ข้อบังคับ ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๖๔

——————————————-

ตามที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ออกข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๔ มาใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป จึงเป็นการสมควรที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติต้องออกข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๖๔ ฉบับนี้ เพื่อไว้ใช้บังคับ ดังต่อไปนี้

หมวด ๑ บททั่วไป

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้ให้เรียกว่า ข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๒  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓  ในข้อบังคับนี้

“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓

“คณะกรรมการจริยธรรม” หมายถึง คณะกรรมการจริยธรรม ตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓

“คณะทำงาน” หมายถึง คณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน ตามข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๖๔

“คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ” หมายถึงคณะทำงานซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับให้สื่อมวลชนประพฤติอยู่ในกรอบจริยธรรมตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อ

“จริยธรรม” หมายถึง จริยธรรมแห่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

“เรื่องร้องเรียน” หมายถึงการร้องเรียนเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิก

“ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป” หมายถึง ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๒ การร้องเรียน

ข้อ ๔  การร้องเรียนว่าข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ที่ปรากฏในสื่อมวลชน หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิก ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าเสียหายหรือขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔  ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมด้วยหลักฐานต่อสื่อมวลชนนั้น เพื่อบรรเทาความเสียหายตามควรแก่กรณี

ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนมิได้ดำเนินการตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาและหากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีมูลให้ส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังสื่อมวลชนที่ถูกร้องเรียนโดยไม่ชักช้า

การร้องเรียนตามข้อนี้ สามารถกระทำโดยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนดได้ด้วย 

ข้อ ๕ เมื่อผู้ร้องเรียนได้ดำเนินการตามข้อ ๕ แล้วถูกปฏิเสธหรือเพิกเฉยจากสื่อมวลชนนั้นไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือการบรรเทาความเสียหายไม่เป็นที่พอใจ ผู้ร้องเรียนมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อพิจารณาต่อไป

ข้อ ๖  เมื่อความปรากฏแก่คณะกรรมการจริยธรรมว่า ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ในสื่อมวลชน หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ คณะกรรมการจริยธรรมมีสิทธิหยิบยกขึ้นดำเนินการพิจารณาได้

ข้อ ๗ การยื่นคำร้องเรียนสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ว่ามีพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุ ชื่อ อายุ ภูมิลำเนา ที่อยู่ อาชีพ และตำแหน่งหน้าที่ พร้อมด้วยหลักฐานประกอบการร้องเรียน ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ ตำแหน่งหน้าที่ หรือสื่อมวลชนที่ต้องการร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อดำเนินการพิจารณาตามข้อบังคับ

ในการยื่นเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการจริยธรรม หรือคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สามารถหยิบยกข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ในสื่อมวลชน หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาได้

เมื่อคณะกรรมการจริยธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนตามสองวรรคแรกแล้ว ให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาส่งหรือไม่ส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้คณะทำงานดำเนินการตามข้อบังคับโดยไม่ชักช้า

ในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณารับหรือไม่รับเรื่องร้องเรียน ต้องแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบพร้อมแสดงเหตุผลโดยไม่ชักช้า

ผู้ร้องเรียนมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวัน นับแต่วัน   ที่ทราบคำสั่ง

ข้อ ๘ การร้องเรียนให้กระทำภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ผู้ร้องเรียนทราบเรื่อง แต่หากคณะกรรมการจริยธรรมเห็นสมควรจะรับไว้พิจารณาตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓
ข้อ ๒๓ (๓) ก็ได้   

หมวด ๓ การรับเรื่องร้องเรียน

ข้อ ๙ เรื่องร้องเรียนตามหมวด ๒ ให้คณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียนรับเรื่องร้องเรียนนั้นไว้พิจารณา หากเห็นว่าเรื่องร้องเรียนนั้น ไม่ขัดต่อข้อบังคับนี้ ในหมวด ๒ และไม่ต้องห้ามตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๒๓

ข้อ ๑๐ เรื่องที่คณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ที่ปรากฏในสื่อมวลชน ที่เป็นสมาชิก หรือจากพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดสมาชิก ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน คณะกรรมการจริยธรรมมีสิทธิหยิบยกขึ้นพิจารณาและดำเนินการตามข้อ ๒๒ (๒) แห่งธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ก็ได้

