สภาการสื่อฯ ปั้นโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” เติมความรู้สื่อยุคใหม่ ในการรายงานข่าวในมุมต่าง ๆ ของระเบียบโลกใหม่ได้ถูกต้องรอบด้าน

สภาการสื่อมวลชนฯ ปั้นโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” เติมความรู้สื่อยุคใหม่ ในการรายงาน วิเคราะห์ข่าวความเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ ของระเบียบโลกใหม่ได้ถูกต้องรอบด้าน นักวิชาชีพรุ่นเก๋าแนะ     เทรนด์สื่อ ยุคที่ต้องเป็นทั้ง Breaking News Reporter และ Editor ย้ำการสร้างแหล่งข่าวเพื่อได้ข้อมูลปฐมภูมิยังได้ใช้ทุกยุค กรรมการจริยธรรมวิชาชีพสะท้อนคุณค่าข่าวที่หายไปเมื่อธุรกิจสื่อแข่งเดือด เตือนสื่อยุคดิจิทัลยังต้องเน้นคุณภาพ

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “สื่อยุคใหม่ ต้องมีความรู้มากแค่ไหน” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ภารกิจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นอกจากการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อซึ่งเป็นสมาชิก ที่เป็นงานหลัก ขณะเดียวกันก็ยังมีหน้าที่ส่งเสริมให้สมาชิกทำหน้าที่สื่อมวลชนให้มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นมาตรการเชิงป้องกัน ล่าสุด สภาการสื่อมวลชนฯ ได้จัดทำโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” เพื่อเติมความรู้ให้สื่อมวลชนในบริบทปัจจุบันนี้ 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อธิบายถึงที่มาโครงการว่า จากการประชุมกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในแต่ละครั้ง ได้พูดคุยกันถึงสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างต่อเนื่อง มีการหยิบยกประเด็นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างประเทศ เราก็พบว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับต่างประเทศ รวมทั้งข่าวในบ้านเมืองของเราเอง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เรามักเสนอโดยไม่ได้คำนึงว่าวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างไร 

ฉะนั้นในบริบทเรา ที่นำเสนอแบบไม่ได้มองภาพรวม มองเพียงแคบ ๆ จึงเป็นที่มาว่า ที่ประชุมสภาการสื่อฯ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ หลายท่านเป็นอดีตรัฐมนตรี อดีต บก.ข่าว ที่เดินทางไปทั่วโลก หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยว่า น่าจะต้องเติมความรู้ให้สื่อมวลชนไทยในเรื่องโลกาภิวัตน์ หรือดุลอำนาจของโลกที่เริ่มเปลี่ยนไป

“มีมหาอำนาจใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งน่าจับตาถึงการรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ในแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียก็มีการรวมตัว มีความร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างว่า โลกทุกวันนี้ไปถึงไหนแล้ว” 

ดังนั้นคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชน จึงเห็นว่า น่าจะทำโครงการให้ความรู้ เรื่องระเบียบโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงตั้งชื่อหลักสูตรในลักษณะเป็นการวิจัย “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” เพื่อให้มุมมองการเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทย สอดคล้องกับโลกาภิวัตน์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป 

ทั้งนี้ เราได้เปิดโอกาสให้ทั้งสำนักข่าวที่เป็นสมาชิก และไม่เป็นสมาชิก ทุกสื่อ หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ สำนักข่าวออนไลน์ รวมทั้งกลุ่มที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ยุคใหม่ที่ทำเพจ ทำช่อง YouTube และเสนอข่าวต่างประเทศ ก็ได้เชิญชวนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน 

“เราทำเป็นหลักสูตรไม่ยาวมากประมาณ 10 สัปดาห์ ตั้งแต่ 19 พ.ย.2566-18 ก.พ.2567 เฉพาะวันอาทิตย์ สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง เป็นโครงการที่สภาการสื่อมวลชนฯ ริเริ่มทำเอง โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นการเติมองค์ความรู้แบบใหม่ และมีหน่วยงานข้างนอกที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ขอเรื่องคนที่ดูแลเศรษฐกิจโลกเข้ามา ทีดีอาร์ไอ ซึ่งมีงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมในวงนี้ด้วย

