การเมืองเข้มข้น สื่อต้องยิ่งรู้กว้างรู้ลึก

นักวิชาชีพชี้การเมืองเข้มข้น แข่งเดือด “นโยบายประชานิยม” สื่อต้องรู้ลึกรู้กว้าง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย เพื่อให้รู้ทันสถานการณ์ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะข่าวการเมือง-เศรษฐกิจที่แยกกันไม่ข  าด ยืนยันการอธิบายข่าวผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ ย่อยเรื่องให้ง่าย จำเป็นในการสื่อสารกับคนหลายเจนในสังคม ชี้ TikTok มาแรง ทะลุ 40 ล้านคน แซง Facebook ขณะที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ส่งแนวปฏิบัติใหม่ การนำเสนอข่าวการเมืองประเดิมเลือกตั้ง 66 ครอบคลุมทั้งการทำข่าวและการปฏิบัติตัว

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “นโยบายประชานิยม สื่อต้องรู้ลึกแค่ไหน” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจนโยบาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองด้วยนโยบายประชานิยม และรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งถูกหลายภาคส่วนในสังคมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่สื่อมวลชนจำเป็นต้องรู้ลึกแค่ไหน ในการทำหน้าที่สื่อสารให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยความเข้าใจและรู้ทันนโยบายหาเสียงเหล่านี้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่อาจจะมีความซับซ้อน

การเมืองเข้มข้นสื่อต้องรู้กว้างรู้ลึก

มงคล บางประภา มองว่า ยิ่งการเมืองเข้มข้น โอกาสการรับรู้ข้อมูลทางโซเชียลกว้างขวางขึ้น สื่อมวลชนก็ต้อง รู้กว้างและรู้ลึกขึ้น สื่อสายการเมืองก็ต้องรู้เรื่องราวของสายเศรษฐกิจ สื่อเศรษฐกิจก็ต้องรู้ทันความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย จะไปจมเฉพาะสายตัวเองก็ไม่ได้ คือต้องรู้กว้าง  ส่วนรู้ลึกสื่อสายการเมืองก็ต้องรู้ลึกลงไปในกติกาเงื่อนไข การเปลี่ยนแปลงที่จะเกี่ยวพันถึงกระบวนการทำงานของพรรคการเมือง และรัฐบาลด้วย 

สิ่งที่เราพูดกันวันนี้ มันมีผลพวงที่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดวินัยการเงินการคลังขึ้นมา ก็ต้องมีแนวคิดว่าจะปล่อยให้ผู้บริหารประเทศกู้เงินล่วงหน้าไปอีก 10 -20 ปีเหมือนอย่างในอดีตไม่ได้แล้ว มันจะเกิดอันตราย ซึ่งมีการพูดถึงบางประเทศที่ที่ใช้จ่ายเกินตัวแล้วเกิดภาวะล้มละลายเป็นอุทธาหรณ์ สิ่งเหล่านี้ก็มาถึงการหาเสียงด้วย เพราะฉะนั้นการหาเสียงครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงผลพวงที่ตามมา ก็คือกติกาที่ กกต. บอกว่า พรรคการเมืองที่หาเสียงเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน จะทำต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 

1. มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2. ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3. ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องอธิบาย

ทั้งนี้สิ่งที่ปรากฏขึ้น ทำให้ กกต.ต้องออกมาเตือน ให้มีคำอธิบายเหล่านี้ ทั้งที่พรรคการเมืองต้องดูกติกา และการที่ทวงแล้วพรรคการเมืองยังต้องใช้เวลาในการอธิบาย สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองไม่ได้คิดถึงกรอบกว้างในอนาคต คิดแต่ว่าพูดอย่างไรถึงจะได้เสียงมา นี่คือความเสี่ยง เพราะหากได้มาเป็นรัฐบาล เรื่องที่สัญญาแล้วต้องทำ ถ้าทำแล้ว ภาวะเศรษฐกิจไม่ไหวแต่ติดสัญญากับประชาชน แล้วจะถูกประชาชนกดดันกลับมาเสียความนิยม ก็จะบีบให้พรรคการเมืองหรือรัฐบาลนั้น จะต้องทำอย่างไรก็ได้ ที่จะทำให้สิ่งที่เคยพูดไว้ต้องปรากฏขึ้น ถึงขนาดกู้หนี้ยืมสินก็ต้องยอมหรือไม่ หรือถึงขนาดจะต้องบีบเค้นภาษี จะต้องทำหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย ถ้าไม่คิดก่อนจะประกาศ

