สภาการหนังสือพิมพ์แคนาดาวางกฎคุมกันเอง

สภาการหนังสือพิมพ์แคนาดาวางกฎคุมกันเอง

สภาการหนังสือพิมพ์แคนาดา (The National NewsMedia Council : NNC) เป็นองค์กรอาสาสมัคร วางกฎควบคุมกันเองด้านจริยธรรมของสื่อภาษาอังกฤษในแคนาดา (ในแคนาดายังมีสื่อภาษาฝรั่งเศส) ตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2015 มีเป้าหมาย 2 ประการคือ 1.ส่งเสริมจริยธรรมของอุตสาหกรรมสื่อ  2.ทำหน้าที่เป็นเหมือนองค์กรรับเรื่องการร้องเรียนที่มีต่อสื่อซึ่งเป็นสมาชิกของสภาฯ

สภาหนังสือพิมพ์แคนาดาทำหน้าที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในการทำข่าวว่าด้วยความถูกต้องและความสมดุลของข่าว ทำหน้าที่เป็นตัวแทน ประชาชนและสื่อในเรื่องสิทธิประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ

สมาชิกสภาฯประกอบด้วยหนังสือพิมพ์รายวัน นสพ.ชุมชน นิตยสาร และสื่อออนไลน์ทั่วแคนาดา ยกเว้นที่จังหวัดอัลแบร์ต้าและควีเบคที่มีสภาฯ เป็นของตัวเอง สมาชิกจ่ายค่าธรรมเนียมแก่สภาฯ และน้อมรับคำตัดสินของสภาฯ

สภาฯ ประกอบด้วยสมาชิก 17 คน ในจำนวนนี้ 9 คนมาจากองค์กรสาธารณะและ 8 คนมาจากสื่อที่เป็นสมาชิกสภาฯ ประธานสภาฯจะเลือกจากคนนอก สมาชิกของสภาไม่มีหน้าที่ลงคะแนนเสียงตัดสินใจหรือพิทักษ์ผลประโยชน์แทนองค์กรสื่อแห่งใดแห่งหนึ่ง

สภาหนังสือพิมพ์ในแคนาดามีประวัติความเป็นมานานกว่า 40 ปีโดยก่อตั้งขึ้นในแต่ละจังหวัดเพื่อระมัดระวังด้านการประพฤติปฏิบัติมิชอบ รวมทั้งปัญหาจริยธรรมของสื่อ สภาฯแรกจัดตั้งอย่างเป็นทางการที่เมืองวินด์เซอร์ จังหวัดออนทาริโอ้ ในปี 1972 เมื่อสื่อในจังหวัดนี้ตัดสินใจที่จะช่วยให้สาธารณะเข้าใจการทำงานของสื่อ เส้นแบ่งเขต และแนวปฏิบัติของสื่อต่อสาธารณะ

 

 

มีข้อร้องเรียนอะไรบ้างที่ NNC รับพิจารณา?

ข้อร้องเรียนมีมากมายทั้งเนื้อหาในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ สภาฯ พิจารณาเกี่ยวกับความถูกต้องของข่าว มาตรฐานของสื่อ และจรรยาบรรณในการรายงานข่าว ข้อกล่าวหาว่ามีความผิดพลาดในความเป็นจริงของข่าว การขโมยความคิดคนอื่นไปเป็นของตน ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายตอบโต้หรือแสดงความเห็น อีกทั้งร้องเรียนว่ามีอคติจากเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือการเลือกปฏิบัติ การร้องเรียนอาจเป็นประเด็นเดียวหรือมากกว่า 1 เรื่อง

สภาฯ จำแนกข้อร้องเรียนเป็น 4 ประเภทกว้างๆ โดยคู่กรณีสามารถรับรู้การตัดสินใจของสภาฯ ได้เช่นกัน

1.ความถูกต้อง (Accuracy) มาตรฐานด้านการสื่อสารมวลชนจำเป็นต้องมีข่าวที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงรวมทั้งการระบุตัวบุคคลและคำพูดของเขา หากมีการเขียนบทความจะต้องมีความเห็นอีกด้านของคู่กรณี และเปิดโอกาสให้ด้านตรงข้ามชี้แจงได้ การบรรยายใต้ภาพจะต้องถูกต้อง ณ จุดเกิดเหตุ คนที่เกี่ยวข้องและบรรยากาศ การพาดหัวเรื่อง (ชื่อบทความและการพาดหัวข่าว) เนื้อหาด้านในจะต้องเกี่ยวพันและสนับสนุนการพาดหัวเรื่องด้วย