สำหรับผู้อบรม นำร่องจำนวน 30 คน โดย 20 คนมาจากสื่อ ซึ่งจะมี 2 ส่วนคือโต๊ะต่างประเทศโดยตรง กับคนที่มาจากโต๊ะข่าวอื่น อีก 10 คน มาจากภาคส่วนอื่น ๆ สำหรับสื่อเราเปิดรับทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ มีผู้สนใจเข้ามาร่วม ก็ถือเป็นการเบรนด์กัน เอาประสบการณ์คนเก่ามาผสมกับคนใหม่ 

“ในการเรียน ไม่ได้มีเพียงการฟังบรรยาย แต่มีงานที่ต้องร่วมกันทำ เพื่อพัฒนารูปแบบการนำเสนอข่าวแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวในประเทศ ต่างประเทศ จะต้องเสนอแบบไหน โดยจะต้องมีบริบทเรื่องต่างประเทศเข้ามาผสมแบบไหน ต้องทำเหมือนกับเป็นข่าวชิ้นหนึ่งที่ครอบคลุมจากความรู้ที่ได้จากการอบรมใน 10 สัปดาห์นี้” ประธานสภาการสื่อฯ ระบุ

ชวรงค์ ย้ำว่า เราต้องการสร้างโมเดลใหม่ ที่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก หากเข้าใจเรื่องอย่างนี้การนำเสนอข่าวในประเทศและต่างประเทศก็จะมีความรอบด้านมากขึ้น เราจึงอยากทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีกรรมการหลักสูตรเพื่อพัฒนาขึ้นมา โดยความคาดหวังที่เราร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าเอกชน 2-3 องค์กร ที่มีธุรกิจอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งขยายธุรกิจไปยังภูมิภาค เราอยากได้ฟีดแบค และความคิดเห็นของเขาด้วย การไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เมื่อมองกลับมาที่ไทย การนำเสนอข่าวของไทยเป็นอย่างไร สอดคล้องหรือไม่อย่างไร

เน้นความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ

สำหรับหัวข้อการอบรม เราต้องพูดถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก การเมืองโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เรื่องความมั่นคงทางการเมืองของมหาอำนาจ การเมืองความมั่นคงในยุโรป ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องการเมือง ความมั่นคงประเทศโลกที่สาม ซึ่งเกี่ยวข้องด้วยการเมืองโลกและภายในอาเซียน และพูดถึงเรื่องซอฟพาวเวอร์ด้วย รวมถึงเรื่อง Ai ที่กำลังเข้ามามีผลต่อชีวิตประจำวัน ไม่เฉพาะเรื่องข่าวหรือสื่อ แต่กระทบกับการศึกษา และสารพัดเรื่องอย่างไร วิกฤตพลังงานของโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร เรื่องพวกนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น  เรื่อย ๆ และเรามีความจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ ถึงจะเสนอข่าวได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน

“เราเน้นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม พลังงาน สิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ และบรรจุอยู่ในแผนการอบรม เพราะการนำเสนอข่าวของสื่อเรา แม้ในประเทศมีข้อมูลทุกมุมมอง แต่สิ่งที่ขาดไปจริง ๆ คือเราขาดมิติของโลกเรานำเสนอข่าวโดยไม่รู้ว่าโลกไปถึงไหน นี่คือสิ่งที่กรรมการฯ ตั้งข้อสังเกต และคิดว่าเป็นความจำเป็นที่สภาการสื่อฯ ในฐานะที่เราดูแลเรื่องจริยธรรม ก็อยากให้สื่อได้ทำหน้าที่มีมาตรฐานมากขึ้น และต้องเติมความรู้ให้เขาด้วย” ชวรงค์ กล่าว

