แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
เรื่อง การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย พ.ศ ๒๕๖๕
การศึกษาวิจัยจำนวนมากจากทั่วโลกยืนยันว่า การทำหน้าที่สื่ออย่างมีความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวหรือเรื่องราวการฆ่าตัวตาย มีผลต่อการลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามงานศึกษาวิจัยเช่นกันพบว่า วิธีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย รวมทั้งการใช้ภาษา ความยาว ความถี่ ในการนำเสนออย่างไม่ระมัดระวัง อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในคนบางกลุ่ม ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเพิ่มขึ้นของการฆ่าตัวตาย
ดังนั้น การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหรือเรื่องราวการฆ่าตัวตายอย่างระมัดระวัง ด้วยความรับผิดชอบ รวมทั้งการให้ข้อมูล คำแนะนำ ที่มีประโยชน์ อย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคม
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงเห็นสมควรให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ดังนี้
๑. ต้องไม่นำเสนอข่าวที่เน้นย้ำถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย การสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิด หรือสมาชิกครอบครัวของผู้ตายอย่างเจาะลึก อันอาจกระทบความรู้สึกเศร้าเสียใจของสมาชิกครอบครัว หรือผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต
๒. ต้องไม่เร่งสรุป หรือลดทอนความซับซ้อนของสาเหตุการฆ่าตัวตาย ทำให้เข้าใจว่าการฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุหรือปัญหาใดเพียงปัญหาหนึ่ง
๓. ต้องไม่นำเสนอเรื่องราวการฆ่าตัวตายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เมื่อเผชิญภาวะยากลำบากของชีวิต
๔. พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของผู้มีชื่อเสียง ดารา ศิลปิน โดยเฉพาะในแง่มุมความซาบซึ้งสะเทือนใจ
๕. พึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวเรื่องราวการฆ่าตัวตายเป็นข่าวหลัก หรือเป็นข่าวที่โดดเด่น เพื่อป้องกันการเร้าอารมณ์จนนำไปสู่การเลียนแบบ
๖. พึงหลีกเลี่ยงการเสนอรายละเอียดของวิธีการฆ่าตัวตาย สถานที่เกิดเหตุ จดหมายหรือข้อความลาตาย รวมทั้งการนำเสนออย่างซ้ำ ๆ เช่น คลิปภาพ
๗. พึงระมัดระวังการพาดหัวข่าว ความนำ รวมทั้งการนำเสนอเนื้อหาการฆ่าตัวตายที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ความสะเทือนใจ
๘. พึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่ฆ่าตัวตาย รวมทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพจำลอง และลิงก์โซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้อง
๙. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนควรใช้โอกาสที่เหมาะสมนำเสนอช่องทางการรับความช่วยเหลือ ข้อมูล คำแนะนำเรื่องการประเมินตนเอง การจัดการความเครียด สัญญาณเตือน หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตายร่วมด้วยทุกครั้งที่นำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย
๑๐. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนควรมีที่ปรึกษาหรือทำงานร่วมกับบุคลากรด้านจิตวิทยา ในการนำเสนข่าวการฆ่าตัวตาย
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