หนังสือพิมพ์ไทยในลอส แอนเจลิส จากยุคเริ่มต้นปี 1970 ถึงค.ศ. 2011

หนังสือพิมพ์ไทยในลอส แอนเจลิส จากยุคเริ่มต้นปี 1970 ถึงค.ศ. 2011

โดย ไพสันติ์ พรหมน้อย    

บทความนี้ผมเขียนขึ้นในช่วงที่ท่านดำรง ใคร่ครวญ เป็นกงสุลใหญ่ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์จึงต้องการให้ชุมชนไทยในแอล.เอ.ได้จัดทำบันทึกไว้ในแต่ละด้าน  ผมรับงานด้านสื่อสารมวลชนมา เขียนรายงาน ปัจจุบัน(2017)ท่านดำรงเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

เมื่อพูดถึงสื่อสารมวลชน ให้หมายถึงเครื่องมือการสื่อสารที่นำสารไปยังผู้คนได้จำนวนมากโดยไม่อาจคาดหมายปริมาณได้ เครื่องมือเหล่านั้นประกอบด้วยสื่อสิ่งพิมพ์,สื่อวิทยุกระจายเสียงและ

สื่อวิทยุโทรทัศน์  ปัจจุบันมีเทคโนโลยี่สมัยใหม่เข้ามาทั้งอินเตอร์เน็ต,การสื่อสารในกลุ่มสังคมที่เรียกว่า Social Media อาทิเช่นทวิตเตอร์,เฟซบุ้ค,อินสตาแกรม, LINE ฯลฯ

การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสื่อสารมวลชนไทยในลอส แอนเจลิส มีลักษณะเหมือนกับสื่อสารมวลชนทั่วไปนั่นคือการเกิดเติบโต,การขยายตัวของชุมชนและของสังคมในทุกด้านทุกทาง ทำให้ผู้คนต้องการ “ข่าวสาร”ในปริมณฑลที่กว้างไกลและสามารถสนองตอบต่อความต้องการของตนได้

ศึกษาการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐ

ก่อนที่จะพูดถึงสื่อสารมวลชนไทยในแอล.เอ. อยากจะย้อนกลับไปศึกษาการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์สหรัฐยุคแรกพอสังเขป กล่าวคือในยุคแรกหนังสือพิมพ์สหรัฐเกิดขึ้นที่เมืองบอสตันปลายค.ศ. 1600 ต่อ ค.ศ.1700 (ช่วงพ.ศ.2243) ข่าวที่นำเสนอคือการเข้า-ออกของเรือสินค้า,ข่าวพิธีกรรมทางศาสนา,ข่าวมรณกรรม,ข่าวการแต่งตั้งเจ้านายระดับต่างๆจากเมืองแม่มาปกครองนิคม,รายงานข่าวอากาศ,ข่าวอินเดียนพื้นเมืองบุกโจมตีคนผิวขาวผู้เข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐ,ข่าวโจรสลัด,คำพิพากษาของศาลและข่าวอาชญากรรมทั่วไป

ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 1721 เจมส์ แฟรงกลิน ได้ออกหนังสือพิมพ์ของคนอเมริกันเองให้ชื่อว่า The New-England Courant  เป็นลักษณะของหนังสือพิมพ์การเมืองมีบทความ,บทวิจารณ์และโจมตีการทำงานของผู้ปกครองตลอดจนการรายงานข่าวทั่วไป

เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ในรัฐแคลิฟอร์เนียช่วงต้นทศวรรษ 1800 เพราะความต้องการข่าวสารของผู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากใหม่ในรัฐนี้ แต่หนังสือพิมพ์ในรัฐแคลิฟอร์เนียเฟื่องฟูมากในช่วงปี 1848 (พ.ศ.2391)อันเป็นปีที่มีการค้นพบทองคำในเขตซาน ฟรานซิสโกหรือที่เรียกกันว่ายุคตื่นทอง(Gold Rush) ผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาขุดทองมากทำให้ธุรกิจการค้า,ความต้องการที่อยู่อาศัยและการบริการต่างๆขยายตัวมากขึ้น หนังสือพิมพ์จึงเข้ามามีบทบาทในการรายงานข่าวเพิ่มขึ้น ตามความต้องการและการขยายตัวของสังคม

การเกิดและเติบโตของสื่อสารมวลชนไทยในแอล.เอ.ก็เช่นเดียวกับสื่อสารมวลชนอเมริกันยุคบุกเบิกคือเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของชุมชนไทย

เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของชุมชน

อาจมีผู้ตั้งข้องสงสัยว่า สหรัฐมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีข่าวสารสูงสุดมีทั้งหนังสือพิมพ์,วิทยุ,โทรทัศน์,อินเตอร์เน็ตออกติดต่อกันไม่ขาดสาย ทำไมจึงยังมีสื่อสารมวลชนไทยอีก คำตอบก็น่าจะมาจากสื่อสารมวลชนไทยสามารถตอบสนองความต้องการของคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐได้มากกว่า ทั้งยังมากกว่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่นำมาจำหน่ายจากประเทศไทย ทั้งนี้เป็นหลักการอย่างหนึ่งว่า คนเราย่อมสนใจสิ่งใกล้ตัวมากกว่า

ตัวอย่างเช่นในแอล.เอ.มีหนังสือพิมพ์ลอส แอนเจลิส ไทมส์เป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่และถือเป็นหลัก แต่ก็ยังมีหนังสือพิมพ์ระดับเมืองและชุมชนที่ออกตีพิมพ์เพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชนนั้นๆอาทิเช่นในเขตซาน เฟอร์นันโด แวลเลย์จะมีหนังสือพิมพ์ Los Angeles Daily News เสนอข่าวของชุมชนตั้งแต่เมืองเกลนเดลขึ้นไปถึงเมืองแวนนายส์ หรือทางใต้ก็จะมีหนังสือพิมพ์ Long Beach Press-Telegram, Daily Breeze ทางตะวันออกมี Pasadena Star-News ,Whittier Daily News หรือทางด้านซาน เบอร์นาดิโนมีหนังสือพิมพ์ Inland Valley Daily Bulletin,The Press-Enterprise,Redlands Daily Facts และ San Bernardino Sun เป็นต้น