2.การแสดงความคิดเห็น (Opinion) ความคิดเห็นและการเขียนบทบรรณาธิการอนุญาตให้ใช้ภาษาที่เข้มข้นและเสนอด้านไม่เป็นที่นิยมนักได้ สภาฯ จะพิจารณาคำร้องเรียนกรณีความคิดเห็นที่มีข้อผิดพลาดในข้อเท็จจริงหรือการใช้ภาษาที่ “ข้ามเส้น” เท่านั้น ส่วนจดหมายถึงบรรณาธิการโดยทั่วไปแล้วจะไม่พิจารณา หนังสือพิมพ์ทรงสิทธิ์ที่จะแก้ไข (edit) ความยาว ความชัดเจน เหตุผลทางกฎหมายหรืออื่นๆ หรืออาจเลือกที่จะไม่นำออกเผยแพร่เลยก็ได้ ผู้ร้องเรียนสามารถยืนยันในความหมายที่ตนร้องเรียน ซึ่งหนังสือพิมพ์อาจมีการตีความที่ผิดไปได้เช่นกัน

3.ประเด็นละเอียดอ่อน (Sensitive issues) สภาฯ อาจพิจารณาข้อร้องเรียนที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาทิเช่น การใช้ภาษา การเหยียดสีผิว การกีดกันทางเพศ โรคหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) หรืออคติที่มีต่อกลุ่มสังคมหรือกลุ่มการเมือง ส่วนการรายงานข่าวศาล รายงานละเมิดทางเพศ หรือข่าวเกี่ยวกับผู้เยาว์ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่ก็มีกฎหมายเข้ามาควบคุมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การรายงานบุคคล เช่น นักการเมือง หรือนักแสดง ซึ่งถือว่าเป็นที่รู้จักของสาธารณะ (Public figure) เมื่อเป็นข่าวจะต้องได้รับการรายงานมากกว่าคนธรรมดา

4.การอ้างแหล่งที่มาของข่าว (Attribution) ผู้สื่อข่าวต้องให้เครดิตกับผลงานของผู้อื่น ให้เครดิตแหล่งที่มาในทุกกรณี ยกเว้นข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ และจะต้องคำนึงถึงเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright law) มาตรฐานของหนังสือพิมพ์ หากไม่ใช่ของตัวเองจะต้องให้เครดิตภาพ การโค้ทข่าว ความคิดเห็น หรือการค้นคว้าในเรื่องนั้นๆ

 

1.ตัวอย่างรูปแบบการร้องเรียน-ความถูกต้องหรืออคติ (Complaint Type – Accuracy or Bias)

เรื่องร้องเรียนนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 (หลังจากเรื่องเป็นที่ยุติ)  โดยสภาฯ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและยกเลิกคำร้องเรียนเกี่ยวกับหัวข่าวที่ตีพิมพ์โดย นสพ.แวนคูเวอร์ ซัน และยังตีพิมพ์ในนสพ. the National Post ด้วย

นายเรย์มอนด์ ไร้ท์ เป็นผู้ร้องเรียนว่าการพาดหัวข่าวและบทความที่ตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2018 ว่า บี.ซี.มอร์มอน ไม่สบายใจหลังถูกตัดสินว่าเป็นผู้ประพฤติตนไม่เหมาะสมโดยการมีเมียหลายคน (B.C. Mormons fret after polygamy conviction) การพาดหัวข่าวนี้ทำให้เข้าใจผิดและไม่ถูกต้อง (บี.ซี.เป็นคำย่อของจังหวัดบริทิช โคลัมเบียอยู่ทางตะวันตกของแคนาดา)

นายไร้ท์กล่าวว่า หัวข่าวดังกล่าวเมื่ออ่านแล้วทำให้รู้สึกว่านิกายมอร์มอนเป็นกลุ่มคนที่แตกเป็นเสี่ยงๆ โดยทำให้ผู้อ่านไม่อาจแยกแยะได้ ผู้ร้องเรียนกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรข่าวจะแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่ามีคริสตจักรหลักซึ่งไม่รวมคำว่าผู้นับถือความดั้งเดิมของคริสตศาสนา (fundamentalist) ไว้ในชื่อและไม่ได้ประพฤติตนมีหลายเมีย

นสพ.แวนคูเวอร์ ซัน ชี้แจงข้อร้องเรียนโดยเห็นด้วยว่า คำจำกัดความมีความสำคัญพร้อมกับให้คำจำกัดความว่า พารากราฟแรกของคอลัมน์นั้นหมายถึง และจำกัดอยู่ที่ชุมชนมอร์มอน รวมทั้งพยายามโยงให้เห็นว่าเข้าไปเกี่ยวพันกับโบสถ์ของชุมชนมอร์มอนที่ชื่อ “Fundamentalist Church of Jesus Christ of Latter-Day Saints.”

