เสรีภาพสื่อของยุโรปได้รับความเจ็บปวดจากการระบาดของ  COVID-19

เสรีภาพสื่อของยุโรปได้รับความเจ็บปวดจากการระบาดของ  COVID-19

ไพสันติ์ พรหมน้อย

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 เว็บไซต์ของสถาบันสื่อมวลชนระหว่างประเทศ (the International Press Institute = IPI), เสนอข้อเขียนของ เจมี ไวส์แมน (Jamie Wiseman) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน IPI ในหัวข้อ  European media freedom suffers under COVID-19 Response  ( Covid-19 มาจากคำว่าCoronavirus Disease 2019)

บทความนี้น่าสนใจที่สะท้อนภาพระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาลสหภาพยุโรปในสถานการณ์โควิดระบาด จึงขอนำมาถ่ายทอดให้คนไทยรับทราบกัน

บทความเริ่มจากการกล่าวถึงการจัดเก็บข้อมูล 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (น่าจะจัดเก็บปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเมษายน 2563)มีสัญญานบ่งบอกว่ารัฐบาลในยุโรปโดยเฉพาะประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก  พยายามเพิ่มกฎหมายฉุกเฉินสาธารณสุขเพื่อเข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ขณะเดียวกันก็พยายามเข้ามาจำกัดและกัดเซาะเสรีภาพของสื่อไปด้วยอย่างแยบยล

วิธีการก็คืออ้างวิกฤตด้านสุขภาพที่โควิดกำลังระบาดอยู่นำมาเป็นข้ออ้างจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารอันเป็นการจำกัดการเสนอข่าวของสื่อไปในตัว

สำหรับภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดสังเกตได้จากประเทศที่รัฐบาลมีแนวโน้มใช้อำนาจเด็ดขาดเช่นฮังการี ซึ่งการระบาดของไวรัสถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มอำนาจของรัฐมากขึ้นและควบคุมข้อมูลอย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกันรัฐบาลอื่น ๆ ที่มีประวัติไม่ดีเรื่องเสรีภาพของสื่อเช่นรัฐบาลบัลแกเรียและโรมาเนียได้หันไปใช้บทลงโทษทางอาญาที่เกินไปสำหรับ “ข่าวปลอม” ( Fake News) เกี่ยวกับไวรัสซึ่งเสี่ยงต่อการใช้งานไปในทางที่ผิดและแทรกแซงสื่อในการรายงานข่าวต่อสาธารณะ

ส่วนที่อื่นๆ เช่นประเทศเซอร์เบีย และ มอลโดวา ใช้วิธีเข้าไปควบคุมการรายงานข่าว  จำกัดการเข้าถึงข้อมูลของนักข่าวและพยายามห้ามบทความที่แสดงความคิดเห็น

แม้ว่ามาตรการเหล่านี้บางกรณีอาจคุกคามเสรีภาพสื่อโดยไม่เจตนา แต่บางประเทศก็มีเจตนา ขณะเดียวกันมีบางอย่างเข้ามาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน   บางมาตรการก็จำเป็นในการต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัส การจำกัดเสรีภาพสื่อบางรัฐก็ดูเหมือนจะฉวยโอกาสและทำมากเกินไป ..

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับสื่อมวลชน เพราะ Coronavirus จะเกิดขึ้นชั่วคราว (มีระยะเวลาที่หายไป) บางประเทศอาจกำหนดยืดเยื้อต่อไปแม้วิกฤตสุขภาพจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามทั้งหมดมีแนวโน้มกำหนดสถานะเสรีภาพของสื่อยุโรปในอนาคต

 

ผลกระทบจากออร์แบน

บรรดาภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดในการกดขี่เสรีภาพนั้นมาจากภายในสหภาพยุโรปเอง: กรณีฮังการี

เมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าจะมีการวิจารณ์จากสภายุโรป (The Council of Europe)และ องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (The Organization for Security and Co-operation in Europe) ตลอดจนประเทศและองค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะติติงนายวิคเตอร์ ออร์แบน (Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการีที่สภาออกกฎหมายภาวะฉุกเฉิน (ทำนองเดียวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ) เพิ่มอำนาจให้นายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้พรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรคของออร์แบนลงมติ 2 ใน 3 อันเป็นเสียงข้างมากในสภาให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องผ่านสภา แต่ต้องจำกัดระยะเวลาประกาศ

กฎหมายใหม่ของฮังการีระบุว่า จะถือเป็นอาชญากรรมที่สื่อแพร่กระจายข้อมูลอันเป็น “เท็จ” หรือ “ผิดเพี้ยน” ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ต่อสู้กับ COVID-19  บทลงโทษคือมีค่าปรับและจำคุกสูงถึงห้าปี   เรื่องนี้แม้จะมีคำรับรองจากรัฐบาล(ว่าจะไม่ลงโทษรุนแรง) แต่ผู้สื่อข่าวและผู้สนับสนุนเสรีภาพด้านสื่อเกรงว่าภาษากฎหมายที่นำมาบัญญัติจะกลายมาเป็นอาวุธเพื่อปิดปากสื่อและจะไม่เป็นสื่ออิสระของประเทศอีกต่อไป