หนังสือพิมพ์เหล่านี้เป็นลักษณะของหนังสือพิมพ์ชุมชน(Community Newspaper)ที่แอล.เอ.ไทมส์ไม่อาจสนองความต้องการของชุมชนเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง

หนังสือพิมพ์ไทยในแอล.เอ.ยุค 1970

คนไทยเดินทางเข้ามาปักหลักในเขตแคลิฟอร์เนียภาคใต้ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้นทศวรรษ 1960 อาศัยกระจายอยู่ทั้งในแอล.เอ.,ลองบีช,ลีนวู้ด จากนั้นค่อยพัฒนาและเติบโตขึ้นกระจายไปหลายเมืองในเขตรอบแอล.เอ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนอร์ธ ฮอลลีวู้ด หลังจากมีการก่อตั้งวัดไทยแอล.เอ.ขึ้นมา คนไทยก็เข้าไปซื้อบ้านอยู่อาศัยรวมตัวกันเป็นลักษณะของ”กระจุก”หนาแน่นมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกมีชื่อว่า”ไทยโพ้นทะเล” เริ่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1970  มีนายนิคม สีห์สุรัตน์ เป็นบรรณาธิการ ทีมงานก่อตั้งยุคบุกเบิกประกอบด้วย นายไตรรัตน์ สุนทรประภัทสร์,นายนพพร สุวรรณพานิช,นายราชันย์ ฮูเซน,นายจารึก จินตกวีวัฒน์,นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ,นายมนตรี ตันทวิรัตน์,นายมงคล วุฒิสิงห์ชัย,นายนรนิติ เศรษฐบุตร,นายอนันต์ ทวีชัยธนสุนทร,น.ส.เสาวรส ทองเจิม,นายชวพจน์ ถุงสุวรรณ,นายสานิต อินทรโยธาและนายพีรพล บำรุงชีพ เป็นต้น

“ไทยโพ้นทะเล”พิมพ์ออกเป็นรายเดือนรูปแบบแม็กกาซีน โดยใช้เครื่องโรเนียวพิมพ์ ออกมาได้ระยะหนึ่งหนังสือพิมพ์เริ่มซวนเซ  ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นหนังสือชื่อ”ไกลรัฐ”โดยมีนายพูนศักดิ์ ซอโสตถิกุล เป็นผู้ออกทุนให้จัดทำ  แต่ออกมาได้ไม่นานก็ต้องหยุดไป

เมื่อปี 1973 นายกิตติรัตน์ สิวายะวิโรจน์ ซึ่งเคยร่วมทีมงานกับนสพ.”ไทยโพ้นทะเล”แยกตัวออกมาตั้งนสพ.”สารไทย” โดยมีทีมงานประกอบด้วยนายจักร พูลศิริและนายพัฒน์ สุนทรเกศ มีการยกระดับวงการหนังสือพิมพ์ในสหรัฐขึ้นมา จัดพิมพ์เป็นแบบแทบลอยด์หรือครึ่งหนึ่งของขนาดหนังสือพิมพ์มาตรฐาน นำเสนอข่าวสารและสาระต่างๆรวมทั้งการลงแจ้งความโฆษณา ตลอดจนจ่ายเงินเดือนแก่ผู้ร่วมงาน

ต่อมาปี 1974 นายจักร พูลศิริ ได้แยกตัวออกมาตั้งนสพ.”เอกภาพ”ทำให้”สารไทย”ต้องหยุดตัวไปโดยปริยายเพราะสต๊าฟงานส่วนใหญ่ของ”สารไทย”มาอยู่กับ”เอกภาพ”  พร้อมกันนี้ก็มีทีมงานเสริมเข้ามาอีกอาทิเช่นนายเสถียร แก้ววิเชียร(ลัทธพิพัฒน์),นายจรรยา เปรมปรีด์,นายบุรินทร์ คำกองแก้ว,นายสุธรรม เลิศวิชชุหัตถ์ เป็นต้น

จากนั้นเพิ่มทีมงานเข้ามาอาทิเช่น นายชัชวาลย์ ศิริยานนท์,นายวินัย นิ่มนวลรัตน์และนายไชยวัฒน์ ภักตร์นิลรัตน์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยกระดับวงการหนังสือพิมพ์ไทยในแอล.เอ.ขึ้นอีก ด้วยการออกเดือนละ 2 ฉบับ มีการออกหาโฆษณา แจ้งความทำเป็นธุรกิจมากขึ้น ต่อมา”เอกภาพ”หยุดตัวลงอย่างกระทันหันเมื่อนายจักร พูลศิริ หัวเรือสำคัญของหนังสือพิมพ์เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย

หนังสือพิมพ์และวารสารช่วง 2515-2516

จากข้อเขียนของ นายบุญกร่าง เกิดตุลา (นามปากกา)หัวข้อ”ความเป็นมาของสมาคมสื่อมวลชนไทยฯ(ฉบับย่อ 2528-2536)” ตีพิมพ์ในหนังสือ 9 ปีสมาคมสื่อมวชนไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993 )พบว่าช่วงปีพ.ศ. 2515-2516 (ค.ศ. 1972-1973)มีหนังสือพิมพ์และวารสารที่ออกในแอล.เอ.หลายฉบับประกอบด้วย

