จดหมายข่าวประจำเดือนพ.ค. – มิ.ย 51

[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนพ.ค. – มิ.ย 51′]

แถลง

จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฉบับนี้ประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2551 ถัดไปอีกเพียงสี่วัน คือวันที่ 4 กรกฎาคม ก็จะเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยในปีนี้จะครบ 11 ปีเต็มและเติบโตสู่ปีที่ 12

4 กรกฎาคม 2540 เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ทั้งฉบับภาษาไทยและที่ตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ รวม 25 ชื่อฉบับ จากจำนวนทั้งสิ้น 32 ชื่อฉบับ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ 10 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ขึ้น

…ด้วยความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรให้มีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระ เพื่อควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิพม์ เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…

11 ปีเต็มของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ องค์กรอิสระเพื่อการควบคุมกันเองให้อยู่ในกรอบข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ควบคุมดูแลกันเอง ตักเตือนกันเอง โดยสมาชิกที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยต่างยอมรับโดยไม่บิดพลิ้ว

ทั้งนี้ โดยหลักคิดพื้นฐานของการมาร่วมเจตนารมณ์ที่จะยอมตัวอยู่ใต้กรอบข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยสมัครใจ หลักการควบคุมกันเองนี้จึงเป็นสิ่งที่สูงขึ้นไปกว่าข้อบังคับของกฎหมาย แม้ไม่มีสภาพบังคับเชิงกายภาพ แต่สมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในหลักการที่จะดูแลกันเองและควบคุมตัวเอง เพื่อผดุงเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

11 ปีของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังต้องก้าวเดินเคียงคู่ไปกับสังคมสู่การเป็นสถาบันที่เป็นที่ยอมรับ แม้มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งหมด แม้มิอาจกล่าวได้ว่าข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ได้ประกาศไป คือหลักการสูงที่สุด ดีที่สุด

แต่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็เป็นหลักหมายในเส้นทางวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งหลายได้เทียบวัดแล้ว

[/wptab]

[wptab name=’สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เตือน”บ้านเมือง” ตีพิมพ์ภาพข่าวเปลือยเด็กเหยื่อข่มขืนฆ่า’]

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เตือน”บ้านเมือง” ตีพิมพ์ภาพข่าวเปลือยเด็กเหยื่อข่มขืนฆ่า

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2551ที่ผ่ามา ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 ครั้งที่ 6/2551 ประจำเดือนมิถุนายน โดยมีนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุม นอกจากการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ แล้ว คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ได้เสนอคำวินิจฉัยเรื่อง การร้องเรียนจริยธรรมหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณา

เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2551 ได้ลงภาพและข่าวเด็กหญิงวัย 7 ขวบในสภาพเปลือยกายจากการถูกข่มขืนจนเสียชีวิต โดยการบรรยายในเนื้อข่าวให้รายละเอียดการเข้าตรวจชันสูตรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุชื่อ นามสกุล สถานศึกษาของเหยื่อชัดแจ้ง  ตลอดถึงประวัติครอบครัว ภูมิลำเนา และชื่อบิดามารดา ญาติพี่น้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ล่าสุดได้ส่งวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ไปให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องแล้ว โดยผู้ถูกร้องมิได้โต้แย้งหรืออุทธรณ์ภายในกำหนด

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้พิจารณาคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์  ที่เห็นว่าการเสนอภาพและข่าวของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับดังกล่าว มิได้คำนึงถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ตกเป็นข่าว เป็นการซ้ำเติมความทุกข์และโศกนาฎกรรมของเหยื่อและครอบครัว โดยเป็นภาพที่อุจาดหวาดเสียวต่อความรู้สึกของสาธารณชน ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541 ข้อ 15 และ ข้อ 17 ทั้งยังขัดต่อแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการเสนอภาพและข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ ตามประกาศลงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ที่ห้ามมิให้หนังสือพิมพ์ลงตีพิมพ์ภาพข่าวของผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ไม่ว่ากรณีใด ๆ และไม่ว่าผู้ถูกละเมิดจะเสียชีวิตหรือไม่ก็ตาม จากนั้น จึงได้มีมติให้แจ้งหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ได้เข้มงวดกวดขันและดำเนินมาตรการป้องกันแก้ไขมิให้มีการเสนอภาพและข่าวในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีก

อนึ่ง โดยที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เคยมีคำวินิจฉัยลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2549  ให้ตักเตือนหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ให้ระมัดระวังการเสนอภาพข่าวหญิงสาวถูกข่มขืนฆ่าเสียชีวิตมาครั้งหนึ่งแล้ว มีการหยิบยกประเด็นว่าควรยกระดับคำวินิจฉัยให้สูงขึ้นหรือไม่ โดยที่ผ่านมาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เคยมีคำวินิจฉัยให้หนังสือพิมพ์ที่ถูกร้องเรียน ต้องลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในหนังสือพิมพ์ของผู้ถูกร้องเรียนอยู่ 2 กรณี ตามความหนักเบาของกรณี  หลังจากแลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้ว เห็นควรให้แจ้งมติตักเตือนไปยังหนังสือพิมพ์บ้านเมืองอีกครั้ง รวมทั้งจะได้หากระบวนการเชิงบวกเพื่อกระตุ้นให้หนังสือพิมพ์ในสังกัด มีความตระหนักและระมัดระวังยิ่งขึ้น โดยที่หลายแห่งอาจมีปัญหาการสื่อสารภายในองค์กร ทำให้เกณฑ์วินิจฉัยของผู้รับผิดชอบคัดเลือกข่าวหรือภาพข่าวไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ในที่ประชุม สำนักงานเลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แจ้งว่า นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้อุทธรณ์มติของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ไม่รับพิจารณาคำร้องของผู้ร้อง กรณีการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่ตรงข้อเท็จจริง เนื่องจากเหตุแห่งคำร้องเรียนเกี่ยวพันกับกรณีการฟ้องร้องเป็นคดีความในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว อย่างไรก็ตามคำอุทธรณ์ดังกล่าวสิ้นผล เพราะระเบียบการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ระบุว่า มติของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติถือเป็นที่สุดแล้ว ต่างจากกรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วมีมติไม่รับ ผู้ร้องสามารถอุทธรณ์ให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาวินิจฉัยอีกครั้ง หากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีมติรับคำร้อง จึงกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีกครั้ง แต่ในคราวนี้คณะอนุกรรมการฯมิได้วินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับ แต่เสนอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณา และมีคำวินิจฉัยไม่รับตั้งแต่ต้นแล้ว

ตัวแทนครู-นักเรียนชี้ โครงการสัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนให้ประโยชน์เพียบ ทั้งปลูกฝังอุปนิสัยรักการอ่านแก่เยาวชน ได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากหนังสือพิมพ์อย่างหลากหลาย ขณะที่ตัวแทนครูยันได้เรียนรู้เทคนิคการทำกิจกรรมหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง เรียกร้องให้จัดเป็นกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี

หลังจากที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสถาบันอิศรา ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1” ประจำปี 2551 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ให้กับครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 50 โรงเรียนทั่วประเทศ ไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคณะครูจะกลับไปทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน ตามกำหนดการที่วางไว้ระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2551  โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมหนังสือพิมพ์โลก (WAN) บริษัท นอร์เก สคู๊ก (ประเทศไทย) จำกัด และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นผู้สนับสนุนหนังสือพิมพ์ในการทำกิจกรรมตลอด 1 สัปดาห์เต็ม ซึ่งได้ผ่านพ้นไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารโครงการจึงได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการอีกครั้ง เพื่อประเมินผลก่อนปิดโครงการ “สัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน” (หรือ Newspapaer in Education-NIE) ที่บริษัท นอร์เก สคู๊ก (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งคณะผู้เข้าร่วมสรุปผลว่า โครงการดังกล่าวเป็นแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ที่ไม่น่าเบื่อ ทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ สร้างความประทับใจแก่ผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ และเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และขยายสู่โรงเรียนอื่นๆ อย่างทั่วถึง

นายอาหลี ลิมานัน อาจารย์ จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 40 (บ้านควนโพธิ์) จังหวัดสตูล เล่าว่า โครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนเป็นโครงการที่ดีมาก ทั้งนี้ หลังจากที่ตนมาอบรมเชิงปฏิบัติการไปเมื่อวัน 6 มีนาคมที่ผ่านมา แล้วนำเรื่องกลับไปนำเสนอทางโรงเรียนต่อ และได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ได้เป็นผู้สอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก็ตาม แต่เป็นผู้ที่คอยทำงานอยู่เบื้องหลัง เช่น การจัดทำแผนการเรียนการสอนทั้งหมด สำหรับอาจารย์ 8 ท่านจาก 8 กลุ่มสาระ และใช้หนังสือพิมพ์ในการเรียนการสอนตลอดทั้งวันเต็ม 1 สัปดาห์