นสพ.แวนคูเวอร์ ซัน ชี้แจงด้วยว่าคนเขียนบทความนี้เป็นคนดูแลเรื่องข่าวการประพฤติตนหลายเมียที่เมืองเบาตี้ฟุล (Bountiful) จังหวัด บี.ซี.มาอย่างยาวนาน จึงเชื่อว่าคนอ่านเกิดความคุ้นเคยและสามารถแยกแยะออกระหว่างกลุ่มประพฤติตนหลายเมีย (the polygamist sect) และชาวมอร์มอนส่วนใหญ่  (อนึ่งกลุ่มประพฤติตนหลายเมียก็นับถือนิกายมอร์มอนเช่นกัน)

องค์กรสื่อชี้แจงด้วยว่าคำพาดหัวว่า “บี.ซี.มอร์มอน” นั้นเพียงพอในคำจำกัดความของตัวเองและยิ่งกว่าเพียงพอเมื่อนำไปรวมกับชื่อองค์กรศาสนาที่รวมอยู่ในบทความทำให้ผู้อ่านแยกได้ชัดระหว่างกลุ่มที่ระบุว่า แตกเป็นเสี่ยงๆ กับโบสถ์กระแสหลัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สภาฯ เห็นด้วยกับคำชี้แจงขององค์กรสื่อในกรณีนี้ อีกทั้งการระบุ “บี.ซี.”ต่อเนื่องกับ “มอร์มอน”ทำให้คนอ่านรู้จักได้ทันทีและสื่อไปยังโบสถ์โดยทั่วไป

เนื่องจากปัญหากลุ่มฯ (ประพฤติตนหลายเมีย) ที่นับถือนิกายนี้ในเมือง Bountiful ถูกตรวจสอบและถูกรายงานมาเป็นเวลา 20 ปี สภาฯสนับสนุนมุมมองขององค์กรข่าวว่าผู้อ่านคุ้นเคยกับปัญหานี้และเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่แตกต่างกัน การใช้คำอธิบายจะช่วยให้ผู้อ่านไม่คุ้นเคยกับประวัติอันยาวนานว่า บทความนี้เกี่ยวกับกลุ่มที่จำเพาะเจาะจงไม่ใช่กลุ่มกว้าง ๆ

จากเหตุผลข้างต้น สภาฯไม่สนับสนุนผู้ร้องเรียนที่โต้แย้งว่าองค์กรข่าวละเมิดมาตรฐานความถูกต้องโดยไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง “กลุ่มที่แตกแยก” กับ “โบสถ์กระแสหลัก” และไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าความล้มเหลวทำให้เกิดผลเชิงลบในหมู่สมาชิกของโบสถ์กระแสหลัก “เราไม่พบหลักฐานการละเมิดมาตรฐานสื่อสารมวลชนด้านความถูกต้อง และด้วยเหตุนี้สภาฯจึงยกเลิกเรื่องร้องเรียนประเด็นนี้” สภาฯให้เหตุผล

สภาฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเมื่อผู้ร้องได้ร้องไปยังกรณี นสพ.the National Post ด้วย และสภาฯ ได้ตัดสินกรณีนี้ในองค์กรสื่อที่เป็นผู้นำเสนอเบื้องต้นแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีก

หมายเหตุ เรื่องนี้มีขั้นตอนการร้องเรียนและการพิจารณาประมาณ 3 เดือนเศษ

 

2.ตัวอย่างรูปแบบการร้องเรียนเรื่อง “ความเห็น”

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2018 สภาฯ ได้นำเรื่องการร้องเรียนขึ้นสู่เว็บไซต์หลังจากตัดสินเรียบร้อย โดยสภาฯ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและยกเลิกคำร้องเรียนที่ไม่มีมูล และกล่าวหาว่า นสพ.โตรอนโต้ สตาร์ มีความลำเอียง

นายรอเบิร์ต บุลล็อค เป็นผู้ร้องเรียนว่าเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2018 นสพ.โตรอนโต้ สตาร์แสดงความเห็นในคอลัมน์ว่า “ถูกจับขณะนั่งรถรางเพราะเป็นคนผิวดำ” ถือว่ามีข้อความและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเหยียดผิว

ผู้กล่าวหาระบุว่า คอลัมน์ความเห็นนั้นแสดงรายละเอียดว่าคนนั่งรถใต้ดินถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ และตำรวจที่ดูแลขบวนรถ ทั้งคณะกรรมการขนส่งมวลชนโตรอนโต้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้รับการบอกเล่าเรื่องนี้ คนเขียนบทความใส่ข้อความว่ามีการ “ยืนยันอย่างโจ๋งครึ่ม” ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวและการกระทำของพวกเขามีสาเหตุมาจากการเหยียดผิวเช่นกัน

ขณะที่องค์กรสื่อชี้แจงว่าบทความระบุชัดเจนว่าเป็น “ความคิดเห็น” และผู้เขียนความเห็นมีขอบเขตที่กว้างขวางเพื่อแสดงความคิดเห็นของตน คอลัมนิสต์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการใช้กำลังเกินเหตุของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้สรุปผลอะไร ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผิว (ดำ) เป็นความเห็นของผู้เขียนเอง

หนังสือพิมพ์ยังทำโน้ตไว้ใต้บทความว่าคณะกรรมการขนส่งและเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งกลับมาได้ แต่ไม่มีใครแสดงความเห็นโต้แย้ง

NNC ทบทวนบทความด้านความคิดเห็น การร้องเรียนและหนังสือพิมพ์ สภาฯ ยอมรับการปฏิบัติงานขององค์กรข่าวซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้เขียนบทความมีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่แสดงออกแบบเข้มแข็ง และใช้คำพูดยั่วยุ สภาฯยังพบว่าบทความนี้ได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นความคิดเห็นและคนเขียนบทความได้ท้าทายสภาพที่เป็นอยู่ (การใช้กำลังเกินเหตุ) อีกทั้งดึงดูดผู้อ่านด้วย

นอกจากการแสดงความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินเหตุ (กับคนผิวดำ) ก็เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความน่าเชื่อถืออีกทั้งยังเป็นประโยชน์ของสาธารณะโดยรวม

NNC ยังพบว่าไม่มีข้อความใดบ่งชี้ว่านักเขียนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่กระทำเพราะ “เหยียดผิว” คนเขียนบทความเขียนเหมือนตั้งคำถามขึ้นมาว่ามีการใช้อคติและเหยียดผิวหรือไม่ในการจับกุม โดยเขียนในลักษณะสร้างความเร้าใจแก่ผู้อ่านซึ่งอนุญาตให้นักเขียนทำได้ในการแสดงความเห็นของตน

กรณีที่ผู้ร้องเรียนได้ท้านักเขียนให้ “แสดงข้อมูล” ว่าคนผิวดำกลายเป็นกลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่ “เลือกปฏิบัติ” ในเรื่องนี้สภาฯ สังเกตได้ว่ามีรายงานข่าวจำนวนมากของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นข่าวจากเมือง จังหวัดที่ระบุอย่างกว้างขวางกลายเป็นระบบของการเหยียดสีผิวที่ยังดำรงอยู่และเป็น “ข้อมูล-ข้อเท็จจริง” ที่ (สภาฯใช้)ยืนยันเรื่องนี้

ผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่าบทความเขียนด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรมและลำเอียงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายรักษากฎหมายเมืองโตรอนโต้ อีกทั้งผู้เขียนบทความยังชักจูงให้ผู้อ่านมีทัศนคติเชิงลบ และลำเอียงต่อฝ่ายรักษากฎหมาย ทั้งยังแนะให้ผู้อ่านดื้อด้านไม่เคารพกฎหมาย

หลังจากสภาฯ ได้อ่านและพิจารณาบทความทั้งหมด พบว่าเป็นความคิดเห็นที่เร้าอารมณ์คนอ่าน แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่มีมูล

สภาฯ ให้การสนับสนุนบทบาทของสื่อในฐานะที่เป็นยามเฝ้าระวังเหตุ ว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ “ลุแก่อำนาจ” หรือไม่ นอกจากนี้ยังสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อซึ่งช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สภาฯ พบว่าหนังสือพิมพ์ไม่ได้ละเมิดมาตรฐานการสื่อสารมวลชนและยกเลิกข้อร้องเรียน

(หมายเหตุ-เรื่องร้องเรียนนี้มีขั้นตอนพิจารณาประมาณ 20 วัน)

 