น.ส.พ.โพ้นทะเล ไม่ทราบที่อยู่

น.ส.พ.เพื่อนไทย สำนักงานเลขที่ 1650 Hillhurst St., L.A., CA 90027

นสพ.ยูไนเต็ด ไทยโพสต์ 9170 Hadden Ave., Sun Valley , CA 91352

นสพ.ไกลรัฐ 1709 N. Alexandria Ave., L.A ., CA 90027

นสพ.ดารา 1519  W. 7 th. St., L.A., CA 90017

นสพ.ไทยวู้ดดี้ 422 S. Western St., L.A., CA 90020

วารสารสยาม 3147 Lee Ave., Long Beach , CA 90808

วารสารเมืองไทย  P.O. Box 17100  Los Angeles , CA 90017

ในเล่มเดียวกันนี้ยังมีข้อเขียนของ วิจารณ์ จันทนะเวส นายกสมาคมสื่อมวลชนไทยฯปี 1987  ในหัวข้อ”หนังสือพิมพ์ไทยในสหรัฐ”พอจับความได้ว่านสพ.ไกลรัฐ จัดทำโดยกลุ่มของนายองอาจ เครือประเสริฐ,นสพ.สันติภาพ จัดทำโดยกลุ่มของนายกมล กมลตระกูล,นายมงคล วุฒิสิงห์ชัย  และ นายแสง ม.จิวะ,นสพ.มาตุภูมิ จัดทำโดยกลุ่มของนายสัญญา สถิรบุตร ซึ่งต่อมานายสัญญาเป็นนายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ปี 1977

สำหรับหนังสือประเภทบันเทิงชื่อ”ดารา”มีนายราชันย์ ฮูเซ็น ทำร่วมกับนายวิจารณ์ จันทนะเวส นักเขียนที่ร่วมด้วยยังมี อำนวย ศรีสร้อย และวราภา ณ สงขลา (นักเขียนนวนิยายเจ้าของนามปากกา”วราภา”) ทำได้ 2 ฉบับก็ยุติ จากนั้นนายราชันย์ ฮูเซ็น แยกออกไปจัดทำนสพ.”ไท”ได้ 1 ฉบับแล้วกลับมาเขียนให้นสพ.”โพ้นทะเล” ตามเดิม น.ส.พ.โพ้นทะเลมาจาก”ไทยโพ้นทะเล” ช่วงหลังตัดคำว่า”ไทย”ออก

เสรีชนกุมการตลาดหนังสือพิมพ์ไทยช่วงแรก

หนังสือพิมพ์“เสรีชน” เริ่มก่อตั้งเมื่อสิงหาคม ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) โดยนายไชยวัฒน์ ภักตร์นิลรัตน์ อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อเขาเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแคนซัส จึงมุ่งมาใช้ชีวิตในแอล.เอ. น.ส.พ.เสรีชนระยะเริ่มต้นออกเป็นแท็บลอยด์วางตลาดเดือนละครั้ง

ต่อมาต้นปี 1979 ย้ายไปอยู่ที่ตึกใหม่ของบริษัท Star Tours Inc. หรือ Thai Associate Travel ของนายสุชาติ-นางสายพิณ วิไลดารกา เลขที่ 1901 W. 8 St. # 109 Los Angeles CA 90057 และเริ่มเปลี่ยนเป็นฉบับใหญ่ (Broadsheet) ออกเป็นรายสัปดาห์

ไม่นานนักน.ส.พ.เสรีชนได้เปลี่ยนเป็นบริษัท  Sereechai Enterprises  ชื่อของหนังสือพิมพ์ก็เปลี่ยนเป็น”เสรีชัย”มีหุ้นส่วน 9 คน คือวิวิธ วิจิตรวาทการ,โอภาส เครือโสภณ,ดร.กมล สมวิเชียร,วันชัย วัฒนสินธ์,เพ็ญพิมพ์ จิตรธร,เสรี เริงเกษตรกิจ,ชัยชนะ อิงคะวัต,อโรร่า สัมพันธรักษ์ และ ณรงค์ เฉลยโภชน์ หัวหนังสือก็เปลี่ยนมาเป็น”เสรีชัย”

เริ่มออกวางตลาดสัปดาห์ละ 2 วันและ 3 วัน จากนั้นไม่นานเปลี่ยนมาออกสัปดาห์ละ 1 ฉบับ ปัจจุบันนสพ.เสรีชัยยังคงตีพิมพ์ออกวางตลาดเป็นประจำติดต่อกันมาด้วยการเปลี่ยนเจ้าของ,เปลี่ยนบรรณาธิการเป็นรุ่นๆเรื่อยมา

มติชนยูเอสเอรายวันผู้เปิดประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ไทยในแอล.เอ.ต้องจารึกอีกครั้งเมื่อปี 1979 หนังสือพิมพ์ “มติชน”รายวันได้มาจัดตั้งสำนักงานขึ้นที่ The Park ตรงข้ามกับ Bunker Hill Tower ในดาวน์ทาวน์แอล.เอ.เพื่อเปิดรายวันในนาม “มติชน USA”ขึ้นมา นายขรรค์ชัย บุนปาน เดินทางมาเปิดกิจการโดยการร่วมทุนกับนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  ผู้ดูแลกิจการคือนายปราสบสุข ปราสาททองโอสถ

ส่วนกองบรรณาธิการมอบหมายให้นายกมล กมลตระกูล เป็นผู้ดูแลและจัดส่งสต๊าฟงานของมติชนจากกรุงเทพฯมาร่วมด้วยอาทิเช่นนายไพสันติ์ พรหมน้อย,นายสุวิทย์ มณีนพรัตน์และนายพิจารณ์ ตังคะไพศาล เป็นต้น

การออกหนังสือพิมพ์รายวันแก่ชุมชนไทยในสหรัฐไม่อาจไปรอดได้ทั้งจำนวนคนอ่าน ผู้ลงโฆษณา ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนมติชน USA ก็ต้องยุติกิจการไปโดยปริยาย