รูปแบบงานวิจัย เป้าหมายเสนอข่าวรูปแบบใหม่

สำหรับการอบรมครั้งนี้ ได้รับทุนจาก สกสว. ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการอบรม ที่ต้องทำงาน และคิดออกแบบ การนำเสนอข่าวในรูปแบบที่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก นี่คือจุดสำคัญที่เราต้องการจากผู้เข้าร่วมอบรม เราอยากทดลองว่า สิ่งที่ให้ความรู้แล้ว เขาสามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้แค่ไหน

โครงการนี้ ถือเป็นงานวิจัย ซึ่งจะต้องมีผลลัพธ์ออกมา จากการที่เราเติมความรู้ให้ แล้วสื่อสามารถออกแบบการนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งจะปรากฏเป็นบันทึกอยู่ในผลการวิจัยที่จะออกมา และสามารถนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ 

“ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่เราคำนึงถึงคุณภาพ จำนวนผู้เข้าอบรมจึงกำหนดไว้ไม่มากก่อน หากประสบความสำเร็จ ก็จะขยายในครั้งต่อ ๆ ไป ถือเป็นความท้าทาย เพราะการทำโครงการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการออกแบบ การหาทุน รวมทั้งการผลิตผลงานของผู้เข้าร่วมอบรม” ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว 

ประสบการณ์สื่อเก่ายังทันสมัยในยุคใหม่

ทางด้าน อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ สื่ออาวุโสที่มากประสบการณ์ ในการทำข่าวต่างประเทศ ได้แชร์ประสบการณ์ทำข่าวในยุคแอนะล็อก ที่เขาเริ่มต้นจากสื่อหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ มติชน และบางกอกโพสต์ และสิ่งหนึ่งที่มองว่าคือคุณสมบัติสำคัญที่จำเป็นของคนสื่อ คือ 1.ความสนใจใคร่รู้ มีความช่างสงสัย เป็นเบื้องต้น 2.ทักษะในการสื่อสาร ถึงแม้แพลตฟอร์มจะเปลี่ยน แต่เราต้องเป็นนักเล่าเรื่อง หรือ สตอรี่ เทลเลอร์  โดยทำเรื่องยากให้ง่าย ซึ่งต้องฝึกอย่างนี้ก่อน

ในช่วงที่เติบโตมาในวงการสื่อ อนุพงษ์ เห็นว่า แต่ละสื่อก็จะมีข้อจำกัด โดยโครงสร้างการทำงาน เช่น นักข่าวประจำสายข่าวต่าง ๆ แต่สำหรับเขาเอง ถือว่าโชคดี เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว อยู่ในองค์กรที่เอื้อให้ทำงานได้มากกว่า ที่เรียกว่าเป็นนักข่าวสายเฉพาะ นั่นคือเป็นสายจเร ใครขาด ใครลาพักร้อน ก็ต้องไปทำข่าวแทนได้หมด และเหตุที่รู้กว้าง เพราะมีเครือข่ายพี่น้องในวงการ ไปไหนก็รู้จักกัน จึงได้รู้เบสิค ความสำคัญของข่าวแต่ละสาย รวมไปถึงลักษณะนิสัยของแหล่งข่าวด้วยในยุคของเขา มีตัวอย่างการไปทำงานเช้า ให้ทันแหล่งข่าว ก็มีตัวอย่างนักข่าวรุ่นพี่ อีกทั้งความสงสัยใคร่รู้ เป็นลักษณะนิสัยที่ทำซ้ำ ๆ ที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เช่น ฟังรายการข่าวทุกเช้า ทั้งข่าวต่างประเทศ ในประเทศ ก่อนไปเรียน เมื่อได้ทำงาน ก็จะเป็นพฤติกรรมทุกเช้า ตื่นมาไปดูที่ส่งหนังสือพิมพ์ อ่านตอนเช้าจนติดเป็นนิสัย ติดตามข่าวตลอดเวลา เมื่อทำงานอยู่ BBC ก็ฟังวิทยุคลื่นสั้น เป็นต้น ยุคนี้ เช้าขึ้นมา ก็อ่านเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศต่าง ๆ เพราะอย่างน้อย ก็ต้องสรุปอะไรสักชิ้น เขียนลงในโซเชียลมีเดีย 

