แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวสงคราม หรือการสู้รบระหว่างประเทศ

แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
เรื่อง การนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ พ.ศ. 2565

          สืบเนื่องจากกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลกระทบต่อโลกในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และมนุษยธรรม อีกทั้งยังเป็นประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงในประเทศไทยด้วย 

          “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ได้ตระหนักถึงปัญหา ความท้าทาย และความซับซ้อนต่างๆ ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ปฏิบัติการสงครามข้อมูลข่าวสาร การแพร่หลายของข้อมูลลวง ข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลบิดเบือน ฯลฯ ขณะเดียวกัน สาธารณชนจำนวนมากได้สะท้อนความต้องการให้สื่อนำเสนอข่าวที่อธิบายเหตุการณ์อย่างเคร่งครัดในข้อเท็จจริง ชัดเจน น่าเชื่อถือ ปราศจากอคติและยึดมั่นในหลักจริยธรรมวิชาชีพ 

           ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เที่ยงตรง ธำรงจริยธรรมวิชาชีพ และมุ่งหวังให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างและดำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลกสืบไป “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” จึงเห็นสมควร จัดทำและประกาศใช้แนวปฏิบัติ เรื่อง “การนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ” ดังนี้ 

หมวดที่ 1: นิยามสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ ตามแนวปฏิบัตินี้

ข้อ 1 ในแนวปฏิบัตินี้ “สงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ” หมายถึง การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างคู่ขัดแย้งซึ่งมีสถานะเป็นรัฐหรือดินแดน ไม่ว่าจะมีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

หมวดที่ 2: ความถูกต้องของข้อมูล 

ข้อ 2 ต้องพยายามพิสูจน์ทราบหรือระบุแหล่งที่มาของภาพ คลิปวิดีโอ หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ก่อนนำมาเสนอประกอบข่าว เพราะอาจเป็นภาพหรือคลิปวิดีโอจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ในกรณีการใช้แฟ้มภาพข่าว ควรระบุวันที่และบริบทให้ชัดเจนด้วย

ข้อ 3 ต้องแก้ไขเนื้อหาข่าว การเผยแพร่ภาพ หากนำเสนอข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงโดยไม่ชักช้า รวมถึงชี้แจง และลบข้อมูลทุกช่องทางที่มีการเผยแพร่ ในกรณีที่เป็นความผิดพลาดร้ายแรง เพื่อไม่ให้สืบค้นย้อนหลังในระบบอินเทอร์เน็ต และลดการกระจายข้อมูลที่ผิดพลาด

ข้อ 4 พึงระมัดระวัง และรู้เท่าทันการนำเสนอข่าวสารทั้งจากทางการ และไม่ว่าจากฝ่ายใด รวมถึงปฏิบัติการจิตวิทยาทางข่าวสาร (Information Operation : IO) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ฝ่ายตนเอง และโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ข้อ 5 พึงเลือกเสนอข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในแง่ของความเป็นกลาง ความเที่ยงตรง และตั้งอยู่บนหลักจริยธรรม อีกทั้งระมัดระวังในการแปลเนื้อความหรือนำเสนอให้ถูกต้องตรงตามแหล่งข้อมูล

หมวดที่ 3: ความตระหนักถึงอารมณ์ ความรู้สึก และรูปแบบการเสนอข่าว

ข้อ 6 พึงระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาข่าวในแง่แสนยานุภาพ กำลังอาวุธ หรือยุทธวิธีเพียงอย่างเดียว และหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจว่าสงครามเป็นการแข่งขันกีฬาหรือเรื่องน่าตื่นเต้น

ข้อ 7 พึงระมัดระวังการเสนอภาพ หรือคลิปความสูญเสียที่สยดสยองหรือหวาดเสียว โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่นำความสูญเสียในสงครามเป็นเครื่องมือกระตุ้นยอดขาย หรือยอดคนดู

หมวดที่ 4: ความเป็นกลาง

ข้อ 8 พึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลหรือความคิดเห็นที่ผลิตซ้ำความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง และอคติต่างๆ หรือลดทอนความซับซ้อนของเหตุสงครามให้กลายเป็นเพียง “เรื่องความขัดแย้งในครอบครัว” หรือ “ฝ่ายธรรมะกับอธรรม” เป็นต้น

ข้อ 9 พึงระมัดระวังการใช้คำเรียกเปรียบเปรย หรือตั้งสมญานาม ซึ่งอาจลดทอนความน่าเชื่อถือของบุคคลและเหตุการณ์ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม  

ข้อ 10 พึงเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนของคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายนำเสนอมุมมองและข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์สงครามหรือการสู้รบนั้นอย่างเป็นธรรม และพึงระมัดระวังที่จะไม่ตกเป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายที่มีบทบาทในความขัดแย้ง

ข้อ 11 พึงแยกแยะระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ไม่ควรเหมารวมว่านโยบายของชาติเป็นเรื่องเดียวกับความคิดเห็นหรือทัศนคติของประชาชนทั้งหมดในชาติเสมอไป และควรแสวงหาแหล่งข้อมูล และแหล่งข่าวหลากหลายที่มิได้ขึ้นตรงกับรัฐเพียงอย่างเดียว 

หมวดที่ 5 บทบาทสื่อเพื่อสันติภาพ

ข้อ 12 พึงเสนอข่าวโดยให้ความสำคัญต่อหลักมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสงคราม (Rules of war) เช่น การใช้กำลังอย่างพอเหมาะและหลีกเลี่ยงความสูญเสียของพลเรือน การแยกแยะเป้าหมายทางทหารและพลเรือน การปฏิบัติต่อเชลยศึก การใช้อาวุธต้องห้ามตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น

ข้อ 13 พึงเสนอเนื้อหาข่าวโดยให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามไม่ว่าฝ่ายใด รวมถึงบทบาทของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยสงคราม และกระบวนการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในยามสงคราม ไม่ว่าฝ่ายใด

ข้อ 14 พึงเสนอข่าวโดยให้ความสำคัญกับความพยายามต่างๆ เพื่อยุติสงครามหรือลดความรุนแรงของการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสันติภาพ การเจรจาสงบศึก กระบวนการปลดอาวุธ ตลอดจนขบวนการของภาคประชาชนในการต่อต้านสงครามหรือความรุนแรง เป็นต้น 

ข้อ 15 พึงนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามโดยตระหนักว่า สื่อมวลชนสามารถมีบทบาทในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ โดยการเสนอข้อเท็จจริง ลดความเกลียดชังและอคติ นำหลักการสื่อสารมวลชนเพื่อสันติภาพ (Peace journalism) มาประยุกต์ในการทำงาน 

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

8 พฤศจิกายน 2565

651108แนวปฏิบัติข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ.pdf (314 downloads )