สื่อยังเสนอข่าวฆ่าตัวตายละเอียดยิบ เสี่ยงพฤติกรรมเลียนแบบ

สื่อยังเสนอข่าวฆ่าตัวตายละเอียดยิบ

เสี่ยงพฤติกรรมเลียนแบบ

จิตแพทย์ นักวิชาการ สื่อ ตั้งวงเสวนา กำชับต้องระวังการเสนอข่าวฆ่าตัวตาย ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบ-แนะทำงานร่วมผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา เผยผลศึกษาวิเคราะห์การเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย กรณี “ไมเคิล พูพาร์ท” ยังพบสื่อเจาะลึกสาเหตุและวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด อาจเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่ม

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนา Media Forum #16 ในหัวข้อ “แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย กับความเป็นจริงในการรายงานข่าว” ซึ่งเป็นการเสวนารูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom และถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า แม้ข้อบังคับจริยธรรมเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อ จะมีข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย

เช่น สื่อมวลชนต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตกเป็นข่าว  ต้องไม่นำเสนอข่าวในลักษณะเนื้อหาลามกอนาจารหรือน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนอย่างถี่ถ้วน รวมถึงละเว้นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเว้นแต่ประโยชน์สาธารณะ แต่คณะกรรมการชุดใหญ่ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สื่อมวลชนเกิดความตระหนัก

จึงเกิดการตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่างแนวปฏิบัติ และได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 เป็นแนวปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ไม่ใช่ที่มีอยู่เดิม โดยแนวปฏิบัตินี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ จิตแพทย์ องค์การพัฒนาเอกชน (NGO) นักวิชาการ บรรณาธิการสำนักข่าวต่างๆ จนออกมาเป็น 10 ข้อ ซึ่งจะมีทั้งเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง (Red Zone) เรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง (Yellow Zone) และเรื่องที่ควรนำเสนอ (Green Zone)

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนควรมีการปรึกษาหรือทำงานร่วมกับบุคลากรด้านจิตวิทยาในการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ก็อาจมีบ้างบางสื่อ ตรงนี้เคยปรารภไว้ในที่ประชุมของกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อาจจะเป็นภารกิจของสภาเอง ที่จะร่วมมือกับทางแพทยสภา ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อทำรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเหมือนเป็นทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ในเรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายไว้ แล้วก็ส่งไปยังสื่อสมาชิกของเรา ว่าท่านเหล่านี้พร้อมให้คำปรึกษากับสื่อมวลชน” นายชวรงค์ กล่าว

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “วิเคราะห์การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของ ไมเคิล พูพาร์ท กับ แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย พ.ศ.2565” ทำการศึกษา 2 แพลตฟอร์ม คือข่าวบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ และคลิปวีดีโอช่องยูทูบของสำนักข่าว ที่ Engagement สูงสุด 3 อันดับต่อวัน ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นเป็นช่วงที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องราวการฆ่าตัวตายของไมเคิล พูพาร์ท สูงสุด อ้างอิงฐานข้อมูลจาก Wisesight

ทั้งนี้ ไมเคิล พูพาร์ท เป็นดารานักแสดงชื่อดังในยุคสมัยหนึ่ง ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ดังนั้นข่าวการฆ่าตัวตายจึงได้รับความสนใจจากสังคม โดยการศึกษาแบ่งตาม 3 ระดับของแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย พ.ศ.2565 ประกอบด้วย “สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอ” หรือ Red Zone มีทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.ไม่นำเสนอข่าวที่เน้นย้ำถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย การสัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลใกล้ชิด

2.ไม่นำเสนอเรื่องราวการฆ่าตัวตายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เมื่อเผชิญภาวะยากลำบาก 3.หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายเป็นข่าวหลัก ข่าวที่โดดเด่น 4.หลีกเลี่ยงการเสนอรายละเอียดของวิธีการฆ่าตัวตาย สถานที่เกิดเหตุ จดหมายหรือข้อความลาตาย รวมทั้งการนำเสนออย่างซ้ำๆ และ 5.ไม่เร่งสรุป การฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุหรือปัญหาใดเพียงปัญหาหนึ่ง