ความรู้ด้านเศรษฐกิจ-กฎหมาย จำเป็น

เมื่อถามว่า เวลานี้สถานการณ์ทำข่าวนักข่าวสายการเมือง ก็ต้องศึกษาข่าวเศรษฐกิจมากขึ้นหรือไม่ มงคล กล่าวว่า  นอกจากเรื่องทางเศรษฐกิจแล้ว ความคืบหน้าทางด้านกฎหมาย ก็ต้องรู้ด้วย ต้องรู้ว่า ในเงื่อนไขปัจจุบัน กกต. ในฐานะผู้คุมกฎที่จะต้องรักษาเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้น แต่ กกต. ไม่ใช่ผู้พิพากษา ที่จะชี้ว่าใน 3 ข้อที่พรรคอธิบายแล้ว ถูกหรือผิด 

จริงๆ แล้ว กกต.เอง ด้วยปัจจัยที่เป็นองค์กรที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ อาจจะไม่มีศักยภาพของบุคลากรที่จะมาชี้วัดว่า มีความเสี่ยงทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร เพราะฉะนั้น กกต.ก็จะอยู่ในภาวะที่ว่า พรรคต้องอธิบายให้ครบทั้ง 3 ด้าน

มงคล มองว่า ประชานิยมกับคนไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเปรียบการให้ว่า การที่จะให้ปลากับประชาชน สู้สอนเค้าจับปลาไม่ได้ เพราะใครจะมาให้ปลาเราตลอดเวลา ถ้ามีความรู้แล้วจึงจะเอาตัวรอดได้ 

ตั้งคำถามกลับถึงประโยชน์ต่อพรรค

ที่สำคัญการตั้งคำถามจากการให้เหล่านี้ พรรคการเมืองจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดี ของการตั้งคำถามของนักข่าว ที่ไม่ควรโฟกัสอยู่จุดเดียว ปรากฏการณ์เกิดขึ้นจะต้องมองหน้ามองหลัง มองหาเหตุผล คือเหตุผลที่นักข่าวต้องทำ ไม่โฟกัสที่พรรคใดพรรคหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ แต่ถอยออกมาดูว่า ทุกพรรคเป็นแบบนี้แล้วดูว่าอะไรทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น อะไรนำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะมองเห็น

ขณะเดียวกันข้อกฎหมายก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ต้องศึกษาหาเหตุผลว่า ทำไมกฎหมายเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลง เหตุผลพวกนี้เปลี่ยนแปลงมาจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องเรียนรู้ว่าทำไมเศรษฐกิจทำให้เราต้องมาให้ความสำคัญกับวินัยการเงินการคลังนี่คือการถอยออกมามองกว้างขึ้น ที่ผู้สื่อข่าวจะต้องมี เพราะเวลานี้สถานการณ์เศรษฐกิจกับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้แล้ว

คำถามเดียวกับกกต.จี้ 3 เงื่อนไข

นครินทร์ ศรีเลิศ ระบุว่า จากการรวบรวมตัวเลข นโยบายประชานิยมหลักๆ 4-5 นโยบาย ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หาเสียง ที่จะใช้เงินประมาณ 4-6 แสนล้านบาทต่อปีงบประมาณ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะทุกวันนี้โครงสร้างงบประมาณของเราเป็นการกู้เงินมาโปะงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ไทยหมุนเงินเก่ง แต่หาเงินไม่ค่อยได้ตามเป้าเท่าไหร่ ไม่มีโมเดลในการหารายได้ใหม่ๆ มานานนับสิบปี 

นักข่าวที่ทำข่าวเศรษฐกิจนโยบาย ก็จะคุยกันว่า ก่อนโควิดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 40% พอเจอวิกฤติเดียว หนี้กระโดดขึ้นมา 20% ทำให้เราประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายประชานิยมแบบที่พรรคการเมืองหาเสียงได้ เพราะการหารายได้ไม่ได้กระโดดขึ้นมาตามรายจ่ายภาครัฐ 

มองว่าสื่อจะต้องรู้ลึกถึงนโยบายประชานิยมมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงนโยบายแต่ละพรรคที่ประกาศ อะไรทำได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน นครินทร์ มองว่า ความจริงแล้วนักการเมืองก็จะรู้ถึงข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณดีพอสมควร อย่างรัฐบาลที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า หลายนโยบายที่หาเสียง ไม่ได้เป็นจริง

ขณะนี้ หลายพรรคพูดเรื่องโมเดลการหารายได้น้อยมาก การสร้างความคิด ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ ทำให้คนของเราเก่งขึ้น ทำงานได้มากขึ้น มีความสามารถที่ทันยุคสมัย เห็นว่าพรรคการเมืองพูดเรื่องนี้น้อยเกินไป เราพูดเรื่องแจกเงิน สวัสดิการกันเยอะเกินไป

