แนวปฏิบัติฯ การเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๔

แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

เรื่อง การเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๔

โดยที่แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนา ประกาศใช้มานาน ขณะที่การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน มีความสลับซับซ้อนและอ่อนไหวต่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๔ และสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและให้สัตยาบันไว้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจึงประกาศใช้แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ พ.ศ. ๒๕๖๔ แทน ดังนี้

ข้อ ๑ ในแนวปฏิบัตินี้

“ชาติพันธุ์” หมายถึง กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และภาษาพูดเดียวกัน มีลักษณะทางเผ่าพันธุ์ที่สืบเชื้อชาติหรือชนเผ่าเดียวกัน

“ศาสนา” หมายถึง ความเชื่อของบุคคลต่อหลักธรรมและพิธีกรรมตามคำสั่งสอนของลัทธิความเชื่อนั้น ๆ

“สถานะทางเพศ” หมายถึง เพศหญิง เพศชาย หรือผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากเพศกำเนิด

“ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป” หมายถึง ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๒ พึงหลีกเลี่ยงการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ของบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย โดยใช้ชาติพันธุ์หรือศาสนาที่บุคคลนั้นนับถือ มากล่าวถึงแบบเหมารวม และสื่อความหมายในทางลบ

ข้อ ๓ พึงหลีกเลี่ยงการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาใด ๆ ในเชิงลบ และนำเสนออย่างระมัดระวังด้วยความเคารพต่อศาสนานั้น ๆ

ข้อ ๔ พึงระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ในเรื่องที่มีความแตกต่าง หรือสถานการณ์ที่อ่อนไหวต่อความขัดแย้งเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนา อันอาจนำไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรง

ข้อ ๕ พึงระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป โดยใช้ถ้อยคำที่กล่าวถึงผู้มีสถานะทางเพศแบบเหมารวม หรือชี้นำความผิด หรือสื่อความหมายเชิงเหยียดหยาม อันเป็นเนื้อหาที่สะท้อนความเกลียดชัง ความไม่เท่าเทียม และไม่เคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