ในระหว่างการใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อในการเรียนการสอนนั้น ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนมาก และมุ่งมั่นที่จะทำงาน แม้จะติดปัญหาบ้าง อาทินักเรียนบางคนอ่านหนังสือไม่คล่อง แต่ทางโรงเรียนได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการแบ่งกลุ่มให้เพื่อนนักเรียนที่อ่านออกเขียนคล่องมาช่วยเสริม ทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมาก นักเรียนได้รับความรู้นอกเหนือจากบทเรียน รู้จักการอ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น และเข้าใจในระบบหนังสือพิมพ์ว่าเป็นอย่างไร นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนแล้ว แม้แต่ผู้ปกครองเองยังรู้สึกตื่นเต้น สนใจ และได้อ่านหนังสือพิมพ์พร้อมไปกับบุตรหลานของตน และอยากให้ทางโรงเรียนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนไปตลอด โดยทางผู้ปกครองยินดีให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ประชุมเพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ตนเองในฐานะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน อยากให้สถาบันอิศรา มูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ขยายโครงการไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศให้มากกว่าเดิม

ด้านนางบุญศรี มหันต์ อาจารย์ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 74 (ชุมชนบ้านคีรีวง) จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 1 กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนเป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้นักเรียนรู้จักหนังสือพิมพ์ รู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงมากขึ้น รู้จักการใช้ภาษาไทยมากขึ้น เนื่องจากหนังสือพิมพ์เป็นตัวอย่างในการเขียนคำที่ถูกต้อง ทั้งนี้ทางโรงเรียนของตนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างไม่เต็มรูปแบบก่อนเริ่มโครงการจริง โดยทำร่วมกับอาจารย์สนธยา ปทุมมาศ และเมื่อถึงสัปดาห์ส่งเสริมการอ่านที่ต้องดำเนินการตามโครงการ ได้มีการเจาะลึกลงไปโดยใช้สอนในวิชาภาษาไทยประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นหลัก คณิตศาสตร์และวิชาภาษาไทยมัธยมศึกษาปีที่ 1 แต่ไม่เต็มรูปแบบ วันละ 2 ชั่วโมง หากไม่ทัน ก็จะเพิ่มไปอีก 2 ชั่วโมงตอนบ่าย แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เกิน 4 โมงเย็น เพราะต้องให้เวลากับบางคาบเรียน ซึ่งหากมีนักเรียนที่อ่านเขียนยังไม่คล่อง ครูประจำวิชาภาษาไทยจะใช้วิธีการสอนซ่อมเสริม เด็กนักเรียนชอบการเรียนลักษณะนี้มาก หลังจากจบโครงการแล้วนักเรียนเรียกร้องให้มีการทำต่อ

อย่างไรก็ตาม คิดว่าระยะเวลาในการเรียนวันละ 2 ชั่วโมงยังน้อยเกินไป นอกจากนี้หลังเสร็จสิ้นโครงการดังกล่าวแล้วทางโรงเรียนยังสนับสนุน ให้มีการขยายผลสู่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และให้จัดทำอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หนังสือพิมพ์เก่าที่มีอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียน โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหนังสือพิมพ์ใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ผอ.เสถียร วัฒนาพันธ์ ให้ดำเนินโครงการได้ทันที และต่อเนื่องตลอดทั้งปีการศึกษา โดยหมุนเวียนทุกชั้นเรียนตามศักยภาพของเด็กนักเรียน โดยในส่วนสาระอื่นๆ ครูทุกคนจะช่วยกันทำ

ขณะที่อาจารย์นวลน้อย ชูชื่น จากโรงเรียนโรงเรียนบ้านควนยวน จังหวัดพัทลุง เขต 1 เห็นว่า โครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนเป็นโครงการที่ดีมาก ทางโรงเรียนจึงให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการอย่างเต็มที่ เมื่อครั้งที่นักเรียนทราบว่าจะมีการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นหลัก ต่างพากันตื่นเต้น ดีใจ และสงสัยว่าจะเรียนกันได้อย่างไร แต่เมื่อเริ่มการเรียนการสอนจริง พบว่านักเรียนสนุกกับการเรียนมาก และไม่คิดว่านี่เป็นการเรียน และส่งผลดีโดยตรงแก่ตัวนักเรียนเอง คือ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้หนังสือพิมพ์มากขึ้น ประการสำคัญทำให้มีความรักในการอ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกจะทำการสอนเพียงวันละ 1 ชั่วโมง ในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และการงานพื้นฐานอาชีพเท่านั้น แต่เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ ทำให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น จึงมีการขยายเวลาเรียนเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้เวลาของการทำกิจกรรมชุมนุม มาเป็นการเรียนด้วยหนังสือพิมพ์แทนเป็นวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเวลาในการทำกิจกรรมยังน้อยอยู่

ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนมีการส่งเสริมกิจกรรมรักการอ่านเป็นประจำทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์อยู่แล้ว โดยใช้หนังสือเรียนและหนังสือสารานุกรม และเมื่อนำสื่อการเรียนการสอนตามโครงการเข้าไป ทำให้นักเรียนไม่ต้องอ่านหนังสือเพิ่ม และหลังจากจบโครงการดังกล่าวนี้แล้ว ทางโรงเรียนจะสานต่อโครงการด้วยการให้นักเรียนฝึกทำหนังสือพิมพ์เสมือน  คือมีกระบวนการทำงานทุกอย่างเหมือนหนังสือพิมพ์ทุกประการ ทั้งการเป็นผู้สื่อข่าว กองบรรณาธิการ แต่การพิมพ์นั้นอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นการเขียนแทน ให้ออกมาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ฉบับ

อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอจากนางจินตนา แย้มยิ้ม อาจารย์ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนเมืองใหม่ (ชลอราษฎร์รังสฤษดิ์) ลพบุรี เขต 1 ว่า หลังจากที่ตนเองเข้าร่วมอบรม โครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 ทีผ่านมา จากนั้นได้กลับไปเขียนโครงการรายงานผู้บริหารโรงเรียน และจัดทำแผนการสอนให้กับครูทุกระดับชั้นคนละ 1 เล่ม เมื่อเปิดภาคเรียนจึงเริ่มดำเนินโครงการทันที โดยทางโรงเรียนให้การสนับสนุนงบประมาณด้วยส่วนหนึ่ง และมีการจัดพิธีเปิด โครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนเพื่อเป็นการดึงดูดใจ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือพิมพ์ ด้วยการแสดงละครชุด “หมู่บ้านรักการอ่าน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และการไม่ตกเป็นเหยื่อจากนายทุน เพราะว่าได้รับข้อมูลข่าวสารจากการอ่านหนังสือพิมพ์

เมื่อเข้าสู่การทำกิจกรรมในวันแรก นักเรียนจะต้องเรียนรู้ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ วันละ 1 ชั่วโมง และได้รับความร่วมมือจากครูทุกกระบวนวิชา ทั้งนาฏศิลป์ การงานพื้นฐานอาชีพ แม้ในระยะแรกจะประสบปัญหาอยู่บ้างคือ นักเรียนไม่รู้จักบุคคลในข่าว และไม่ทราบตำแหน่งที่อยู่ของข่าว คอลัมน์ บทบรรณาธิการ ว่าอยู่ที่หน้าใด นอกจากจะทำการสอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แล้ว ครูทุกคนที่ได้รับแผนการสอนแล้ว จะสอนนักเรียนในระดับชั้นของตนเองไปพร้อมกันด้วย และอาจมีการปรับแผนการสอนไปบ้างตามความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอด

นอกจากนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ทางเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดลพบุรีได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านขึ้น ทางโรงเรียนเมืองใหม่คิดว่า จะนำโครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนดังกล่าวนี้ ไปขยายต่อยังพื้นที่การศึกษาด้วย เพื่อให้ครูโรงเรียนอื่นๆ  ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้นำแนวทางและวิธีการไปปรับใช้ให้เข้ากับการเรียนการสอนในโรงเรียนของตนเองต่อไป