เมื่อถามว่า ในมุมของนักข่าวหากจะซักค้านพรรคการเมืองในประเด็นเหล่านี้ ควรเป็นคำถามแนวไหน ที่สื่อจะไม่เป็นแค่ แมสเซนเจอร์ นครินทร์ ระบุว่า จริงๆ แล้ว โครงเดียวกับที่เราควรถาม ก็คือโครงเดียวกับ กกต.ถามพรรคการเมือง คือ 1.รายได้ที่จะใช้มาจากไหน 2.ทำแล้วเกิดผลดีผลเสียกับประเทศอย่างไร 3.ถ้าทำแล้ว นโยบายนั้นส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังอย่างไร คือเข้า 3 ข้อนี้ ถ้านักการเมืองชี้แจงให้ครบ ใช้ความสามารถในการอธิบาย ไม่สามารถจะยกเมฆได้ 

ผมว่าตอนนี้ไม่เฉพาะนักข่าวอย่างเดียว แต่ประชาชนทั่วไปก็ต้องตั้งคำถามแนวนี้ ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงและขบคิดกันเยอะในสังคม 

ขณะที่นักข่าวก็สามารถเอาตัวเลขไปย้ำถามกับนโยบายที่ออกมาของพรรคการเมืองได้เหมือนกัน ซึ่งคำถามที่ กกต.ตั้งคำถามกับนักการเมือง ส่วนหนึ่งก็เป็นคำถามที่นักข่าวถามกันมาทุกรัฐบาล ไม่เฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ ถามก่อน กกต.ด้วยซ้ำ แต่ว่าครั้งนี้เราก็เห็นว่าแต่ละนโยบาย ซึ่ง ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ซึ่งตนได้สัมภาษณ์ล่าสุด ท่านก็บอกว่าไม่เคยเห็นการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมแบบเกทับกันขนาดนี้

จำเป็นต้องสื่อสารหลายแพลตฟอร์ม

เมื่อถามถึงความสำเร็จของพรรคการเมืองที่สร้างกระแส ทำการตลาดการเมือง สามารถสร้างกระแสให้คนสนใจได้ ถ้าเพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย นักข่าวควรติดอาวุธทางปัญญาด้านการตลาดด้วยหรือไม่ อย่างไร นครินทร์ กล่าวว่า การอธิบายในแพลตฟอร์มต่างๆ ขณะนี้มีความจำเป็นมากขึ้น ผมไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนต้องไปทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ในเมื่อพรรคการเมืองใช้ช่องทางเหล่านี้ สื่อก็ควรจะต้องทำเนื้อหาในส่วนนั้นเหมือนกัน คือถ้าเราใช้วิธีการอธิบายโดยการเขียนอย่างเดียวผ่านหนังสือพิมพ์ คนที่จะเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเป็นกลุ่มหนึ่ง อีกเจน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่หน่อย

ตอนนี้ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยตอนนี้ไปใช้แพลตฟอร์ม TikTok จำนวนมากประมาณ 40 ล้านคน แซงหน้า Facebook ไปแล้ว ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่า เพื่อนๆ ทุกคนจะต้องใช้แพลตฟอร์มนี้ในการอธิบาย แต่สถานีข่าวตอนนี้เริ่มทำแพลตฟอร์มพวกนี้ เพื่อย่อยเรื่อง อธิบายง่ายๆ 2-3 นาที เพื่อชี้แจงให้กับคนที่กำลังจะใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม รวมทั้งผู้เสียภาษีด้วย 

หลายๆ คนที่มีครอบครัวมีลูกหลานที่จะช่วยรับภาระหนี้ที่นักการเมืองก่อ โดยจะใช้งบประมาณในการก่อหนี้ เพื่ออธิบายเรื่องพวกนี้ทางหลักวิชาการให้เข้าใจ ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ สื่อมวลชนก็มีความสามารถในการย่อยข้อมูล ทำประเด็นพวกนี้ ไปสู่สาธารณะอยู่แล้ว ก็เป็นช่องทางที่น่าจะช่วยได้อีกส่วนหนึ่ง

ข่าวเศรษฐกิจการเมืองแยกกันไม่ขาด

สำหรับนักข่าวสายเศรษฐกิจ ในการติดตามสถานการณ์การเมือง ทุกวันนี้ ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับการจัดทีมไปทำข่าว จนแทบจะแยกกันไม่ออกแล้ว เพราะเวลาที่เลือกตั้งเกิดขึ้น ก็จะมีทั้งในมุมการเมืองเพียวๆ แต่ก็ไม่ได้แยกจากกันชัดเจน จะรวมกันแบบเศรษฐกิจการเมือง 

