คุณธรรม จริยธรรม ความเป็นพลเมือง พื้นฐานสำคัญของจริยธรรมนักสื่อสารมวลชน

คุณธรรม จริยธรรม ความเป็นพลเมือง

พื้นฐานสำคัญของจริยธรรมนักสื่อสารมวลชน

โดยผศ.ดร.บุปผา  บุญสมสุข

สาขาวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

คนดี มีความรู้คู่จริยธรรม คือคุณสมบัติของคนที่ชาติต้องการ   คุณสมบัตินี้จะเกิดได้ด้วยการศึกษา   ดร.สมเกียรติ บุญรอด ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้ให้เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างคนดีว่า “คุณธรรมและจริยธรรมของเด็กสำคัญมาก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยเด็กในวันนี้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะสร้างจริยธรรมและคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้ ต่อไปเราก็จะลำบาก”
และที่สำคัญ “ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบให้เด็ก เพราะการปฏิบัติให้เห็นเป็นให้ดู มีผลมากกว่าคำสอน ทั้งครูบาอาจารย์ ครอบครัวต้องเป็นต้นแบบให้กับเด็ก จริงอยู่ว่าการปลูกฝังเป็นหน้าที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” (มานิจ  สุขสมจิตร และสมเกียรติ บุญรอด, www.moe.go.th)

คุณธรรม และจริยธรรม มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีจริยธรรมได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีพื้นฐานทางความคิด ความรู้ ความเข้าใจ สามารถแยกแยะผิดถูก ควรไม่ควรได้จากคุณธรรมที่ถูกอบรมบ่มเพาะมาตั้งแต่บุคคลนั้นจำความได้

คุณธรรม จึงหมายถึง “สภาพคุณงามความดี” ซึ่งเป็นลักษณะหรือคุณสมบัติทางบวกที่ถือกันว่าดีงาม ทั้งทางกาย วาจา และใจ เช่น 1) ความจริงใจ ซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง 2) การฝึกฝนข่มใจ รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้า ด้วยปัญญาความรู้ 3) ความอดทน มีความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวในจุดมุ่งหมาย 4) ความเสียสละ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ต้องมีความเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง ผู้มีน้ำใจเสียสละ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทุกคนในสังคม ช่วยเหลือเท่าที่เห็นว่าสมควรจะช่วยเหลือได้ เห็นใครควรแก่การช่วยเหลือก็ช่วยเหลือตามกำลัง (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. http://www.onab.go.th )

ส่วนจริยธรรม หมายถึง การประพฤติ การปฏิบัติคุณงามความดี เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข  การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ หมายถึง ผู้เรียนได้กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติการจริงคือ ผู้เรียนได้ฝึกในสภาพสิ่งแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามวัยและได้ผลตามความคาดหวังของสังคมนั้น การจัดประสบการณ์จะให้ความสำคัญกับบทบาทการเรียนรู้ของเด็ก จึงได้มีการศึกษาแนวคิดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ การใช้แนวคิดที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือกระทำหรือการปฏิบัติในสภาพจริง จึงเป็นที่สนใจและนำมาใช้ ดังที่ประเทศไทยได้กำหนดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 เน้นให้มีแนวการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งกล่าวถึงการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติหรือลงมือกระทำ (ฐิติชญาน์   ราชคำสุข, https://mcpswis.mcp.ac.th) และเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น จะเปรียบเทียบคุณธรรม กับจริยธรรมให้เห็นในรูปตารางดังนี้

ดังนั้นถ้าต้องการให้สมาชิกในสังคมมีคุณธรรม จริยธรรม สิ่งแรกที่สังคมจะต้องมี คือ ปัจจัยเกื้อหนุนให้สมาชิกของสังคมได้รับรู้ถึงคุณธรรม และมีความรู้ความเข้าใจ วิเคราะห์แยกแยะสิ่งถูก สิ่งผิด สิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่ไม่ควรทำได้ ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าว ได้แก่ สถาบันครอบครัว สภาพแวดล้อมในชุมชน สถาบันการศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน สภาพแวดล้อมทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม เป็นต้น  ซึ่งสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้จะทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะ หรือที่เราเรียกกันในทางสังคมวิทยาว่า สังคมประกิต คือ การที่มนุษย์เรียนรู้วิธีการของแต่ละสังคมหรือของกลุ่มอย่างเพียงพอที่จะทำหน้าที่ตามแนวทางของสังคมนั้นได้ (Edwin P. Hollander. Social Psychology. p.119)

คุณธรรม และจริยธรรม คือเนื้อหาหลักที่สมาชิกของสังคมต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อที่จะทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ได้เป็นอย่างดี  การเรียนรู้ทางสังคมอาจทำได้ใน  2  ลักษณะ คือ  การเรียนรู้ทางตรง และการเรียนรู้ทางอ้อม จากครอบครัว  เพื่อน โรงเรียน ศาสนา กลุ่มอาชีพ สื่อมวลชน เป็นต้น