จากการบอกเล่าประสบการณ์การเรียนการสอน ตามโครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน โดยครูซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอผลงานนั้น เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีความสนใจ และรักในการอ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น และเมื่อดูจากผลงานของนักเรียนที่ครูแต่ละท่านนำมาร่วมประเมินผลในวันนั้น ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ผู้จัดทำโครงการที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กสนใจ และรักในการอ่านหนังสือพิมพ์  แม้จะติดขัดไปบ้างเรื่องที่เด็กอ่านหนังสือไม่คล่องก็ตาม แต่เชื่อเหลือเกินว่าหากเด็กรักในการเรียนรู้ รักการอ่านแล้ว ความเก่ง ความชำนาญ และความรอบรู้จะเกิดแก่ตัวเขา ผู้เป็นอนาคตของชาติต่อไปในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน
รายงานจากพื้นที่ โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ เมื่อนักข่าวชาวบ้าน….เติมไฟให้นักข่าวมืออาชีพ“ข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในสังคมเท่าที่ควร” เป็นคำพูดจากสีหน้าและน้ำเสียงเคร่งเครียดจริงจังของสาวน้อยร่างใหญ่วันไม่เกิน 28 ปีที่ชื่อ ธัญติยา นิคะ ที่ทำเอา”คนข่าว”อย่างผู้เขียนที่ยึดอาชีพนี้มาเกือบ 15 ปี สะอึกไปเหมือนกัน

ธัญติยา เป็นสาวปัตตานี และเป็นคนหนึ่งในประชาชนเต็มขั้น 30 กว่าชีวิตที่เข้าร่วมอบรมในโครงการ”นักข่าวชาวบ้าน” ที่จัดโดยสถาบันพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย สถาบันข่าวอิศรา และสถานีโทรทัศน์”ทีวีไทย” ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซาร์เทิร์นวิว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี หนึ่งในจังหวัดที่ถูกแต้มสีแดงเพราะปัญหาความไม่สงบในดินแดนด้ามขวาน

บางคนเรียกโครงการนี้ด้วยศัพท์แสงเรียบหรูและเป็นทางการขึ้นอีกนิดว่า “นักข่าวพลเมือง”

ผู้เขียนเองไม่มีความรู้เรื่องนักข่าวชาวบ้านหรือนักข่าวพลเมืองมาก่อน แต่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมในเรื่อง “การเขียนข่าวเบื้องต้น” และ “เทคนิคการคิดประเด็นข่าว” ซึ่งเป็นเรื่องพื้น ๆ สำหรับนักข่าวอาชีพ(อย่างผู้เขียน)อยู่แล้ว

แต่เรื่องที่คาดว่า “พื้น ๆ” และคิดว่าจะไปเป็น”ผู้ให้(ความรู้)”แต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เมื่อถึงเวลาจริง ๆ กับหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะผู้เขียนเองต่างหากที่เป็นฝ่ายได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากเวทีอบรมครั้งนี้

เริ่มจากท่าทีของผู้เข้าอบรม แต่เดิมผู้เขียนคิดว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมแบบ”งั้นๆ” ไม่ได้ตั้งใจจริงอะไร เพราะช่วงเปิดเวทีมี”วัสยศ งามขำ”นักข่าวจากบางกอกโพสต์เป็นวิทยากรหลัก เขาได้สร้างบรรยากาศแบบสบาย ๆ ด้วยการถามผู้เข้าร่วมอบรมแบบทีเล่นทีจริงว่า “มีใครตั้งใจจะเป็นนักข่าวจริง ๆ บ้าง” คำตอบคือความเงียบและไม่มีใครยกมือเลยแม้แต่คนเดียว

ทว่าเมื่อเข้าสู่เนื้อหาของการบรรยายทุกคนกลับแสดงความตั้งอกตั้งใจ แววตามุ่งมั่นจ้องเขม็งมาที่ตัววิทยากร จนบางจังหวะเล่นเอาประหม่าไปเหมือนกัน หลายคนยกมือถามเจาะลึกถึงโครงสร้างของข่าว และการคิดประเด็นข่าวที่เป็นเรื่องใกล้ตัวในท้องถิ่นของผู้อบรมเอง

ผู้เขียนเคยผ่านบรรยากาศของเวทีชาวบ้านมาหลายครั้ง ลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่ได้พบเจอในเวทีที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ไม่เคยมีใครซักถามหรือแสดงความคิดเห็นอะไร แต่งานนี้ไม่ใช่….ทุกคนกล้าพูด กล้าถาม กล้าแสดงออก ทั้ง ๆ ที่บางคนมีอาการที่เรียกกันว่า “ภาษไทยไม่แข็งแรง”ด้วยซ้ำ เพราะเป็นพี่น้องมลายูมุสลิม

ภารกิจของผู้เขียนจบลงในวันแรก แต่ก็ยังอยู่เป็นพี่เลี้ยงต่อไป ช่วงเย็นย่ำก่อนจากกันเพื่อเข้าห้องพัก หรือบางคนก็เตรียมเดินทางกลับบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ในตัวเมืองปัตตานี มีการพูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุก ได้ยินเสียงหัวเราะร่วนแบบที่ไม่เคยได้ยินบ่อยนักในพื้นที่แถบนี้….

เช้าวันที่สองเป็นหน้าที่ของพี่ ๆ วิทยากรจาก”ทีวีไทย” มีการนำคลิปข่าวเหตุการณ์ที่ชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันล้อมจับเรืออวนลาก อวนรุน ที่ลักลอบเข้าไปทำลายทรัพยากรชายฝั่งที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นฝีมือของชาวบ้านล้วน ๆ มาฉายให้ดู โดยคลิปข่าวชิ้นนี้ได้ออกอากาศจริงใน”ทีวีไทย”เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย

ข่าวชิ้นดังกล่าวผ่านการตัดต่อและลงเสียงอย่างสมบูรณ์ เป็นข่าวที่มีพลังมากชิ้นหนึ่ง ถึงขั้นที่ วัสยศ ต้องหันมากระซิบกับผู้เขียนว่า ชักอยากลองไปทำข่าวทีวีกับเขาบ้าง เพราะพลังของภาพสร้างผลสะเทือนได้แรงกว่าตัวหนังสือในหนังสือพิมพ์

ความรู้สึกของทีมวิทยากรซึ่งวันนี้เปลี่ยนสถานะเป็นทีมพี่เลี้ยงไปแล้ว ไม่ต่างอะไรกับผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน สังเกตดูความสนใจพุ่งสูงยิ่งกว่าวันแรก ยิ่งมีการแบ่งกลุ่มและสอนการใช้กล้องวีดีโอเบื้องต้น เพื่อให้ลงพื้นที่ทำข่าวจริง ๆ ซึ่งคิดประเด็นกันขึ้นเองในภาคบ่าย ทำให้บรรยากาศยิ่งคึกคัก

สามชั่วโมงหลังเที่ยงวันที่ 25 พฤษภาคม ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผู้เข้าร่วมอบรมที่แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ทยอยกันกลับมาพร้อมกับผลงาน “คลิปข่าว” ชิ้นแรกในชีวิต ตกเย็นแต่ละกลุ่มนักล้อมวงช่วยกันเขียนข่าวที่เพิ่งผ่านการอบรมมาเมื่อวันวาน จากนั้นก็นำข่าวที่เขียนนั้นไปลงเสียงประกอบภาพที่ห้องตัดต่อของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เช้าวันที่สามของการอบรมก็ถึงวาระที่ต้องนำผลงานของแต่ละกลุ่มมาพรีเซนต์ เพื่อให้เพื่อน ๆ กลุ่มอื่นและวิทยากรจาก “ทีวีไทย” ได้วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา แทบไม่น่าเชื่อว่า “ คลิปข่าว” หลายชิ้นทำออกมาได้เทียบชั้น “นักข่าวมืออาชีพ” บางชิ้นสามารถนำไปขยายประเด็นต่อเพื่อออกอากาศ เป็นสกู๊ปขนาดยาวได้เลย ส่วนความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีบ้างตามประสา “ มือใหม่” ตรงไหนผิด ตรงไหนเชย ก็จะถูกแซวเรียกเสียงฮาครืนทั้งห้องอบรม

ช่วงพักรับประทานอาหารว่าง ผู้เขียนเห็นบรรยากาศดี ๆ จึงไปเลียบเคียงพูดคุยกับเพื่อนใหม่หลาย ๆ คน…ไม่ทราบว่าความรู้สึกแรกที่ถูกถามตอนเริ่มอบรม และทุกคนตอบเหมือนกันว่าไม่คิดอยากจะเป็นนักข่าวเลยนั้น เป็นเพราะไม่กล้ายกมือเนื่องจากแต่ละคนยังใหม่กันอยู่หรือเปล่า เพราะถึงตอนนี้ผ่านไปสามวันทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักข่าว หรืออย่างน้อยก็อยากรายงานข่าวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนเองส่งให้ “ทีวีไทย” หรือ “สถาบันข่าวอิศรา” นำไปเผยเพื่อสู่สาธารณชน

น่าสนใจที่ความมุ่งมั่นดังกล่าวมาจากความรู้สึกที่เหมือน ๆ กันว่า ข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อแขนงต่าง  ๆ ทุกวันนี้ไม่ใช่ข่าวที่พวกเขาและเธอคิดว่าควรจะเป็น!