“ผมว่ามันเป็นเครื่องมือในการทำให้สื่อเกรงกลัวและขัดขวางสื่อ ทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้นในการเขียนวิพากษ์ วิจารณ์หรือท้าทายรัฐบาลเรื่องโคโรนาไวรัส” แดเนียล เรนยิ สื่อมวลชนฮังกาเรียนที่ทำเว็บข่าวอิสระ 444.hu ให้สัมภาษณ์  IPI

ไม่เฉพาะฮังการีเท่านั้น  ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปที่มีสถิติไม่ดีกับเสรีภาพของสื่อก็ขยายอำนาจด้วยการให้เหตุผลว่าเพื่อต่อต้านการระบาดของไวรัส อาทิเช่นประเทศโรมาเนียได้ผ่านกฎหมายภาวะฉุกเฉินหลายฉบับที่มีผลต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้องค์กรระหว่างประเทศต้องออกคำเตือน “ให้ระวังในการใช้อำนาจ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคมประธานาธิบดีคลอส  โลฮานนิส( Klaus Iohannis) แห่งโรมาเนีย ลงนามในกฎหมายบริหารราชการกรณีอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการถอดถอนรายงานหรือปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ “ข่าวปลอม” เกี่ยวกับโคโรนาไวรัสโดยไม่มีโอกาสอุทธรณ์

แอตติลา บิโร( Attila Biro) แห่ง The RISE สื่อมวลชนโรมาเนีย กล่าวกับ IPI ว่าการออกกฎหมายดังกล่าวหมายความว่ารัฐบาลมีอำนาจที่จะตัดสินว่าข่าวไหน”จริง” หรือ “เท็จ”ข้อนี้สามารถใช้ในการควบคุมสื่อได้ง่าย

“ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ” บิโรให้ความเห็นและว่า “จะจำกัดความสามารถของสื่อในการทำงานที่เหมาะสมมากกว่า”

ในบัลแกเรีย เป็นประเทศที่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสูงสุดของยุโรปเตือนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประเทศนี้ทำให้เสรีภาพสื่อมวลชนเสื่อมถอยลง  รัฐบาลใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและเพิ่มโทษถึงจำคุก หากมีการเผยแพร่สิ่งที่ถือว่าเป็น “ข่าวปลอม” เกี่ยวกับการระบาดของไวรัส โทษจำคุกสูงสุด 3 ปีหรือปรับสูงถึง 5,000 ยูโร

มีข่าวว่าประธานาธิบดีรูเมน ราเดฟ (Rumen Radev) ใช้อำนาจวีโต้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินบางส่วน อย่างไรก็ตาม IMRO – พรรคขบวนการแห่งชาติบัลแกเรียซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กได้เสนอร่างกฎหมายอีกฉบับเข้าสู่รัฐสภาซึ่งหากผ่านจะเป็นการให้อำนาจแก่สภากระจายเสียงของประเทศมีอำนาจสั่งระงับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ “อินเตอร์เน็ตบิดเบือน” (internet misinformation) ได้

ประเด็นนี้แตกต่างจากร่างกฎหมายฉบับแรกซึ่งมีเป้าหมายเพียง “ข่าวปลอม” ( Fake News)  ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส ร่างกฎหมายฉบับใหม่หากเผยแพร่ ”ข้อมูลเท็จ” (False Information) ผ่านออนไลน์จะถือว่าผิดกฎหมายอาญา ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่เจ้าของสื่อทำผิดจะถูกปรับ 1,000 ยูโร และ จำคุกสูงสุด 3 ปี มีหลายฝ่ายเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้ไม่น่าจะผ่านสภา

ขณะที่ อัสเซน ยอร์ดานอฟฟ์ ผู้อำนวยการ Bivol.bg ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อด้านการสอบสวนของบัลแกเรียกล่าวกับ IPI ว่า “รัฐบาลบัลแกเรียกำลังพยายาม จำกัดเสรีภาพของสื่อในบัลแกเรียต่อไปด้วยการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินไปในทางลุแก่อำนาจ”

 

ห้ามการวิจารณ์ 

ในยุโรปยังมีอีกหลายประเทศพยายามที่จะใช้การเซ็นเซอร์ต่อไป

ที่ประเทศเบลารุส นายเซอร์จี้ ซัทซู้ค (Sergey Satsouk)  บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว The Yezhednevnik ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มีนาคมในข้อหารับสินบน (bribery) หลังจากเว็บนี้ตีพิมพ์ข่าวการรับมือไวรัสของรัฐบาลที่หละหลวม ทำให้เกิดการจุดประกายวิจารณ์กันว่าการจับกุมเป็นการตอบโต้ของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เสนอความเห็นใด ๆ