“สิ่งที่ต้องใช้ความระมัดระวัง” หรือ Yellow Zone มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1.ระมัดระวังอย่างยิ่งในการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของผู้มีชื่อเสียง ดารา ศิลปิน 2.ระมัดระวังการพาดหัวข่าว ความนำ เนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ความสะเทือนใจ และ 3.ระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่ฆ่าตัวตาย และ “สิ่งที่ควรนำเสนอ” หรือ Green Zone มีทั้งหมด 2 ข้อ คือ 1.ควรใช้โอกาสที่เหมาะสมนำเสนอช่องทางการรับความช่วยเหลือ ข้อมูล คำแนะนำ และ 2.ควรมีที่ปรึกษาหรือทำงานกับบุคลากรด้านจิตวิทยา ในการเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย

พบว่า ในส่วนของสิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่ควรนำเสนอ พบการเสนอข่าวโดยเน้นย้ำถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย การสัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลใกล้ชิด การเสนอรายละเอียดของวิธีการฆ่าตัวตาย สถานที่เกิดเหตุ จดหมายหรือข้อความลาตาย และเสนอข่าวฆ่าตัวตายเป็นข่าวหลัก ข่าวที่โดดเด่น แต่ไม่พบการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และการเสนอข่าวแบบเร่งสรุปการฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุหรือปัญหาใดเพียงปัญหาหนึ่ง

ในส่วนของสิ่งที่ควรใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอ พบการพาดหัวข่าว ความนำ เนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ความสะเทือนใจ และการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่ฆ่าตัวตาย ซึ่งมีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การจำลองเหตุการณ์ และ Link จากสื่อสังคมออนไลน์ และในส่วนของสิ่งที่ควรนำเสนอ พบการนำเสนอคำแนะนำหรือทางออก รวมถึงข้อมูลช่องทางการรับความช่วยเหลือใต้คลิป (กรณีนำเสนอเป็นคลิปวีดีโอผ่านช่องยูทูบ) แต่ไม่พบการนำเสนองานวิจัย บทความ/ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

ซึ่งบทวิเคราะห์และข้อเสนอของผลการศึกษานี้ 1.สื่อที่เป็นหน่วยการศึกษา มิได้ระมัดระวังในทุกข้อของแนว-ปฏิบัติฯ อาจเพราะเป็นแบบแผนที่สื่อมักนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายเพื่อเร้าอารมณ์ กระตุ้นความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุกับผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เกณฑ์ “พึงนำเสนออย่างระมัดระวัง” ค่อนข้างเป็นเรื่องของวิจารณญาณทั้งในการนำเสนอ และการตัดสิน แม้ในการศึกษาครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในการติดตามและตักเตือน ซึ่งคงต้องสะสมข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์จากรูปธรรมในแต่ละกรณี

2.สื่อที่เป็นหน่วยการศึกษา มีการนำเสนอสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง/สิ่งที่ไม่ควรนำเสนอ โดยเฉพาะ สาเหตุของการฆ่าตัวตาย รายละเอียดสภาพศพ บาดแผล สภาพห้อง อาวุธ-ปืน วิธีการฆ่าตัวตาย การสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดอย่างเจาะลึก คลิปเสียงสั่งลาของผู้เสียชีวิตฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตาย การละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล ครอบครัว ผู้ใกล้ชิด ทั้งการนำเสนอสาเหตุและวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด อาจเข้าข่ายสร้างความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น

ผลการพิจารณาว่าสื่อใดนำเสนอสิ่งที่ไม่ควรนำเสนอหรือพึงหลีกเลี่ยง อาจต้องมีการอธิบายเหตุผลในเชิงหลักการและวิชาการ  เช่น หลักการสิทธิมนุษยชน วิชาการด้านจิตวิทยา จิตวิทยาสังคม ฯลฯ ประกอบกับหลักมาตรฐานและจริยธรรมสื่อมวลชนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อาจต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติฯ คือมีที่ปรึกษาหรือทำงานร่วมกับบุคลากรด้านจิตวิทยา ในการพิจารณากรณีมีการละเมิดแนวปฏิบัติฯ

3.ตามเกณฑ์สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่ไม่ควรนำเสนอการศึกษาครั้งนี้ พบว่า สื่อที่เป็นหน่วยการศึกษา ไม่มีการนำเสนอให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เมื่อเผชิญภาวะยากลำบากของชีวิต รวมทั้งไม่พบการนำเสนอข่าวที่เร่งสรุป หรือลดทอนความซับซ้อนของสาเหตุการฆ่าตัวตาย ทำให้เข้าใจว่า การฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุหรือปัญหาใดเพียงปัญหา

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ควรสร้างแรงจูงใจทางบวกให้สื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลความรู้เมื่อรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย โดยอาจจัดทำคู่มือสื่อมวลชนที่พัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิชาชีพสื่อมวลชน และนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือเป็นการพัฒนาจากองค์ความรู้สากลสำหรับสื่อมวลชน

4.สื่อที่เป็นหน่วยการศึกษา เห็นความสำคัญของการให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ แต่เป็นการสัมภาษณ์ญาตินักแสดงที่เคยร่วมงาน นักแสดงที่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามิใช่การสัมภาษณ์ที่ออกแบบเพื่อเป็นการให้ข้อมูลความรู้คำแนะนำจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ อาจเป็นเพราะข้อจำกัดของการติดตามรายงานที่เน้นบุคคลและเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับผู้ตาย และอาจด้วยความสนใจในวาระข่าวเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ตายเป็นสำคัญ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติควรสนับสนุนข้อมูลความรู้ และเป็นร่มใหญ่ในการจัดทำความร่วมมือกับหน่วยงาน/องค์กรที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและการลดปัญหาฆ่าตัวตาย เพื่อให้สื่อมีบทบาทในการทำหน้าที่เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตาย

และ 5.การศึกษาครั้งนี้เป็นการทดลองนำแนวปฏิบัติไปใช้กับความเป็นจริงของการรายงานข่าว เพื่อให้ผลการศึกษาครั้งนี้ กระตุ้นปฏิบัติการการใช้แนวปฏิบัติกับสถานการณ์จริงของ การรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย เพื่อยกระดับคุณภาพสื่อมวลชน โดยเฉพาะในการลดปัญหาการฆ่าตัวตาย อันเป็นความสูญเสียร่วมกันของสังคม

“การนำเสนอสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรือสิ่งที่สื่อไม่ควรนำเสนอ ลักษณะที่พบสูงสุดในทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ก็คือการเน้นย้ำสาเหตุ การสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดอย่างเจาะลึก คำว่าเน้นย้ำวัดเป็นรูปธรรมได้ด้วย อย่างกรณีคลิปข่าว นำเสนอยาวนาน 10 กว่านาที ประเด็นที่ถามก็เจาะลึก ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ ปมความสัมพันธ์ในครอบครัว ปมความสัมพันธ์กับอดีตคนรัก อะไรอย่างนี้เป็นต้น

รองลงมาในหมวดของการนำเสนอสิ่งที่ไม่ควรนำเสนอ ก็คือรายละเอียดการฆ่าตัวตาย ซึ่งในแนวปฏิบัติก็พูดไว้ว่าไม่ควรลงรายละเอียด แต่ที่ทีมเราพบก็อย่างเช่น บ้านเลขที่ ก็มีทั้งชัดเจน ค่อนข้างชัดเจน หรือสภาพของผู้เสียชีวิต มีการบรรยาย อาจจะมีการเบลอภาพก็ได้ หรือบางทีก็ไม่เบลอภาพ เช่น ภาพการขนย้ายร่าง แม้จะมีผ้าห่อ บางช่องบางคลิปก็ไม่มีการพรางภาพ แล้วก็พบคลิปเสียงร่ำลาของผู้เสียชีวิต ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิตโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนำเสนอเรื่องราวการฆ่าตัวตายสามารถก่อผลกระทบกับสังคมได้ โดยย้อนไปในปี 2317 (ค.ศ.1774) โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ (Johann Wolfgang von Goethe) กวีชื่อดังชาวเยอรมัน ได้ตีพิมพ์นิยายเรื่อง “Die Leiden des jungen Werthers (The Sorrows of Young Werther : แวเธ่อร์ระทม)” เนื้อหาประมาณชายหนุ่มชื่อแวเธ่อร์ ผู้ผิดหวังในความรักและพยายามฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืน

ซึ่งประเด็นที่กลายเป็นปัญหาในเวลาต่อมา คือนิยายเรื่องนี้ เกอเธ บรรยายฉากการฆ่าตัวตายยาวถึง 2 ตอนกว่าที่ แวเธ่อร์ ตัวเอกของเรื่องจะเสียชีวิต โดยในช่วง 10 ปีนับจากวันที่นิยายถูกเผยแพร่ในวงกว้าง พบเหตุฆ่าตัวตายที่ผู้ตายแต่งตัวด้วยการสวมเสื้อสีฟ้าและสวมกางเกงสีเหลือง อันเป็นการแต่งตัวเลียนแบบตัวเอกจากนิยายในฉากการฆ่าตัวตาย ข้อค้นพบนี้ใหญ่มากถึงขั้นที่ภาครัฐต้องประกาศให้ The Sorrows of Young Werther เป็นหนังสือต้องห้าม นิยายเรื่องดังกล่าวยังเป็นที่มาของคำว่า Werther Effect หมายถึงพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (Copycat Suicide)

โดยมีการศึกษาพบว่า “การนำเสนอรายละเอียดของข่าวการฆ่าตัวตายละเอียดเกินไป เช่น อายุ อาชีพ วิธีการฆ่าตัวตาย อาจไปกระตุ้นให้คนที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับผู้ตายก่อเหตุกับตนเองแบบเดียวกัน” โดยในประเทศไทยก็มีตัวอย่าง อาทิ ในช่วงที่มีข่าวคนฆ่าตัวตายด้วยการรมควันในรถ ซึ่งมีการเสนอข่าวละเอียดกถึงราคาอุปกรณ์ วิธีการซื้ออุปกรณ์มาฆ่าตัวตาย การเก็บข้อมูลชองกรมสุขภาพจิต พบการฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้น 5-6 เท่า หรือในช่วงที่มีข่าวฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงจากสะพาน ข้อมูลในรอบ 6 เดือนก็พบการฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าด้วย

ในทางตรงข้าม การนำเสนอเรื่องราวการฆ่าตัวตายในเชิงสร้างสรรค์ ก็สามารถช่วยลดจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายได้เช่นกัน โดยมีคำว่า Papageno Effect มีที่มาจากบทอุปรากร “Die Zauberflote (The Magic Flute : ขลุ่ยวิเศษ)” ซึ่งประพันธ์โดย โวล์ฟกัง อมาดิอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) กวีและนักประพันธ์เพลงชื่อดังชาวเยอรมัน ออกแสดงในปี 2334 (ค.ศ.1791) เนื้องเรื่องในตอนหนึ่งกล่าวถึง ปาปาจิโน (Papageno) ผู้กำลังคิดฆ่าตัวตาย แต่มีเทวดามาเป่าขลุ่ยเรียกสติไว้ก่อนทำให้เลิกล้มความตั้งใจนั้น

“Papageno Effect หมายความว่า สื่อเองถ้าสามารถนำเสนอเรื่องราวการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ไม่นำเสนอเนื้อหาอย่างละเอียด นำเสนอช่องทางการประเมินตัวเอง วิธีการประเมินตัวเอง การติดต่อคนใกล้ชิด การติดต่อหน่วยงานภาครัฐ โทรสายด่วน 1323 (สายด่วนสุขภาพจิต) การนำเสนอข่าวพวกนี้เพิ่มเติมเป็นอัตราส่วนที่มากเพียงพอ จะทำให้เกิด Papageno Effect คือผลป้องกันในการฆ่าตัวตาย ซึ่ง Papageno Effect มีการศึกษาทั่วโลก แล้วค่อนข้างได้ผลที่ยืนยันชัดเจน” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

รศ.ดร.นิธิดา แสงสิงห์แก้ว อาจารย์ประจําคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในข่าวการฆ่าตัวตายมีการผลิตซ้ำชุดถ้อยคำ ที่หลายคำสามารถพบได้ในหน้าสื่อมานานแล้วและยังคงพบเห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน อาทิ “สุดเศร้า” , “ช็อก” , “สลด” , “ร่างไร้วิญญาณ” เป็นต้น ซึ่งสะท้อนภาพการตีตราบางอย่าง หรือการทำให้ข่าวเป็นดรามา มีเนื้อเรื่องและตัวละคร แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมองเห็นความหวัง เช่น พบการพาดหัวข่าวที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเห็นอกเห็นใจ อยากส่งกำลังใจช่วยบุคคลที่เพิ่งสูญเสียคนในครอบครัวไป