ธัญติยา บอกกับผู้เขียนเหมือนที่เล่าไว้ตอนเปิดเรื่องว่า เธอรู้สึกว่าข่าวที่เสนอกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในสังคม อย่างน้อยก็สังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เธออาศัยอยู่

“ข่าวที่ออกมาค่อนข้างบิดเบือนเป็นเรื่องทางธุรกิจของสื่อเสียส่วนใหญ่ ข่าวที่เป็นประโยชน์กับสังคมไม่ค่อยมี โดยเฉพาะสังคมท้องถิ่นที่ใกล้ตัวชาวบ้าน ทุกวันนี้เปิดดูข่าวมีแต่เรื่องการเมืองในกรุงเทพฯ ส่วนปัญหาจริง ๆ ที่ประชาชนต้องเผชิญสื่อกลับนำเสนอน้อยมาก”

ธัญติยา ยกตัวอย่างการเสนอข่าวเกี่ยวกับต่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นแต่ความรุนแรง ไม่ได้เสนอด้านบวกอื่น ๆ เลย ทั้งที่มีสิ่งดี ๆ อยู่มากในสามจังหวัด

“สื่อเสนอข่าวทำให้คนนอกพื้นที่มองสามจังหวัดว่าน่ากลัวเกินความเป็นจริง”เธอบอก และย้ำว่า ตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยก็ตั้งใจจะทำงานที่นี่ ไม่คิดย้ายไปที่ไหน ที่ผ่านมาข่าวเกี่ยวกับสามจังหวัดสื่อรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นคนนอกพื้นที่ด้วยซ้ำ ทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่และไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย

ด้วยเหตุผลที่ยกมาทำให้ธัญติยาบอกว่า นี่เองคือความจำเป็นของการมี “นักข่าวชาวบ้าน”

“คิดว่านักข่าวชาวบ้านมีความจำเป็นมาก เพราะจะอาศัยสื่อหลักอย่างเดียวไม่พอ เขาไม่ได้สะท้อนปัญหาของพวกเรา ไปเน้นแต่เรื่องการเมือง ทั้ง ๆ ที่ปัญหาสำคัญที่สุดคือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างเรา ๆ นี่แหละ ฉะนั้นถ้ามีนักข่าวชาวบ้านมาก ๆ ปัญหาใกล้ตัวในระดับท้องถิ่นก็จะได้รับการนำเสนอมากขึ้น และได้รับการแก้ปัญหาหรือสนองตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าเดิม”

นพรัตน์ แก้วประดับ สาวน้อยอีกคนหนึ่ง กล่าวเสริมว่า สื่อเป็นเสมือนดาบสองคม หลาย ๆ ครั้งบทบาทของสื่อส่วนกลาง ทำให้ภาพลักษณ์ของพื้นที่แย่ลง และซ้ำเติมสถานการณ์ความรุนแรง
เมื่อบรรยากาศชักจะตึงเครียด ผู้เขียนจึงถอยฉากไปคุยกับกลุ่มอี่น ๆ บ้าง แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังกลับไม่แตกต่างกันนัก….

“สื่อเสนอแต่ข่าวการเมือง เช่นเรื่องม็อบที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก  ทั้ง ๆ ที่สื่อต้องรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาของประชาชนในระดับท้องถิ่น” เป็นเสียงจาก ฮาซานียะห์ หะยีเจะอาแว ประชาสัมพันธ์ อสม.ปัตตานี ซึ่งขรึมเครียดจริงจังคล้าย ๆ กับสาวสองคนแรก

“พี่ยอมรับว่ามีอคติกับหนังสือพิมพ์รายวัน เพราะมีการปรุงแต่งข้อเท็จจริงในข่าว หลายเรื่องนั่งเทียนเขียน เราอยู่ในพื้นที่เรารู้เลย เพราะนักข่าวไปถามแต่คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง” ฮาซานียะห์ ซึ่งเป็นสาวใหญ่วัย 45 ปีบอก

เมื่อหันไปฟังความเห็นของผู้ชาย อดุลย์ หะยีดือราแม หนุ่มวัย 37 ปี ก็มองไม่ต่างกันว่า หนังสือพิมพ์ทุกวันนี้เสนอแต่ข่าวอาชญากรรม

“สื่อทำข่าวภาคใต้ให้เป็นข่าวอาชญากรรม ฆ่ากันตายทุกวัน บอกตรง ๆ เวลาผมจะออกจากบ้าน ผมไม่กล้าดูหนังสือพิมพ์เลย” อดุลย์บอก

เขาเสนอว่า นักข่าวชาวบ้านจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพียงแต่ต้องเปิดพื้นที่สำหรับข่าวของชาวบ้านอย่างแท้จริงด้วย

“ทุกวันนี้เปิดทีวีเห็นแต่เรื่องการเมืองจริงๆ  แล้วแม้แต่เรื่องการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรียังแทบไม่มีผลอะไรกับพวกเรา เพราะชาวบ้านก็ยังอยู่กันเหมือเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมอยากให้สื่อหันมาเสนอข่าวที่เป็นปัญหาของชาวบ้านบ้าง มีช่วงเวลาสำหรับประชาชนแท้ ๆ บ้าง เพื่อให้ปัญหาของพวกเราได้รับการแก้ไขจริง ๆ” อดุลย์กล่าว

บ่ายวันนั้นผู้เขียนเก็บกระเป๋ากลับกรุงเทพฯ แม้จะเคยเดินทางจากภาคใต้กลับเมืองหลวงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่หัวใจพองโตและมีไฟอยากทำงานข่าวเท่าครั้งนี้… เป็นงานข่าวที่จะเป็นประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นจริง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นทางอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ข่าวนักการเมืองทะเลาะกันรายวัน

อย่างนี้ต้องเรียกว่า”นักข่าวชาวบ้าน” เติมไปให้”นักข่าวมืออาชีพ”เข้าให้แล้ว!

รายงาน
โดย อรุณ ลอตระกูล
ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

[/wptab]

[wptab name=’สภาการหนังสือพิมพ์ฯเพี้ยน ลิดรอนสิทธิ์สื่อต่างจังหวัด’]

ว่าด้วยข้อหา
สภาการหนังสือพิมพ์ฯเพี้ยน ลิดรอนสิทธิ์สื่อต่างจังหวัด
มีปฏิกิริยาตอบโต้ในรูปแถลงการณ์จากผู้ใช้ชื่อว่าสื่อมวลชนบ้านนอก หรือในวงพูดคุยของนักข่าวต่างจังหวัดบางส่วน หลังจากที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ได้มีหนังสือ แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือนายกสมาคมธนาคารจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ 2 ระลอก

ฉบับแรกลงวันที่ 21 มีนาคม 2551 แจ้งขอความร่วมมืองดให้สิ่งของหรือค่าตอบแทนแก่ผู้สื่อข่าว

ฉบับที่สองลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 หรือทิ้งช่วงไปเดือนเศษ เพื่อส่งแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากฉบับแรก

ปฏิกิริยาจากวงการหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดที่หนักหนาที่สุดคือ เห็นว่าดูเหมือนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต้องการยืมมือผู้ว่าราชการจังหวัด “สั่งไม่ให้ว่าจ้างหนังสือพิมพ์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารของหน่วยงาน”  และถ้าหน่วยงานราชการต่าง ๆ งดลงโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่ล้มไม่เจ๊งกันระนาวหรือ?