ข้อ ๑๑ เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมมีมติรับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาแล้ว ให้แจ้งผู้ถูกร้องเรียน และสื่อมวลชนต้นสังกัดที่ผู้ถูกร้องเรียนเป็นสมาชิกทราบ พร้อมกับส่งเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ผู้ถูกร้องเรียนชี้แจงหรือแก้ข้อร้องเรียนภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ผู้ถูกร้องเรียนรับทราบเรื่องร้องเรียน

ข้อ ๑๒ การสละสิทธิชี้แจงหรือแก้ข้อร้องเรียน หรือกรณีที่ผู้ถูกร้องเรียนนำเรื่องที่ถูกร้องเรียนไปดำเนินคดีกับผู้ร้องเรียน  ไม่เป็นเหตุให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนยุติ

หมวด ๔ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน

ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณา คณะกรรมการจริยธรรมจะแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน เพื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องก็ได้

ข้อ ๑๔ ให้คณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือคณะทำงานเฉพาะเรื่องมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วัตถุพยาน และหลักฐานอื่นที่กฎหมายให้การยอมรับจากผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีอำนาจเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือขอเอกสารหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ในการพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งหมดทุกประเภท ให้ใช้วิธีการไต่สวนและค้นหาความจริง โดยให้รับฟังบันทึกคำพยานที่ได้ทำขึ้น แล้วสรุปความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ คณะกรรมการจริยธรรมอาจสั่งให้คณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือคณะทำงานเฉพาะเรื่อง ทำการไต่สวนเพิ่มเติมได้หากเห็นสมควรโดยไม่ชักช้า

 (๒) ดำเนินการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เรื่องร้องเรียนระหว่างคู่กรณี ตามที่เห็นสมควรได้

ข้อ ๑๕ เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมได้มีมติรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้พิจารณาเรื่องนั้นให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่มีมติรับเรื่องดังกล่าว และเมื่อได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนเสร็จแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการ และคู่กรณี ทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่การพิจารณาเสร็จสิ้น

ข้อ ๑๖ ภายใต้ ข้อ ๖ และข้อ ๘ แห่งข้อบังคับนี้ การพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรม จะต้องปรากฏชื่อผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน ตำแหน่ง หน้าที่ สังกัดสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๓ ถึงข้อกล่าวหาและคำแก้ข้อกล่าวหา พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงในการพิจารณา และผลการพิจารณาว่าละเมิดจริยธรรมหรือไม่ ข้อใด ประการใด และวัน เดือน ปี ของคำพิจารณาวินิจฉัย พร้อมด้วยความรับผิดทางจริยธรรม ตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๓

ข้อ ๑๗การประชุมของคณะกรรมการจริยธรรม จะต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจริยธรรม ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการจริยธรรม หรือบุคลากรในต้นสังกัด หรือต้นสังกัดของกรรมการในคณะกรรมการจริยธรรม เป็นผู้มีผลประโยชน์ขัดกันในเรื่องที่ร้องเรียนนั้น ให้กรรมการผู้นั้นออกจากที่ประชุมในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยให้ถือเป็นการงดออกเสียง

การลงมติให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุม หากเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงได้อีกครั้งหนึ่ง

ข้อ ๑๘ คณะกรรมการจริยธรรม คณะทำงาน และคณะทำงานเฉพาะตามข้อ ๑๕ ต้องรักษาความลับในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามระเบียบของคณะกรรมการจริยธรรมโดยเคร่งครัด การแถลง หรือให้ข่าวผลการพิจารณา ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานคณะกรรมการจริยธรรม หรือผู้ที่ประธานคณะกรรมการจริยธรรมมอบหมาย

ข้อ ๑๙ บรรดาเอกสารและถ้อยคำสำนวนเรื่องร้องเรียนจริยธรรมถือเป็นความลับ ให้มีการจัดเก็บรักษาอย่างเป็นระเบียบ มีทะเบียนรับส่งเพื่อสะดวกแก่การค้นหา และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทุกประเภท ต้องไม่เปิดเผยหรือนำไปใช้ในทางที่อาจเป็นผลให้ผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และหรือพยานบุคคล ได้รับความเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