ขณะที่ประเทศมอลโดวา  ประธานสภาการแพร่ภาพกระจายเสียง (องค์กรสูงสุดของรัฐบาล) ที่ทำหน้าที่กำกับสื่อได้ออกมาตรการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งสื่อทุกประเภทจะต้องไม่ตีพิมพ์หรือออกกระจายเสียง ”ความเห็นส่วนบุคคล” เกี่ยวกับโควิด-19 ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  แต่สื่อจะต้องรายงาน (ข่าว) ที่ออกไปจากเจ้าหน้าที่มอลโดวาผู้มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น คำประกาศดังกล่าวได้รับการตอบโต้และประณามจากสื่ออาชีพและสมาคมสื่อมวลชนมอลโดวาทันที

แทนที่จะกลับมาตรการที่ออกมาทันที แต่ประธานสภาการแพร่ภาพกระจายเสียงออกมาปกป้องคำสั่งโดยกล่าวว่าสื่อควรยกเลิกความคิดเห็นที่ “ไม่ได้รับการอนุมัติ” เท่านั้น  ต่อมาเมื่อแรงกดดันมีมากขึ้นมาตรการดังกล่าวก็ต้องระงับไป

อย่างไรก็ตามสำนักงานรักษาความปลอดภัยและข่าวกรองของมัลโดวา (SIS) ได้สั่งบล็อกเว็บไซต์ 52 ไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับ Coronavirus

 

การเข้าสู่ข่าวสารอย่างลำบาก

รัฐบาลยุโรปบางประเทศจำกัดสื่อเข้าไปยังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ COVID ก่อน “ได้รับอนุญาต”

ในเซอร์เบีย, ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิก ดำเนินการโดยมีข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับ coronavirus ยากที่สุดในยุโรปข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับไวรัส รัฐบาลย้ายไปรวมเป็นศูนย์ข้อมูลกลาง  และรัฐบาลมีคำสั่งลงโทษหน่วยงานท้องถิ่นหากมีการปล่อยข้อมูลไปยังสื่อเกี่ยวกับการระบาดของ coronavirus ที่ไม่ได้รับ”อนุญาต” จากเจ้าหน้าที่ในกรุงเบลเกรด

ต่อมา Ana Lalić สื่อมวลชนเซอร์เบียนที่รายงานข่าวออนไลน์ผ่านเว็บ Nova.rs เขียนข่าวเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในเมืองที่รับมือกับโควิด 19 จากนั้นเธอถูกจับกุม แล้วมาตรการที่เข้มงวดนี้ได้รับการแก้ไขโดยนายกรัฐมนตรี

ที่โรมาเนีย เมื่อมีกฎหมายภาวะฉุกเฉินออกมารวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพของข่าวสาร ตั้งแต่นั้นมาสื่อรายงานว่าสำนักงานท้องถิ่นปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นกฎใหม่

ที่บัลแกเรีย,ก็ออกมาในแนวเดียวกับโรมาเนีย จึงได้รับการวิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มสนับสนุนเสรีภาพหนังสือพิมพ์

ขณะเดียวกันที่มอลโดวา กฎหมายได้ขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่จาก 30 วันเป็น 90วัน ในการตอบคำถามของสื่อ ส่วนประเทศอื่นๆสื่อมวลชนถูกบล็อคไม่ให้เข้าถึงข้อมูลของเจ้าหน้าที่

ในสเปน สื่อชั้นนำของประเทศหลายสำนักได้ร่วมกันปฏิเสธสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การเซ็นเซอร์” ที่นักข่าวพยายามถามคำถามในระหว่างการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี   ในทำนองเดียวการซักถามปัญหาของสื่อต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ก็มักจะมีการ “เซ็นเซอร์” ในสาธารณรัฐเช็ก,บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ตลอดจนประเทศสโลวีเนียมีข้อจำกัดที่คล้ายกัน

 

หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

นายสก๊อต กริฟเฟน รองผู้อำนวยการ IPI ให้ความเห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูลคือการปล่อยให้สื่ออิสระทำงานและรับประกันให้นักข่าวเข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจและเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิกฤต

“รัฐบาลในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกำลังขัดขวางสื่อมวลชนในการรายงานข่าวให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับไวรัสและยังกลับมาเตรียมกฎหมายที่นำมาใช้เพื่อตรวจสอบสื่อ” นายกริฟเฟนกล่าวและเตือนว่าขณะนี้ยุโรปอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้โครงสร้างประชาธิปไตยเสียหายไปแบบถาวรเว้นแต่จะไม่ใช้มาตรการที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อ รัฐจะต้องย้อนกลับอย่างรวดเร็ว

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา IPI ได้เรียกร้องให้ผู้นำภายในสหภาพยุโรปและสภายุโรปดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรับรองเสรีภาพสื่อเพราะแต่ละประเทศก็พยายามแก้ไขปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19

นายกริฟเฟนกล่าวว่าหากเราไม่ผลักดันอย่างจริงจังที่รัฐรวบอำนาจและออกมาตรการนำมาใช้ปราบปรามการทำงานของนักข่าวแล้ว  เสรีภาพของสื่อในยุโรปอาจหายไปกับวิกฤติโควิดครั้งนี้