ในยุคของเขา มีตัวอย่างการไปทำงานเช้า ให้ทันแหล่งข่าว ก็มีตัวอย่างนักข่าวรุ่นพี่ อีกทั้งความสงสัยใคร่รู้ เป็นลักษณะนิสัยที่ทำซ้ำ ๆ ที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เช่น ฟังรายการข่าวทุกเช้า ทั้งข่าวต่างประเทศ ในประเทศ ก่อนไปเรียน เมื่อได้ทำงาน ก็จะเป็นพฤติกรรมทุกเช้า ตื่นมาไปดูที่ส่งหนังสือพิมพ์ อ่านตอนเช้าจนติดเป็นนิสัย ติดตามข่าวตลอดเวลา เมื่อทำงานอยู่ BBC ก็ฟังวิทยุคลื่นสั้น เป็นต้น ยุคนี้ เช้าขึ้นมา ก็อ่านเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศต่าง ๆ เพราะอย่างน้อย ก็ต้องสรุปอะไรสักชิ้น เขียนลงในโซเชียลมีเดีย 

ยุคที่ต้องเป็น Breaking News Reporter

สำหรับในยุคปัจจุบัน มองความเป็นไปของสื่ออย่างไร และมีคำแนะนำอย่างไร โดยเฉพาะสื่อที่อยู่สายข่าวประจำ อนุพงษ์ ระบุว่า สิ่งที่คิดว่าจำเป็นทุกสมัย แม้แต่ในเวลานี้ 

“หากไปดูในสื่อสากลโดยเฉพาะดิจิทัลนิวส์เว็บไซต์สื่อต่างประเทศจะมี ตำแหน่ง Breaking News Reporter กับ Breaking News Editor มนุษย์พันธุ์นี้ ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ต้องมอนิเตอร์ คอยไปดูในไลฟ์แชท ไลฟ์บ็อกซ์  ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ ต้องเป็นคนที่รู้กว้าง ทั้งข่าวในประเทศและต่างประเทศ เพราะ Breaking News เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะฉะนั้นคิดว่า ต้องกระตุ้นตัวเอง ถ้าหากจะทำข่าวให้ได้ดี ต้องมี 2 สิ่งคือ Speed ความเร็วกับ Accuracy คือความถูกต้องแม่นยำ จะต้องมีการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว คิดว่าความยาวหรือสั้นไม่ได้เป็นประเด็นไม่ว่าจะเป็นช็อตฟอร์มหรือลองฟอร์มแต่คุณสมบัติจำเป็นสำหรับ Breaking News Reporter คือ ความสามารถในการสืบค้นตรวจสอบข้อมูลสำคัญกว่า” อนุพงษ์ กล่าว

แนะค้นหาข้อมูลปฐมภูมิก่อนรายงาน

เขาตั้งข้อสังเกตว่า จากการดูข่าวต่าง ๆ ที่สื่อรายงาน มักเป็นข้อมูลทุติยภูมิ ที่ถูกหยิบมารายงานอีกที ขณะที่ตัวเขาเองหากมีข้อมูลที่ถูกอ้างอิงมา ก็จะไปตรวจสอบดูต้นทางผู้ให้ข่าวนั้น ๆ ว่าในสื่อส่วนตัว เช่น เพจทางการ หรือเพจส่วนตัว มีสเตทเม้นท์เรื่องนั้น ๆ หรือไม่ โดยเฉพาะนักการเมืองยุคใหม่ มักจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียกันอย่างเข้มข้น สื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลชั้นต้นหรือปฐมภูมิได้ ถือเป็นการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะยุคที่เราพูดถึงเรื่อง Dis information หรือ เฟคนิวส์ เพราะแม้จะเห็นข่าวจากสำนักข่าวที่เราเชื่อถือได้ แต่ก่อนจะหยิบมารายงาน เราควรจะกลับไปตรวจสอ บต้นทางก่อนว่า บุคคลนั้น ๆ ได้พูดจริงไหม มีท่าทีอย่างนั้นจริงไหม 