อนึ่ง จากผลการศึกษาข้างต้นของ ผศ.ดร.เอื้อจิต พบการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ยังนำเสนอเพียงเป็นเหตุการณ์ ยังไปไม่ถึงการยกระดับสู่ปรากฎการณ์ หมายถึงทำให้ข่าวการฆ่าตัวตายเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แต่การนำเสนอข่าวแบบเป็นเหตุการณ์ มีข้อควรตระหนักคือ ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อใด นำเสนอได้ปกติ แต่ทำเพราะอะไรและทำอย่างไร ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ ซึ่งในการนำเสนอกลับให้ความสำคัญกับการทำเพราะอะไรและทำอย่างไรเร็วเกินไป อาทิ สาเหตุของการฆ่าตัวตายยังไม่ชัดเจน และมักมีหลายสาเหตุประกอบกันไม่ใช่สาเหตุเดียว

โดยการยกระดับจากการรายงานข่าวเชิงเหตุการณ์สู่การสร้างปรากฎการณ์ คือการรวบรวมข้อมูล รวบรวมสถิติมาใช้ประกอบ เพื่อให้เกิดการตีความและต่อยอดความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้องจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เช่น ช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19  สถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น แม้ไม่ได้บอกโดยตรงว่าโควิดทำให้คนฆ่าตัวตาย แต่ทำให้มองเห็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าตัวตาย หรือมีตัวอย่างจาก World Economics Forum ที่คำนวณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หากคน 1 คนฆ่าตัวตาย เป็นต้น

“มีข้อมูลบอกว่าในทุกๆ 2 ชั่วโมง เรามี 1 คนที่ฆ่าตัวตาย ในขณะที่ทุกๆ 9 นาที 55 วินาที จะมีคน 1 คนพยายามฆ่าตัวตาย ดังนั้นเราใช้เวลาคุยกัน 120 นาที บวกลบ แปลว่ามี 12 คนที่กำลังพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าเรามองแบบนี้ ข่าวไม่ใช่แค่การรายงานใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่ข่าวจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิด Awareness (การตระหนักรู้) สามารถยกระดับแล้วสามารถทำให้ปรากฎการณ์การฆ่าตัวตายกลายเป็รเรื่องรวมกลุ่มรวมหมู่ที่ทุกคนต้องตระหนัก” รศ.ดร.นิธิดา กล่าว

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เล่าย้อนเหตุการณ์ในปี 2559 กรณีอาจารย์ก่อเหตุยิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต ก่อนหลบหนีแล้วไปถูกตำรวจล้อมจับที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เวลานั้นสื่อมวลชนหลายสำนักไปเกาะติดสถานการณ์การเจรจาของตำรวจให้มอบตัว ก่อนจะจบลงด้วยอาจารย์ท่านนี้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ว่า ในเวลานั้นตนทำงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี และเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์นี้

ซึ่งสาเหตุที่ตนสั่งการให้ทีมงานถ่ายทอดสด เพราะต้องการให้สื่อช่วยกดดันตำรวจอย่าวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหา ขอให้ใช้วิธีการเจรจา แต่เมื่อสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายก็ยอมรับ และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้ 2 เรื่อง คือ การดีเลย์สัญญาณภาพจากสถานที่เกิดเหตุก่อนออกอากาศ ประมาณ 10-15 นาที และการสร้างโมเสกเพื่อบังภาพในวินาทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น รวมถึงการกำชับช่างภาพให้ระมัดระวังการถ่ายภาพที่น่าหวาดเสียว แต่ทั้งหมดก็ยังไม่เพียงพอ เพราะจริงๆ แล้วไม่ควรมีภาพลักษณะนี้ออกอากาศ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากทำให้การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆ สามารถทำได้ตลอดเวลา ทั้งจากผู้สื่อข่าวและบุคคลอื่นๆ ที่ผ่านมาตนพูดในหลายเวทีว่าองค์กรสื่อต้องการเครื่องมือ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรนำสัญญาณการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์เข้าสู่อินเตอร์เน็ต แล้วใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบว่าแต่ละช่องได้เสนอข่าวแบบละเมิดจริยธรรมสื่อมาก-น้อย เพียงใด และรายงานต่อสาธารณะ ผู้บริหารสื่อและเจ้าของสื่อ

