แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง

แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

เรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง

สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง สถานการณ์ความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งมีความละเอียดอ่อน อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสาธารณชน ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในสังคมที่มีความเห็นต่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจะรุนแรงและกว้างขวาง เพราะข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นก็จะยังวนเวียนอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มีความหลากหลาย รอบด้าน เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ต้องยึดหลักความถูกต้องและข้อเท็จจริง ประโยชน์ต่อสาธารณะ ความสมดุลและเป็นธรรม การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปกปิดและเคารพแหล่งข่าว และการละเว้นอามิสสินจ้างและประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงกฎหมายเลือกตั้ง ระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น  “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” จึงกำหนดให้มีแนวปฏิบัติเรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

หมวด 1
คำนิยาม

ข้อ 1    แนวปฏิบัตินี้

“เลือกตั้ง” หมายถึง กระบวนการในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงสมาชิกวุฒิสภา และการออกเสียงประชามติด้วย แล้วแต่กรณี

“การออกเสียงประชามติ” หมายถึง การขอความเห็นชอบจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะส่งผลต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายอันอาจกระทบถึงประโยชน์ส่วนได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน โดยวิธีการให้ลงคะแนนออกเสียงประชามติโดยตรง   

“การเมือง” หมายถึง กระบวนการในการทำงาน ตัดสินใจ และการดำเนินการ ในการจัดสรรอำนาจ และทรัพยากรต่างๆในชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมถึงการกำหนด ใช้ และวินิจฉัยกฎเกณฑ์อย่างยุติธรรม เพื่อการควบคุมการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม

“การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน” หมายถึง กระบวนการในการสำรวจความคิดเห็น ความเชื่อ เจตคติ หรือพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมืองของสาธารณชน เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความคิดเห็น หรือท่าทีทั่วไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการสุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากร มีการซักถามด้วยคำถาม ตลอดจนมีการวิเคราะห์ข้อมูลและการรายงานผล เพื่อให้สาธารณชนทราบถึงการสำรวจนั้น

หมวด 2
หมวดทั่วไป

ข้อ 2    การนำเสนอข่าว ภาพข่าว เนื้อหาทั่วไป หรือรายงานเกี่ยวกับการเมืองและนโยบายสาธารณะ หรือความขัดแย้งทางการเมือง ต้องทำอย่างครบถ้วน รอบด้าน และตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนนำเสนอ

ข้อ 3    การนำเสนอข่าว ภาพข่าว เนื้อหาทั่วไป การเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ในการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต้องไม่นำเสนอให้เกินความจริงทางสถิติและข้อเท็จจริงของการสำรวจความคิดเห็นในสถานการณ์นั้นๆ

การเผยแพร่ผลการสำรวจต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และอ้างอิงแหล่งที่มา ระเบียบวิธีของการสำรวจข้อมูลของผลการสำรวจให้ชัดเจนทุกครั้งในการรายงาน ต้องไม่จงใจหรือเจตนาให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ หากมีการวิเคราะห์และตีความควรดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือนักวิเคราะห์อิสระที่มีประสบการณ์

ข้อ 4    สื่อมวลชนต้องแยกการแสดงความคิดเห็น การแสดงทัศนคติ หรืออคติส่วนตัวออกจากการรายงานข่าว ภาพข่าว หรือการนำเสนอเนื้อหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้ง

ข้อ 5    สื่อมวลชนต้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำที่อาจละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติยศ ความเป็นส่วนตัว และไม่ด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่ใช้ภาษาที่มีลักษณะการประณาม ก่นด่า ข่มขู่ และหลีกเลี่ยงเผยแพร่ถ้อยคำหาเสียงที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

ข้อ 6    การดำเนินรายการสนทนาทางการเมือง หรือการสัมภาษณ์ ตลอดจนการจัดเวทีอภิปรายของผู้สมัคร หรือผู้แทนพรรคการเมืองต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ร่วมรายการ พึงสนับสนุนมุมมองที่หลากหลาย โดยให้ทุกฝ่ายที่ร่วมรายการมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ถูกซักถาม หรือเสนอนโยบายอย่างสมดุล

ข้อ 7   สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอข่าว ภาพข่าว หรือเนื้อหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้ง ให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัว เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง หรือเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง

ข้อ 8    ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตนและวางตัวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาต่อความเป็นกลางในวิชาชีพ

ข้อ 9    การนำเสนอข่าว ภาพข่าว และเนื้อหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้ง พึงคำนึงถึงโอกาสความเท่าเทียมในพื้นที่สื่อของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือเล็ก

ข้อ 10   สื่อมวลชนพึงให้ความสำคัญกับเนื้อหาในเชิงนโยบาย สาระของการหาเสียง ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจใช้สิทธิของผู้มีสิทธิออกเสียง

ข้อ 11  ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามแนวปฏิบัติฉบับนี้หมายถึง ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการ สื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564

                                                                           สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

                                                                                11 เมษายน 2566

แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง (293 downloads )