 3.ตัวอย่างการร้องเรียนเรื่องละเอียดอ่อน

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2018 สภาฯ แถลงรายละเอียดการร้องเรียนข่าวละเอียดอ่อนกระทบความรู้สึกของผู้อ่าน โดยองค์กรสื่อได้ทำการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง เรื่องนี้เจนนิเฟอร์ เบบิน-เฟนสกี้ (Jennifer Babin-Fenske) ร้องเรียนว่าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2018 นสพ.ซัดเบอรี่ สตาร์ (Sudbury Star) พาดหัวว่า “ชายซัดเบอรี่ถูกจำคุก 4 ปี ฐานล่วงละเมิดลูกสาว” พร้อมกับเสนอรายละเอียดที่ไม่จำเป็นในข่าวถือว่าไม่สมควรแก่ผู้อ่านเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน (ระหว่างพ่อกับลูกสาว) แต่ไม่ได้ร้องเรียนว่าเรื่องผิดข้อเท็จจริง

ผู้ร้องเรียนกล่าวว่า ข้อความเกี่ยวกับการข่มขืน การใช้กำลังล่วงละเมิดและการบาดเจ็บสามารถถ่ายทอดได้โดยไม่ต้องมีรายละเอียดภาพ เพราะหากนำมาลงก็เทียบได้กับลงรูปลามกอนาจารของเด็ก หลังจากเธอร้องเรียนบรรณาธิการไปแล้วเธอทราบว่าหนังสือพิมพ์ได้ถอดรายละเอียดบางประโยคออก แต่เธอเห็นว่ายังไม่พอเพียงและยังแสดงความเป็นห่วงว่าในอนาคตรายงานเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีก

นสพ.ซัดเบอรี่ สตาร์ ยอมรับการร้องเรียนและเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่รายงานแบบชัดแจ้งเกินไป พร้อมกับยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหา 2 ประโยคในเว็บไซต์

บรรณาธิการยังอธิบายถึงความพยายามในการรายงานดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการถ่ายทอด “อาชญากรรมที่เต็มรูปแบบ” และให้ความสำคัญกับผู้อ่านในเรื่องละเอียดอ่อน กรณีนี้หนังสือซัดเบอรี่ สตาร์ เห็นด้วยกับผู้ร้องเรียนว่าข่าวที่รายงานมีความชัดเจนในเนื้อหามากเกินไป

ขณะที่รู้ว่าการข่มขืนเด็กและรายละเอียดของการข่มขืนเป็นเรื่องที่ไม่น่าประสงค์ และ NNC พบว่าการรายงานข่าวมีความเหมาะสมและจำเป็นโดยเห็นว่ามีเหตุผล 2 ประการคือ 1.เพื่อรักษาแนวความคิดที่เปิดกว้างของการนำเสนอ 2.เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงความผิดเกี่ยวกับคดีนี้

สภายอมรับแถลงการณ์ของ นสพ.ว่ารายละเอียดบางอย่างเป็นสิ่งที่จำเป็น (บางครั้งอาจหวาดเสียว)แต่เพื่อถ่ายทอดอาชญากรรม เวลาเดียวกันต้องให้ผู้สื่อข่าวหลีกเลี่ยงเรื่องที่ส่อว่าอาจหมิ่นประมาทรวมทั้งให้ความเห็นอกเห็นใจ มีมนุษยธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง สภาฯเห็นว่ารายงานที่มีการปรับปรุงแก้ไขได้มาตรฐานตามที่วางไว้

สภา NNC ยังตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิบัติที่ดีที่สุดให้ความเคารพต่อความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของผู้อ่าน ทำได้โดยโพสต์คำเตือนเป็นกราฟิกเนื้อหาที่ด้านบนของเรื่อง นสพ. Sudbury Star ควรใช้แนวทางดังกล่าวในอนาคต

กรณีผู้ร้องเรียนแนะนำว่าบรรณาธิการไม่เข้าใจว่าทำไมรายงานนี้ไม่เหมาะสมและเป็นห่วงว่าในอนาคตอาจเกิดขึ้นอีก

The NNC ตรวจสอบแล้วพบว่าองค์กรข่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงรายงานไปแล้วถือว่าแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะเมื่อรู้ว่าได้รายงาน”ล้ำเส้น”ไป ส่วนเรื่องที่คนร้องเรียนเป็นห่วงว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต สภาฯไม่สามารถที่จะทำอะไรได้กับการเหตุการณ์อนาคต

(หมายเหตุ-สภาฯ แก้ปัญหาร้องเรียนเรื่องนี้ 1 เดือนเศษ)