“แปลกใจที่ทุกคนยอมรับนโยบายของเฟซบุ๊ก ของยูทูบ ในการกำหนดภาพที่ล่อแหลม ข้อความที่หมิ่นเหม่ ทุกคนเมื่อเข้ามาสู่กติกานี้แล้วยอมรับและพยายามควบคุม เพราะถ้าคุณไม่ทำแพลตฟอร์มก็จะจำกัดการเข้าถึง จำกัดการรับชม จำกัดรายได้ และสุดท้ายคือเขาพักการออกอากาศคุณบนเพลตฟอร์ม ทำไมยอมรับได้ เพราะกลัวจะเกิด 3-4 อย่างนี้ขึ้นมา ในขณะที่ กสทช. ในยุคที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่เดียวกับที่แพลตฟอร์มทำ ดังนั้นถ้า กสทช. ยุคนี้มีข้อมูลจากซอฟต์แวร์ที่เชื่อถือได้ โดยการกำหนดกติกาของกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มอาจารย์ กลุ่มองค์กรสื่อ

กติกานี้ยอมรับได้แล้วใส่มันลงไปในซอฟต์แวร์ แล้วรายงานมันออกมา ข้อมูลตรงนี้เชื่อว่า แม้บางสื่ออาจจะรับฟังแล้วละเลย แต่สาธารณะต้องได้รับฟังข้อมูลนี้อย่างชัดเจน และข้อมูลเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับสมาคม Media Agency องค์กรด้านภาษี องค์กรด้านสังคม เพื่อจะบอกว่าถ้ามันมีสื่อสัก 5-10 สื่อ มีข้อมูลรายงานชัดเจน คุณยังคงเชื่อมั่นกับการนำเสนอข่าวเขาหรือ ยังเชื่อมั่นกับการจัดสรรรายได้เม็ดเงินโฆษณากับสื่อที่ถูกรายงานว่าละเมิดจริยธรรมอย่างต่อเนื่องและละเลยที่จะแก้ไขหรือ” นายพีระวัฒน์ กล่าว

นายนพปฎล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า ในฐานะสื่อที่นำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังเห็นการละเมิดบ้างเพื่อการรายงานข่าวที่ต้องทันเหตุการณ์ หรือข่าวประจำวันที่ต้องเร็วกว่าที่อื่น ประเด็นต้องดีกว่าที่อื่น มีอะไรน่าสนใจกว่าที่อื่น ซึ่งมีผลต่อเรตติ้งอันหมายถึงรายได้ที่จะตามมา เป็นเรื่องที่ทุกๆ สื่อทั้งสู้กับตนเอง ทั้งขับเคี่ยวกับเพื่อนๆ ในสนามข่าวเดียวกัน

ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้ กสทช. ทำระบบข้อมูลแล้วแยกให้ชัด สื่อใดทำผิดพลาดหรือไม่ทำตามกติกาอยู่บ่อยครั้ง ก็อาจถูกรายงานไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ทั้งผู้บริโภคสื่อและผู้ให้โฆษณา อย่างไรก็ตาม กรณีข่าวบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมฆ่าตัวตาย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอภูมิหลังเรื่องราวรอบข้าง ทั้งผู้สื่อข่าวภาคสนามและในกองบรรณาธิการยังมองว่าสำคัญและมีคุณค่า แต่ก็พยายามระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนแก่คนที่อยู่ข้างหลัง

ส่วนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยานั้นมีการส่งผู้ข่าวไปสัมภาษณ์ แต่อาจทำได้ล่าช้ากว่าข่าวที่เป็นเหตุการณ์ซึ่งต้องนำเสนอในแต่ละวัน จึงไม่ถูกยกมาเป็นข่าวเด่น ข่าวใหญ่ ข่าวพาดหัว หรือข่าวปักหมุดที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก-หน้าเว็บไซต์สำนักข่าว เพราะอาจมีข่าวอื่นที่สำคัญกว่า แต่ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสื่อและรับผิดชอบโต๊ะข่าวอาชญากรรมโดยเฉพาะ ก็พร้อมรับคำแนะนำไปปรับการทำงานของผู้สื่อข่าวในสังกัด

“ในส่วนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรากำลังจะทำเวที เชิญนักวิชาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องของจิตวิทยามานั่งพูดคุย และอาจขอข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพราะว่าการฆ่าตัวตายมันมีโอกาสเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัยและทุกอาชีพ ทุกระดับด้วยซ้ำไป ที่คุ้นเคยมากคือจะเป็นตำรวจที่มีอาวุธอยู่กับตัว แวบเดียวเขาอาจจะใช้อาวุธ ยิงตัวเองไม่พอบางครั้งยิงลูกยิงเมียด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นโดยเฉพาะ” นายนพปฎล กล่าว


ผลการศึกษา วิเคราะห์ การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของไมเคิล พูพาร์ต