแลกกับบุญ หรือความสนุกสนานที่จะได้รับกลับไป คนแยกแยะไม่ออกถึงแก่นแท้ของการเข้าวัดของชาวพุทธ ไม่สามารถแยกแยะความเป็นวัดที่สั่งสอนพุทธศาสนาที่แท้จริงออกจากวัดพุทธพาณิชย์ และสุดท้ายวัดเหล่านี้ก็เป็นวัดที่ได้รับการกล่าวขวัญในรายการของสื่อหลักเมื่อนำเสนอเกี่ยวกับวัดที่ชาวพุทธไม่ควรพลาด เกิดการเรียนรู้ของการเข้าวัดเพื่อการท่องเที่ยว ก็ยิ่งทำให้ชาวพุทธห่างไกลศีลธรรมมากขึ้นทุกขณะ

ปัจจัยที่ผู้เขียนเอ่ยมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการที่จริยธรรมของคนในสังคมปัจเจกบุคคลเปลี่ยนไปนั้นเป็นเพราะการเปิดรับเอาแนวคิดอัตถนิยมเชิงจริยศาสตร์ ที่เชื่อในความคิดการตัดสินใจของตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นหลักมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ผลประโยชน์นั้นอาจถูกสื่อออกไปว่าเพื่อสังคมบ้าง แต่หลัก ๆ แล้วก็ยังใช้การสร้างประโยชน์นั้นเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ให้กับตนเองอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าการหาเงินช่วยเหลือครอบครัว หรือสังคม ก็นำการกระทำนั้นเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเอง อันจะนำไปสู่เป้าหมายของตนเองที่ตั้งไว้อย่างไรก็ตามแนวคิดอัตถนิยมเชิงจริยศาสตร์มีแนวโน้มว่าจะอยู่กับสังคมไทยที่จะมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกนาน และปัญหาของความวุ่นวายทางสังคมมักเกิดจากคนรุ่นก่อนมักต่อต้านแนวคิดใหม่ และคนรุ่นใหม่ละเลยแนวคิดของคนรุ่นเก่า ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจของคนที่อยู่ร่วมกันและปรับตัวให้เข้าสู่จุดสมดุล (homeostasis) ในความคิดความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมที่มีระเบียบ

เอกสารอ้างอิง 

ชัชวาล ชาติสุทธิชัย. (2558, มกราคม 16).  กิเลสคน-ไม่เข้าใครออกใคร.  สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9580000006062.

นันท์ณภัส พิศาลคณาวัฒน์. (2558, กรกฏาคม 28).  ค้นคำตอบ….ทำไมคนไทยห่างไกลวัด. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2561 จาก https://www.isranews.org/thaireform-other-news/40254-temple_40254.html.

สังคมไทยปัจจุบัน. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จากhttps://www.sites.google.com/site/loknasuksa/sangkhm-thiy-paccuban

Altruism & Ethical Theory. (nd.). สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2561 จาก http://www.evolutionaryethics.com/altruism.htm

Estacott, E. (2018, August 28).  What is ethical egoism?สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2561 จากhttps://www.thoughtco.com/what-is-ethical-egoism-3573630.

Grannan, C. (nd.).  What’s the difference between morality and ethics? สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2561 จาก https://www.britannica.com/story/whats-the-difference-between-morality-and-ethics.

Pensri Thodsaporn. (nd.).คุณธรรมและจริยธรรม : ต่างกันอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2561 จากhttps://www.gotoknow.org/posts/567761.

Susan AKA Peacefull. (2012, May 25).  Homeostasis as a Model of New Society. https://wpas.worldpeacefull.com/2012/05/homeostasis-as-a-model-for-a-new-human-society/.

The Hippo. (2561, ตุลาคม 2). จริงหรือ อยากรวยให้บวชพระ! เปิดรายได้ร่มกาสาวพัสตร์ ใช้จีวรตั้งตัว.  สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2561 จาก https://today.line.me/th/pc/article/จริงหรือ+อยากรวยให้บวชพระ+เปิดรายได้+ร่มกาสาวพัสตร์+ใช้+“จีวร”+ตั้งตัว-9Yw19r.

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