ภายหลัง”มติชน”หยุดกิจการไป กลุ่มที่ยังทำหนังสือพิมพ์อยู่ก็คิดจัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกมาสนองความต้องการของชุมชนไทย ดังนั้นจึงเกิดการร่วมหุ้นกันขึ้นในกลุ่มประกอบด้วยนายกมล กมลตระกูล,นายไพสันติ์ พรหมน้อย,นายชัชวาลย์ ศรีพาณิชย์ (มาจากนสพ.เสรีชน),นายนิตย์ อภิวรรณศรี ฯลฯ จึงเกิดนสพ.”ประชามติ” ขึ้นมา จากนั้นมีการผลัดเปลี่ยนสต๊าฟงาน จนกระทั่งนสพ.”ประชามติ”หยุดไปตามกาลเวลา

สิ่งพิมพ์ในรูปแบบนิตยสาร

ในปี 1978 นิตยสาร”ทีวีพาเหรด”เกิดขึ้น ใช้สีบานเย็นเป็นสีประจำฉบับ จากคำบอกเล่าของนายศิริชัย (ม้อ)กังวาฬพร นายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ปี 1987-1988 (ถึงแก่กรรมแล้ว)แก่ผู้เขียน เขาเล่าว่านิตยสารทีวีพาเหรดเขามีส่วนร่วมก่อตั้งกับ นายทิวากร บำรุงรัฐ นักข่าวบันเทิงและพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่งมุ่งเน้นด้านบันเทิง

นิตยสารฉบับนี้มีการเปลี่ยนมือผู้ดำเนินกิจการหลายราย ล่าสุดหายไปพร้อมกับ คัทลียา(ติ๋ม)จาตุรงคกุล ซึ่งเป็นเจ้าของ BJP Tours  and Travel และ K.C. International Ticket & Tours Center รวมอยู่ด้วย ในข้อหาฉ้อโกงลูกค้าด้านรับทำวีซ่าเข้าสหรัฐ,โกงนักเรียนไทยที่ให้ต่อวีซ่าขณะเรียนโรงเรียนสอนภาษาในแอล.เอ. โดยเรื่องนี้ถูกนสพ.เอเชี่ยน แปซิฟิก นิวส์และนสพ.สยามมีเดีย นำมาเปิดเผย จากนั้นนิตยสารทีวีพาเหรดและคัทลียา จาตุรงคกุล ก็หายเข้ากลีบเมฆ

ปี 1981 นิตยสาร”สยามมีเดีย”ออกวางตลาดจัดทำโดย นายวงศ์ชัย ลีลลัคนากุล รูปเล่มแบบนิตยสารทีวีพาเหรดแต่ใช้สีเขียวเป็นสีประจำฉบับ ต่อมาทราบว่ามีการขายกิจการโดยนายธานิน อิงอุดมนุกุล ทนายความในขณะนั้นซื้อไปปรับปรุงเป็นน.ส.พ.ขนาดมาตรฐาน “สยามมีเดีย”ออกวางตลาดติดต่อกันมา ต่อมานายธานน อิงอุดมนุกูล จะหันไปทำธุรกิจจึงมอบสยามมีเดียให้กฤติยา  งามสง่าและสมเจตน์ พยัคฆฤทธิ์ พร้อมพรรคพวกไปดำเนินการ ในที่สุดนสพ.สยามมีเดียก็ตกมาอยู่ในมือของ นายอรรคเดช ศรีพิพัฒน์ (ประวัติศาสตร์ตอนนี้ผู้ที่จะไขความกระจ่างได้ดีประกอบด้วยนายสมเจตน์ พยัคฆฤทธิ์ นางกฤติยา งามสง่าและนายอรรคเดช ศรีพิพัฒน์(ผู้เขียนพอทราบเพราะคนไขความกระจ่างแก่ผู้เขียนเขาถึงแก่กรรมไปแล้วเขาชื่อ เอกสิทธิ์ (ทอม) ศรีพิพัฒน์

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1982 ( พ.ศ.2525) นิตยสาร “ตะวัน”รายปักษ์ได้ตีพิมพ์ออกสู่สายตาคนไทยในแอล.เอ.เป็นครั้งแรกที่พิมพ์หน้าปกสีนำทีมโดย นายไพสันติ์ พรหมน้อย,นายนิพนธ์ นิ่มพงษ์ศักดิ์,นายสถาพร คล่องวิทยาและคณะอีกจำนวนหนึ่ง โดยมี น.พ.วิบูล วิจิตรวาทการและนายเชาวน์ บูรณะสมบัติ เป็นที่ปรึกษา

หลังจากดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งหนังสือฉบับนี้ได้เปลี่ยนมาออกเป็นรายเดือนและไปไม่รอดจึงนำไปขายให้กับกลุ่มนายสุรพล กันต์แก้ว เจ้าของดีเลเลอร์รถเบนซ์ยี่ห้อ Jass Imports และนายชากร รัตนา นักการธนาคารโดยตีพิมพ์ออกมาได้ปีเศษๆจึงหยุดกิจการ

นอกจากนี้ยังมีนิตยสารประเภท”ปลุกใจเสือป่า”จัดทำโดยนายไชยวัฒน์ ภักตร์นิลรัตน์ แห่งค่ายเสรีชนออกมาเพียงฉบับเดียวก็เลิกไป เช่นเดียวกับนิตยสาร”สยามปริทรรศน์”จัดทำโดยนายศุภชัย ตรีบำรุง ออกได้ฉบับเดียวก็ยุติไป

