ข่าวออนไลน์กับวิกฤตศรัทธาสื่อมวลชนไทย
สุเมธ สมคะเน
เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
ณ เวลานี้ คงไม่มีใครปฏิเสธ ได้ว่า การรายงานข่าวแบบเดิมเดิม ต้องรายงานข่าวผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง ผ่านโทรทัศน์ ผ่านหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่การนำเสนอผ่านเว็บไซต์ ตามลำพัง ไม่สามารถตอบสนองพฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว ไม่แปลกที่ สื่อมวลชนแต่ละสำนักข่าวเน้นการนำเสนอเนื้อหาข่าวล้อไปกับความรู้สึกของผู้อ่าน ผู้ชมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นหลัก และบ่อยครั้งเองที่สื่อมวลชนกลายเป็นกลายเป็นผู้วิ่งตามสื่อออนไลน์ วิ่งตามสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวออนไลน์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่าแสนคน เพราะนำข้อมูลมาจากการเปิดประเด็นของสื่อออนไลน์ ทำบทบาทในลักษณะเป็นผู้รายงานต่อ ไม่ใช่ในฐานะผู้กำหนดประเด็นทางสังคมอีกต่อไป ประกอบกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจอย่างรุนแรง “สื่อสังคมออนไลน์” จึงเป็นสินค้าหลัก เป็นผู้เชิญชวนให้ผู้คนมาติดตามสื่อดังเดิม
แม้ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้สำนักข่าวต่างๆ สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเสริมสื่อหลักของตนเอง ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แต่การกระบวนการทำข่าว หรือ กระบวนการนำเสนอกลับมี “ความดิบ” มากกว่า การทำข่าวผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ในอดีต ดังเห็นได้จากปรากฎการณ์ข่าว ในหลายเหตุการณ์ ไม่ว่า เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน เหตุการณ์ถ่านทอดสดคนพยายามฆ่าตัวตาย เหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ติดถ้ำหลวง เหตุการณ์กราดยิงปล้นทองที่ จ.ลพบุรี สถานการณ์หมอกฝุ่น เหตุการณ์กราดยิงกลางเมืองนครราชสีมา หรือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในปัจจุบัน
ข่าวที่นำเสนอออนไลน์ ทั้งแบบไลฟ์สด รายงานแบบเรียลไทม์ หรือ แม้กระทั่งการสร้างภาพจำลองกราฟฟิค ให้เหมือนกับเหตุการณ์จริง การเลือกโคลสคำพูด การเลือกใช้ภาพประกอบ ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ตรึงอารมณ์ผู้ชม ผู้อ่านให้ติดตามข่าวสารในชาแนลต่างๆ ของสำนักข่าวนั้นนั้นในนานที่สุด และส่งต่อข่าวสารนั้นให้มากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงรายได้ ที่เข้ามา และนั่นยังหมายถึงดัชนีชี้วัดผลงานของผู้สื่อข่าว หรือช่างภาพ และทีมกองบรรณาธิการ ให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงถูกประเมินเลิกจ้าง
เมื่อ “ความรู้สึกของประชาชนคนเสพสื่อ” คือ เป้าหมายหลักของการขายข่าวออนไลน์ การนำเสนอข่าวแบบ ที่เน้น กระชากอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง โดยเฉพาะจากเหตุการณ์กราดยิงกลางเมืองนครราชสีมา ส่งผลให้สื่อมวลชนจำนวนมากถูกตั้งคำถาม ถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งมีนักข่าวในภาคสนามบางคนตกเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยไม่จำเป็น
แม้ว่า ที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมผู้สื่อข่าวในส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันวางกรอบปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ขององค์กรสื่อมวลชน ไว้อย่างชัดเจนว่า “พึงหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดสดบนสื่อสังคมออนไลน์ และการรายงานสดด้วยข้อความแบบทันทีและต่อเนื่อง ในกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เหตุการณ์ที่มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความรุนแรง การฆาตกรรมและการทำอัตวินิบาตกรรม รวมถึงเนื้อหาในเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน ความรุนแรงในครอบครัว เหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างและความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม” แต่การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ยังมีน้อยเกินไป สวนทางกับคุณค่าความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพในสายตาประชาชน ถูกลดค่าลงเรื่อยๆ
ซึ่งหากเราปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป คำว่า “สื่อมวลชนมืออาชีพ”อาจไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทย อีกต่อไป เพราะ จากนี้ไป ใครก็ได้ที่เล่าเรื่องเก่ง ก็สามารถทำหน้าที่ในบทบาทสะกดอารมณ์ความรู้สึกผู้คนได้เช่นกัน
ยังไม่สายเกินไปที่ คนในวิชาชีพสื่อมวลชนจะร่วมกันพลิกวิกฤติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในปัจจุบัน ด้วยการ สร้างศรัทธาในใจประชาชนขึ้นมาใหม่ ดังที่ Elena Cosentinoc ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยสื่อมวลชนนานาชาติ (INSI) กล่าวไว้ ว่า “สื่อมวลชนที่ดีและมีความรับผิดชอบ จะใช้องค์ความรู้ที่มีทั้งหมด เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ๋การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งเรื่องราวผู้ตกเป็นเหยื่อ ข้อมูลสถิติและการวิเคราะห์จากนักวิทยาศาสตร์ เรื่องราวของเหล่าหมอและพยาบาลที่ต่อสู้รักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้หายจากโรคร้าย ตลอดจนมาตรการต่างๆของรัฐบาลแต่ละประเทศฯลฯ อย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างความปลอดภัย หยุดยั้งการแพร่ระบาด เพื่อความอยู่รอดของคนจำนวนมาก”