อีกเรื่อง หากเราทำสื่อทางเว็บไซต์ เราก็ยังสามารถที่จะไปหยิบภาพในเพจเขามาใช้ได้ เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลสาธารณะ ข้อมูลที่เราหยิบมาเขียน ก็อ้างอิงว่าเอามาจากเพจ หรือเว็บไซต์เขาอยู่แล้ว ไม่ได้มีเจตนาจะบิดเบือน เพราะฉะนั้นเราก็จะแก้ปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์ไปได้อีกส่วนหนึ่ง

เทคนิคการสร้างแหล่งข่าวยังได้ใช้ทุกยุค

นอกจากการตรวจสอบย้อนกลับแล้ว อนุพงษ์ ยังระบุด้วย การสร้างเครือข่ายกับแหล่งข่าวเอาไว้ เพื่อตรวจสอบข้อมูล “การสร้างแหล่งข่าวไว้ เวลาทำงานออนกราวน์ ในยุคหนังสือพิมพ์กระดาษ ก็ต้องไปตีซี้ ผูกสัมพันธ์แหล่งข่าว ในยุคนี้ก็ต้องไปเมกเฟรนด์ โดยแอดเฟรนด์กับคนสำคัญ บรรดานักการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งบุคคลสำคัญที่เป็นพับลิก สปีคเกอร์ที่สำคัญ ในโลกที่เขามีเพจส่วนตัว มีบัญชีของ X (ทวิตเตอร์) ก็ไปเมกเฟรนด์ไว้ก่อน เพื่อให้เข้าถึง ซึ่งเราใช้ประโยชน์ได้ 

โดยอนุพงษ์ ยกตัวอย่าง การทำข่าวสถานการณ์ในภาคใต้ที่มีการวางระเบิด มีการอ้างอิงว่าน่าจะเป็นกลุ่มใดลงมือ สื่อก็อ้างอิงแหล่งข่าวจากกลุ่มนั้น ซึ่งเขาเองเป็นเพื่อนในโซเชียลกับผู้นำกลุ่มนั้น จึงได้อินบ็อกซ์เข้าไปสอบถามเจ้าตัว ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ว่าได้ทำเรื่องนี้จริงหรือไม่ ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่าเป็นฝีมือกลุ่มใด ซึ่งก็ถือว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ และก็ได้ส่งข้อความเป็นคำถาม ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมา 

อนุพงษ์ บอกด้วยว่า หลาย ๆ ครั้ง เขาก็ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านทางอินบอกซ์ของเฟซบุ๊ก ซึ่งเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลได้ช่วยให้เข้าถึงข้อมูล ที่จะทะลุไปถึงแหล่งข่าวมากมาย

สำหรับโครงการเติมความรู้ที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดอบรมให้ผู้สื่อข่าวครั้งนี้  อนุพงษ์ มองว่า เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพคนในแวดวงสื่อ และเสนอว่าควรทำทั้ง 2 ทาง เพื่อหาพันธมิตรร่วม เพราะแต่ละองค์กร ล้วนเป็นเจ้าของข้อมูลที่สำคัญของประเทศทั้งนั้น และควรทำเรื่องการอบรมเรื่องทักษะใหม่ ๆ ที่คนในแวดวงสื่อมวลชนควรรู้ ตัวอย่างเช่น คอมมูนิตี้สแตนดาร์ดในทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่า Facebook TikTok YouTube หรือ X ล้วนแต่มีมาตรฐานในชุมชนของเขาทั้งนั้น 