หนังสือพิมพ์ยุค 1980 ออกเหมือนดอกเห็ด

ยังมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารออกในชื่อต่างๆและเลิกกิจการไปประกอบด้วยนสพ.มวลชน,ไทยนิวส์,กีฬาและบันเทิง,มุมน้ำเงิน,ไทยรีดเดอร์,เอเชี่ยน โพสต์,อาเซียน โพสต์,ฟ้าเมืองนอก,ไทยแม็กกาซีน เป็นต้น

เท่าที่จำได้หนังสือพิมพ์เอเชี่ยน โพสต์ (The Asian Post) ออกตีพิมพ์เมื่อปี 1985 มาได้ระยะหนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมลงทุนก็แยกย้ายกันไป กลุ่มหนึ่งนำหนังสือพิมพ์ออกมาเปิดใหม่ชื่อนสพ.อาเซียน โพสต์(The Asean Post) เมื่อปี 1986 ผู้ร่วมหุ้นประกอบด้วยนายสุรินทร์(เสี่ยหยวย) เดชดำรงวุฒิ,นายสมชาย (น้าตี๋)จุนเจือทรัพย์และนายณรงค์ เฉลยโภชน์ โดยมีนายชลินทร์ ปิ่นวัฒนะ เป็นบรรณาธิการ นายศิริชัย กังวาฬพร เป็นผู้จัดการ นสพ. “อาเซียน โพสต์”ทำได้ระยะหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง

ต่อมานายชลินทร์ ปิ่นวัฒนะและนางวลัยพร พันธุ์แสง นำไปเปิดเป็นนสพ.เอเชี่ยน รีดเดอร์ เมื่อประมาณปี 1990 และก็ปิดตัวลงในเวลาต่อมาเพราะนายชลินทร์กลับไปปักหลักทำธุรกิจที่ประเทศไทยเป็นการาถาวร

ส่วนอีกสายหนึ่งที่เคยร่วมทีมทำ “เอเชี่ยน โพสต์”แยกไปเปิดหนังสือพิมพ์ไทยแอล.เอ.เมื่อประมาณปี 1990 โดยมีนายอเนก พลอยแสงงาม เป็นเจ้าของ นายวิรัช โรจนปัญญา เป็นบรรณาธิการ นสพ.ไทยแอล.เอ.ยังคงดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน

หนังสือพิมพ์ข่าวสด USA  จัดพิมพ์ออกมาอีกฉบับ ตามประวัติทราบว่านายเผด็จ ภูรีปฎิภาน เจ้าของนามปากกา”พญาไม้”อนุญาตให้เพื่อนในแอล.เอ.โดยนายชาตรี ธนารยะกุล เป็นผู้ก่อตั้ง เริ่มฉบับแรกเดือนกันยายน 1986 ใช้ชื่อหัวหนังสือพิมพ์ข่าวสดที่เป็นเจ้าของมาดำเนินการ  ในที่สุด ศรีวงศ์ อาญาสิทธิ เข้ามารับช่วงกิจการต่อและออกตีพิมพ์เป็นประจำอยู่ทุกวันนี้

นสพ.มติเสรี จัดทำโดยนายวิจารณ์ จันทนะเวส น่าจะก่อตั้งเมื่อปี 1989 จนในที่สุดได้ขายกิจการไปให้กับกลุ่มบ้านขนมไทยเพื่อนำไปจัดทำต่อและเปลี่ยนชื่อเป็นนสพ.ไทยทาวน์ ยูเอสเอ โดยนำนสพ.มตอิเสรีมาเป็นตัวตั้งคือฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2546 (ค.ศ.2003)ระบุว่าเป็นปีที่ 14 ฉบับที่ 567 หนังสือพิมพ์ไทยทาวน์ ยูเอสเอซื้อนสพ.มติเสรีมาต่อยอดนับฉบับต่อไปโดยไม่ได้เริ่มนับ 1 ใหม่(นำปี 2003 ลบด้วย 14 จึงเป็น 1989)

นิตยสาร “เฉียบ”ดำเนินการโดยนายธนเทพ เตชะเลิศกมล(อ้วน เฉียบ) เปิดดำเนินการเมื่อปี 1989 ยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ยาวนานพอสมควรจนกระทั่งเจ้าของถึงแก่กรรม นิตยสารฉบับนี้แม้มีผู้พยายามจะนำไปจัดทำ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอดจึงต้องหายไปจากวงการประมาณปลายปี 2001 ต่อต้นปี 2002

หนังสือพิมพ์ในยุคปี ค.ศ. 1990

เมื่อประมาณปี 1991 หรือพ.ศ. 2534 นสพ.”ชุมชน”ออกมาดำเนินการโดย นายศักดา สุธรรม หรือ “เพี้ยน พาหนี” เมื่อนายศักดากลับไปอยู่กัมพูชาแบบถาวร หนังสือฉบับนี้เปลี่ยนมาเป็น”นิวชุมชน”รับมาจัดทำโดย นายเชาว์ ซื่อแท้ ดำเนินกิจการมาได้นานนับ 10 ปี  เจ้าของก็หันไปจับธุรกิจอื่นเลิกกิจการไป ก่อนจะเลิกมีพิธีมอบหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ต่อนางศวรรณี พัฒนะ  แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ตีพิมพ์ออกมาอีก

น.ส.พ.ไทยไทมส์ เปิดดำเนินการโดยนายสรรชัย โกรานนท์ ต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ปิดลงเจ้าตัวพยายามที่จะออกหนังสือพิมพ์ใหม่ขึ้นมาให้ชื่อว่า”บางกอกไทม์”เปิดตัวได้ไม่กี่ฉบับก็ปิดตัวลงอีก

(ต้องขออภัยผู้อ่านที่ไม่อาจระบุปีที่เปิดดำเนินกิจการได้เพราะได้สอบถามเจ้าของคือ สรรชัย โกรานนท์ แล้ว เขาก็ลืมไปแล้วเช่นกันว่าเปิดปิดปีไหน สำหรับ สรรชัย โกรานนท์ เป็นชื่อนักร้องมีเพลงดังของ