ก่อนจะถึงข้อสรุปข้างต้น มาดูกันก่อนว่า หนังสือแจ้งดังว่ามีรายละเอียดแค่ไหนอย่างไร และเรื่องนี้ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่

หนังสือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฉบับแรกดังกล่าว ลงนามโดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แจ้งขอความร่วมมือไปยังหัวหน้าส่วนราชการและองค์กรสถาบันต่าง ๆ ทุกจังหวัด มีเนื้อความว่า

…สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเอง เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผ้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนึ่งในข้อบังคับระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์หรือผู้สื่อข่าว ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการ

จึงขอความร่วมมือมาเพื่อให้ช่วยแจ้งส่วนราชการหรือหน่วยงานในความรับผิดชอบ ให้งดการให้สิ่งของหรือค่าตอบแทนใด ๆ แก่ผู้สื่อข่าว ตอบแทนการการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวหรือการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะกระทำการโดยผ่านผู้รับจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม อันจะเป็นการส่งเสริมความมีจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มิให้ประพฤติปฎิบัติการใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ…”

หลังจากมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือข้างต้นออกไปแล้ว มีข้อสงสัยเกิดขึ้นพอสมควร ว่าในทางปฏิบัติขอบเขตที่เหมาะสมจะกระทำได้แค่ไหนเพียงไร สำนักงานเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงมีหนังสือฉบับที่สองตามไป พร้อมส่ง”แนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง การปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์”เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น (รายละเอียดตามล้อมกรอบ)

ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรสถาบันต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือแจ้งเวียนหนังสือดังกล่าวไปยังส่วนงานต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนแก่ผู้สื่อข่าวตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็รับทราบและเข้าใจดี แต่มีบางส่วนมีความเข้าใจ”คลาดเคลื่อน”ขึ้นดังกล่าว

เรื่องนี้มีที่มาคือ   ในระยะหลังมานี้หน่วยราชการต่าง ๆ หันมาใช้บริการผู้รับจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์ กันมากขึ้น เพื่อผลักดันให้งานในความรับผิดชอบของหน่วยงานตนเองได้เผยแพร่ในรูปข่าวสารมากยิ่งขึ้น มีความพยายามจูงใจให้ผู้สื่อข่าวมาและนำเสนอข่าวของหน่วยงานหรือเจ้าของงานโดยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการให้เงินตอบแทน ซึ่งอาจเลี่ยงไปเรียกเป็น “ค่าน้ำมัน”หรือ ”ค่าเดินทาง” ก็ตามที

ทั้งที่ในการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือภารกิจของหน่วยงานนั้น เป็นภาระหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่จะต้องไปติดตาม ประเมินความน่าสนใจ เพื่อคัดกรองข่าวสารที่มีคุณค่ามาตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสังคมอยู่แล้ว และหากลงลึกไปยิ่งกว่านั้นโดยการตรวจสอบ ขุดคุ้ย การบริหารงานของหน่วยราชการต่าง ๆ ก็จะยิ่งเกิดประโยชน์ ในการเป็นกลไกตรวจสอบแทนสังคม

การรับค่าตอบแทนจากเจ้าของงานทำให้การใช้ดุลยพินิจของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ที่ต้องคัดเลือกข่าวสารที่สังคมสนใจมากที่สุดถูกเบี่ยงเบนไป

อีกทั้งการรับค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พ.ศ. 2541 ในหมวด 3 จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งมุ่งที่การประพฤติปฏิบัติของตัวบุคคลคือนักข่าวนักหนังสือพิมพ์โดยตรง โดยในข้อ 22 ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน”

เหตุล่าสุดเกิดขึ้นในการจัดแถลงข่าวงานพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อผู้รับจ้างจัดการประชาสัมพันธ์รับงานมาจากหน่วยราชการเจ้าของโครงการ แล้วจัดงานแถลงข่าวรายงานดังกล่าวพร้อมกับ”แจกซอง”ค่าเดินทางให้ผู้สื่อข่าวที่ไปร่วมงานแถลงข่าวดังกล่าว ปรากฎมีผู้สื่อข่าวในพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ ส่งมอบ”ซอง”ดังกล่าวคืนให้ผู้จัด พร้อมทั้งร้องเรียนผู้ว่าฯและรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง มิใช่มุ่งหมายเอาผิดนักข่าวที่รับ แต่เพื่อให้กำชับหน่วยงานในสังกัดรวมถึงผู้รับจ้างจัดงานการประชาสัมพันธ์ ให้เลิกการให้”อามิสสินจ้าง”นักข่าวเสียที  ถ้าข่าวนั้นมีคุณค่าก็ต้องเป็นข่าวอยู่แล้ว

จากเหตุดังกล่าว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเพื่อการควบคุมกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ สถานภาพของผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ จึงมีหนังสือขอความร่วมมือฉบับแรกดังกล่าวไปยังผู้ว่าฯและผู้บริหารหน่วยงานสถาบันต่าง ๆ

เพราะการช่วยกันสนับสนุนให้หนังสือพิมพ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ดีของตนเอง ย่อมเกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมนั่นเอง

แต่เนื่องจากมีความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน อีกเดือนเศษสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงมีหนังสือฉบับที่สองตามไป เพื่อทำความเข้าใจให้กระจ่างขึ้น โดยแนบ”แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”ไปพร้อมกันด้วย

แนวปฏิบัติเรื่อง การปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ประกาศเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 หากข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็น”ศีล” คือเป็นหลักการใหญ่ที่ระบุ”ข้อห้าม” หรือ”ข้อต้องปฏิบัติ” ตลอดจน”ข้อพึงปฏิบัติหรือระมัดระวัง” แล้ว แนวปฏิบัติที่ออกมาเป็นการขยายลงไปในรายละเอียด เนื่อง

จากบางเรื่องเป็นกรณีก้ำกึ่งว่าละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมหรือไม่ จึงต้องออกแนวปฏิบัติเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพ”พึงระมัดระวัง”

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแนวปฏิบัติเรื่อง การปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ดังกล่าว เนื่องจากพบว่า ในระยะหลังมีรูปแบบการเผยแพร่ข่าวที่แอบแฝงการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการเปิดบริษัทรับจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง โดยมีอดีตนักข่าวที่ได้รับผลกระทบจากยุควิกฤตเศรษฐกิจเข้าไปร่วมงานหรือเป็นเจ้าของกิจการจำนวนมาก ได้ใช้รูปแบบต่าง ๆ สอดแทรกสู่วงการนักข่าว อาทิ จ้างให้ผู้สื่อข่าวเขียนข่าวหรือบทความที่มีลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่อหน่วยงานในสายงานที่นักข่าวนั้นรับผิดชอบ หรือสายงานอื่นที่เกี่ยวข้องเสียเอง และขยายไปถึงการรับจ้างเขียนงานให้นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ ซึ่งเป็นการใช้ทักษะความสามารถในการเขียน หรือไปรับเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการตรวจรับการจ้างของหน่วยงานต่าง ๆ ทับซ้อนกับภารกิจของหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบการใช้งบประมาณอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้มีเส้นแบ่งที่ละเอียดอ่อนว่า ควรทำอะไรได้เพียงใด จึงมีแนวปฏิบัติดังกล่าวออกมาเป็นแนวทางให้นักข่าว (รายละเอียดตามล้อมกรอบ)

การส่งแนวปฏิบัติดังกล่าวให้หน่วยงานราชการและสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจหลักการที่ผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ยึดถือ เมื่อสังคมมีความรู้ความเข้าใจแล้วจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาช่วยกำกับตรวจสอบวงการหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตามหลักการที่ว่า สภาการหนังสือพิมพ์เป็นองค์กรอิสระเพื่อการควบคุมกันเอง ซึ่งการจะควบคุมกันเองให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพนั้น นอกจากสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จะต้องช่วยกันดูแลกันเองแล้ว  สังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยกำกับตรวจสอบหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในกรอบ ซึ่งเป็นการใช้กลไกทางสังคมในการควบคุม และจะช่วยดำรงความน่าเชื่อถือและเกียรติภูมิของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในภาพรวม

หนังสือขอความร่วมมือดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่หนึ่งของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีปณิธานร่วมกันว่า เพื่อเป็นองค์กรอิสระเพื่อการควบคุมกันเอง เพื่อส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และสถานภาพของผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์

ทั้งนี้ บรรดาธรรมนูญ ข้อบังคับทั้งหลายของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ใช้บังคับแก่สมาชิกที่สมัครใจเข้าร่วมอยู่ภายใต้องค์กรอิสระแห่งนี้เพื่อการควบคุมกันเอง ให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่มีกฎหมายมาบีบบังคับ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วกฎหมายเป็นเพียงข้อบังคับขึ้นต้นเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม หากแต่สมาชิกที่สมัครใจเข้าร่วมอยู่ภายใต้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยึดถือข้อบังคับกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งสูงขึ้นไปกว่าข้อบังคับในหลักกฎหมาย

