มองอนาคตสื่อกับจริยธรรม

มองอนาคตสื่อกับจริยธรรม

                                                                                                                    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

 

ในยุคนี้ หากจะจัดให้ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็น “สื่อดั้งเดิม” หรือ “สื่อเก่า” ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะสื่อมวลชนทั้ง 3 ประเภทนี้ ต่างก็ปรับสู่การจัดให้มี “สื่อออนไลน์” หรือ “สื่อใหม่” เสริมเพิ่มทั้งช่องทาง และ เนื้อหา เพื่อความสด เร็ว หลากหลาย น่าสนใจ ที่สำคัญเพื่อสร้างการมีปฏิสัมพันธ์แบบ real time กับผู้รับผู้ใช้สื่อ ซึ่งสามารถตรวจสอบความนิยมได้อย่างรวดเร็ว  อันเป็นตัวชี้วัดที่สั่นคลอนทั้งความเชื่อมั่นในความเป็นวิชาชีพ ความยึดมั่นในจริยธรรม และการธำรงความน่าเชื่อถืออันพึ่งได้จากมวลชนหรือสังคม

อาจกล่าวได้ว่า คุณลักษณะสำคัญของความเป็นสื่อมวลชนวิชาชีพ นอกเหนือจากการมีใบอนุญาตหรือหลักฐานการประกอบกิจการตามข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว ก็น่าจะเป็นกระบวนการทำงานที่ให้ความสำคัญกับ ความถูกต้อง ความเที่ยงตรง  จริยธรรมวิชาชีพ ความรับผิดชอบในผลประโยชน์สาธารณะ และผลกระทบต่อสังคม  มากกว่าการปลุกเร้าความสนใจเพื่อยอดความนิยม แต่ดูเหมือนว่าการสื่อสารออนไลน์  สื่อสังคมออนไลน์  เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลอย่างท้าทายต่อความเป็น “วิชาชีพสื่อมวลชน” ดังที่มีนักวิชาชีพสื่อออนไลน์ให้ความเห็นว่า

“ดูเหมือนสื่อเก่าในสื่อใหม่ที่ลงสู่สนามออนไลน์ กำลังเข้าใจผิดกับประเด็นกระแสเพื่อเรียกยอดไลค์หรือแข่งขันด้วยความเร็วจนละเลยความเป็นมืออาชีพ ทั้งที่สังคมน่าจะยังต้องการหาความหนักแน่นและข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นเช่นนี้” (สื่อออนไลน์ ความหวัง ความฝัน ความจริงจากเว็บไซต์TCIJ , 29 พ.ย.2562)

แต่ภายใต้สถานการณ์ “ความอยู่รอดของธุรกิจสื่อ” ในยุคที่กระแสออนไลน์มีอิทธิพลต่อกระแสสังคมและต่อสื่อนั้น สิ่งที่พบโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ มีความถี่มากขึ้นของเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามในเรื่องคุณภาพ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมวิชาชีพ จากการผลิตซ้ำ หรือ นำเสนอข่าว หรือ ขยายข่าวจากเรื่องราวที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์ เช่น กรณีคลิปของนักการเมืองชายและสาวนักเคลื่อนไหวทางสังคม กรณีลัลลาเบล กรณีลูกฆ่าหั่นศพแม่ จนล่าสุด กรณีเหตุรุนแรงของการปล้นร้านทองที่ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดลพบุรี หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งนำเสนอคลิปเสียงของนักการเมือง ซึ่งต่อมามีการยอมรับว่าเป็นคลิปที่มีการตัดต่อหรือคลิปปลอม จนนำมาซึ่งการแถลงการณ์ของ 4 สมาคมวิชาชีพสื่อ ซึ่งสาระสำคัญในแถลงการณ์สะท้อนถึงความท้าทายต่อสื่อมวลชน ในการทำหน้าที่ที่ยังคงศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ และ ยังคงมีบทบาทและความสำคัญต่อสังคม