ตัวเองชื่อเพลง”ทรายใต้ถุนตึก” ส่วนชื่อจริงของเขาคือไพบูลย์ หนูชัยแก้ว ต่อมาถึงแก่กรรม)

นสพ.สันติภาพ โดยสมเจตน์ พยัคฆ์ฤทธิ์ และวัลลภา ดิเรกวัฒนะ ออกตีพิมพ์ในปี 1993 อยู่มาหลายปีก็ต้องปิดกิจการไป เท่าที่ผู้เขียนมีหลักฐานอยู่ในมือคือฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2545 (ค.ศ.2002)ระบุว่าเป็นฉบับที่ 320 ปีที่ 7

นสพ. “ธุรกิจบันเทิง”โดยนายวิภัทร  พรหมสุนทร,นางศวรรณี พัฒนะและนายไพบูลย์ เพียรวานิช คนหลังลาออกจากตำแหน่งบก.นสพ.ไทยแอล.เอ.มาร่วมงานด้วย ภายหลังจากที่นายวิภัทรกลับเมืองไทยแบบถาวร นสพ.ธุรกิจบันเทิงอยู่ได้ระยะหนึ่งก็ปิดตัวเองลง

นายไพบูลย์ เพียรวานิช มาเปิดนสพ. “มหาชน”เมื่อเดือนสิงหาคม 1994 ทำได้ระยะนานพอสมควร นายไพบูลย์ก็กลับเมืองไทยอย่างถาวร โดยมีผู้รับช่วงหนังสือพิมพ์ไปเปิดเป็นนสพ.”นิวมหาชน”อยู่ได้ระยะหนึ่งเช่นกันและเลิกกิจการไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา

นสพ.อินเตอร์ไทย ถือกำเนิดเดือนกรกฎาคม 1996 เป็นหนังสือพิมพ์ 2 ภาษาคือไทย-อังกฤษและปิดกิจการไปประมาณ 10 ปีให้หลังโดยมี พัชรีย์ ศรีพิพัฒน์(ซูเปอร์ แพท) เป็นเจ้าของ

นสพ.ไทยคอม ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ออกวางตลาดฉบับแรกเมื่อปีใด น่าจะเป็นช่วงปี 1995 หรือ 1996 เพราะออกเป็นรายสะดวก แต่ก็ออกมาติดต่อกัน บางฉบับออกห่างกันนับได้เป็นเวลา 1 ปี  นโยบายของหนังสือฉบับนี้ระบุว่า “อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” จัดทำโดยนายทองดี สุขเดช  โดยนายทองดีเคยเป็นนายกสมาคมพ่อค้าไทยมาก่อน และระหว่างปี 1999-2000 เป็นนายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้

นายทองดีเคยเป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์ “นิวชุมชน”ก่อนที่จะมาออกนสพ.ไทยคอมของตัวเอง ถือว่านสพ.ไทยคอมเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในด้านของการ “เปิดโปง”ผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ,เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ,ผู้คนเด่นๆในสังคมรวมไปถึงคนทำหนังสือพิมพ์  ส่งผลกระทบ กระเทือนอย่างสูงต่อผู้ที่ถูกเขียนถึง จึงเกิดเรื่องอื้อฉาว,รุนแรงและเป็นคดีความกันก็มี

ลักษณะของหนังสือพิมพ์ไทยคอมน่าจะถูกจัดเป็นหนังสือพิมพ์ประเภท “ใต้ดิน”เพราะภาษาที่ใช้ถือว่าหยาบคายแบบสุดๆ  ดังนั้นจึงสร้างข้อถกเถียง(Controversial) ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเพราะมีทั้งผู้เห็นด้วย,ไม่เห็นด้วยและต่อต้าน  คนส่วนหนึ่งอาจนิ่งเฉยแต่ในทางลับได้ขอ “ไทยคอม”ไปแอบอ่านก็มี บางคนวิจารณ์ว่านสพ.ไทยคอมมีข้อมูลที่ดีแต่หยาบคายมากไป เป็นต้น

รูปแบบของหนังสือพิมพ์ไทยคอมไม่แน่นอน บางฉบับออกเป็นแบบนิตยสาร,แบบแท็บลอยด์และแบบนสพ.มาตรฐานหรือ Broadsheet บางครั้งก็ออกเป็นแบบใบปลิวเย็บรวมหลายแผ่น ปัจจุบันนสพ.ฉบับนี้หายไปจากวงการแล้ว

หนังสือพิมพ์ยุคปี ค.ศ. 2000

หนังสือพิมพ์ The Asian Pacific News วางตลาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2000 โดยผู้เขียน(นายไพสันติ์ พรหมน้อย)และคณะ หลังลาออกจากนสพ.อินเตอร์ไทย ที่เป็นผู้จัดทำให้ได้ประมาณ 3 ปีครึ่ง  หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มุ่งเน้นภาษาไทย-ลาว  จากนั้นก็แทรกข่าวภาษาอังกฤษเข้าไปบ้างเล็กน้อย ดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบันขึ้นสู่ปีที่ 11

นสพ.สยามโครนิเคิล ออกวางตลาดประมาณเดือนมีนาคม 2000 โดยนายบรรลือ สอนบาลี เป็นเจ้าของกิจการ ดำเนินมาได้ประมาณปี 2006 ก็หายไปจากวงการเพราะเจ้าของเปลี่ยนอาชีพใหม่หันไปทำห้องอาหารไทย

นสพ.ข่าวไทย  ฉบับแรกออกเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2000 ทำจนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2004  โดยสุรพล สุขถาวรและสันทนี วายุโชติ จากนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ปิดตัวลง