  1. ครอบครัว เป็นสถาบันแรกที่เด็กจะได้รับการอบรมสั่งสอนและจะมีความผูกพันทางสายโลหิตอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะมีผลทางอารมณ์ ความประพฤติ เจตคติ ตลอดจนบุคลิกภาพของบุคคลมากที่สุด เช่น พ่อแม่สั่งสอนให้ลูกเป็นคนกตัญญู เป็นต้น
  2. กลุ่มเพื่อน กลุ่มเพื่อนแต่ละกลุ่มย่อมมีระเบียบ ความเชื่อและค่านิยมเฉพาะกลุ่มตนเอง ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปตามลักษณะกลุ่ม เช่น การแต่งกาย กลุ่มเดียวกันก็จะแต่งกายคล้ายๆกัน
  3. โรงเรียน เป็นตัวแทนสังคมที่ทำหน้าที่โดยตรงในการเรียนรู้ของสมาชิกตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ด้วยการอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของสังคม ตลอดจนค่านิยมและทักษะอันจำเป็นให้แก่สมาชิกในสังคม
  4. ศาสนา เป็นตัวแทนในการขัดเกลาจิตใจของคนในสังคมยึดมั่นในสิ่งที่ดีงาม มีศีลธรรม จริยธรรม และความประพฤติในทางที่ถูกที่ควร โดยศาสนาจะมีอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อบุคคล ในการสร้างบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก
  5. กลุ่มอาชีพ อาชีพแต่ละประเภทจะมีการจัดระเบียบปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีอาชีพค้าขายจะต้องมีความซื่อสัตย์ไม่เอาเปรียบลูกค้า ผู้ที่เป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มต่างๆ ก็ต้องเรียนรู้ประเพณีของกลุ่มอาชีพที่ตนเป็นสมาชิกอยู่
  6. สื่อมวลชน มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารของสมาชิกในสังคม มีส่วนในการขัดเกลาทางสังคมแก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านความคิด ความเชื่อ แบบแผนการประพฤติปฏิบัติ จากการอ่านหนังสือพิมพ์ การฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ ตลอดจนการดูภาพยนตร์ โดยสิ่งที่เรียนรู้จะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก

การที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญของการเรียนการสอน วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาพระพุทธศาสนา และได้แต่งตั้ง นายวินัย รอดจ่าย ประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาพระพุทธศาสนา เพื่อวางแผนพัฒนาการสอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสดีของสังคมที่สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นสำคัญของการอบรมบ่มเพาะการเป็นพลเมืองที่ดี เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ให้กับสมาชิกของสังคมตั้งแต่เด็กและต่อเนื่องเรื่อยไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลใจ คือ เนื้อหาของวิชาส่วนใหญ่จะเป็นความรู้พื้นฐานมากกว่าหลักศีลธรรมจริยธรรม แม้จะมีเนื้อหาในส่วนที่เป็นการปฏิบัติตนในฐานะเป็นพลเมืองดี เป็นศาสนิกชนผู้รับถือศาสนาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในฐานะหลักศีลธรรมจริยธรรมที่สอดคล้องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ นอกจากนี้เนื้อหาของศีลธรรมและจริยธรรมที่ระบุไว้ ในสาระการเรียนรู้ก็เป็นหลักคำสอนทางศาสนามากกว่าจะมีความหมายของศีลธรรม และจริยธรรมในฐานะสำนึกชั่วดีทีเกิดจากการให้เหตุผลเชิงจริยธรรม และไม่สามารถแยกให้เห็นชัดเจนว่าเนื้อหาส่วนใดเป็นศีลธรรม และเนื้อหาส่วนใดเป็นจริยธรรม

ดังนั้น เพื่อให้สมาชิกของสังคมมีความเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่เด็ก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนทั้งในวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาคุณธรรม จริยธรรม อย่างจริงจังทั้งการบรรจุรายวิชาไว้ในหลักสูตร และวางแผนพัฒนาเนื้อหาโดยเน้นทักษะในการคิดวิเคราะห์ที่ เรียกว่า เหตุผลทางศีลธรรม มากขึ้น เพราะการมีทักษะความเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่เด็ก คือพื้นฐานสำคัญของการมีจริยธรรมทางวิชาชีพต่อไปในอนาคต

วิชาชีพสื่อมวลชน ก็เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะความเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม มาตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อเข้ามาประกอบวิชาชีพทางด้านสื่อสารมวลชนการเรียนรู้จริยธรรมสื่อมวลชนจึงเป็นเรื่องง่าย สามารถตัดสินใจเชิงจริยธรรมได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสมาชิกของสังคม ในทางกลับกันถ้าผู้ที่เข้ามาประกอบวิชาชีพไม่มีพื้นฐานของการเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม และจริยธรรม มาก่อน การเรียนรู้จริยธรรมวิชาชีพจะเกิดขึ้นได้ยากมาก ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมโดยตรง เพราะสื่อมวลชนเปรียบเสมือนโรงเรียน ที่สมาชิกของสังคมจะสามารถเรียนรู้ทางอ้อมได้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการเรียนรู้แบบไม่ได้ตั้งใจ ถ้าผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชนไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม และมาทำหน้าที่เป็นผู้อบรมบ่มเพาะสมาชิกของสังคม สมาชิกของสังคมก็จะไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ตามไปด้วย

รายการอ้างอิง

ฐิติชญาน์    ราชคำสุข. การเรียนรู้โดยการลงมือทำ. (ออนไลน์)  เข้าถึงได้จาก : https://mcpswis.mcp.ac.th (วันที่ค้นข้อมูล : 4 ธันวาคม 2561)

พุทธรักษ์ ปราบนอก.การสอนศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรมในโรงเรียนประถมศึกษา ของประเทศไทย.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มานิจ  สุขสมจิตร และสมเกียรติ บุญรอด.การศึกษาไทยยุคนี้ ต้องปั้นคนดีให้ชาติ.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก : www.moe.go.th (วันที่ค้นข้อมูล : 10 ธันวาคม 2561)

วิชัย ภู่โยธิน และคณะ.หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-ม.6 .พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ : อักษรเจริญทัศน์.

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ศีลธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก :  http://www.onab.go.th (วันที่ค้นข้อมูล : 4 ธันวาคม 2561)

 

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