“…ในปัจจุบันที่เป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารออนไลน์และโซเชียลมีเดีย สื่อมวลชนต้องใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องพร้อมให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  และพร้อมน้อมรับคำแนะนำ การวิพากษ์วิจารณ์และการถูกตรวจสอบจากสังคมที่มีความเข้มข้นมากขึ้น. สื่อมวลชนยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับจริยธรรมของสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่เพิ่มเติมตามสถานการณ์…”

หลักการ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ของสื่อมวลชน ย่อมไม่ใช่เพียงเป็นความรับผิดชอบภายใต้วิจารณญาณของคนทำหน้าที่ผลิตเนื้อหา หรือของผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ เท่านั้น แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันในการทำหน้าที่ด้วย “มาตรฐานวิชาชีพที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับจริยธรรม” ภายใต้การกำกับดูแลกันเอง ปัญหาสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน คือ การยอมรับกลไกการกำกับดูแลกันเอง ในขณะที่ตัวกติกาหรือสาระในจริยธรรมวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อและบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญทางสังคม

นอกเหนือจากการมีข้อบังคับจริยธรรมแล้ว ทุกองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้กำหนดกลไกและกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพบว่ามีสื่อที่ทำหน้าที่อย่างไม่น่าจะถูกต้อง ไม่น่าจะเหมาะสม แต่จำนวนเรื่องร้องเรียนกลับมีจำนวนไม่มาก ในอดีต มีการวิเคราะห์เหตุนี้ว่า อาจเพราะองค์กรสื่อไม่สามารถจัดการกันได้อย่างจริงจัง อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบัน อาจเป็นเพราะมีพื้นที่ทางการสื่อสารออนไลน์ในการแจ้ง หรือ การวิเคราะห์ การตัดสิน ซึ่งนอกจากจะแสดงความเห็น ระบายความรู้สึกได้อย่างรวดเร็วแล้ว ก็ไม่ต้องรอผลการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย นั่นหมายถึง การทำให้สื่อนั้นๆต้องตัดสินใจว่าจะการสื่อสารชี้แจง หรือไม่ อย่างไร แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลทำให้ระดับความน่าเชื่อถือในความเป็นสื่อมวลชนในภาพรวม ถูกสั่นคลอนไปตามความถี่และระดับของการถูกตั้งข้อสงสัย คำถาม หรือ การตัดสิน ทางการสื่อสารออนไลน์ด้วย

แม้การสื่อสารออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ อาจเป็นปัจจัยเหตุทำให้ยอดขาย ยอดดู ยอดจำหน่ายของสื่อ “ดั้งเดิม” ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนทั้ง 3 ประเภท ยังคงมีบทบาทและความสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีความต้องการตรวจทานข้อเท็จจริง ทั้งนี้จากผลการสำรวจการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แต่หากยังมีสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญกับยอดคนดู คนอ่าน เพื่อผลของรายได้จากการโฆษณา อย่างละเลยการทำหน้าที่ด้วยมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ รวมทั้งความด้อยประสิทธิภาพของกลไกการกำกับดูแลกันเอง  อาจเป็นการเพิ่มเหตุที่มีผลต่ออนาคตของสื่อมวลชนไทย

“ถ้าสื่อมวลชนไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน… ความสำคัญของสื่อมวลชนในฐานะเป็นยามระวังภัยให้สังคมและคอยนำเสนอความจริงและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่เช่นนั้นแล้ว สื่อมวลชนก็คงไม่ต่างกับเพจดังทั้งหลาย รวมทั้งเว็บปราสิตที่หากินกับการพาดหัวแบบคลิกเบทหลอกลวง (fake Click Bait) ที่เน้นแต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นในประเด็นดราม่าที่อยู่ในความสนใจของประชาชนชาว Social Media เท่านั้น (www.twitter.com/chavarong) ”