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า หากใครบ้ายึดถือตามข้อ 1 ของแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง การปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ที่ระบุ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ควรรับจ้างหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเขียนข่าว ย่อมไม่มีโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตีพิมพ์ในหนังสือพิพม์นั้น เป็นความ”คลาดเคลื่อน”ของผู้ที่ออกมาโวยวายเอง

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยอมรับการมีโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ดังเห็นได้จากในข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พ.ศ.2541 ซึ่งมี 30 ข้อนั้น ในข้อ 28 ระบุว่า หนังสือพิมพ์พึงระมัดระวังอย่างรอบคอบ ให้ประกาศโฆษณาทั้งหลายอยู่ภายในขอบเขตของศีลธรรมและวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์พึงระมัดระวังที่จะไม่เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่น่าสงสัยว่าจะเป็นภัยแก่สังคมหรือสาธารณชน และข้อ 29 ที่ว่า หนังสือพิมพ์พึงหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าเจ้าของประกาศโฆษณานั้น เจตนาจะทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อในสิ่งที่งมงาย เป็นต้น

มีข้อขี้ขาดเพียงว่า ข่าวกับโฆษณาต้องแยกกันโดยเด็ดขาด ดังข้อบังคับฯ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ข้อ 19 ระบุว่า “ข้อความที่เป็นประกาศโฆษณา ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นประกาศโฆษณา จะแอบแฝงเป็นการเสนอข่าวหรือความคิดเห็นมิได้”

ดังนั้น ในแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 1 จึงวางแนวทางให้ระมัดระวังว่า “ไม่ควรเขียนรับจ้างเพื่อเขียนข่าวหรือบทความที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์” หนังสือพิมพ์จึงสามารถรับตีพิมพ์เผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ เพียงแต่ให้ปรากฎชัดเจนแก่ผู้อ่านว่าเป็นพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับพื้นที่ข่าว หน่วยงานราชการใดตั้งงบประชาสัมพันธ์ก็ซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ไปให้ถูกต้อง แต่ไม่ใช่จ้างให้ไปเขียนโฆษณาประชาสัมพันธ์เชียร์กันในรูปของข่าว

ส่วนการที่หน่วยราชการจะยอมรับการตั้งงบประมาณในส่วนของค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง มีระเบียบราชการหรือหน่วยงานรองรับ ก็เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของข้าราชการเขา  ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของนักข่าว เงินทองของตอบแทนที่ให้นักข่าวนั้นถึงที่สุดก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นข่าวซึ่งเป็นอามิสนั้น

แม้ปากมิได้ร้องขอ แต่ใจที่เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ยอมรับได้โดยไม่กระดากกระนั้นหรือ

[/wptab]

[wptab name=’แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ’]

แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เรื่อง การปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์

เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ในสังกัดสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โดยให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานและป้องกันพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานข่าวและบรรณาธิการจำนวนหนึ่ง จึงมีมติให้กำหนดแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ดังต่อไปนี้

(๑)ขอบเขตการรับจ้างเขียนข่าวหรือบทความ

(๑)  ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรรับจ้างหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน เพื่อเขียนข่าว หรือบทความที่มีลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่อหน่วยงานหรือหัวหน้าหน่วยงานในสายงานที่ผู้ประกอบวิชาชีพรับผิดชอบหรือสายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๒)  ในการรับค่าตอบแทนในการเขียนเรื่องหรือบทความอื่นใด นอกเหนือจากการเขียนข่าวหรือบทความตาม(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ควรได้รับอย่างสมเหตุผลกับงานเขียนที่ได้รับการว่าจ้าง

การรับจ้างเขียนเรื่องให้กับนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ควรเปิดเผยชื่อของตนในฐานะผู้เขียนเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่องานเขียนนั้น

๒)การรับตำแหน่งเป็นกรรมการและที่ปรึกษา

(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรเป็นที่ปรึกษาของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ข้าราชการระดับสูง หรือนักธุรกิจ โดยมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

(๒)  ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรเป็นกรรมการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ

(๓) ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสายงานข่าวที่ตนรับผิดชอบ

๓)การมีส่วนได้เสียในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์และอื่นๆ(๑)  ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรเป็นกรรมการหรือมีหุ้นในสัดส่วนหรือจำนวน ซึ่งมีนัยสำคัญในบริษัทที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่

(๒)  ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรเป็นกรรมการหรือรับผลประโยชน์ในบริษัทหรือธุรกิจอื่นใด ซึ่งมีส่วนได้เสียในผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ควรเกี่ยวข้องกับกิจการที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของ กรรมการหรือที่ปรึกษา

จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ซองขาวกับการทำลายจริยธรรม

แรกเริ่มเดิมทีของซองขาว เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละองค์กร ผู้ใดได้รับการยื่นซองขาว ก็หมายถึงได้รับการแจ้งเลิกจ้าง(ไล่ออก) แต่ปัจจุบันซองขาวกำลังเป็นที่นิยมชมชื่นของสื่อมวลชนคนทำข่าวส่วนหนึ่ง และนานวันเข้าก็อาจจะยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ทั้งที่ในความจริงแล้ว “ซองขาว” เป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีสื่อมวลชนอย่างร้ายกาจ และด้วยเหตุที่ผมเป็นคนหนังสือพิมพ์มาเกือบ ๔๐ ปี ผมก็อยากจะสร้างเสริมสร้างวงการนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ให้ผ่องใสก่อนใครอื่น

นักข่าวหรือผู้สื่อข่าว หรือที่มีระดับสูงขึ้นไปคือนักหนังสือพิมพ์ นอกจากจะเป็นอาชีพที่อันตราย หากมุ่งสร้างความเป็นธรรมให้สังคม หรือพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติแล้ว ยังเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ท้าทายต่อจริยธรรมหรือคุณธรรมของมนุษย์ ผู้ยึดถือธรรมเป็นศักดิ์ศรีของชีวิต

ซึ่งมนุษย์ผู้มีธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวช  และในทางตรงข้ามนักบวชก็ใช่ว่า  จะต้องยึดมั่นในธรรมมากกว่ามนุษย์สามัญ อาจจะเลวกว่าหลายเท่าพันทวีก็เป็นได้สำหรับบางคน

แน่นอนว่า ในทุกหมู่ชน นอกจากจะมีผิวพรรณผิดแผกไปแล้ว จิตใจและความประพฤติย่อมแตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้น คนดีย่อมคู่ขนานไปกับคนเลวทุกกลุ่มทุกฝูงชน

นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ตอนกลาง(อายุ ๕๐ ปีขึ้นไป) และตอนปลาย(อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป) คงพอจะจำได้กับกรณีซองขาวเปื้อนเลือด กล่าวคือเมื่อประมาณ ๒๐กว่าปีที่ผ่านมา นักเขียน(Columnist) กรอบหน้าดาราและบันเทิงผู้ทรงอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ยักษ์ มีข่าวฉาวโฉ่ว่าข่มขู่เรียกร้องทรัพย์สินจากคนในวงการเสมอ และถ้าเหยื่อเป็นนักร้องดาราหญิง บางคนบางครั้งก็จำยอมต้องให้หลับนอนด้วย เมื่อเสียงเล่าลือในความชั่วร้ายหนาหูขึ้น คนในวงการจึงจัดการซักฟอกผู้ต้องหารายนี้ในงานของสมาคมคืนหนึ่ง ขณะที่การซักฟอกดำเนินไปอย่างดุเดือด กระแสไฟฟ้าดับอย่างฉับพลันและมีเสียงปืนดังขึ้น เมื่อไฟแสงสว่างเปิดปรากฏว่า ญาติใกล้ชิดของนักเขียนรายนี้ถูกยิงเสียชีวิต วงการหนังสือพิมพ์เรียกกรณีนี้ว่า ซองขาวเปื้อนเลือด ปัจจุบันนักเขียนรายนี้ยังมีชีวิตอยู่ มีผลงานน้อยลงแต่สงบเรียบร้อยขึ้น

แม้ว่าชาติกำเนิดของผมจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาค แต่ก็มีความภูมิใจเล็ก ๆ ที่ได้เข้าร่วมก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๐ และได้เติมความภูมิใจเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็น คณะกรรมการบริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ในห้วงของการรับตำแหน่งสมัยแรก มีการร้องเรียนว่านักข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยภาษาต่างประเทศนายหนึ่ง  เรียกร้องรถยนต์ญี่ปุ่นคันละล้านบาทต้น ๆ จากนักการเมืองระดับรัฐมนตรีนายหนึ่งเพื่อที่จะเสนอข่าวในด้านบวกเสมอ นักการเมืองมือเติบแห่งภาคอีสานรายนี้ยอมซื้อให้ การสอบสวนดำเนินไปไม่ง่ายนัก  เพราะนักการเมืองและบริษัทที่ขายรถยนต์ไม่ให้ความร่วมมือ แต่รถคันเบ้อเร่อไม่สามารถซ่อนในกระเป๋ากางเกงได้ สภาฯ จึงแจ้งเหตุกระทำการผิดจริยธรรมไปยังกองบรรณาธิการต้นสังกัด ซึ่งต้องชมเชยหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษนี้มีความละอายสูง จึงถอดนักข่าวชื่อดังชื่อใหญ่นี้ออกไป เขาจึงร่อนเร่ไปอยู่ฉบับอื่นๆและตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับสภาการหนังสือพิมพ์ ภายหลังแม้จะมีนายทุนลงเงินให้ออกหนังสือพิมพ์ใหม่ แต่ก็ไปไม่รอดต้องม้วนเสื่อในที่สุด เหตุที่เป็นดังนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีความสามารถ  แต่ผมเชื่อว่าเพราะเขาขาดจริยธรรมซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของคนหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้เขาก็ยังแทรกตัวอยู่ในองค์กรอื่นๆ แต่ไร้สิ้นซึ่งศักดิ์ศรี

ด้วยเหตุที่สังคมหนังสือพิมพ์ผูกติดกับสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับกันว่าสังคมไทยกำลังเสื่อมลงเป็นปฏิภาคกับความเจริญทางวัตถุ ยุทธวิธีในการแถลงข่าวขององค์กรธุรกิจหรือราชการบางแห่ง นิยมใช้อามิสสินจ้างเป็นสิ่งจูงใจ โดยเชื่อว่าจะได้รับการเสนอข่าวเผยแพร่กว้างขวาง การแจกซองขาวจึงกำลังขยายความชั่วร้ายและเป็นสิ่งดึงดูดนักข่าวกลุ่มใหญ่ และผู้แอบอ้างเป็นนักข่าวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแฝงตัวเข้ามารับซองดำสีขาวด้วย

ด้วยภาระและหน้าที่ผสานกับนิสัยถาวรของผม ที่จะมีอาการเลือดขึ้นหน้าตัวร้อนฉ่าทุกครั้ง เมื่อได้รับการยื่นซองขาวให้ตัวเองหรือนักข่าวในสังกัดของผม ซึ่งผมยกย่องนักข่าวทุกครั้งที่มารายงานให้ทราบและปฏิเสธไม่รับ  ผมจึงให้ความสนใจที่จะติดตามเพื่อแก้ไขวิกฤตในวงการกับคนที่มีแนวคิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหนังสือพิมพ์แท้จริงในภูมิภาคต่าง ๆ หรือท่านผู้อาวุโสในส่วนกลางเช่น ท่านทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแม็กไซไซเลือดนักหนังสือพิมพ์  ซึ่งท่านแนะนำว่า ”ตอนนี้(ปลายพ.ศ.๒๕๕๐)พวกเรามีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)หลายคน ควรเสนอให้ออกกฎหมายลงโทษผู้แจกซองขาวนักข่าว เพราะถือว่าเป็นการก่อให้เกิดการทุจริตต่อหน้าที่ ถือได้ว่ามีความผิดเหมือนกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่”  แต่ด้วยความจำกัดของเวลา สนช.สายสื่อมวลชนจึงผลักดันได้เพียงพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อใช้แทนพ.ร.บ.การพิมพ์พ.ศ.๒๔๘๔ ที่ล้าสมัยต่อเสรีภาพ

และผมยังได้ผลักดันให้มีการเจรจาหารือที่จะป้องปรามการแจกซองขาวอีกหลายครั้ง โดยยืนยันว่าสำหรับการให้ของขวัญ(premium) หรือของที่ระลึกเพื่อการประชาสัมพันธ์ จากบริษัทห้างร้านหรือองค์การต่างๆ อาทิ เสื้อยืด ปากกา ร่ม ฯลฯ ที่ประเมินมูลค่าได้ไม่เกิน ๕๐๐ บาท เป็นสิ่งที่อนุโลมรับได้ แต่หากเมื่อใดที่แจกเงินสดด้าน ๆ หรือผลประโยชน์อื่นใด ต้องถือเป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง หากเราจะเลี่ยงไปว่า ฐานะของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับแตกต่างกัน เราก็คงถูกประชาชนถามว่า เมื่อดำรงตนอยู่ได้อย่างมีจริยธรรมไม่ได้ และจะให้ไว้ใจได้อย่างไรว่า จะทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ?

คนหนังสือพิมพ์จะต้องตราตรึงจริยธรรมการประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ข้อ ๒๒ ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่าหรือผลประโยชน์ใด เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด  อันเป็นการขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารถูกต้องรอบด้าน”

ส่งท้าย

นอกจากเราจะนับถือ อิศรา อมันตกุล เป็นวีรบุรุษคนหนังสือพิมพ์แล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา สุภาพบุรุษนักหนังสือพิมพ์และนักเขียน แต่หลายคนก็คงยังไม่ทราบว่า ท่านได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโก โดยประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองระหว่างพ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๘ เนื่องในวันครบชาตกาล ๑๐๐ ปี

ผมไม่คิดหรอกว่า ผมจะมีเกียรติในระดับนี้ เพียงแต่เมื่อได้อ่านบทกวีที่ คุณสถาพร ศรีสัจจัง อุทิศให้ท่านแล้ว ผมก็รู้สึกปลาบปลื้มดื่มด่ำไปด้วย แต่หากใครมีความรู้สึกเฉยชากับบทกวีนี้ เราก็คงเดินกันไปคนละเส้นทางต่อไป ลองทดสอบดูนะครับ

แลไปข้างหน้า-เบื้องฟ้าโน้น
ตะวันฉายดวงโชนขึ้นเจิดจ้า
เหมือนยืนยันยืนหยัดมั่นศรัทธา
ในศรีแห่งบูรพา-นิรันดร์ไป

เพราะเป็น “ศรี” แห่งประชาชนผู้อาภัพ
คำขานรับ-ขานถึง จึงยิ่งใหญ่
จึงยิ่งนานยิ่งชื่อระบือไกล
ระบือว่า-ใจไท นั้นคงทน

แม้สงครามชีวิต  จะวนวก
แต่ไม่เคยสะท้านสะทกในทุกหน
อุทิศชีพเพื่อสร้างทางแห่งคน
คือทางนำประชาชน-สู่อิสรา

คือทางไทแห่งมหาประชาสยาม
ที่ทุกผู้ทุกนามล้วนเพรียกหา
คือทางที่สันติภาพได้ทาบทา
คือเสมอภาคคือภราดาคือเสรี

คือ “ศรีบูรพา”
ผู้ซึ่งมวลประชาเทิดเป็น “ศรี”
คือคนแท้-คือคนกล้าชายชาตรี
คือต้นแบบแห่งคนดี-ของแผ่นดิน !

สุนทร  จันทร์รังสี
ประธานอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน คนอีสาน

[/wptab]

[wptab name=’สัมภาษณ์ สุนทร จันทร์รังสี’]

สัมภาษณ์ สุนทร จันทร์รังสี
บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน
“ให้ค่าใช้จ่าย เหยียดหยามศักดิ์ศรีนักข่าว”
การรับค่าใช้จ่ายในการทำข่าวเหมาะสมหรือไม่

การรับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก เพราะเป็นการผิดจริยธรรมของคนหนังสือพิมพ์ที่ได้บัญญัติไว้ในข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ข้อ 22 ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่าหรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน” นอกจากนี้ผมยังถือว่า การให้ค่าตอบแทนการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์อย่างยิ่ง เพราะนักหนังสือพิมพ์ไม่ได้เสนอข่าวเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง แต่ถือเป็นหน้าที่ในการเสนอข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้

วางแนวปฏิบัติอย่างไรสำหรับนักข่าวโคราชรายวัน

นอกจากผมจะปฏิเสธการรับอามิสสินจ้างในการทำข่าวแล้ว ยังมั่นใจว่าพนักงานที่ทำงานกับหนังสือพิมพ์โคราชรายวันทุกคน ยังได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด คือการไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีพนักงานคนใดรับค่าตอบแทนในการทำข่าว

แต่หากพบว่ามีพนักงานแอบรับโดยที่หนังสือพิมพ์โคราชรายวันไม่ทราบเรื่อง จะลงโทษอย่างหนักด้วยการให้พ้นจากสถานภาพการเป็นผู้สื่อข่าวสถานเดียว

