สภาการสื่อมวลชนฯ ประกาศใช้แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย

สภาการสื่อมวลชนฯ เห็นชอบให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติฯ เรื่องการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย พร้อมปรับปรุงแนวปฏิบัติฯ ที่มีอยู่เดิมอีก 2 เรื่องคือ แนวปฏิบัติฯ การป้องกันการรับอามิสสินจ้างและการขัดกันของผลประโยชน์ และแนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวและภาพข่าวกีฬา

น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาเสร็จแล้ว 3 เรื่อง ได้แก่ ร่างแนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ที่คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อได้ยกร่างขึ้นใหม่ โดยที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป (แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย)

ส่วนอีก 2 แนวปฏิบัติ เป็นแนวปฏิบัติที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ยังเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยหยิบยกขึ้นแก้ไขปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชน ได้แก่ แนวปฏิบัติฯ การป้องกันการรับอามิสสินจ้างและการขัดกันของผลประโยชน์ (แนวปฏิบัติฯ การป้องกันการรับอามิสสินจ้างฯ) และแนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวและภาพข่าวกีฬา (แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวและภาพข่าวกีฬา) โดยที่ประชุมได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทั้ง 2 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป

น.ส.นิภาวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบการจัดเวทีเผยแพร่งานวิจัยและรับฟังความเห็นสาธารณะ โครงการการปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ในวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 น. โดยจัดเป็นระบบไฮบริด คือ มีการจัด On-site ที่ โรงแรมวี กรุงเทพ และ On line ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน

นอกจากนั้น ในงานเดียวกัน จะมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การส่งเสริมการวิจัยเพื่อองค์ความรู้พัฒนาสื่อมวลชนไทย” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ จาก ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ในเรื่อง “ธุรกิจสื่อในศตวรรษที่ 21 กับความรับผิดชอบต่อสังคม” และ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO TARAD.COM ในหัวข้อ “อนาคตธุรกิจสื่อมวลชน ในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดด”

จากนั้นเป็นการนำเสนองานวิจัย และวิพากษ์งานโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ใน 4 เรื่องย่อย โดย 3 เรื่องเป็นการศึกษาการปรับตัวขององค์กรสื่อ การปรับกระบวนการสื่อข่าว และการปรับตัวในแง่ธุรกิจและการตลาด ใน 3 กลุ่มสื่อ ได้แก่ สื่อกระแสหลักดั้งเดิม สื่อท้องถิ่น และสื่อออนไลน์ ส่วนเรื่องที่ 4 เป็นการศึกษาผู้รับสารและผู้ผลิตสื่อภายใต้กรอบสังคมวิทยา สื่อกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม กรอบจริยธรรม บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติขอเชิญกรรมการ คณะทำงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมงานตามวัน เวลา ดังกล่าว หรือรับชมถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live เพจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.presscouncil.or.th/7148)

———————————