สภาการสื่อฯ เห็นชอบแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เห็นชอบแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเรื่องการมีส่วนร่วมของสื่อในงานประชุมเอเปค เพื่อเสริมภาพลักษณ์ประเทศ  นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแต่งตั้ง “ชาย ปถะคามินทร์” เป็นผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนด้วย

น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ พ.ศ.2565

สืบเนื่องจากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลกระทบต่อโลกในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และมนุษยธรรม อีกทั้งยังเป็นประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงในประเทศไทยด้วย 

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ตระหนักถึงปัญหา ความท้าทาย และความซับซ้อนต่างๆ ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ปฏิบัติการสงครามข้อมูลข่าวสาร การแพร่หลายของข้อมูลลวง ข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลบิดเบือน ขณะเดียวกัน สาธารณชนจำนวนมากได้สะท้อนความต้องการให้สื่อนำเสนอข่าวที่อธิบายเหตุการณ์อย่างเคร่งครัดในข้อเท็จจริง ชัดเจน น่าเชื่อถือ ปราศจากอคติ และยึดมั่นในหลักจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เที่ยงตรง ธำรงจริยธรรมวิชาชีพ และมุ่งหวังให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างและดำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลกสืบไป

สำหรับแนวปฏิบัติดังกล่าว มีทั้งสิ้น 5 หมวด 15 ข้อ ประกอบด้วย หมวดที่ 1 นิยาม หมวดที่ 2 ความถูกต้องของข้อมูล หมวดที่ 3 ความตระหนักถึงอารมณ์ ความรู้สึก และรูปแบบการเสนอข่าว หมวดที่ 4 ความเป็นกลาง และหมวดที่ 5 บทบาทสื่อเพื่อสันติภาพ (อ่านต่อ : https://www.presscouncil.or.th/regulation/8306)

น.ส.นิภาวรรณ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวปฏิบัติดังกล่าว ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และเห็นว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในข้อ 15 ซึ่งระบุว่า พึงนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามโดยตระหนักว่า สื่อมวลชนสามารถมีบทบาทในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ โดยการเสนอข้อเท็จจริง ลดความเกลียดชังและอคติ นำหลักการสื่อสารมวลชนเพื่อสันติภาพ (Peace journalism) มาประยุกต์ในการทำงาน นับเป็นการสร้างมิติใหม่ในการทำงานของสื่อมวลชนด้วย 

น.ส.นิภาวรรณ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เสนอแนะให้สื่อมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์การประชุมเอเปค เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปในเชิงบวก และเพื่อให้การจัดประชุมผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งจากการหารือเบื้องต้น พบว่าการทำหน้าที่ของสื่อค่อนข้างลำบาก เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเตรียมพร้อมมาตรการรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่เข้มงวดอย่างมาก ซึ่ง ดร.พิเชฐรับว่าจะช่วยหารือกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เปิดกว้างให้สื่อมากกว่านี้ รวมถึงยังมีการเสนอแนะให้สื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม APEC CEO FORUM ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ หลังไทยเปิดประเทศเต็มที่แล้ว

น.ส.นิภาวรรณา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแต่งตั้งนายชาย ปถะคามินทร์ เป็นผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอีกด้วย