การติดตามข่าวหาเสียงเรื่องนโยบาย ต้องมีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง นครินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนตื่นตัวกันมากในเรื่องการรับทราบนโยบาย และตั้งคำถามเช่นเดียวกับสื่อ ซึ่งนโยบายประชานิยมแบบนี้ อาจจะได้แค่ในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวอาจจะมีปัญหากับประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างในหลายประเทศให้เห็นมาแล้ว ก็ต้องตัดสินใจจากข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะไปเลือกตั้ง มองให้รอบด้าน มองไประยะยาวด้วย ไม่ใช่แค่ระยะสั้น วันที่เค้าบอกว่าจะแจกเงินอย่างเดียว

ผุดแนวปฏิบัติใหม่ข่าวการเมือง-เลือกตั้ง

ชาย ปถะคามินทร์ ​ระบุว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเพิ่งประกาศใช้แนวปฏิบัติ เรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง (อ่านแนวปฏิบัติฯ)  เมื่อ 11 เมษายน 2566 โดยที่มาคือ ทางสภาการฯ ได้หารือกันช่วงปลายปี 2565 ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์การเมืองกำลังถูกประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ แต่พอเริ่มต้นปี 2566 ก็ได้หารือกันอย่างจริงจัง และเริ่มเดินหน้าตั้งคณะทำงานยกร่างขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566

โดยมี คณะทำงานยกร่างประกอบด้วย มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวฯ เป็นประธานคณะทำงาน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เอกพล เธียรถาวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผศ.ดร.ประกายกาวิล ศรีจินดา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เมื่อยกร่างเสร็จได้เสนอให้กรรมการจริยธรรมพิจารณา ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น จากสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งพรรคการเมือง องค์กรประชาธิปไตย ซึ่งได้ให้ข้อคิดเห็นต่อแนวปฏิบัตินี้ และมีการปรับแก้ก่อนเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเห็นชอบ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

สื่อจำเป็นต้องระมัดระวังรอบคอบ

สำหรับหลักการของแนวปฏิบัติ เรื่องการนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง ได้ระบุหลักการและเหตุผลในการจัดว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง สถานการณ์ความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งมีความละเอียดอ่อน อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสาธารณชน ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในสังคมที่มีความเห็นต่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจะรุนแรงและกว้างขวาง เพราะข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นก็จะยังวนเวียนอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มีความหลากหลาย รอบด้าน เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ต้องยึดหลักความถูกต้องและข้อเท็จจริง ประโยชน์ต่อสาธารณะ ความสมดุลและเป็นธรรม การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปกปิดและเคารพแหล่งข่าว และการละเว้นอามิสสินจ้างและประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงกฎหมายเลือกตั้ง ระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจึงกำหนดให้มีแนวปฏิบัตินี้

ผอ.บริหาร สภาการสื่อ กล่าวต่อว่า ในอนาคตยังสามารถปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัย สอดคล้องไปกับสถานการณ์การเมือง รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งในหลักการก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาสังคม บริบทในปัจจุบัน ที่ประชาชนใช้มือถือเผยแพร่เรื่องราวในสังคมออนไลน์จำนวนมาก จึงต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อมวลชนว่า จะต้องทำหน้าที่อย่างไร มีกฎกติกาที่เป็นมาตรฐานท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดของประชาชนจำนวนมาก

รายละเอียดทั้งการเสนอข่าว-ปฏิบัติตัว

เนื้อหาถัดมาก็จะเป็นคำนิยามต่างๆ ก่อนจะเป็นหมวดทั่วไป ที่ลงรายละเอียดของแนวปฏิบัติ รวม 11 ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางที่สื่อต้องทำอยู่แล้วเพียงแต่ให้ระวังถึงสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ที่อาจมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเยอะ อีกทั้งยังมีการนำเสนอข่าวเรื่องโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อ้างอิงแหล่งที่มา ระเบียบวิธีของการสำรวจข้อมูลให้ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อแนะนำในการนำเสนอข่าว รวมถึงการปฏิบัติตัวด้วย

ผอ.บริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ระบุว่า ถึงแม้แนวปฏิบัตินี้ จะเป็นการวางกรอบสำหรับสมาชิกสภาการสื่อฯ แต่สื่อที่ไม่ได้เป็นองค์กรสมาชิกก็สามารถนำแนวปฏิบัตินี้ไปใช้เป็นกรอบในการทำงานได้.

————————————————————————————