ช่วงนี้ยังมีนิตยสาร”พราว”ของคนหนุ่มสาว(ลูกของคุณพราวตา ดาราเรือง)ที่เคยไปทำงานให้กับนิตยสาร”เฉียบ”มาเปิดดำเนินการด้วยตัวเองระยะหนึ่งก็ต้องปิดตัวไป

หนังสือพิมพ์ไทยทาวน์ ยูเอสเอ ได้เริ่มนับ 1 ใหม่โดยไม่ใช้ตัวเลขของ”มติเสรี”มาเป็นตัวตั้ง นสพ.ไทยทาวน์ข่าวสังคม(แอลเอ) ประจำฉบับที่ 478 เขียนไว้ว่า”และแล้วไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์ ฉบับปีที่ 10 เล่มที่ 478 ประจำวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม(2010) ก็จะเป็น “ไทยทาวน์”ฉบับสุดท้ายที่วางแผงเพื่อรับใช้พี่น้องชาวไทยในแอลเอ และอีกหลายรัฐของอเมริการวมถึงเป็น“แหล่งข่าว”ชั้นดีของคนไทยทั่วโลก ที่ต้องการทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคนไทยที่นี่…

“การปิดตัวของหนังสือพิมพ์ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์ นั้นมีสาเหตุเกี่ยวพันอยู่กับสถานีไอพีทีวี ซึ่งผู้บริหารถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล จนสุดที่จะยืนหยัดอยู่ในธุรกิจได้อีกต่อไป… ไทยทาวน์ฯซึ่งเป็นธุรกิจเล็กๆภายใต้ชายคาเดียวกัน จึงได้รับผลกระทบไปด้วย…”

นายภาณุพล รักแต่งาม บรรณาธิการนสพ.ไทยทาวน์ยูเอสเอได้แจ้งมายังสื่อมวลชนต่างๆว่า “ขออนุญาตถือโอกาสนี้ เรียนว่า หนังสือไทยทาวน์ฯ ปิดตัวเองแล้วนะครับ โดยผมจะเปิดหัวใหม่ (ร่วมหุ้นกับพี่สรรชัย และน้องกวาง)ใช้ชื่อ สยามทาวน์ ยูเอส จะออกเล่มแรกวันเสาร์นี้ครับ (9 ตุลา) ขอความสนับสนุนด้วยนะครับ “ สรุปแล้วนสพ.สยามทาวน์ ยูเอส ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2010

นสพ.เมืองไทย เปิดดำเนินการเมื่อปี 2002 ขนาดแทบลอยด์โดยนายนิพันธ์ โรจนโสภณดิษฐ์ (ตุง รามา) ได้ว่าจ้างนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายคนไปจัดทำเปลี่ยนบรรณาธิการตลอดมา จนกระทั่งล่าสุด ชวนขวัญ เชื้อภักดี รับมาดำเนินการต่อ แต่เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า MT ซึ่งยังคงความหมายเดิมคือ”เมืองไทย” ปัจจุบันยังออกวางตลาดเป็นประจำ

ปี 2002 กลุ่มบ้านขนมไทย(BKT Group) เปิดนิตยสารชื่อ”ไหมไทย”ขึ้นมาพิมพ์ปกสีสวยงามขึ้นมาสอดรับกับรายการบันเทิงที่นำเสนอใน IPTV รวมทั้งชื่อ”ไหมไทย”ยังสอดคล้องกับร้านไหมไทยของกลุ่มบ้านขนมไทย โดยมี ชัชวาลย์ สิริยานนท์ เป็นบรณาธิการบริหาร ต่อมาเมื่อชัชวาลย์ถึงแก่กรรมลง นิตยสารฉบับนี้ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งก็ปิดตัวลงเช่นกัน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ได้มีหนังสือพิมพ์  Asian Post ออกมาวางตลาดรูปแบบแท็บลอยด์ เสนอ 2 ภาษาคือไทย-ลาว ออกเป็นรายปักษ์ เจ้าของเป็นคนไทยผู้จำหน่ายอาหารเสริมชื่อ Healthy Planet มี บรรณาธิการบริหารชื่อ วีรร์เกษม แทนเกษม  ส่วนคณะที่ปรึกษาก็คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาทิเช่น โดม รัตนวงศ์,สมเจตน์ พยัคฆ์ฤทธิ์,กษิดิส มั่นปฐพี(นามปากกา),ดร.เรย์ เชาวจลา,ดร.จารุณี นักระนาด เป็นต้น

การเกิดและยุติของหนังสือพิมพ์ไทย

มองจากภาพรวมแล้วเมื่อมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยออกมาวางตลาดได้  ก็ย่อมที่จะหดหายไปตามกาลเวลามีอยู่หลายสาเหตุ ที่สำคัญคือเงินทุนดำเนินการ หากเจ้าของมีเงินทุนหมุนเวียนและมีกิจการอื่นๆมาช่วยเกื้อหนุน หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็จะยืนอยู่ในตลาดได้นาน  อาทิเช่นนสพ.ไทยแอล.เอ.,นสพ.ไทยทาวน์ ยูเอสเอ,นิตยสารทีวีพาเหรด เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 องค์กรมีธุรกิจของตนอยู่ในมือ ส่วนหนึ่งออกมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจของตนควบคู่กันไป

กรณีนิตยสารทีวีพาเหรด ไม่อาจอยู่ได้เพราะเจ้าของฉ้อโกงผู้อื่นด้านการต่อวีซ่าให้นักเรียนไทยกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ,การจัดทำทัวร์,การขายตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น เจ้าของมีหมายจับจากศาลเมืองไทยคดีฉ้อโกงเรื่องการจัดทำวีซ่าเข้าสหรัฐ  เมื่อเรื่องถูกเปิดโปงก็ไม่สามารถอยู่ในชุมชนไทยได้อีกต่อไป