ทัั้งนี้ อาจจะแตกต่างไปจากสิ่งที่เรียกว่าจรรยาบรรณ หรือแนวปฏิบัติของสื่อในยุคก่อนออนไลน์ ซึ่งก่อนนี้มีความสำคัญ คล้ายกับเรื่องของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มาตรฐานความปลอดภัยของไซเบอร์ จริงๆ แล้วตัวยูสเซอร์เป็นสิ่งสำคัญที่เขาจำเป็นต้องรู้ เพราะปัญหาเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ก็มาจากความไม่เข้าใจของผู้ใช้ เช่น การกระทำรายงานข่าว การใช้ภาพใช้วิดีโอ ซึ่งไปขัดต่อมาตรฐานชุมชนของ Facebook ตัว YouTuber  ก็อาจจะมีประเด็นที่ไปดิสรัปฯ เรื่องการเผยแพร่ อาจจะถูกปิดกั้น ปิดเพจ เป็นต้น ฉะนั้นก็เป็นความจำเป็นที่คนทำข่าว แอดมินเกี่ยวข้อง กับเรื่องการผลิตข่าว ในสายพานการผลิตดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องเข้าใจ เพราะไม่ใช่หน้าที่แอดมินอย่างเดียว คนที่อยู่ในสำนักพิมพ์ ก็จะต้องเข้าใจว่า ถ้าเป็นเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เป็นเรื่องแผนกไอที ตัวเองไม่เกี่ยว ก็ไม่ถูกต้อง

การแข่งขันสื่อเชิงธุรกิจส่งผลคุณภาพข่าว

ขณะที่ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ฉายภาพให้เห็นวงการสื่อในยุคแอนะล็อก กรณีศึกษาคุณภาพสื่อยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังรัฐบาลเพิ่งพ้นปัญหาการเงินปี 2547 จากนั้นนโยบายสำคัญ ส่งเสริมการลงทุนหลายรูปแบบ ส่งผลกับคนทำสื่อด้วย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สื่อสิ่งพิมพ์ เพิ่มหน้าเศรษฐกิจ สื่อเฉพาะด้านที่นำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจที่เกิดใหม่ มีทั้งสื่อโทรทัศน์ มีรายการข่าวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เข้ามารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตอนนั้นถึงขั้นขาดแคลนผู้สื่อข่าว ทั้งภาคสนามและประจำกองบรรณาธิการ และเป็นครั้งแรกที่นักข่าวมีค่าตัว และการขาดแคลนทำให้มีการรับนักข่าวที่ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์

ขณะที่การแข่งขันในแวดวงสื่อ เข้มข้นพอ ๆ กันกับทางธุรกิจ ก็ทำให้เกิดปัญหาการนำเสนอข่าวสาร เพราะเป้าหมายทางธุรกิจ ทำให้ข่าวขาดมิติความเป็นมนุษย์ ผลเสียก่อนนั้นรุนแรงมาก และส่งผลต่อไปในประเด็นทางจริยธรรมอีกด้วย

หลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผลพวงจากการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ส่งผลต่อไปจากการที่เศรษฐกิจเติบโตแบบฟองสบู่ เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงยากจะปฏิเสธว่า สื่อมวลชนมีส่วนเกี่ยวข้อง ในฐานะที่ไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสาร และชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ถูกที่ควร สื่อจึงได้รับเคราะห์กรรมไม่ต่างกับภาคเอกชนอื่น ๆ 

ตอนนั้นเรายังไม่เคยมานั่งทบทวนอะไรเหมือนปัจจุบัน เพราะฉะนั้นปี 2540 ไม่เคยพูดถึงเรื่องบทบาทสื่อที่ควรเป็นเลย นั่นก็คือคุณภาพ มาถึงคุณภาพสื่อยุคดิจิทัล ในยุคนี้ มันยิ่งกว่าไซโคลนของรัฐบาลปัจจุบันที่กำลังทำกันอยู่ด้วยซ้ำ มี 2 เรื่องใหญ่ คือ การประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ปลายปี 2556 ทุกคนเล็งผลเลิศ โดยมองข้ามบริบทอื่น ๆ ที่เป็นความเสี่ยง ตัวเลขประมูลที่สูงเกินคาดของ กสทช.กว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประมูลก็เชื่อว่า เงินลงทุนที่สู้ราคาต่อรายนับพันล้าน จนได้ช่องความถี่มาครอง ก็จะมีรายได้จากการโฆษณา โดยลืมไปว่า เค้กก้อนเดิมต้องแบ่งออกเป็น 24 ช่อง นั่นก็คือที่มาของการแย่งชิง ที่ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพข่าวกันอีกต่อไป นั่นคือปัญหาใหญ่ข้อที่หนึ่ง 