นอกจากนี้ผมยังได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน เพื่อเป็นการประณามผู้ที่ให้อามิสสินจ้างแก่ผู้สื่อข่าวในการทำหน้าที่ จึงขอประณามคนที่ให้สินบนในการทำข่าวของผู้สื่อข่าว เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการเหยียดหยามนักหนังสือพิมพ์อย่างมาก และจะงดการเผยแพร่ข่าวสารของบุคคลหรือองค์กรนั้น ๆ ด้วยอย่างสิ้นเชิง


มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

แม้ในระยะแรกบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ ยังไม่เข้าใจ และไม่พอใจการกระทำของผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน ต่อมาในระยะหลังเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า หนังสือพิมพ์โคราชรายวันมีนโยบายไม่รับสิ่งของค่าตอบแทนการทำหน้าที่เด็ดขาด เพราะเป็นจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ที่ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  หากยังมีหน่วยงานหรือองค์กรใดยังไม่เข้าใจผมก็ไม่กลัว เพราะว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง


วงการหนังสือพิมพ์ที่นครราชสีมาเป็นอย่างไร

หนังสือพิมพ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่มีอยู่ประมาณ 12 ฉบับ นอกจากหนังสือพิมพ์โคราชรายวันจะปฏิเสธการรับอามิสสินจ้างแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับที่ยืนหยัดในการไม่รับอามิสสินจ้างเช่นกัน และบางฉบับอาจจะรับอามิสสินจ้างเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แต่ผมไม่อยากไปพาดพิงถึง

[/wptab]

[wptab name=’เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน’]

เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน

โดย ชาย ปถะคามินทร์
เลขานุการคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์

“ขอกันกิน”เป็นพิษ
คำวินิจฉัยที่ ๒/๒๕๔๘
คำวินิจฉัยคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่อง การละเมิดจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์
ระหว่าง      …  ผู้ร้องเรียน
…   ผู้ถูกร้องเรียน

ตามที่ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนึ่ง ได้ร้องเรียน หัวหน้าศูนย์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าได้เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวโดยไม่มีมูลความจริง  ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน  และประพฤติตนไม่เหมาะสม  ขอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาตามอำนาจหน้าที่

คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาคำร้องเรียนแล้วเห็นว่า           เป็นการร้องเรียนเรื่องจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ      จึงได้รับคำร้องเรียนไว้พิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ โดยได้ส่งคำร้องเรียนให้ผู้ถูกร้องเรียน  ชี้แจงข้อกล่าวหา  และผู้ถูกร้องเรียนได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  ซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้ถูกร้องเรียน  สรุปความได้ว่ามิได้กระทำอันเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมตามที่ถูกร้องเรียน

คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ ได้ดำเนินการพิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์  จากการรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานซึ่งได้สอบสวนข้อเท็จจริงจากบุคคลต่างๆ ที่ เกี่ยวข้องในจังหวัดนั้น       ทั้งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ     อดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้น  และเจ้าพนักงานตำรวจ รวมทั้ง  ผู้ร้องเรียน  และผู้ถูกร้องเรียนแล้ว  พยานหลักฐานข้อเท็จจริงเห็นว่า  ผู้ถูกร้องเรียน  มีพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์  ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ฯ หมวด ๓ ข้อ ๒๑      ที่ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ โดยไม่ชอบธรรม

ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์    จึงมีมติว่า ผู้ถูกร้องเรียน  มีการกระทำอันเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  พ.ศ.๒๕๔๑  หมวด  ๓  ข้อ  ๒๑

ต่อมาผู้ถูกร้องเรียน ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการรับอุทธรณ์เพื่อพิจารณา

คำอุทธรณ์ตามข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๔๐ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๖ วรรคสอง) และธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ฯ พ.ศ. ๒๕๔๐ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๖) ข้อ ๒๒ ทวิ

คณะกรรมการรับอุทธรณ์ได้พิจารณาอุทธรณ์และฟังคำชี้แจงของผู้ถูกร้องเรียนแล้ว เห็นว่าคำอุทธรณ์ของผู้ถูกร้องเรียนไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นใหม่เพิ่มเติมและเหตุผลอื่นที่ต้องพิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณารับเรื่องราวร้องทุกข์ และธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ จึงมีมติยืนตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณามติของคณะกรรมการรับอุทธรณ์และคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ จากพยานหลักฐานที่คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้ดำเนินการสอบสวนจากบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนั้นแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์พิจารณาวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องเรียนมีพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ หมวด ๓ ข้อ ๒๑ ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ โดยไม่ชอบธรรม”

จึงมีมติยืนตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และคณะกรรมการรับอุทธรณ์

ส่วนการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์….ฉบับดังกล่าว ซึ่งมีข้อความอันอาจละเมิดต่อจริยธรรม เห็นควรตักเตือนให้ระมัดระวังการเสนอข่าวอันอาจจะเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ด้วย

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
๒๓ กันยายน ๒๕๔๘

………………………………………………………..

สำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าว สืบเนื่องมาจากผู้ร้องเรียน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ร้องเรียนผู้ถูกร้องว่า ได้นำเสนอข่าวการโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจ ซึ่งพาดพิงผู้ถูกร้องว่า ได้มีการวิ่งเต้นเพื่อเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ซึ่งไม่มีมูลความจริง สร้างความเสียหายและสับสนและเสียหายต่อผู้ร้อง โดยผู้ร้องเชื่อว่าสาเหตุที่ผู้ถูกร้องเรียนเขียนพาดพิงดังกล่าว มาจากที่มาขอเงิน 5 พันบาท แต่ผู้ร้องไม่ให้ จึงได้ร้องเรียน

ทั้งนี้ผู้ถูกร้องได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด ยืนยันว่า ไม่เคยเรียกร้องเงินจากผู้ร้อง ไม่เคยไปหา ไม่ได้สนิทสนมเป็นการส่วนตัว ไม่เคยมีปัญหาอะไรกัน ผู้ถูกร้องสนิทกับผู้บังคับการตำรวจภูธรมากกว่า ส่วนการนำเสนอข่าวก็เป็นการนำเสนอไปตามวาระ เพราะเชื่อว่าข่าวนี้มีประชาชนสนใจมาก ข้อมูลก็ได้มาจากหลายส่วน รวมทั้งจากผู้บังคับการฯ ด้วย โดยได้ส่งให้หนังสือพิมพ์ต้นสังกัด แต่หนังสือพิมพ์ต้นสังกัดนำเสนอเป็นข่าวสังคม จึงนำเสนอให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

เรื่องนี้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการหาข้อเท็จจริง โดยได้เดินทางไปที่จังหวัดดังกล่าวและสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย จากการประมวลเรื่องที่เกิดขึ้น พบว่าผู้บังคับการและรองผู้บังคับการ (ผู้ร้อง) มีปัญหาไม่ลงรอยกัน ต่างฝ่ายต่างดึงสื่อเข้ามาเป็นพวก ขณะที่ผู้ถูกร้องสนิทกับทั้งสองฝ่าย แต่แนบแน่นกับผู้บังคับการมากกว่า ทำให้ผู้ร้องเข้าใจว่าข่าวที่นำเสนอเป็นแผนจากผู้บังคับการ

ทั้งนี้คณะทำงานเห็นว่า ผู้ถูกร้องเรียนน่าจะมีการขอเงินจริง แต่ไม่ใช่แบบข่มขู่รีดไถ เพราะทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องสนิทสนมกัน น่าจะเป็นการขอแบบได้ก็เอา ส่วนการนำเสนอข่าว ไม่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการขอเงินแล้วไม่ได้ น่าจะเป็นการเสนอข่าวการโยกย้ายตามปกติ

[/wptab]

[wptab name=’กำหนดการงานครบรอบ 11 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ’]

กำหนดการงานครบรอบ 11 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2551 
ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน
——————————————————————-
13. 00 น.    ลงทะเบียนแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน 
ชมนิทรรศการบริเวณด้านหน้างาน

14.00 น.     พิธีกร กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน

14.05 น.     เชิญชมวิดีทัศน์ความเป็นมาการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

14.10 น.     คุณสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน

14.20 น. – 16.00 น.  การสนทนากลุ่มเรื่อง “สงครามข่าวสารกับการรู้เท่าทันของสื่อ”
โดย  รศ. มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดี คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ. สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ดร. ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

16.00 น.    พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น 
และมอบกรอบจริยธรรมแก่องค์กรสมาชิกใหม่
ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน 

16.30 น.  พิธีกรกล่าวสรุป และขอบคุณผู้มาร่วมงาน

[/wptab]

[end_wptabset]