กรณีนสพ.ไทยทาวน์ ยูเอสเอ เจ้าของกิจการคือกลุ่มบ้านขนมไทยต้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีจากประเทศไทยเป็นเงิน 8.31 ล้านดอลลาร์ในคดีละเมิดและดัดแปลงลิขสิทธิ์ จึงยุติกิจการไป

อีกด้านหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยไม่อาจอยู่ได้เพราะขาดเงินทุนดำเนินงาน บ่อยครั้งที่ถูกผู้แจ้งความลงโฆษณาไม่จ่ายค่าโฆษณาแบบสะสมเรื้อรัง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หนักเข้าหนังสือพิมพ์ก็ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้  เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่สุด การ”ชักดาบ”ค่าโฆษณาไม่เพียงแต่ถือว่าเป็นคนไร้ศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนทำให้ชุมชนไทย”อ่อนแอ”ลงไปอีกด้วย

เริ่มมาตั้งแต่ปี 2008  ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ณ ปีค.ศ. 2011 อุตสาหกรรมรถยนต์,อสังหาริมทรัพย์และอื่นๆที่ลงโฆษณาเป็นรายได้หลักของหนังสือพิมพ์ก็ลดน้อยและหายไป ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นหนักกับหนังสือพิมพ์อเมริกันหลักๆของชุมชนที่ส่วนใหญ่ออกมานานบางฉบับกว่า 100 ปีก็ปิดกิจการลง

ในกรณีของหนังสือพิมพ์ประเภท Ethnic Group หรือหนังสือพิมพ์ของชนเฉพาะกลุ่มที่แทรกตัวอยู่ในสังคมใหญ่อาทิเช่นหนังสือพิมพ์ไทย,นสพ.ฟิลิปปินส์,เกาหลี,จีน,เวียดนาม ฯลฯ  ส่วนใหญ่จะยังอยู่ได้เพราะได้รับการเกื้อหนุนจากชุมชนของตัวเอง  อีกทั้งการลงทุนก็ไม่ได้มาก,จำนวนคนทำพอประมาณตามความจำเป็นที่ต้องใช้

หนังสือพิมพ์อิเลกทรอนิก

ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ของหลายชาติหลายภาษาจะจัดทำเว็บไซท์ของตัวเองควบคู่ไปกับหนังสือพิมพ์กระดาษเพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก รู้จักกับในทางวิชาการว่า Electronic Newspaper  แต่ในภาษาทั่วไปใช้คำว่า”เว็บไซท์”เข้าใจง่ายกว่า

หนังสือพิมพ์จึงต้องหันมาลงทุนเพิ่มเติมในเว็บไซท์ เว็บไซท์อาจไม่มีโฆษณามาจุนเจือ และโฆษณาก็อาจเป็น”ของแถม”หลังจากได้ลงในหนังสือพิมพ์กระดาษแล้ว ทำให้ผู้ลงแจ้งความโฆษณายินดีที่จะได้ลงฟรีผ่านเว็บไซท์  และเว็บไซท์นี้เองก็มามีส่วนทำให้ยอดพิมพ์และยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษลดลงไปด้วย  อย่างไรก็ตามโลกในยุคดิจิตอลก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆไม่อาจหยุดยั้งได้เช่นกัน

สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยในแอล.เอ.ที่จัดทำเว็บไซท์ควบคู่กันไปมีดังนี้

หนังสือพิมพ์ดิ เอชี่ยนแปซิฟิค นิวส์     www.apacnews.net

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ยูเอสเอ     http://khaosodusaonline.com

หนังสือพิมพ์เสรีชัย     www.sereechai.com

หนังสือพิมพ์สยามมีเดีย     www.siammedia.org

หนังสือพิมพ์สยามทาวน์ ยูเอส     www.siamtownus.com

หนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ     www.thailanews.net

 

เอกสารอ้างอิง

1.“คนไทยและธุรกิจการค้าในแคลิฟอร์เนียภาคใต้ สหรัฐอเมริกา” หนังสือของสมาคมพ่อค้าไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 2529 (ค.ศ.1986)

2.หนังสืออนุสรณ์ “9 ปีของสมาคมสื่อมวลชนไทยในสหรัฐอเมริกา”ตีพิมพ์พ.ศ. 2536 (ค.ศ.1993)

3.“สื่อสารมวลชนไทยในในลอส แอนเจลิส พัฒนาการและความเติบโต” โดย ไพสันติ์ พรหมน้อย จากหนังสือ “5 มีนาคม 2539 วันนักข่าว” ของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

4.เว็บไซท์นสพ.เสรีชัย  www.sereechai.com ที่เขียนถึงประวัติความเป็นมาของนสพ.เสรีชัย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

นายไพสันติ์ พรหมน้อย บัณฑิตวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวนสพ.ประชาธิปไตยรายวันยุคปี พ.ศ.2516 ,นสพ.ประชาชาติ,นสพ.รวมประชาชาติ,ผู้ร่วมก่อตั้งนสพ.มติชนรายวัน เคยเป็นบรรณาธิการข่าวและบรรณาธิการบริหาร “มติชน”

ในสหรัฐอเมริกา เป็นบก.บริหารนสพ.มติชน ยูเอสเอ,ผู้ร่วมก่อตั้งนสพ.ประชามติ,นิตยสาร”ตะวัน”,นสพ.มหาชน,นสพ.เอเชี่ยน โพสต์,นสพ.อาเซียน โพสต์,นสพ.อินเตอร์ไทยและนสพ. The Asian Pacific News

งานในทางสังคมเป็นนายกสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ปี 1993 ,เป็นนายกสมาคมสื่อมวลชนไทยในสหรัฐอเมริกา 1994-1995 ,เป็นรองประธานอำนวยการสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้, เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการสมาคมสื่อมวลชนไทยในสหรัฐอเมริกา