เรื่องที่สองคือ เทคโนโลยีดิจิทัล ตอนที่มาถึงยุค 4G ที่ข้อมูลรับส่งกันได้หลายแพลตฟอร์ม ข้ามแพลตฟอร์ม ร่วมแพลตฟอร์ม และโฆษณาก็ยังถูกอีก ก็ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้สื่อดิจิทัลแทน ทำให้สื่อกระแสหลักทั้งหมดต้องมีสื่อดิจิทัลคู่ขนานกันไป นอกเหนือจากสื่อดิจิตอลที่เป็นสำนักข่าวจริง ๆ ซึ่งก็มีตัวอย่างอีกว่า สื่อออนไลน์เชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ดังขึ้นมา และสื่อดิจิทัลที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์จริง ๆ และอยู่ในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายก็เกิดขึ้นอีก ผลพวงคือคุณภาพของข่าวสารที่หายไป

คุณค่าข่าวที่หายไป-ยุคดิจิทัลยังต้องเน้นคุณภาพ

เราก็ต้องมาดูว่า สิ่งที่ขาดหายไปจากข้อมูลข่าวสาร อันแรกคือ “คุณค่าข่าว” ที่มีเป็น 10 ด้าน แต่วันนี้เหลืออยู่ไม่กี่ด้าน ทุกวันเราจะเห็นแต่เรื่องปุถุชนวิสัยที่ถูกสื่อนำมาเป็นข้ออ้าง 

สอง เรื่องคุณภาพที่ขาดหายไป ข่าวที่ผู้รับสารได้รับส่วนใหญ่ เป็นกระแสมากกว่าข้อมูลเชิงลึก ที่สะท้อนปัญหาของเรื่อง

สาม ข่าวบางด้าน โดยเฉพาะการเมือง ข่าวสารที่นำเสนอ นอกจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยเจตนา นั่นคือสื่อเลือกข้าง ก็ยังมีสื่อที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ซึ่งก็หาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะการรายงานขาดความสมดุล

สี่ ข้อมูลข่าวสารที่พบน้อยมาก ที่พบว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ไม่ได้หมายถึงการทหารเท่านั้น แต่หมายถึงความมั่นคงในด้านอื่น ๆ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง 

ถ้าตั้งคำถามว่า ข่าวสารที่ขาดคุณภาพ แล้วคนทำสื่อขาดคุณภาพใช่ไหม อ.บรรยง ระบุว่า คำตอบก็มีทั้งใช่และไม่ใช่ ที่ว่าใช่เพราะคนทำสื่อมีโอกาสในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ แต่ไม่ได้ใช้โอกาสนั้นเอง เนื่องจากไม่ได้รับโอกาสจากผู้บริหาร เพราะต้องอยู่กับงานเฉพาะหน้าที่ที่เป็นกระแส อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ที่ต้องยอมรับ 

2 เหตุผลสำคัญที่ทำให้สื่อในยุคดิจิทัลต้องมีคุณภาพ 1. คือการรักษาความน่าเชื่อถือของวิชาชีพ ด้วยเหตุผลข้อนี้ เวลาที่ผู้รับสารสาธารณะ ประชาชนทั่วไป เกิดอะไรขึ้น ที่สุดเขาวิ่งมาหาสื่อกระแสหลัก 2. รักษาวิชาชีพ คือหม้อข้าวหม้อแกงของตัวเอง ที่ใช้ทำมาหากินต่อไปอย่างยั่งยืน 

อ.บรรยงค์ บอกอีกว่า จากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรี มี 3 เรื่องใหญ่ ที่คนทำสื่อควรมีความรู้

“เรื่องแรก รู้จักสืบค้นหรือไม่ สอง สอบยันข้อมูลหรือไม่ เวลานี้มีหลักสูตรที่จะสอบยันแล้ว สาม คนทำสื่อควรมีความรู้ เรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์” อ.บรรยงค์ ทิ้งท้าย